อายตนนิพพาน คือดับอายตนะ

"อัตตา" ไม่มีโดยปรมัตถ์ เป็นเรื่องที่ชัดเจนไปแล้ว

         เอกสารของวัดพระธรรมกาย เขียนว่า
         "ลำพังการอาศัยหลักฐานทางคัมภีร์เท่าที่มีเหลืออยู่และศึกษาคัมภีร์เพียงบางส่วนเท่านั้นแล้ว มาสรุปลงไปว่า มีลักษณะเป็นอย่างใดอย่างนั้นโดยเด็ดขาด พร้อมกับปฏิเสธทรรศนะอื่นโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ยังมีประเด็นทางวิชาการที่ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบอีกมากอย่างที่ทำอยู่นั้น เป็นสิ่ง ที่พระเถระทั้งหลายในอดีตของเราไม่ทำกัน เป็นการสรุปเกิน เป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนาและอาจนำ มาซึ่งความแตกแยก"
         ต่อมาอีกแห่งหนึ่งเขียนว่า
         "ในขณะที่ประเด็นปัญหาว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา ในทางวิชาการยังไม่อาจสรุป
ลงได้นั้น สิ่งที่ชาวพุทธพึงทราบก็คือ อายตนนิพพานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยืนยันว่า มีอยู่จริง และทรงปฏิเสธว่าไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนี้ เพราะอายตนนิพพานเป็นสิ่งที่เกินกว่าวิสัยและประสบการณ์ ในโลกของปุถุชนใดๆ จะสามารถเข้าใจได้ . . ."
         ข้อสังเกตเบื้องต้น ก็คือ ในตอนแรกที่พูดถึงเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ทั้งที่หลักฐานว่านิพพาน เป็นอนัตตา มีหลายแห่งและสอดคล้องกันทั้งหมด เอกสารของวัดพระธรรมกาย ก็พูดเฉออกไปทำนองว่าหลัก ฐานที่มีเหลืออยู่เท่านี้ไม่เพียงพอ อ้างว่าเป็นข้อสรุปทางวิชาการ ซึ่งยังสรุปไม่ได้ และยังอ้างว่าพระเถระในอดีตก็ ไม่วินิจฉัยอีกด้วย
        แต่ตอนหลัง พอพูดเรื่องอายตนนิพพาน ทั้งที่หลักฐานที่จะอ้างในพระไตรปิฎกมีแห่งเดียว กลับยกเป็น ข้อยืนยันเต็มที่
          เรื่อง " นิพพานเป็นอนัตตา " หลักฐานว่าอย่างไรและสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่ ก็ได้ยก ตัวอย่างมาแสดงเพียงพอแล้ว " นิพพานเป็นอนัตตา " เป็นเรื่องของหลักฐานแสดงหลักการ
ของพระธรรมวินัย และหลักฐานนั้นชัดเจน ไม่ใช่เรื่องทัศนะความคิดเห็น และไม่เป็นเพียง
ข้อสรุปทางวิชาการ เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว ไม่ควรอ้างเรื่องทัศนะความ คิดเห็นและข้อถกเถียง
ทางวิชาการขึ้นมาอีก
         " นิพพานเป็นอนัตตา " เป็นเรื่องของหลักการที่แน่นอนของพระพุทธศาสนา พระเถระในอดีตถือเป็น เรื่องสำคัญยิ่งที่จะไม่ให้เกิดการสอนผิดพลาด และไม่ให้เกิดการ
นำลัทธิแปลกปลอมเข้ามาปน ท่านจึงเอาจริงเอา จังในการชำระสะสาง ดังกรณีสังคายนา
ครั้งที่ 3 ที่ได้เล่าไปแล้ว
เอกสารของวัดพระธรรมกาย
ที่ว่า " พระเถระทั้ง หลายในอดีตของเราไม่ทำกัน "
นั้น เป็นการกล่าวตรงข้ามกับความเป็นจริง จะกลายเป็นการกล่าวตู่พระเถระใน อดีตเหล่านั้น
         เรื่อง " พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับอัตตาโดยปรมัตถ์ โดยประการทั้งปวง " เป็นเรื่องของหลักการสำคัญ ซึ่งเมื่อมีปัญหาท่านก็ได้ยกขึ้นมาพิจารณาและชำระสะสาง
เสร็จสิ้นไปแล้ว
ถ้ายังมีพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ มหายานฉบับใด หรือนิกายใดว่าอย่างอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะ
นำมาอ้างให้สับสนปะปน ทำนองเดียวกับเรื่องสวรรค์ แดนสุขาวดีของพระอมิตาภะ ทางพุทธศาสนานิกายชินของญี่ปุ่นว่ามี ก็เป็นเรื่องของนิกายชินนั้น ไม่จำเป็นที่ พุทธศาสนาเถรวาทจะต้องมีสวรรค์สุขาวดี หรือแม้แต่พระอมิตาภะนั้นไปด้วย วิธีพูดเพื่อแสดงหลักการก็มีอยู่ แล้ว คือ อ้างให้ชัดลงไปว่า คัมภีร์ของนิกายนั้น หรือคำสอนของนิกายนั้นว่าอย่างนั้น จะได้รู้ความแตกต่างกัน ไม่ต้องเอามาปะปนกัน
         (
ที่จริงนั้น คำสอนของพุทธศาสนามหายานทั่วไป ก็ไม่ปรากฏว่าจะสอนให้นิพพานเป็นอัตตาหรือ อาตมันแต่ประการใด ถ้ามีมหายานนิกายย่อยใดสอนอย่างนั้น ทางวัดพระธรรมกายก็ควรยกขึ้นมาแสดงให้ ปรากฏ มหายานนิกายอื่นๆ จะได้แสดงเหตุผลข้อโต้แย้งบ้าง)
         เรื่อง " มติของพระพุทธศาสนาที่แท้ว่า อัตตามีเพียงโดย สมมติ ไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ " นั้น เมื่อมองดู ข้อสรุปของนักวิชาการทางตะวันตก แม้ว่าข้อสรุปนั้นจะไม่มีความสำคัญที่จะมาวินิจฉัยหลักการของพระพุทธศาสนาได้ แต่ก็น่าอนุโมทนาว่า เวลานี้นักวิชาการตะวันตกรุ่นใหม่ๆ ได้เริ่มมีความเข้าใจถูกต้องตรงตามหลักการ นี้ ดัง Professor Richard Gombrich นายกสมาคมบาลีปกรณ์แห่งอังกฤษ คนปัจจุบัน ได้เขียนหนังสือแสดงไว้ (ไม่ตรงกับที่ เอกสารของวัดพระธรรมกายอ้าง)
         " มติของพระพุทธศาสนาที่แท้ว่า อัตตามีเพียงโดยสมมติ ไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ และนิพพานก็รวมอยู่ใน ธรรมที่เป็นอนัตตา " นั้น พระไตรปิฎกและอรรถกถากล่าวระบุ
ไว้ชัดเจนแล้ว
การมีหลักฐานแสดงหลักการ สำคัญๆ ของพระศาสนาไว้เป็นการแน่นอนนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่พุทธบริษัทจะได้
ใช้เป็นมาตรฐานวัดการศึกษาและ การปฏิบัติของตน ทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่เกิดความแตกแยก แต่ตรงข้าม ถ้าไม่มีหลักการที่ ชัดเจนแน่นอน หรือมีแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติต่อหลักการนั้นด้วยความซื่อตรง จึงจะทำให้เกิดความแตกแยก
         ในเรื่องหลักฐานที่แสดงหลักการนั้น แท้ที่จริง ถึงจะมีระบุแน่นอนแห่งเดียว เมื่อสอดคล้องกับคำสอน และหลักการ
โดยรวม ก็เพียงพอ
แต่ที่ตั้งข้อสังเกตในที่นี้ก็เพราะว่า เอกสารของวัดพระธรรมกาย นั้น แสดงท่าทีที่ ไม่สม่ำเสมอ

"อายตนนิพพาน" ไม่มีโดยบาลีนิยมก็ชัดเจนเช่นกัน

         เรื่อง "อายตนนิพพาน" นั้น ถ้าเป็นจริงตามหลักฐานที่อ้างก็ไม่มีปัญหา แต่เรื่องไม่เป็น
เช่นนั้น เพราะถ้า สังเกตดูจะเห็นว่า ทั้งเอกสารของวัดพระธรรมกาย และพฤติการณ์ต่างๆ มุ่งจะให้ประชาชนเข้าใจไปว่า มีนิพพาน อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า "อายตนนิพพาน" ซึ่งมีลักษณะ
เป็นสถานที่ หรือเป็นดินแดน
         ว่าที่จริง ในพุทธพจน์ที่ยกมาอ้างนั้น (และไม่ว่าในที่ไหนๆ รวมทั้งคัมภีร์อื่นๆ ที่รองลงมาจากพระไตร ปิฎก) ไม่มีคำว่า "อายตนนิพพาน" อยู่เลย
เพียงแต่ว่า ในพระสูตรที่อ้างนั้น (ปฐมนิพพานสูตร, ขุ.อุ.25/158/206 ) พระพุทธเจ้าทรงนำคำว่า "อายตนะ" มาใช้อธิบายหรือบรรยายลักษณะของ
ภาวะดับทุกข์ที่เรียกว่า
"นิพพาน" ว่า นิพพานนั้นเป็นอายตนะที่ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ตามบาลีที่ว่า
          "อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วาโย น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญาณญฺ จายตนํ น อากิญฺจญฺญายตนํ น เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโภ จนฺทิมสุริยา ตมหํ ภิกฺข เว เนว อาคตึ วทามิ น คตึ น ฐิตึ น จุตึ น อุปปตฺตึ อปฺปติฏฺฐํ อปฺปวตฺตํ อนารมฺมณเมว ตํ เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ฯ (ขุ.อุ.25/158/206)
           แปลว่า:
"ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อา กิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีใน อายตนะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการ อุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์"
         คำว่า " อายตนะ " นั้น แปลว่า แหล่ง แดน บ่อเกิด ขุม ที่เกิด ที่ต่อ ที่บรรจบ ที่ชุมนุม ที่อยู่ เหตุ เป็นถ้อย คำสามัญที่ชาวบ้านเขาใช้กัน เช่น สุวัณณายตนะ แปลว่า บ่อทอง อรัญญายตนะ แปลว่า แดนป่า เทวายต นะ แปลว่า ถิ่นเทวดา หรือในข้อความเช่นว่า แคว้นกัมโพชเป็นแหล่งม้า ทักษิณาบถเป็นแหล่งโค เป็นต้น ซึ่งเป็น ความหมายทางรูปธรรม
         เมื่อนำมาใช้ในทางธรรม คำว่า
" อายตนะ " ก็จะมีความหมายเชิงนามธรรม โดยเฉพาะที่คุ้นเคยพบกัน บ่อย ก็คือ แดนรับรู้ หรือที่มาบรรจบกันของอินทรีย์ (เช่น ตา) กับอารมณ์ (เช่น รูป) และวิญญาณ (เช่น จักขุ วิญญาณ) ทำให้เกิดการรับรู้ขึ้น ซึ่งแยกเป็นอายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และธรรมารมณ์ หรือสิ่งรับรู้ทางใจ
         เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับคำว่า " นิพพาน " เอง ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านใช้กันในความหมายสามัญเชิง รูปธรรม แปลว่าการดับ เช่น " อัคคินิพพาน " คือดับไฟ หายร้อน อย่างสิ่งที่ถูกเผามา เมื่อดับไฟแล้วเย็นลง แต่ เมื่อนำมาใช้ในทาง
ธรรม ก็มีความหมายพิเศษเชิงนามธรรม หมายถึงการดับกิเลส ดับทุกข์ โดยดับเพลิงกิเลส หรือดับไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟทุกข์ ไฟโศก หมดความเร่าร้อน สงบเย็น
         สำหรับพระสูตรนี้ ท่านอธิบายด้วยความหมายทางธรรม ตรงกับที่เราคุ้นๆ กันอย่างข้างต้น คืออธิบาย โดยเทียบกับความหมายของอายตนะ คือ อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกว่า เหมือนกับที่รูปเป็นแดนรับรู้ คือเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ
นิพพานก็เป็นอายตนะภายนอก เพราะเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์แก่มรรคญาณ คือ ปัญญาที่ทำให้ทำลายกิเลสได้ และผลญาณ คือปัญญาที่รู้ภาวะหมดสิ้นกิเลสและกองทุกข์เป็นต้น (พึงสังเกตว่า นิพพานไม่มีอารมณ์ แต่นิพพานเป็นอารมณ์(ชองปัญญา)ได้) ดังอรรถาธิบายว่า
         " ตทายตนนฺติ ตํ การณํ, ทกาโร ปทสนฺธิกโร. นิพฺพานํ หิ มคฺคผลญาณาทีนํ อารมฺมณปจฺจยภาวโต รูปา ทีนิ วิย จกฺขุวิญญาณาทีนํ อารมฺมณปจฺจยภูตานีติ การณฏฺเฐน " อายตนนฺติ วุจฺจติ." (อุ.อ.417)
         แปลว่า: " บทว่า 'ตทายตนํ' ได้แก่ เหตุนั้น, ท อักษรเป็นตัวเชื่อมคำ. จริงอยู่
พระนิพพานตรัสเรียกว่า ' อายตนะ' เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ โดยเป็นอารัมมณปัจจัยแก่มรรคญาณและผลญาณเป็นต้น เหมือนรูปารมณ์ เป็นต้น เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ เป็นต้น "
         คำอธิบายของท่านให้ความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการบอกไปด้วยในตัวว่า ไม่ให้แปลความหมาย " อายตนะ " เป็นแดนทางรูปธรรม คือ เป็นสถานที่อย่างใดอย่างหนึ่ง
         นอกจากนั้น พุทธพจน์ที่ตรัสต่อไปว่า ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ จนถึงว่าไม่ใช่พระจันทร์ พระอาทิตย์ ก็ เป็นการบ่งบอกว่าไม่ให้เข้าใจเอานิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด และอรรถกถาก็อธิบายย้ำเข้าไปอีกว่า
ที่ตรัส ตั้งแต่ไม่มีดิน น้ำ เป็นต้น ไปจนถึงไม่มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ก็เป็นการแสดงว่า ไม่ใช่เป็นภพ
ไหนๆ รวม ทั้งอรูปภพ และยังตรัสต่อไปว่า ไม่มีการไป การมา จุติ อุบัติ ฯลฯ ซึ่งเป็นคำปฏิเสธเรื่องสถานที่
โลก หรือภพ ทุก อย่าง ทั้งนั้น
         แต่ทั้งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวก พยายามอธิบายปฏิเสธเรื่องดินแดนสถานที่ทั้งหลาย
ทั้งปวงอย่างนี้
ทางสำนักวัดพระธรรมกาย ก็ตีความให้มีสถานที่และดินแดนที่เลยจากนี้ขึ้นไป
ให้ได้
         
พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้รู้ว่า นิพพานเป็นภาวะที่ไม่ใช่ ภพ สถาน ดินแดนใดๆ แต่วัดพระธรรมกายก็จะตี ความให้นิพพานเป็นดินแดนสูงขึ้นไปอีก เอาคำของท่านมาใช้ แต่มาดัดแปลงความหมายเอาตามที่ตนต้องการ
          ความจริง คำว่า " อายตนะ " ที่ใช้ในคำว่า " ตทายตนะ " อย่างในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้ในที่ อื่นๆ ในการอธิบายเรื่องอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น ใช้อธิบาย วิโมกข์ต่างๆ ซึ่งเป็นภาวะจิตแห่งฌานทั้งหลาย และ พระเถรีธรรม
ทินนาก็ได้ใช้คำนี้ทำนองนั้น (ม.มู. 12/511/554; ม.อุ. 14/628/404) และที่พระอานนท์ยกพุทธพจน์ มาอธิบายการปฏิบัติ
เพื่อเข้าถึงอรหัตตผลสมาธิ ที่ในกระบวนการปฏิบัติ ตลอดอรูปฌาน 3 ขั้นต้น ไม่มีการเสวย อายตนะ มีรูปเป็นต้น (องฺ.นวก.23/241/445) และอธิบายเรื่องกายสักขีโดยเรียกอนุปุพพวิหารทั้ง 9 ว่าเป็น อายตนะ (องฺ.นวก.23/247/473)

อายตนนิพพาน ไม่มี แต่แปลให้ดีก็ได้ความหมาย นิพพานายตนะ ถึงจะใช้เป็นศัพท์ได้ แต่ไม่ให้ความหมายที่ดี

         ได้กล่าวแล้วว่า คำว่า " อายตนนิพพาน " นั้น ไม่มีในพระพุทธศาสนามาก่อน ท่านผู้
ใช้คงจะมุ่งให้แปล ว่า " แดนนิพพาน " แต่คำว่า อายตนนิพพาน ไม่ช่วยให้ได้ความหมายที่
ประสงค์ เพราะกลายเป็นมีความ หมายว่า " ดับอายตนะ "
         อายตนนิพพาน แม้จะเป็นคำที่ไม่เคยมีใช้มาก่อน แต่ถ้าจะใช้ และใช้ในความหมายที่ถูกต้องตามศัพท์ว่า
" ดับอายตนะ " ก็ยังสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาได้ คือหมายความว่า อายตนะต่างๆ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย
และใจ ดับ เย็น ไม่เร่าร้อน ไม่ลุกเป็นไฟ ไม่เผาลน
         ถ้าใช้ในความหมายอย่างนี้ ก็จะเข้ากับพุทธพจน์ใน อาทิตต-ปริยายสูตร (วินย.4/55/63; สํ. สฬ.18/31/23) ที่ตรัสสอนเหล่าชฎิล ผู้เป็นนักบวชบูชาไฟว่า อายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลุกเป็นไฟ ร้อนไปหมดแล้ว คือ เร่าร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ และไฟแห่งความทุกข์ในรูปลักษณ์ต่างๆ เมื่อเกิด ปัญญามองเห็นความจริงแล้วก็จะ
ดับไฟเหล่านั้นได้ หายเร่าร้อน หายร้อนรน ก็จะมาเข้าสู่ความหมายที่ว่า อายตนะเหล่านี้ คือ ตา หู . . . จิตใจ สงบเย็นลง อย่างนี้ก็พอจะนำคำว่าอายตนนิพพานมาใช้ได้
         แต่ถ้าจะให้นิพพานเป็นดินแดนจริงๆ ก็ควรจะประกอบศัพท์ใหม่เป็น
" นิพพานายตนะ " จึงจะตรงตาม
หลักภาษาบาลีแล้ว และมีคำเทียบ ดังเช่น เทวายตนะ = ถิ่น แดนเทวดา อิสสรายตนะ = ถิ่นแห่งอิสรชน อรัญญายตนะ = แดนป่า เป็นต้น แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา
         
ถึงจะหักแปล " อายตนนิพพาน " ให้เป็นว่า นิพพานที่เป็นอายตนะ ภาษาก็ไม่ให้ และจะกลายเป็น
ว่าต้องมีนิพพานที่ไม่เป็นอายตนะมาเข้าคู่
         อย่างไรก็ตาม ทั้งคำว่า " อายตนนิพพาน " ก็ดี " นิพพานายตนะ " ก็ดี ก็ไม่มีมาก่อนในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด ถ้าเห็นแก่พระธรรมวินัย ไม่ประสงค์จะทำให้กระทบกระเทือนต่อหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นความตรงไปตรงมา เมื่อจะใช้คำว่า " อายตนนิพพาน " และให้มีความหมายตามประสงค์ ก็สอน ให้ชัดเจนตรงตามที่เป็นจริงว่า คำนี้ท่านพระอาจารย์ผู้นั้นๆ ได้นำมาใช้ให้มีความหมายดังนี้ๆ ตามหลักการที่ท่าน ได้จัดวางขึ้นไว้ ก็จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ทางปัญญาของประชาชน มิให้เกิดความสับสน และไม่เสียหาย แต่ถ้าจะให้ถูกต้องแท้จริง เมื่อเป็นพระภิกษุก็ต้องสอนให้ตรงตามพระธรรมวินัย

ใจหมดโลภโกรธหลง สว่างโล่งสดใส เมื่อไร ก็ได้เห็นนิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อนั้นทันที

         อายตนะเป็นเพียงคำหนึ่งในบรรดาคำมากหลายที่ทรงใช้อธิบายความหมายของนิพพาน ไม่ใช่มี นิพพานอย่างหนึ่งที่เรียกว่า " อายตนนิพพาน "
         คำสำคัญที่มิใช่เพียงใช้อธิบายนิพพาน แต่เป็นไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับนิพพานเลยทีเดียว ก็เช่น วิมุตติ วิสุทธิ สันติ อสังขตะ (ไม่ปรุงแต่ง) อนาทาน (ไม่ยึด) อนาลัย (ไม่ติด) อิสสริยะ (อิสรภาพ) อโสก (ภาวะไร้ โศก) อาโรคยะ (ภาวะไม่มีโรคทางจิตใจ) นิโรธ (ภาวะที่ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น) เขมะ (ความเกษม) ปรมัตถ์ (ประโยชน์ หรือจุดหมายสูงสุด) เป็นต้น และคำที่ใช้เชิงอธิบาย ที่สำคัญ ก็เช่น ตัณหักขยะ (ภาวะสิ้นตัณหา) ภวนิโรธ (ความ ดับภพ)          โดยเฉพาะคำที่ใช้พิจารณาตรวจสอบวัดผลการปฏิบัติของตนที่ชัดเจน คือ ราคักขยะ โทสักขยะ โมหัก ขยะ (ภาวะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ) ดังพุทธพจน์ตรัสแสดงวิธีตรวจสอบในใจของตนเอง ที่เคยยกมาอ้างแล้วข้าง ต้น (หน้า 72)          อย่างน้อยควรจะรู้ตระหนักว่า นิพพานไม่ใช่มีไว้สำหรับไปดูไปเห็นไปชม หรือไปพบกับใครๆ แต่มีไว้ สำหรับทำให้ประจักษ์แจ้งเป็นจริงกับตัวในภาวะหมดกิเลสหมดทุกข์ ถ้าจะไปนิพพาน ก็ไม่ใช่เข้าสมาธิ
เหาะไป
แต่ไปกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติที่จะทำให้โลภะ โทสะ โมหะ ลดน้อยหมดสิ้น
         เพราะฉะนั้นจึงต้องตรวจสอบตนเองว่า เมื่อปฏิบัติไปๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในใจของเรา ลดน้อยลงหรือไม่
ถ้ากิเลสเหล่านี้ และความขุ่นมัวเศร้าหมองความทุกข์
ไม่ลดหายไป ไม่ว่าจะเห็นอะไร ที่ดีเลิศ วิเศษแค่ไหน ก็ไม่ใช่การปฏิบัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นการห่างออกไปจากนิพพาน เป็นการไถลหลงออกนอกทาง
         ถ้าจะพูดว่าเห็นนิพพาน ก็ไม่ใช่เห็นสถานที่หรือแดนวิเศษอัศจรรย์อะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเห็นความเบา บางจางหายจนหมดไปของโลภะ โทสะ โมหะ ในใจของตนเอง เห็นความบริสุทธิ์หมดจดปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง ปลอดพ้นความโศก ความทุกข์และความยึดติดถือมั่นทั้งหลาย
         โดยสรุป การเห็นนิพพาน มีจุดตรวจสอบที่สำคัญ คือ
         
1. รับรู้รูปเสียงหรืออารมณ์ใดๆ ก็มีจิตบริสุทธิ์เห็นภาวะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ในใจของตน ไม่ใช่เห็น บุคคล สถานที่ รูปภาพ หรือองค์อะไรที่ดีวิเศษ
         2. เป็นการเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยจิตสมาธิ
         3. ถึงภาวะหลุดพ้น โปร่งโล่งเป็นอิสระ ไม่ใช่จมอยู่แค่ความปลาบปลื้มดื่มด่ำติดใจ
         จะต้องย้ำเตือนกันอย่างยิ่ง ให้มั่นอยู่ในหลักตรวจสอบของพระพุทธเจ้าข้อนี้ คือ การมองในจิตใจของ ตนเองว่า มีโลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลงหรือไม่ อยู่กับความเป็นจริงและปฏิบัติ
ต่อประสบการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ด้วยปัญญาได้ดีขึ้นหรือไม่ หายทุกข์โศก และมีความสุขอย่างเป็นอิสระเบิกบาน
โดยไม่ต้องอาศัยสิ่ง ปลอบประโลมกล่อมใจหรือพึ่งพาความหวังหรือไม่ ลึกๆ ในใจตรวจดูแล้วมีความมั่นคงสดใสอย่าง
ไม่ต้องพึ่งพา และพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นหรือไม่ ถ้ายังก็พึงปฏิบัติในหนทางที่จะให้เป็นอย่างนี้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการที่ จะได้เห็นสิ่งวิเศษใดๆ
         พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนพุทธบริษัทให้ไปตามหาตามดูนิพพานที่ไหน นอกจากนิพพานที่เป็นความสงบ ระงับกิเลส ไถ่ถอนทุกข์โศกภายใน และทำจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดเป็นอิสระ
         อย่าว่าถึงจะไปดูนิพพานเลย แม้แต่สวรรค์ที่ว่ามีความสุขพรั่งพร้อม ก็ไม่ทรงสอนให้วุ่นวายกับการที่จะ ไปดูไปเห็น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเราปฏิบัติ ดำเนินชีวิต พัฒนาตนถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลดีที่เกิดขึ้นเองตาม เหตุปัจจัย