คดีทางโลกรุดหน้า แต่ศาลสงฆ์แค่เริ่มต้น

พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัด ปทุมธานี

การแก้ไขปัญหา วัดพระธรรมกาย มีการดำเนินการ ทั้งทางโลก และทางสงฆ์ คู่ขนานกันไป โดยในส่วน ของทางโลกนั้น เป็นการดำเนินคดี โดยชุดพนักงาน สืบสวนสอบสวน ที่สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ ตั้งขึ้น ภายหลังจาก ที่กรมการศาสนา เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ พระธัมมชโย ต่อกองปราบปราม ใน 3 ข้อหา คือ แจ้งความเท็จ ต่อเจ้าพนักงาน, เป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังยักยอกทรัพย์ และเป็นเจ้าพนักงาน ละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 137, 147 และ 157 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542

การสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ของตำรวจ ภายใต้การนำ ของ พล.ต.ท.วาสนา เพิ่มลาภ มีความคืบหน้า มาเป็นลำดับ ระยะเวลา ประมาณ 6 เดือน สามารถสรุปสำนวน สั่งฟ้องผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงลูกศิษย์ และสีกาผู้ใกล้ชิด พระธัมมชโย ไปแล้ว รวม 5 คดี ประกอบด้วย

1.คดียักยอกทรัพย์จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อไปซื้อที่ดินที่ จ.พิจิตร มีพระธัมมชโย, ถาวร พรหมถาวร, มัยฤทธิ์ ปิตะวนิค และเทอดชาติ ศรีนพรัตน์ เป็นผู้ต้องหา

2.คดียักยอกทรัพย์ จำนวน 22 ล้านบาท เพื่อไปซื้อที่ดินที่เขาพนมพา จ.พิจิตร จำนวน 57 ไร่ มีพระธัมมชโย และถาวร เป็นผู้ต้องหา

3.คดียักยอกทรัพย์ เพื่อไปซื้อที่ดินที่ อ.ภูเรือ จ.เลย จำนวน 134 ไร่ มีพระธัมมชโยเป็นผู้ต้องหา

4.คดียักยอกทรัพย์เป็นที่ดินที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จำนวน 5 ไร่เศษ มีพระธัมมชโย และเทอดชาติ เป็นผู้ต้องหา

และ 5.คดียักยอกทรัพย์จำนวน 45 ล้านบาทเศษ ไปซื้อที่ดินที่ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 900 ไร่เศษ มีพระธัมมชโย, ถาวร, มัยฤทธิ์ และ อมรรัตน์ สุวิภัทร หรือสีกาตุ้ย เป็นผู้ต้องหา

ทั้งนี้ คดีที่ 2 และ 5 พนักงานอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว และศาลอาญาได้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกไป เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา

การดำเนินคดีกับพระธัมมชโย และบุคคลแวดล้อม หยุดชะงักไประยะหนึ่ง ช่วง 1-2 เดือนก่อนสิ้นปี 2542 เนื่องจาก พล.ต.ท.วาสนา ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.ท.ล้วน ปานรศทิพ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มาคุมคดีแทน และเพิ่งประชุมใหญ่ชุดพนักงานสืบสวนสอบสวนนัดแรกไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา

สำหรับการดำเนินการในทางสงฆ์ ตามกฎนิคหกรรม ซึ่ง มาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมการศาสนา และสมพร เทพสิทธา ประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ได้ยื่นคำฟ้องกล่าวโทษพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ไว้กับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่ช่วงต้นปี 2542 นั้น ปรากฏว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 อาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ ในสมัยนั้น นำคณะเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเข้าตรวจวัดพระธรรมกาย เพื่อพิสูจน์ข่าวทางลบที่เกี่ยวกับวัดหลายเรื่อง ซึ่งต่อมา มส.ก็ได้นำกรณีวัดพระธรรมกายเข้าพิจารณาในที่ประชุมหลายครั้ง

29 มีนาคม สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอักษรแนะแนวทางแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบจาก มส.เท่าที่ควร โดยมีการวิ่งล็อบบี้จากพระที่เป็นกรรมการ มส.บางรูป ไม่ให้นำพระอักษรเข้าพิจารณาในที่ประชุม สมเด็จพระสังฆราชจึงทรงมีพระอักษรตามออกมาอีกหลายฉบับ ถึงขั้นชี้ชัดว่า พระธัมมชโยเป็นพระปลอม เนื่องจากปาราชิกแล้ว แต่ก็ยังได้รับการเมินเฉย

และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศาสนิกชนทั้งประเทศก็ต้องช็อก เมื่อพระพรหมโมลี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ชี้ว่า การดำเนินการตามกฎนิคหกรรมต่อพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว ถือว่าสิ้นสุดแล้ว เนื่องจากคฤหัสถ์ไม่สามารถกล่าวโทษภิกษุได้... ซึ่งถือว่าเป็นการช็อกครั้งแรก

กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามเคลื่อนไหวประสานงานบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมของ มส. และ มส. ก็มีมติในวันที่ 16 สิงหาคม ว่า คฤหัสถ์สามารถกล่าวโทษภิกษุได้ แต่แม้จะมีมติดังกล่าว การดำเนินการตามกฎนิคหกรรมก็ยังคงหยุดชะงัก เนื่องจากกรรมการ มส.หลายรูป พยายามปกป้องวัดพระธรรมกาย ด้วยการดึงเรื่องให้ช้าไว้ ถึงขั้นมีกรรมการ มส.บางรูป เสนอให้นำกฎนิคหกรรมไปตีความ ทั้งๆ ที่ มส.เองก็เคยมีมติชัดเจนไปแล้ว

กระทั่งวันที่ 19 ตุลาคม มส.จึงยอมมีมติย้ำอีกครั้ง และให้ดำเนินการกับพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว ตามกฎนิคหกรรมต่อไป โดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ หลังจากที่กรมการศาสนาได้เชิญ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานวุฒิสภา เข้าชี้แจงข้อกฎหมายในเรื่องนี้ต่อที่ประชุม

เมื่อ มส.มีมติชัดเจนเช่นนี้ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จึงมีหนังสือเรียกพระทั้งสองรูปให้มารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้งในวันที่ 10 พฤศจิกายน แต่ผลที่ได้รับก็ยังเหมือนเดิม คือความเมินเฉย

และจากผลของการไม่ยอมเดินทางเข้ารับฟังข้อกล่าวหาในครั้งนี้เอง ที่ทำให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งปลดพระครูปทุมกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดสว่างภพ ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลคลองหนึ่ง และแต่งตั้งให้พระเลขาฯ คือพระปริยัติวโรปการ ขึ้นรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลคลองหนึ่งแทน

อย่างไรก็ตาม คำสั่งปลดพระครูปทุมกิจโกศล ออกจากตำแหน่ง ได้ส่งผลรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อลูกศิษย์วัดพระธรรมกายส่วนหนึ่ง ได้เดินทางไปชุมนุมประท้วงคำสั่งดังกล่าวกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่วัดชนะสงคราม และโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ค่ำวันที่ 17 พฤศจิกายน ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นภายในวัด จนรถยนต์ได้รับความเสียหายไปหลายคัน โดยเสียงระเบิดกัมปนาทขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ประท้วงคล้อยหลังไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง

30 พฤศจิกายน พระสุเมธาภรณ์เรียกตัวพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวเข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่พระทั้งสองรูปก็ยังไม่ยอมเดินทางมาตามเคย

วันที่ 9 ธันวาคม พระปริยัติวโรการ มีหนังสือสั่งพักตำแหน่งเจ้าอาวาสของพระธัมมชโย ซึ่งการสั่งพักตำแหน่งครั้งนี้ถือเป็นความคืบหน้าเดียวในการดำเนินการทางสงฆ์ต่ออดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

ช่วงปลายปี 2542 การดำเนินการตามกฎนิคหกรรมกับพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว เริ่มเห็นแววสดใส เมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพระพรหมโมลี ลงมาแสดงบทบาทด้วยตัวเอง โดยมีคำสั่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ดำเนินการตามกฎนิคหกรรมต่อไป

วันที่ 8 มกราคม 2543 พระพรหมโมลี กลับทำหนังสือถึงสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ยุติการดำเนินการตามกฎนิคหกรรมกับพระทั้งสองรูป โดยมีพระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 และพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ร่วมลงนามในหนังสือด้วย ในฐานะคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งถือเป็นการช็อกครั้งที่ 2 ของพุทธศาสนิกชนไทย


KT Internet Dept.