พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ของมหามกุฏราชวิทยาลัย กลับไปหน้าแรก
หน้า ๑๔๕ ( พระวินัยปิฎก )
๕. จตุตถปาราชิกกัณฑ์
( ว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ )
เริ่มเรื่องว่า พระพุทธเจ้าประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี
สมัยนั้นมีภิกษุหลายรูปที่ชอบพอเป็นมิตรสหายกัน
จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้น เกิดทุพภิกขภัย ในแคว้นวัชชี
( ราชธานี กรุงเวสาลี ) ภิกษุทั้งหลายลำบากเรื่อง อาหารบิณฑบาต จึงปรึกษากันว่า
จะทำอย่างไรดี
บางรูปเห็นว่า ควรช่วยแนะนำกิจการงานของคฤหัสถ์ บางรูปเห็นว่า ควรทำหน้าที่ทูต
( คือ นำความข้างนี้ไปบอกข้างนั้น นำความข้างนั้นมาบอกข้างนี้ (คล้ายบุรุษไปรษณีย์)
) บางรูปเห็นว่า ควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังว่า ภิกษุรูปนั้น
รูปนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ได้ฌานที่
๑ ฌานที่ ๒ เป็นต้น จนถึงว่าได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็น
พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มีวิชชา ๓ อภิญญา ๖ เมื่อเห็นว่าวิธีหลังดี
จึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟัง จึงได้รับ การเลี้ยงดูจากคฤหัสถ์ชาวริมน้ำวัคคุมุทาอย่างดี
มีผิวพรรณผ่องใส เอิมอิ่ม เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเก็บเสนาสนะเดินทางไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ณ กรุงเวสาลี
ปรากฏว่าภิกษุที่มาแต่ทิศทางอื่นล้วนซูบผอม ผิวพรรณทราม มีเส้นเอ็นขึ้นเห็นได้ชัด
ส่วนภิกษุที่มาจากฝั่งน้ำวัคคุมุทา
กลับเอิบอิ่ม อ้วนพี พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามทุกข์สุข และทรงทราบเรื่องนั้น
จึงตรัสติเตียนและตรัสเรียกประชุมภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรื่องมหาโจร ๕ ประเภท
เปรียบเทียบกับภิกษุ คือ
มหาโจร ๕ ประเภท
๑. มหาโจรพวกหนึ่งคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจะเข้าไปฆ่า, ปล้น
เอาไฟเผาคามนิคมราชธานี ต่อมาก็รวบรวม พวกตั้งร้อยตั้งพันเข้าไปฆ่าปล้น เอาไฟเผาคามนิคม
ราชธานี เทียบด้วยภิกษุบางรูปคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันจาริกไปคาม
นิคมราชธานี ให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร
บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยา
รักษาโรค ต่อมาก็รวบรวม พวกตั้งร้อยตั้งพันจาริกไปคามนิคม ราชธานี มีคฤหัสถ์บรรพชิตสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค
นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๑ ( ซึ่งมีความปรารถนาลาภสักการะ แล้วทำ
อุบายต่างๆ จนได้สมประสงค์ )
๒. ภิกษุชั่วบางรูปเรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็โกงเป็นของตน
( แสดงว่าตนคิดได้เอง ไม่ได้เรียนหรือศึกษา จากใคร ) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่
๒
๓. ภิกษุชั่วบางรูปใส่ความเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์
ด้วยข้อหาว่าประพฤติผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมูล นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๓
๔. ภิกษุชั่วบางรูปเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร
( ที่ห้ามแจกห้ามแบ่ง ) เช่น อาราม ที่ตั้งอาราม วิหาร ที่ตั้งวิหาร
เตียง ตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์คฤหัสถ์ ประจบคฤหัสถ์ ( เพราะเห็นแก่ลาภ )
นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๔
๕. ภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ชื่อว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก
เพราะบริโภคก้อนข้าวของ
ราษฎรด้วยอาการแห่งขโมย
ครั้นแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งน้ำวัดคุมุทาด้วยประการต่างๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท
ห้ามอวดคุณวิเศษ
( อวดอุตตริมนุสสธรรม ) ที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้ว แม้จะออกตัวสารภาพผิดทีหลัง
ก็ต้อง
อาบัติปาราชิก
หมายเหตุ : อาบัติปาราชิกมี ๔ สิกขาบท ต้องเข้าแล้ว ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ แม้สึกไปแล้ว จะมาบวชใหม่อีกก็ไม่ได้
หน้า ๑๔๙ อาบัติสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖
( ห้ามสร้างกุฎีด้วยการขอ )
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น ภิกษุชาวแคว้นอาฬวีให้ก่อกุฎี ที่ไม่มีเจ้าของ
( ในที่ไม่มีใครจับจอง ) เป็นของจำเพาะตน ( เพื่อประโยชน์ของตนเอง ) เป็นกุฎีไม่มีประมาณ
( ไม่กำหนดเขตแน่นอน ) ด้วยการ ขอเอาเอง ( คือขอของใช้รวมทั้งขอแรง ) กุฎียังไม่เสร็จ
พวกเธอก็มากไปด้วยการขอ เช่น ขอคน ขอแรงงาน ขอโค ขอเกวียน ขอพร้า ขอขวาน เป็นต้น
ก่อความเดือดร้อนแก่มนุษย์เป็นอันมาก ถึงกับเห็นภิกษุทั้งหลายเข้า ก็พากันหวาดบ้าง
สะดุ้งกลัวบ้าง หนีบ้าง ไปทางอื่นบ้าง หันหน้าหนีไปทางอื่นบ้าง ปิดประตูบ้าง
เห็นโค สำคัญว่าภิกษุ ก็พากันหนีบ้าง
ท่านพระมหากัสสปจาริกไปสู่แคว้นอาฬวี พักที่อัคคาฬวเจดีย์ ไปบิณฑบาตก็พบมนุษย์ทั้งหลายพากันหวาดสะดุ้ง
หลบหนี เมื่อกลับมาถามภิกษุทั้งหลาย ทราบความแล้ว พอพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปสู่เมืองอาฬวี
ก็กราบทูลให้ทรงทราบ จึงทรงเรียก ประชุมสงฆ์ ตรัสเทศนาสั่งสอนไม่ให้เป็นผู้มักขอ
ทรงเล่านิทานประกอบถึง ๓ เรื่อง แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ก่อกุฎี
ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นที่อยู่จำเพาะตน ด้วยการขอ ( สิ่งต่างๆ ) เอาเอง พึงทำให้ได้ประมาณ
คือยาวไม่เกิน ๑๒ คืบ กว้างไม่เกิน ๗ คืบ
ทั้งต้องให้ภิกษุทั้งหลายแสดงที่ให้ก่อน ภิกษุทั้งหลายพึงแสดงที่ ซึ่งไม่มีใครจองไว้
ที่มีชานรอบ ถ้าภิกษุให้ก่อกุฎีด้วยการขอ
(สิ่งต่างๆ) เอาเอง ในที่ซึ่งมีผู้จองไว้ ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายแสดงที่ให้ก่อนก็ดี
ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
เรื่องนี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้สังวรในการเรี่ยราย รบกวนชาวบ้านจนไม่เป็นอันทำอะไร และแสดงไปในตัวว่า พระพุทธเจ้าทรง ปราบปรามเรื่องเช่นนี้อย่างหนักเพียงไร
หน้า ๑๕0 อาบัติสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗
( ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดยสงฆ์มิได้กำหนดที่ )
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ
โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น คฤหบดีผู้เป็นอุปฐาก ( บำรุง ) พระฉันนะ
ขอให้
พระฉันนะแสดงที่ให้ ตนจะสร้างวิหารถวาย พระฉันนะให้ปราบพื้นที่ ให้ตัดต้นไม้ที่ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์
เป็นการก่อความ
สะเทือนใจ มนุษย์ทั้งหลายจึงพากันติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงติ
และทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำ วิหารใหญ่อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่
ภิกษุเหล่านั้น พึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้ทำวิหารใหญ่ในที่มีผู้จองไว้
หาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปแสดงที่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
หมายเหตุ: สิกขาบทนี้ ต่างจากสิกขาบทที่ ๖ โดยสาระสำคัญ คือสิกขาบทที่ ๖ ภิกษุทำเอง ด้วยการขอสิ่งของและขอแรง ส่วนสิกขาบทนี้คนอื่นทำให้ จึงไม่มีการจำกัดขนาด แต่คงต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้เหมือนสิกขาบทก่อนเพื่อกันมิให้ปลูกตามใจชอบ
หน้า ๑๕๙ อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๘ โกสิยวรรค
( ห้ามรับทองเงิน )
เจ้าของบ้านที่พระอุปนนทะ ศากยบุตร เข้าไปฉันเป็นนิตย์
เตรียมเนื้อไว้ถวายเวลาเช้า แต่เด็กร้องไห้ขอกินในเวลากลางคืน
จึงให้เด็กกินไป รุ่งเช้าจึงเอากหาปณะ ( เงินตรามีราคา ๔ บาท ) ถวาย พระอุปนนทะก็รับ
มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุรับเอง
ใช้ให้รับทอง เงิน หรือยินดี ทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด
หมายเหตุ : ภายหลังทรงอนุญาติให้ยินดีในปัจจัย
๔ ได้ คือ ทายกมอบเงินไว้แก่ไวยยาวัจจกร เพื่อให้จัดหาปัจจัย ๔ คือเครื่องนุ่งห่ม
อาหาร ที่นอนที่นั่ง
ยารักษาโรค ภิกษุต้องการอะไร ก็บอกให้เขาจัดการให้ จึงมีประเพณีถวายใบปวารณาปัจจัย
๔
หน้า ๑๕๙ อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๙ โกสิยวรรค
( ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ )
ภิกษุฉัพพัคคีย์ ( พวก ๖ ) ทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ
( ทอง เงิน หรือสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินที่กำหนดให้ใช้ได้ทั่วไปในที่
นั้นๆ ) มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนว่า ทำเหมือนเป็นคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท
ห้ามทำการ
ซื้อขายด้วยรูปิยะ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด
หน้า ๑๖0 อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑0 โกสิยวรรค
( ห้ามซื้อขายโดยการใช้ของแลก )
ปริพาชกผู้หนึ่ง เห็นพระอุปนนทะ ศากยบุตร ห่มผ้าสังฆาฏิสีงาม
จึงชวนแลกกับท่อนผ้าของตน ภายหลังทราบว่าผ้าของตน
ดีกว่า จึงขอแลกคืน จึงติเตียนพระอุปนนทะ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
ภิกษุทำการซื้อขายด้วย
ประการต่างๆ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ( หมายถึงซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกันเอง
ระหว่างนักบวชในพระพุทธศาสนาทำได้
)
หน้า ๑๖๒ อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑0 ปัตตวรรค
( ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อตน )
ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปพูดกับคณะบุคคล ซึ่งเตรียมอาหารและจีวรไว้ถวายแก่สงฆ์
เพื่อให้เขาถวายแก่ตน เขาถูกรบเร้าหนัก
ก็เลยถวายไป ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่
น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
หน้า ๑๖๒ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑ มุสาวาทวรรค
( ห้ามพูดปด )
พระหัตถกะ ศากยบุตร สนทนากับพวกเดียร์ถีร์ ปฏิเสธแล้วกลับรับ รับแล้วกลับปฏิเสธ
กล้าพูดปดทั้งๆ รู้ พระผู้มีพระภาคจึง
ทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดปดทั้งๆ
รู้
หน้า ๑๖๒ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๒ มุสาวาทวรรค
( ห้ามด่า )
ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับภิกษุผู้มีศีลอันเป็นที่รักอื่นๆ แล้วด่า
แช่ง ด้วยคำด่า ๑0 ประการ คือถ้อยคำที่พาดพิงถึง ชาติ
( กำเนิด ) , ชื่อ , โคตร , การงาน , ศิลปะ , อาพาธ , เพศ , กิเลส , อาบัติ
, และคำด่าที่เลว พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ด่าภิกษุอื่น
หน้า ๑๖๓ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๘ มุสาวาทวรรค
( ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช )
พระพุทธเจ้าทรงาปรารภเรื่องเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปาราชิก สิกขาบทที่
๔ คืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน แต่คราวนี้ ทรง บัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้บอกคุณวิเศษ
( อวดอุตตริมนุสสธรรม)
ที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช ( มิได้เป็นภิกษุ หรือ ภิกษุณี )
หน้า ๑๖๔ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๒ ภูตคามวรรค
( ห้ามพูดเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน )
พระฉันนะประพฤติอนาจาร ถูกโจทอาบัติท่ามกลางสงฆ์ กลับพูดเฉไฉไปต่างๆ
บ้าง นิ่งเสียบ้าง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดไปอย่างอื่น
ผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก ( ด้วยการนิ่ง
ในเมื่อถูกไต่สวนในท่ามกลางสงฆ์ )
หน้า ๑๗๒ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๔ สุราปานวรรค
( ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย )
พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน กลับไม่เอื้อเฟื้อ
ขืนทำต่อไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติ
สิกขาบทว่า ภิกษุไม่เอื้อเฟื้อในวินัย
ต้องปาจิตตีย์
หน้า ๑๗๔ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๔ สัปปาณกวรรค
( ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น )
พระอุปนนทะ ศากยุบตร ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แล้วบอกกับภิกษุอื่นขอให้ช่วยปกปิดด้วย
ภิกษุนั้นก็ช่วยปกปิด พระผู้มีพระ
ภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่
ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ ต้องปาจิตตีย์
หน้า ๑๗๕ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๘ สัปปาณกวรรค
( ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย )
ภิกษุอริฏฐะผู้เคยฆ่าแร้งมาก่อน มีความเห็นผิด กล่าวตู่พระธรรมวินัย
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ใจความว่า
เมื่อมีภิกษุกล่าวตู่พระธรรมวินัย
ภิกษุทั้งหลายพึงห้ามปราม ถ้าไม่เชื่อฟังสงฆ์พึงสวดประกาศ เพื่อให้เธอละเลิกเสีย
สวดประกาศครบ ๓ ครั้ง ยังไม่เชื่อฟัง ต้องปาจิตตีย์
หน้า ๑๗๕ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๙ สัปปาณกวรรค
( ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย )
ภิกษุฉัพพัคคีย์ยังคบหาพระอริฏฐะผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย ผู้ยังไม่ยอมละทิ้งความเห็นผิดนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติ
สิกขาบท ห้ามคบ ห้ามอยู่ร่วม ห้ามนอนร่วมกับภิกษุเช่นนั้น
ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุ
ผู้ล่วงละเมิด
หน้า ๑๗๕ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑ สหธัมมิกวรรค
( ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว )
พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน กลับพูดว่า จะขอถามภิกษุผู้รู้วินัยดูก่อน
พระผู้มีพระภาคจึงทรง
บัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุที่ภิกษุว่ากล่าวถูกต้องตามธรรมกลับพูดว่า
จักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้จนกว่า
จะได้ถามภิกษุอื่นผู้ฉลาดผู้รู้วินัยก่อน ต้องปาจิตตีย์ อันภิกษุศึกษาจะต้องรู้
จะต้องสอบสวน จะต้องไต่ถาม
หน้า ๑๗๕ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๒ สหธัมมิกวรรค
( ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท )
ภิกษุฉัพพัคคีย์แกล้งกล่าวติเตียนพระวินัยว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ชวนให้น่ารำคาญ
รบกวนเปล่าๆ พระผู้มีพระภาคจึงทรง
บัญญัติสิกขาบท ความว่า เมื่อสวดปาฏิโมกข์
ภิกษุแกล้งกล่าวติเตียนสิกขาบทต้องปาจิตตีย์
หน้า ๑๗๖ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๓ สหธัมมิกวรรค
( ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์ )
ภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจาร เมื่อฟังสวดปาฏิโมกข์ว่า ภิกษุไม่รู้ก็ไม่ต้องอาบัติ
จึงกล่าวว่า เพิ่งรู้ว่าข้อความนี้มีในปาฏิโมกข์
( ทั้งๆ ที่ฟังมาแล้วไม่รู้ว่ากี่ครั้ง เป็นการแก้ตัว ) พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท
ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวแก้ตัวเช่นนั้น
เป็นการปรับอาบัติในภิกษุ ( ผู้แก้ตัวว่า ) หลงลืม
หน้า ๑๗๗ อาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑๒ สหธัมมิกวรรค
( ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล )
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่าเขาเตรียมจีวรถวายแก่สงฆ์ ไปพูดให้เขาถวายแก่ภิกษุ
( ที่เป็นพรรคพวกของตน ) เขาไม่ยอม เธอก็พูด
แค่นไค้จนเขารำคาญ ต้องถวายไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุน้อมลาภที่เขากะถวายแก่สงฆ์ไป
เพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์