เสียดายพระดี..พรหมโมลี

เมื่อแสงธรรมไม่นำทาง.. จะเอาความสว่างที่ไหนเห็นธรรม!?

พลันคณะสงฆ์ ผู้พิจารณาชั้นต้น หรือศาลสงฆ์ชั้นต้น อันประกอบด้วย พระพรหมโมลี เจ้าอาวาส วัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 หัวหน้าคณะ พระราชปริยัติบดี เจ้าอาวาสวัดสามพระยา รองเจ้าคณะภาค 1 และพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัด ปทุมธานี ยืนยันยกฟ้อง คดีวัดพระธรรมกาย เพราะถือว่า ฆราวาส ฟ้องสงฆ์ไม่ได้ นั่นหมายถึงว่า พระธัมมชโย ไม่ต้องเข้าสู่ กฎนิคหกรรม

พุทธศาสนิกชน ที่ต่างเฝ้ามอง ปัญหาวัดพระธรรมกาย อย่างใกล้ชิด ถึงกับมึนงง ตั้งข้อสงสัย ในเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น และหันไป ให้ความสนใจ พระพรหมโมลี ที่ปรากฏร่างโดดเด่น ขึ้นมา ในท่ามกลาง ความน่าเคลือบแคลงใจนี้ อย่างแจ่มชัด

ที่สำคัญ พระพรหมโมลี ได้กลายเป็น ประเด็นของคดี วัดพระธรรมกาย ไปแล้วในเวลานี้!

จาก "วิลาศ ทองคำ" ถึง "พรหมโมลี"

จากการค้นคว้าข้อมูลของ "เนชั่น สุดสัปดาห์" เพื่อที่จะหาตัวตนอันแท้จริงของพระพรหมโมลี พบว่า ตามประวัติแล้ว พระพรหมโมลี เป็นถึงอัจฉริยบุคคลในทางสงฆ์ทีเดียว เพราะไม่เพียงรอบรู้ในธรรมะ พระไตรปิฎก เท่านั้น หากแต่ยังเป็นอาจารย์ผู้เจริญทางด้านวิปัสสนาชั้นสูง และยังเป็นนักวรรณกรรมมือรางวัลอีกด้วย

พระพรหมโมลี มีนามเดิม วิลาศ ทองคำ เกิดวันที่ 3 มิถุนายน 2473 ที่ จ.กาญจนบุรี หลังจบชั้นประถมศึกษา ได้เข้าบรรพชาที่วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี เมื่อพ.ศ.2486 อุปสมบทที่วัดดอน กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2493 และได้รับฉายาว่า ญาณวโร หรือ วิลาศ ญาณวโร

นับแต่เข้าบวชในพุทธศาสนา จนกระทั่งเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ พระพรหมโมลี ถือว่าเป็นพระนักศึกษาที่คงแก่เรียน เป็นพระอาจารย์ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ เป็นพระนักปฏิบัติจนได้รับความเคารพนับถือมาจนได้สมณศักดิ์ พระพรหมโมลี นอกจากนี้ ยังมีผลงานโดดเด่นด้านการเขียนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมไทย สาขาพุทธศาสนา ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึง 3 ครั้ง

พระพรหมโมลี เขียนปัจฉิมพจน์แนะนำตัวเองในหนังสือวิปัสสนาทีปนี ตอนหนึ่งว่า ""ข้าพเจ้าผู้มีนามปรากฏว่า พระมหาวิลาศ ญาณวโร ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาเมื่อปีพุทธศักราช 2493 โดยมีพระเดชพระคุณ พระธรรมปัญญาบดี (ชุตินฺธรเถระ) เปรียญธรรม 9 ประโยค วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร (บัดนี้ เป็นสมเด็จ พระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุทธิวรคุณ วัดสุทธิวราราม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ วัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์...

""นับแต่ได้อุปสมบทมา ก็ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมตามกำลังสติปัญญา สำเร็จการศึกษาเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อปีพุทธศักราช 2503 ครั้นสำเร็จธุระในด้านปริยัติศึกษาแล้ว ก็ใฝ่ใจในการปฏิบัติตามกำลังศรัทธา ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 2 ครั้ง โดยมีพระอาจารย์เข่ง อตฺตรกฺโข และพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธมฺมาจริยะ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ ผู้บอกกรรรมฐาน...

""เมื่อออกจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว มีใจนึกถึงคุณพระบวรพุทธศาสนา กับนึกถึงคุณท่านพระอาจารย์เข่ง อตฺตรกฺโข ผู้ชักนำให้เข้าปฏิบัติเป็นครั้งแรก และระลึกถึงคุณท่านอาจารย์พระภัททันตะ อาสภเถระ ธมฺมาจริยะ ผู้มีเมตตาแก่ข้าพเจ้าอย่างลึกซึ้ง โดยได้เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกกรรมฐานและหลังจากออกกรรมฐานแล้ว ท่านยังได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาวิปัสสนาจารย์ให้อีกด้วย รู้สึกว่าท่านต้องเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากข้าพเจ้ามากนัก...

ครั้นได้ประสบการณ์เช่นนี้ จึงมีใจเป็นกุศลค้นคว้ารจนาหนังสือ วิปัสสนาทีปนี นี้ขึ้น ตั้งใจให้เป็นสมบัติพระศาสนา เพื่อบูชาพระคุณต่างๆ ดังกล่าวมา ตามกำลังปัญญาอันเล็กน้อยแห่งตน...""

หนังสือทุกเล่มที่พระพรหมโมลีเขียนขึ้น จะมีปัจฉิมพจน์ออกมาในทำนองเดียวกันนี้ เพื่อบอกเล่าประวัติ การศึกษา และแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือเล่มนั้นขึ้น

อาจได้ว่าเป็นตัวตนอย่างหนึ่งของพระพรหมโมลีในด้านงานเขียน อันสะท้อนให้เห็นว่า เส้นทางเดินที่พบผ่านประสบการณ์เรียนรู้ พระพรหมโมลีจะไม่ปล่อยไปให้เปล่าดาย หรืออยู่แต่ในตัวตนของตัวเองเท่านั้น จึงนับว่าได้สร้างคุณูปการในด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างหนึ่งด้วย

ธรรมกายหนุนสุดยอดพระอาจารย์

นอกจากนี้ ในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2542 บทความพิเศษ โดย วินัย นิติธรรม ยังกล่าวถึง พระพรหมโมลี ขณะยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่า มีภูมิความรู้มากมาย เกินกว่าที่จะถูกมองว่า ตัดสินปัญหากรณีวัดพระธรรมกายไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ในที่นี้จะขอตัดตอนมาแต่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพระพรหมโมลี เพื่อให้เห็นแจ่มชัดขึ้น

""...วัยวุฒิ คุณวุฒิ เกียรติภูมิของพระพรหมโมลี มากมายเกินกว่าจะบรรยายได้หมดสิ้น แม้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังต้องถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่พระพรหมโมลี อีกประการหนึ่ง นักศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ต้องฝึกวิปัสสนาเสียก่อน จึงจะรับปริญญาได้ ซึ่งแต่เดิมต้องฝึก 7 วัน ต่อมาขยายเป็น 15 วัน และปัจจุบันต้องฝึกถึงหนึ่งเดือน ซึ่งผู้ที่เป็นประธานในการฝึกวิปัสสนาดังกล่าวก็คือพระพรหมโมลี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิปัสสนา ที่กระผมยังไม่เห็นใครยิ่งไปกว่าท่านในด้านการวิปัสสนาจารย์ ยิ่งไปกว่านั้น ในการแปลพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระพรหมโมลียังได้รับการถวายเกียรติให้เป็นประธานคณะกรรมการอีกด้วย ทั้งยังมีผลงานทางวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทย ชั้นที่ 1 หลายเล่ม อันเป็นหลักประกันภูมิความรู้ของท่าน""

ยอมรับเคยเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

ด้าน พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ประธานศูนย์รวมสงฆ์ชาวอีสาน 19 จังหวัด กล่าวถึงพระพรหมโมลี ว่า ตามประวัติแล้ว ท่านเรียนหนังสือเก่ง สามารถสอบเปรียญธรรมชั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาได้ คือ เปรียญธรรม 9 ประโยค หลังจากนั้นก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาออกมาหลายเล่ม และหนังสือแต่ละเล่มที่เขียนออกมานั้น เรียกว่า มีคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากหนังสือของท่านที่เขียนขึ้นมา หลายเล่มที่ส่งเข้าประกวดแล้วได้รับรางวัล เล่มแรกที่ได้รางวัลคือ ภูมิวิลาสินี โดยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังปรากฏผลงานทางด้านวิชาการศาสนาพุทธอีกหลายเล่ม จนเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการทั่วไป ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในทางพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง คือ ความรู้ในทางคันถธุระ(การเล่าเรียนคัมภีร์ปริยัติ) ถือว่าท่านจบอย่างบริบูรณ์

จากนั้นก็ได้เบนเข็มมาทางด้านวิปัสสนาธุระ คือทางด้านปฏิบัติ ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าในทางพระกรรมฐาน จนถึงกับสามารถที่จะสอนพระสงฆ์ และแนะนำประชาชนได้

""ถ้าพูดถึงความรู้ทางด้านวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และการประพฤติปฏิบัติของท่าน เรียกว่าเรียบร้อย เพียบพร้อมด้วยด้านจริยวัตรที่น่าศรัทธาเลื่อมใส""

ขณะเดียวกัน ก็มีผลงานที่โดดเด่นในการเป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก เป็นอาจารย์สอน ปธ.9 เป็นกรรมการ ปธ.9 (ที่ท้องสนามหลวง) รวมถึงทางด้านสมณศักดิ์ ท่านก็เจริญรุ่งเรืองมาด้วยดี พูดได้ว่า เป็นพระผู้ใหญ่ ที่มีความแตกฉาน ในทางพุทธศาสนา อย่างมากคนหนึ่ง นั่นเอง

เสียดายพระดีที่เพียบพร้อม

พระมหาบุญถึง แม้จะยอมรับในความรู้ ความสามารถเชี่ยวชาญในพุทธศาสนาของพระพรหมโมลี แต่ถึงที่สุดก็พูดได้แต่เพียงว่า เสียดายและเสียใจ ที่พระพรหมโมลีมาเป็นเสียอย่างนี้

""ที่ผ่านมา มุมมองของพุทธศาสนิกชน จะมองท่านว่าเป็นพระนักปฏิบัติ เป็นพระที่น่ากราบไหว้ ควรแก่การเคารพนับถือ แต่พอท่านมาเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีพระธัมมชโย เป็นเจ้าอาวาส ภาพคุณงามความดีที่สั่งสมมา เสียหายหมด""

พระมหาบุญถึง เล่าอย่างเป็นห่วงว่า พระพรหมโมลีอาจมีผลประโยชน์ในการรับส่วนแบ่งส่วนบุญจากวัดพระธรรมกาย เพราะมีข่าวว่า พระพรหมโมลีถูกนิมนต์เข้าวัดพระธรรมกายหลายครั้ง กรณี บวชอุบาสกแก้ว บวชธรรมทายาท หรือว่าจัดงานในวันวิสาขบูชา อะไรต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวด้วยว่า ศาลาหลังที่จำลองพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมาสร้างที่วัดยานนาวานั้น งบประมาณครึ่งหนึ่งมาจากวัดพระธรรมกาย แต่เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานที่จะไปยืนยันได้

""ความผิดพลาดของเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมโมลี ชัดเจนมาก คือ หนึ่ง ท่านไม่สนองพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาออกมาว่าธัมมชโยขาดความเป็นพระ และเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะภาค 1 ที่จะต้องจัดการให้เข้าสู่กฎนิคหกรรม แต่พระพรหมโมลีไม่ยอม...

""สอง มติมหาเถรสมาคมออกมาว่า ฆราวาสสามารถที่จะฟ้องพระสงฆ์ได้ ให้พระพรหมโมลีในฐานะเจ้าคณะภาค 1 รีบจัดการเข้าสู่กฎนิคหกรรม ให้คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นหรือศาลสงฆ์ชั้นต้นพิจารณา และให้จบโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยเนิ่นนานจะเป็นภัยต่อพุทธศาสนามากขึ้น พระพรหมโมลีก็พยายามจะยื้อซื้อเวลาออกไป พยายามที่จะหน่วงเหนี่ยวมติมหาเถรสมาคมที่ออกมา ทั้งที่ท่านก็เป็นกรรมการรูปหนึ่ง...

""สาม กรณีที่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ให้ตีความคำว่า ไม่สอดคล้องกับกฎนิคหกรรม ทางมหาเถรสมาคมก็เอานักกฎหมายมือหนึ่งอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าไปวินิจฉัยแล้ว และก็ตีความออกมาว่า ฆราวาสสามารถฟ้องพระสงฆ์ได้ ท่านเองก็ไม่ยอมอีก ท่านบอกว่า ท่านวินิจฉัยไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 และยืนยันอีกว่า ท่านพร้อมคณะของท่าน 3 รูป ได้วินิจฉัยไปแล้ว การที่จะมารื้อฟื้นอีกจึงเป็นไปไม่ได้ และท่านก็ไม่ทำ นอกจากนี้ยังมีการท้าทายอำนาจผู้บังคับบัญชาระดับสูง...""

พระมหาบุญถึง ย้ำว่า พระพรหมโมลี ช่วงหลังที่เข้ามาคลุกคลีกับพระธัมมชโย คุณงามความดีที่ท่านเป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนาก็ดี เป็นพระนักปฏิบัติก็ดี เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านพุทธศาสนาที่ว่ายอดเยี่ยม มันถูกภาพนี้ลบหายหมด

สุดท้ายต้องเป็นพระที่ประชาชนทอดทิ้ง ไม่ให้ความสำคัญ เหลือภาพเพียงหลวงตาแก่ๆ รูปหนึ่งเท่านั้น


KT Internet Dept.