19 มกรา วันชี้ชะตา..

การประชุม มหาเถรสมาคม (มส.) วันที่ 19 มกราคม 43 นี้ ถือเป็นวันเดิมพันการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายในทางสงฆ์ และท้าทายต่อบทบาทและความศรัทธาที่ยังเหลืออยู่บ้างของ มส.เป็นอย่างยิ่ง เพราะสมเด็จพระมหาธีราจารย์เตรียมที่จะเสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณาเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น จาก พระพรหมโมลี เป็นพระรูปอื่น

แต่อุปสรรคย่อมมีแน่ โดยเฉพาะท่าทีของกรรมการ มส.หลายรูป โดยเฉพาะในฝ่ายมหานิกาย ที่ค่อนข้างจะเอนเอียงและให้ความเมตตาวัดพระธรรมกายเป็นพิเศษ ทำให้หลายฝ่ายยังไม่แน่ใจว่า มส.จะมีมติปลดพระพรหมโมลีได้จริง

จากการตรวจสอบขั้นตอนการเปลี่ยนตัวเจ้าคณะภาค และความเป็นไปได้ ล่าสุด สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ รองอธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า การแต่งตั้งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่หนนั้นๆ จะเป็นผู้เสนอต่อ มส. เพื่อให้มีมติ และสมเด็จพระสังฆราชจะทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะภาค โดยจะมีวาระ 4 ปี แต่ถ้าเจ้าคณะภาครูปนั้นๆ ไม่สามารถอยู่ในวาระจนครบ 4 ปี ไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็ตาม ก็สามารถแต่งตั้งพระรูปใหม่ขึ้นมาแทนได้ แต่จะอยู่ในวาระเท่าที่เหลือเท่านั้น

ส่วนการปลดพระรูปใดออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค สุทธิวงศ์ บอกว่า สามารถใช้กฎ มส.ฉบับที่ 24 ว่าด้วย การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการได้ โดยมีเหตุ คือ (1) กรณีทุจริตต่อหน้าที่ (2) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเกินกว่า 30 วัน (3) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ (4) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ (5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

""กรณีดังกล่าวนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานโดยลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้"" สุทธิวงศ์ ระบุ

ด้าน มาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมการศาสนา กล่าวว่า พระรูปใดก็ตามที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค จะต้องมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎ มส. ฉบับที่ 24 ข้อ10 ว่าด้วยคุณสมบัติของเจ้าคณะภาค ซึ่งประกอบด้วย 1.ต้องมีพรรษา 20 ปีขึ้นไป และกำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ 2.ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ 3.มีสมณศักดิ์ ไม่ต่ำกว่าชั้นเทพ หรือ 4.เป็นพระราชาคณะ ซึ่งเป็นคณาจารย์เอก หรือเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค รวมทั้งพระรูปอื่นๆ แต่จะต้องได้เปรียญเอก และไม่เป็นรองเจ้าคณะภาค หรือรองเจ้าคณะจังหวัด

มาณพ ยังวิเคราะห์ว่า การปกครองสงฆ์ในส่วนของภาค 1 ซึ่งประกอบด้วย จ.นนทบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร นั้น ผู้ซึ่งคาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 1 แทนพระพรหมโมลี เป็นอันดับแรก คือ พระธรรมกิตติมุนี เจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี เนื่องจากมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดไว้ มีพรรษา 40 ปี เป็นพระชั้นธรรม เปรียญเอก และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีเกิน 4 ปี

""หาก พระธรรมกิตติมุนี ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 1 และเป็นหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแทน พระพรหมโมลี จริง เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาวัดพระธรรมกายยุติเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณงามความดี ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา และเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป"" มาณพ ให้ความเห็นและอธิบายเพิ่มเติมว่า

ในประเทศไทยมีพระเพียง 2 รูปเท่านั้น ที่อยู่ในชั้นธรรม และเข้าข่ายจะได้รับแต่งตั้ง คือ พระธรรมกิตติมุนี และ พระธรรมมหาวีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์ จ.สุพรรณบุรี แต่รูปหลังไม่ได้อยู่ในภาค 1 ส่วน พระสมุทรเมธี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ คงไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากเพิ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดได้ไม่ถึงปี ส่วนอันดับถัดมา ได้แก่พระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 และพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี แต่ก็ต้องตกไป เนื่องจากอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วย

มาณพ วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระสุเมธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร คงไม่สามารถดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ได้ เนื่องจากมีอายุเกิน 80 ปี ซึ่ง มส.ได้มีระเบียบการเกษียณอายุไว้ว่า หากพระรูปใดมีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะเป็นเจ้าคณะจังหวัด, เจ้าคณะตำบล, เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะภาคไม่ได้ แต่สามารถเป็นกรรมการ มส. และเจ้าอาวาสได้ ขณะเดียวกัน พระสุเมธาธิบดี มีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการ มส. และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ซึ่งสูงกว่าเจ้าคณะภาคอยู่แล้ว

ในบรรดาพระสงฆ์ที่เป็นกรรมการ มส.อยู่ในปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 19 รูป แบ่งเป็นฝ่ายธรรมยุต และมหานิกาย ซึ่งกรรมการฝ่ายมหานิกายนี้เอง มีหลายรูปที่แสดงท่าทีโอบอุ้มวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด ประกอบด้วย

1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์นี้ เคยรับนิมนต์ไปเป็นประธานในงานพิธีสำคัญๆ ของวัดพระธรรมกายเสมอ ทั้งยังเป็นเจ้าของวาทะ "แมลงวันจัญไร" ในช่วงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาวัดพระธรรมกาย และวงการสงฆ์อย่างรุนแรง

2. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย ซึ่งในทางสงฆ์แล้ว พระอุปัชฌาย์เปรียบเสมือนบิดาในทางธรรม นอกจากนั้น สมเด็จวัดปากน้ำยังรับเป็นองค์ประธานชมรมพุทธศาสน์สากล ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของวัดพระธรรมกายด้วย

3. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เคยเป็นที่ปรึกษาวัดพระธรรมกาย และเคยเป็นพระอุปัชฌาย์ให้พระภิกษุของวัดพระธรรมกายอีกด้วย

4. พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

5.พระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมฺปนฺโน) เจ้าคณะภาค 6 ซึ่งทั้งสองรูปมีสายสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยมาอย่างยาวนาน

6. พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงท่าทีที่มีต่อวัดพระธรรมกาย เพราะเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน ก็คงจะเห็นกันชัดเจนอยู่แล้ว

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ คงชี้ให้เห็นได้ว่า การจะปลดพระพรหมโมลี เพื่อให้การดำเนินการกับพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ตามกระบวนการนิคหกรรมเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย


KT Internet Dept.