ธรรมกาย เรื่องสูงที่ไม่ใหญ่

ธรรมกายแบบไหน ก็มีความหมายชัดเจนของแบบนั้น

         เอกสารของวัดพระธรรมกาย กล่าวอ้างว่า
         "
คำว่า 'ธรรมกาย' นี้จึงมีมาแต่ครั้งพุทธกาลแน่นอน โดยไม่มีข้อสงสัยและข้อโต้แย้งใดๆ ที่เป็นประเด็น ถกเถียงกันก็คือ ความหมายของคำว่า 'ธรรมกาย' บ้างก็กล่าวว่าหมายถึงโลกุตรธรรม 9 บ้างก็กล่าวว่าหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า บ้างก็กล่าวว่าหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถอาศัยหลักฐานทางคัมภีร์เท่าที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบันมา เป็นเครื่องยืนยันว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นความคิดอันใดอันหนึ่งถูกต้องอย่างปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ "
         ความจริง " ธรรมกาย " ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนสับสนอะไร และก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาลงมติวินิจฉัย เพราะ เป็นข้อมูลความจริงที่ปรากฏอยู่ และเป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดไปตามที่ท่านแสดง ไม่ขึ้นต่อความคิดเห็นของผู้ใด และหลักฐานก็ชัด ไม่ควรเอามาทำให้สับสน
         แท้จริงนั้น เรื่องนี้พูดได้ง่ายๆ ทั้งตรงตามความเป็นจริง และเข้าใจกันได้ชัดเจน ดังนี้
         คำว่า
" ธรรมกาย " นั้น ตามศัพท์ แปลว่า กองแห่งธรรม ที่รวม ที่ชุมนุม หรือที่ประมวลไว้แห่งธรรม มี ความหมายเฉพาะซึ่งท่านนำมาใช้ตามความเป็นมา ดังนี้
        1. เดิมทีเดียว ครั้งพุทธกาล ตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านศาสนาพราหมณ์ที่ สอนว่า พระพรหมผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ประเสริฐ เลิศ สูงสุด เป็นผู้สร้างสรรค์ดลบันดาลโลก และพราหมณ์เป็นวรรณะ ประเสริฐสูงสุด เพราะเป็นผู้ที่พระพรหมสร้าง เกิดจากโอษฐ์พระพรหม
        พระพุทธองค์ได้ตรัสขึ้นใหม่ในทางตรงข้ามว่า ธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาตินี่แหละ ประเสริฐ เลิศ
สูงสุด เป็น เกณฑ์ เป็นมาตรฐานแก่โลก ไม่มีใครสูงหรือทรามมาแต่กำเนิด ตามพระพรหมกำหนด แต่ มนุษย์ทุกคนจะ
ทรามหรือประเสริฐอยู่ที่ประพฤติธรรมหรือไม่ แล้วตรัสว่า
เหล่าสาวกของพระองค์นี้เป็นผู้ที่ธรรมสร้างขึ้น
มา เกิดจากโอษฐ์ของพระองค์ผู้เป็นธรรมกาย (คือทรงเป็นแหล่งที่ประมวลไว้และเป็นที่หลั่ง
ไหลออกมาแห่งพระธรรมที่ตรัสแสดง)
         พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าธรรมกาย เรียกพระองค์ครั้งเดียว ในกรณีนี้ ในสถานการณ์นี้
ต่อมาจึงมีการใช้ คำว่า " ธรรมกาย " กับผู้อื่นในคำประพันธ์เชิงสดุดี ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกอีก 3 ครั้ง (ใช้กับพระพุทธเจ้า
พระองค์อื่น พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระมหา ปชาบดีโคตมีเถรี) และใช้กันต่อๆ มาในคัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น โดยใช้ เทียบเคียงกับคำว่า " รูปกาย " บางทีก็ใช้คู่กัน บางทีก็มาต่างหาก
         ท่านใช้คำว่า " ธรรมกาย
" เพื่อให้เห็นว่า คนเราในด้านรูปกาย ซึ่งเป็นที่รวมแห่งรูปธรรม เช่น อวัยวะ ต่างๆ เมื่อเราเลี้ยงดูก็เจริญเติบโตขึ้นมา ในทำนองเดียวกัน เมื่อพัฒนาธรรมคือคุณ
สมบัติ ความดีงาม เช่น ศีล สมาธิ ปัญญาขึ้น คนนั้นก็มีธรรมกาย คือประมวลหรือที่ชุมนุมแห่ง
ธรรมที่เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งเป็นที่รวม แห่งธรรมระดับสูงสุด คือ โลกุตตรธรรม อันได้แก่
มรรค ผล นิพพาน
         ธรรมกาย เป็นคำพูดรวมๆ เช่น หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้งหมด อย่างที่ว่ามาแล้ว ไม่ได้หมายถึงองค์ ธรรมข้อใดข้อหนึ่งโดยเฉพาะ
          2. ต่อมาอีกหลายร้อยปี พระพุทธศาสนามหายาน สืบทอดความหมายของคำว่า " ธรรมกาย " จากพุทธศาสนาหินยานนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งพระพุทธศาสนาเถรวาทได้ชำระสะสางออกไปใน
สังคายนาครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 235 และต่อมาสาบสูญไป
แล้วมหายานก็ได้พัฒนาความหมายของคำว่า
" ธรรมกาย " ให้มีความ สำคัญขึ้นมา ถึงขั้นเป็นหลักการอย่างหนึ่ง
โดยให้ธรรมกายนี้เป็นกายหนึ่งในกาย 3 อย่างของพระพุทธเจ้า ซึ่งมี กายที่คิดศัพท์เพิ่มขึ้นมาใหม่อีก 2 อย่าง รวมเรียกว่า " ตรีกาย " คือ
         1) ธรรมกาย ได้แก่ ตัวสัจจภาวะ หรือแก่นสภาวธรรม ซึ่งเป็นตัวแท้ของพระพุทธเจ้า
         2) สัมโภคกาย ได้แก่ กายในทิพยภาวะ ที่เสวยสุขในสรวงสวรรค์
         3) นิรมาณกาย ได้แก่ กายนิรมิต ที่สำแดงพระองค์เพื่อบำเพ็ญพุทธกิจในโลกมนุษย์
         
3. ต่อมาหลังพุทธกาล 2 พันปีเศษ พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร วัดปากน้ำ) ได้นำคำ " ธรรมกาย " มาใช้เรียกประสบการณ์บางอย่าง ในระบบการปฏิบัติที่ท่านจัดวางขึ้น          ถ้าพูดตรงไปตรงมา ตามเรื่องที่เป็นไป ก็ง่าย ชัดเจน แต่เอกสารของวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า
         " คำว่า ' ธรรมกาย ' มีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกอยู่ 4 แห่ง และในคัมภีร์อรรถกถาและฎีกา อีกหลายสิบแห่ง ดังรายละเอียดในหัวข้อเรื่องหลักฐานวิชชาธรรมกาย นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์พระไตรปิฎกจีน
ในส่วนที่เป็นเนื้อหาของหินยาน มีการกล่าวถึงคำว่า " ธรรมกาย " ในหลายๆ แห่ง ระบุถึงความ หมายของคำ
ว่าธรรมกาย และแนวทางการเข้าถึงไว้อย่างน่าสนใจ แต่เนื้อหาในพระไตรปิฎก ฉบับบาลี ตกหล่นไป "
         การกล่าวทำนองนี้ เป็นการสร้างความสับสนขึ้นใหม่ในเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว มีทั้งการพูดในลักษณะที่ จะให้เห็นว่า พระไตรปิฎกบาลีเถรวาทที่ตนเองอาศัยอยู่ อาจจะเชื่อถือไม่ได้ หรือบกพร่องยิ่งกว่าพระไตรปิฎกจีน ในส่วนที่เป็นเนื้อหาของหินยาน ทั้งที่หินยานนิกายนั้น ก็ถูกชำระสะสางไปแล้ว และพระไตรปิฎกจีนก็เป็นของ แปลขึ้นภายหลังการที่กล่าวว่า เอกสารของวัดพระธรรมกาย จาบจ้วงพระธรรมวินัย จึงไม่ใช่เป็น
การกล่าวหา แต่เป็นการกระทำที่แสดงออกมาเองอย่างชัดเจน
         ยิ่งกว่านั้น ยังมีการกระทำที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง แฝงอยู่ในคำกล่าวนั้นอีก 2 ประการ
(ไม่ต้องพูดถึง เจตนาที่อยู่เบื้องหลัง) คือ
         
1) กล่าวถึงพระไตรปิฎกจีนขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย ไม่แสดงเนื้อหาที่อ้างนั้นออกมาได้เลย อาจจะเป็น การกล่าวตู่พระไตรปิฎกจีนนั้นด้วย
          2) กล่าวว่า " ระบุถึง...แนวทางการเข้าถึง (ธรรมกาย) ไว้อย่างน่าสนใจ "
ไม่มีพระไตรปิฎกฉบับใดจะ ต้องแสดงวิธีเข้าถึงธรรมกาย
เพราะคำว่า " ธรรมกาย " เป็นคำพูดรวมๆ หมายถึงธรรมต่างๆ ที่ประสงค์จะกล่าว ถึงทั้งชุด หรือทั้งหมวด หรือทั้งมวล เช่นโลกุตตร-ธรรมทั้ง 9 และธรรมเหล่านั้น เช่น โลกุตตรธรรม 9 นั่นแหละที่ ท่านจัดวางระบบ วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงไว้เรียบร้อยแล้ว          เมื่อมรรค ผล นิพพาน มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีวิธีปฏิบัติเพื่อเข้า
ถึง ธรรมกายขึ้นมาต่างหาก มีแต่ว่า ผู้ที่ปฏิบัติเข้าถึงมรรค ผล นิพพานแล้ว
ก็จะมีธรรมกายที่ประกอบด้วยธรรม
คือ คุณสมบัติต่างๆ มากมาย ตามแต่จะเลือกพรรณนา
         ดังกล่าวแล้วว่า " ธรรมกาย " ไม่ใช่หลักธรรมอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ ท่านใช้ขึ้นมาในความหมายพิเศษ ดังกล่าว
แล้ว ดังนั้น จะทราบไว้เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าต้องการทราบเป็นเครื่องประดับความรู้ ก็ขอขยาย ความต่อไป

ธรรมกายเดิมแท้ในพุทธกาล

         คำว่า " ธรรมกาย " นั้น มีมาในพระไตรปิฎก รวมทั้งหมดที่มาเป็นคำโดดๆ 3 ครั้ง
         และมาในคำสมาสคือ คำว่า " พหุธมฺมกายา " 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง
         ที่มาเป็นคำโดด 3 ครั้งนั้น มาในรูปเป็น " ธมฺมกาโย " 2 ครั้ง " ธมฺมกายํ " 1 ครั้ง
         แต่ในทั้งหมด 4 ครั้งนั้น ครั้งที่สำคัญที่สุด คือที่มาในตัวพระสูตรแท้ๆ ซึ่งเป็นข้อความร้อยแก้ว มีครั้ง เดียว นอกนั้นมาในคัมภีร์อปทาน (พระไตรปิฎกเล่ม 32-33) เป็นคำร้อยกรองประเภทเล่าประวัติเชิงสรรเสริญคุณ ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า
         " ธรรมกาย " ที่มาครั้งแรก และครั้งเดียวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็น พระนามเรียกพระองค์เอง และที่เรียกเป็นพระนามอย่างนี้ ก็เกิดจากการที่ทรงเทียบ ระหว่างหลักการของพระพุทธศาสนา กับหลักการของศาสนาพราหมณ์
         เรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสกับวาเสฏฐะ และ ภารัทวาชะ
         วาเสฏฐะ และภารัทวาชะเป็นมาณพ คือเป็นพราหมณ์หนุ่ม ได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็เลยมาขอบวช ตอนนั้น ยังเป็นสามเณรอยู่ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ วาเสฏฐะ และภารัทวาชะเห็น ก็เลยเข้ามา แล้วก็สนทนา ปราศรัย          พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เธอสองคนมาบวชอย่างนี้ แล้วพราหมณ์ทั้งหลายเขาไม่ต่อว่าเอาหรือ
         วาเสฏฐะ และภารัทวาชะก็กราบทูลว่า เขาด่าอย่างรุนแรง เรียกว่าด่าจนถึงที่สุดเลยทีเดียว พระองค์ก็ ตรัสถามว่า เขาด่าอย่างไรล่ะ ทั้งสองก็กราบทูลว่า พวกพราหมณ์ด่าว่า แกทั้งสองคนนี่ เกิดมาดีแล้วในวรรณะสูง สุด เป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐ เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม พระพรหมเป็นผู้สร้างขึ้น เป็นพรหมนิรมิต เป็นพรหม ทายาท แล้วเรื่องอะไรล่ะ มาสละวรรรณะที่ประเสริฐนี่เสีย แล้วไปบวชเป็นสมณะ เป็นคนชั้นต่ำ เกิดจากพระบาท ของพระพรหม เขาด่าว่าอย่างนี้
         พระพุทธเจ้าก็เลยปรารภเรื่องนี้ แล้วก็ตรัสว่า ที่พราหมณ์ว่า เขาเกิดจากพระพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหมนั้น ใครๆ ก็เห็นกันอยู่ พวกพราหมณ์ที่เกิดกันมานั้น ตอนก่อนจะเกิด นางพราหมณี ก็มีท้อง ต่อมาก็คลอด พราหมณ์ก็ออกมาจากครรภ์ของนางพราหมณี ก็เห็นๆ อยู่ แล้วบอกว่าเกิดจากปากพระพรหม          พระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า ที่ว่าในวรรณะ 4 พราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐนั้น ความจริงคนไม่ใช่ ประเสริฐที่กำเนิดหรอก จะเป็นวรรณะไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร ถ้า ประพฤติดี ทำกรรมดี ก็เป็นผู้ประเสริฐ แม้แต่เกิดในวรรณะสูง เป็นพราหมณ์เป็นต้น แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็เป็นคน ต่ำช้าเลวทราม
ฉะนั้นการที่จะประเสริฐหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่การกระทำ แล้วอะไรเป็นตัววัดการ กระทำ ก็คือธรรม ธรรมนี่แหละเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์วัด ฉะนั้นไม่ใช่พรหมสูงสุด แต่ธรรมสูงสุด นี่คือข้อสรุป ของพระพุทธเจ้า          นี้ก็คือการแยกให้เห็นความแตกต่าง ที่เป็นจุดยืนของพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์          ทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์ถือว่า พรหม เป็นเทพยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด เป็นผู้สร้างและจัดสรร บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งโลกแห่งวัตถุและสังคมมนุษย์
         ส่วนในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าให้ทรงถือ ธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่โดยธรรมชาติเป็นใหญ่ เป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์วัดทุกอย่าง
         ทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์ถือว่า พราหมณ์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นวรรณะสูงสุด เกิดจากโอษฐ์พระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม
         พระพุทธเจ้าตรัสว่า พราหมณ์หรือคนวรรณะไหนก็ตาม ไม่ได้สูงประเสริฐโดยชาติกำเนิด แต่สูง
ประเสริฐด้วยการกระทำความประพฤติของตน ซึ่งจะต้องเอาธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน ธรรมสูงเลิศประเสริฐสุด
แม้แต่พราหมณ์นั้นก็เกิดตามธรรมดา คือ เกิดจากครรภ์ของนางพราหมณีเท่านั้นเอง ความประเสริฐของพราหมณ์นั้น
อยู่ที่ธรรม ถ้าไม่ประพฤติธรรมก็ต่ำทรามเช่นเดียวกัน ไม่ว่าวรรณะไหน
         เพื่อเทียบกับการที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่าพราหมณ์เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระภิกษุทั้งหลายก็เกิดจากธรรม คือเกิดจากหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม และธรรมนี้ ก็ออกมาจาก พระโอษฐ์ของพระองค์ เหล่าสาวกของพระองค์จึงชื่อว่าเกิดจากโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็น " ธรรมกาย " คือเป็นแหล่งที่รวมไว้และเป็นที่หลั่งไหลออกมาแห่งธรรมนั้น
         ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่า พราหมณ์เป็นพรหมนิรมิต (ผู้ที่พระพรหมเนรมิตขึ้น) เป็นพรหม ทายาท (ทายาทของพรหม) พระพุทธเจ้าตรัสว่า เหล่าสาวกของพระองค์ เป็นธรรมนิรมิต (ผู้ที่ธรรมสร้างขึ้น) เป็น ธรรมทายาท (ทายาทของธรรม)
         ขอให้ดูข้อความที่มาของ "ธรรมกาย" ในพระไตรปิฎก ที่เทียบคำของฝ่ายพราหมณ์ กับของพระพุทธเจ้า ดังนี้
         " พฺราหฺมณา ภนฺเต เอวมาหํสุ: พฺราหฺมโณ ว เสฏฺโฐ วณฺโณ, หีนา อญฺเญ วณฺณา; พฺราหฺมโณ ว สุกฺโก วณฺโณ, กณฺหา อญฺเญ วณฺณา; พฺราหฺมณา ว สุชฺฌนฺติ, โน อพฺราหฺมณา; พฺราหฺมณา พฺรหฺมุโน ปุ ตฺตา โอรสา มุขโต ชาตา พฺรหฺมชา พฺรหฺมนิมฺมิตา พฺรหฺมทายาทา . . .."
         " ธมฺโม หิ วาเสฏฺฐา เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ ทิฏฺเฐ เจว อภิสมฺปรายญฺจ . . . ยสฺส โข ปนสฺส วาเสฏ ฐา ตถาคเต สทฺธา นิวิฏฺฐา มูลชาตา ปติฏฐิตา ทฬฺหา อสํหาริยา . . . ตสฺเสตํ กลฺลํ วาจาย ภควโตมฺหิ ปุ ตฺโต
โอรโส มุขโต ชาโต ธมฺมโช ธมฺมนิมฺมิโต ธมฺมทายาโทติ. ตํ กิสฺส เหตุ? ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิ . . ."
          " วาเสฏฐะ และภารัทวาชะ กราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายกล่าว อย่างนี้ว่า: พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะที่ประเสริฐ วรรณะอื่นต่ำทราม พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ วรรณะอื่นไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เป็นบุตร เป็นโอรสของพระพรหม เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม พราหมณ์เกิดจากพระพรหม เป็นพรหมนิรมิต (ผู้ที่พระพรหมสร้าง) เป็น พรหมทายาท (ทายาทของพระพรหม) . . ."          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า: ดูกรวาเสฏฐะ และภารัทวาชะ . . . ข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวนั้น วิญญูชนทั้งหลายหา ยอมรับไม่ เพราะเหตุว่า ใน บรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดก็ตามเป็นอรหันต์ หมดสิ้นอาสวะแล้ว . . . ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้สูงสุดใน วรรณะทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะธรรม หาใช่เพราะอธรรมไม่, ธรรมนี่แหละประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ ทั้งใน ปัจจุบันและเบื้องหน้า; บุคคลผู้ใด มีศรัทธา ฝังราก หยั่งลง ประดิษฐาน มั่นคงในตถาคต . . . ใครๆ ไม่ อาจพรากไปได้, ควรเรียกบุคคลผู้นั้น
ว่าเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดแต่โอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ เกิดจากธรรม เป็นธรรมนิรมิต (ผู้ที่ธรรมสร้าง) เป็นธรรมทายาท (ทายาทแห่งธรรม) ข้อนั้นเพราะเหตุ ไร? เพราะคำว่า " ธรรมกาย " ก็ดี " พรหมกาย " ก็ดี " ธรรมภูต "
ก็ดี " พรหมภูต " ก็ดี เป็นชื่อของ ตถาคต " (ที.ปา. 11/51/91)
         
"กาย" แปลว่า กอง ที่รวม ที่ชุมนุมหรือประมวลไว้ เมื่อเป็นที่รวมหรือเป็นที่ชุมนุมประมวลไว้แห่งธรรมก็ จึงเรียกว่า " ธรรมกาย "
         เพราะฉะนั้น คำว่า
" ธรรมกาย" ก็คือคำที่กล่าวขึ้นมาเพื่อใช้เรียกพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นแหล่งที่ รวมและเป็นที่หลั่งไหลออกมาแห่งธรรมคือพระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรม
และทรงคิดพิจารณาจัดลำดับระบบคำสอนของพระองค์ แล้วก็ตรัสออกมา เพราะฉะนั้นพระองค์ก็เป็นธรรมกาย
ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า
         ตถาคโต หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ หทเยน จินฺเตตฺวา วาจาย อภินีหริ. เตนสฺส กาโย ธมฺมมยตฺตา ธมฺโมว. อิติ ธมฺโม กาโย อสฺสาติ ธมฺมกาโย. (ที.อ.3/50)
         แปลว่า:
" แท้จริง พระตถาคต ทรงคิดพุทธพจน์ทั้งไตรปิฎก ด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วย พระวาจา ด้วยเหตุนั้น พระกายของพระองค์ ก็เท่ากับเป็นธรรม เพราะแล้ว ด้วยธรรม ธรรมเป็นพระ กายของพระตถาคตโดยนัยดังนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงเป็นธรรมกาย "
        นี้คือความหมายที่แท้จริงของคำว่าธรรมกาย

บำรุงเลี้ยงบริหารร่างกายไว้ รูปกายก็เจริญงอกงาม หมั่นบำเพ็ญศีลสมาธิปัญญา ธรรมกายก็เจริญขึ้นมาเติบโตได้เอง

         คำว่า " ธรรมกาย " ในพระไตรปิฎกอีก 3 แห่งต่อมา ที่ว่ามาในคำร้อยกรองแสดงประวัติเชิงสดุดีนั้น ก็ เป็นการใช้เชิงเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้ได้กับคนอื่นๆ ทั่วไปด้วย โดยใช้คู่หรือใช้เชิงเทียบ
เคียงกับคำว่า " รูปกาย "
         คนเรานั้น ตามปกติก็มีความเจริญเติบโตของร่างกาย ที่ภาษาบาลีเรียกว่า
" รูปกาย " ซึ่งแปลว่า กอง หรือที่รวม หรือที่ชุมนุมแห่งรูปธรรมต่าง ๆ เช่น ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรืออวัยวะต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต หัวใจ ปอด เป็นต้น
         คนเรากินอาหารเป็นต้น เวลาผ่านไป ร่างกายหรือรูปกายก็เจริญเติบโตมากขึ้น
ในทำนองเดียวกัน
เมื่อ เราศึกษาปฏิบัติธรรม พัฒนาคุณสมบัติที่ดีงามต่างๆ เช่น ศรัทธา ศีล เมตตา กรุณา สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เพิ่มขึ้นๆ ธรรมก็เจริญเพิ่มพูนขึ้น กลายเป็นกองแห่งธรรมที่ใหญ่ขึ้นๆ คำว่ากองแห่งธรรมหรือชุมนุม
แห่งธรรมนี้ เรียกว่า " ธรรมกาย "
คนเราเจริญเติบโตขึ้นมาทางรูปกายนั่น ด้านหนึ่งแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ควรเจริญ
ด้วยคือ ด้านธรรมกาย เพราะฉะนั้นในความหมายนี้ "ธรรมกาย " ก็เลยเป็นคำคู่กันกับ " รูปกาย "
          ธรรมกายที่เจริญขึ้นมาถึงขั้นสูงสุดในขั้นอุดมคติก็คือ ถึงขั้นโลกุตตรธรรม ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน เพราะฉะนั้น ในขั้นสูงสุดและในความหมายที่จำเพาะ
ท่านจึงใช้คำว่าธรรมกายนี้ ให้หมายถึง ชุมนุมแห่งธรรมที่ เป็นโลกุตตระ คือ มรรค ผล นิพพาน แต่ก็เป็นคำพูดครอบคลุมรวมๆ กันไปทั้งกลุ่มทั้งหมด ไม่ใช่หมายถึงหลักธรรมข้อหนึ่งข้อใดโดยเฉพาะ
         คำว่า" ธรรมกาย " ที่ใช้ในความหมายนี้ครั้งสำคัญก็คือ คราวที่พระมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระ มารดาเลี้ยง
และเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้มาผนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา เมื่อชราภาพแล้ว วันหนึ่งได้มา
ทูลลาพระพุทธเจ้าไปปรินิพพาน พระนางได้กล่าวเป็นคำร้อยกรอง คือคาถา ตอน หนึ่ง ว่า พระนางเป็นพระมารดา
ของพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้า ก็เป็นพระบิดาของพระนางด้วยเช่นเดียวกัน ขยาย ความว่า พระนางได้เลี้ยงดูรูปกายของ
พระพุทธเจ้าให้เจริญเติบโตขึ้นมา
แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ช่วยทำให้ธรรมกาย ของพระนางเจริญเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน คือช่วยให้พระนางได้ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญไตรสิกขา จนกระทั่งบรรลุ มรรค ผล นิพพาน (ดู ขุ.อป.33/157/284)
         อย่างในกรณีของพระวักกลิ ที่ติดตามดูพระพุทธเจ้า เพราะหลงใหลในพระรูปโฉมของพระองค์ ครั้ง หนึ่งพระองค์ได้ตรัสว่า
          " อลํ วกฺกลิ กึ เต อิมินา ปูติกาเยน ทิฏฺเฐน.โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ; โย มํ ปสฺสติ, โส ธมฺมํ ปสฺสติ . . ."
          " ดูก่อนวักกลิ ร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้ เธอเห็นแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม " (สํ.ข. 17/216/146)
          คำว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรานี้ ในพระไตรปิฎกเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงใช้คำว่าธรรมกายและรูปกาย แต่อรรถกถา ได้อธิบายโดยใช้คำว่ารูปกายกับธรรมกายเข้ามาเทียบ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
         เมื่อว่าโดยสาระที่แท้จริง การเห็นธรรมนั้นแหละคือการเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ สาวกติดอยู่กับพระรูปกายของพระองค์ แต่ทรงพระประสงค์ให้ทุกคนเห็นธรรม คือเห็นความจริงที่พระองค์
ตรัสรู้ ซึ่งจะเป็นการเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้ คือเห็นความเป็นพระพุทธเจ้า หรือเห็นความจริงที่ทำให้พระองค์
เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเราเห็นธรรม คือเห็นความจริง ก็คือเห็นสิ่งเดียวกับที่พระพุทธเจ้าเห็น และด้วยการ
เห็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่พระองค์เห็น เราก็เป็นพุทธะอย่างที่พระองค์เป็น
ที่นี้เมื่อเอาคำว่าธรรมกาย
และรูปกายเข้ามาอธิบาย แบบเทียบกัน ก็ทำให้รู้สึกเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้น คำว่าเห็นธรรมกายก็คือ เห็นตัวธรรมนั่นเอง
          คำว่า " ธรรมกาย " ที่มาอีก 2 ครั้ง ในพระไตรปิฎก ก็ใช้ในความหมายอย่างนี้ แต่ไม่ได้ระบุคำว่า " รูปกาย " เข้าคู่ไว้ด้วย ครั้งแรกเป็นคำพรรณนาพระคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายว่าเป็น " พหุธมฺมกายา " คือ ทรงเหมือนกับเป็นพระวรกายที่ทรงไว้ซึ่งธรรมมากมายเป็นอเนก1 (ขุ.อป.32/2/20)          อีกครั้งหนึ่งเป็นคำร้อยกรองแสดงประวัติของพระเถระชื่อ อัตถสันทัสสกะ เล่าถึงการที่ท่านได้เคยเฝ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระในอดีต และตอนหนึ่งมีคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า
" ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺตํ เกวลํ รตนากรํ "
ทรงสาดส่องธรรมกาย อันล้วนเป็นแหล่งแห่งรัตนะ (คือธรรม
มากมาย-ไม่ ใช่ " บ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัย " อย่างที่เอกสารของวัดพระธรรมกาย ว่า)
(ขุ.อป.32/139/242)
         คำสรรเสริญพระคุณอย่างนี้มีมากมาย และท่านกล่าวไว้ในแง่อื่นๆ ด้วยถ้อยคำพรรณนาที่หลากหลาย สมกับเป็นคัมภีร์เชิงสดุดีพระคุณ ถ้าได้อ่านคัมภีร์อปทาน 2 เล่มนี้ตลอดหรือผ่านไป ทั่วๆ ก็จะเข้าใจลักษณะ คัมภีร์ และไม่มองคำว่า " ธรรมกาย " เกินเลยออกนอกความหมายที่ท่านต้องการ

จะมองดูรูปกาย ก็อาศัยเพียงตาเนื้อ แต่ต้องมีตาปัญญา จึงจะมองเห็นธรรมกาย

          ในคัมภีร์รุ่นรองลงมา ตั้งแต่อรรถกถา มีการใช้คำว่า "ธรรมกาย" บ่อยขึ้น เพราะมีการพรรณนาพระคุณ ของพระ พุทธเจ้าบ่อยขึ้น และจำนวนคัมภีร์ก็มากด้วย แต่ความหมายก็ชัด คือ มักใช้คู่เคียงกับคำว่า " รูปกาย " ยกตัวอย่างสักแห่งหนึ่ง          โยปิ โส ภควา อสีติอนุพฺยญฺชนปฏิมณฺฑิตทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณวิจิตฺตรูปกาโย สพฺพาการปริสุทฺธสีล กฺ- ขนฺธาทิคุณรตนสมิทฺธธมฺมกาโย (วิสุทฺธิ.2/7)
         แปลว่า: " พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้พระองค์ใด ทรงมีพระ รูปกายอันวิจิตรด้วยมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ อันประดับด้วยอนุพยัญชนะ 80 ทรงมีพระธรรมกายอันสำเร็จด้วยรัตนะ คือพระคุณ เช่น ศีลขันธ์ (กองศีล) อันบริสุทธิ์โดยอาการทั้งปวง"
         ยกตัวอย่างอีกแห่ง แต่เพราะข้อความยาวมาก ขอคัดมาแสดงเพียงบางส่วน
          ปาสาทิกนฺติ พตฺตึสมหาปุริสลกฺขณ . . . รูปกาย . . . ปสาทนียนฺติ ทสพลจตุเวสารชฺชฉอสาธารณ ญาณอฏฐารสอาเวณิกพุทฺธ-ธมฺมปฺปภุติอปริมาณคุณคณสมนฺนาคตาย ธมฺมกายสมฺปตฺติยา . . . ปสา ทารหํ วา. (อุ.อ.90)
          แปลว่า: " (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ' ผู้น่าเลื่อมใส ' หมายความว่า ทรงนำมาซึ่งความเลื่อมใสทั่วทุกด้าน แก่ชนผู้ขวนขวายในการเห็นพระรูปกาย เพราะความสมบูรณ์ ด้วยความงามแห่งพระสรีระของพระองค์ อันประดับด้วย
มหาบุรุษลักษณะ 32 อนุพยัญชนะ 80 พระรัศมีเปล่งออก 1 วาโดยรอบ และพระเกตุ มาลา น่าเลื่อมใสทั่วทุกส่วน '          ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ' หมายความว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เหมาะที่จะพึงเลื่อมใส หรือควรแก่ความเลื่อมใสของคนผู้มีปัญญาอันสม เพราะความสมบูรณ์ด้วยพระธรรมกาย อันประกอบ ด้วยมวลแห่งพระคุณอัน ประมาณมิได้ เริ่มแต่พระทศพลญาณ เวสารัชชญาณ 4 อสาธารณญาณ 6 และพุทธธรรมที่เป็นพระคุณสมบัติเฉพาะ 18 ประการ'          จากตัวอย่างเล็กน้อยนี้ ก็พอจะให้มองเห็นความหมายของคำว่า " ธรรมกาย " พร้อมทั้งความมุ่งหมาย ในการ
กล่าวคำนี้ในคัมภีร์ ว่ามุ่งใช้ในการพรรณนาพระคุณสมบัติต่างๆ ของพระพุทธเจ้าเป็นส่วนมาก แต่ก็เป็น พระคุณที่เรา
ควรจะอนุวัตรตามกำลัง เพื่อให้ธรรมกาย คือ กองแห่งธรรมหรือคุณสมบัติในตัวเราเจริญงอกงาม ขึ้นด้วย โดยบำเพ็ญ
คุณสมบัติและข้อปฏิบัตินั้นๆ ขึ้นมา แต่ไม่ใช่มาปฏิบัติการอะไรอย่างหนึ่ง เป็นการเฉพาะที่ เรียกว่าเข้าถึงธรรมกาย
         ขอประมวลไว้เป็นความรู้ประกอบว่า คำว่า " ธรรมกาย " นี้ มีมาในคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นภาษาบาลีเท่าที่ รวบรวมไว้ตอนนี้
         ก. โดยรูปศัพท์ 43 รูป แยกเป็น
         1) มาในรูปโดดๆ เฉพาะ ธมฺมกาย-ที่แจกวิภัตติต่างๆ 14 รูปศัพท์
         2) มาในคำสมาส มีคำอื่นต่อท้าย 13 รูปศัพท์
         3) มาในคำสมาส มีคำอื่นนำหน้า 16 รูปศัพท์
         ข. โดยหลักฐานที่มา 125 แห่ง แยกเป็น
         1)มาในพระไตรปิฎก (รูปโดด 3+รูปสมาส 1) 4 แห่ง
         2)มาในปกรณ์พิเศษ (มิลินทปัญหา 1+เปฏโกปเทส 1+วิสุทธิมัคค์ 2) 4 แห่ง
         3)มาในอรรถกถา 43 แห่ง
         4)มาในฎีกาและอนุฎีกา 68 แห่ง
         5)มาในคัมภีร์รุ่นหลังนอกนี้ 6 แห่ง
         (ส่วนเอกสาร และหลักฐานนอกภาษาบาลี ไม่ต้องนำมากล่าว)
         ถ้าเทียบกับข้อธรรมสำคัญอย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ฯลฯ ก็นับว่า " ธรรมกาย " มาไม่มากครั้ง แต่ ถ้ามองในแง่ว่าเป็นคำที่ใช้ในความหมายพิเศษ ไม่ใช่ตัวหลักธรรม หลักฐานที่มาเพียงเท่านี้ก็ไม่น้อย และเกินพอ ที่จะให้เห็นความหมายได้ชัดเจน จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่จะกล่าวว่าตกหล่นไป (ถึงจะตกหล่น ก็ไม่เป็นเหตุให้เสีย ความหมาย หรือกระทบอะไรต่อหลักการแม้แต่น้อย)
         เป็นอันว่า
" ธรรมกาย " นี้เป็นคำพูดรวมๆ หมายถึงธรรมหลายๆ อย่าง ทั้งชุดทั้งหมวด (สมกับคำว่า " กาย " ที่แปลว่ากอง หรือที่รวม หรือชุมนุม) โดยเฉพาะโลกุตตรธรรมทั้งหมด คือมรรค ผล นิพพาน ทั้ง 9 คำว่า "ธรรมกาย" มีความหมายอย่างที่กล่าวมานี้ คือเดิมนั้นไม่ได้เป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่ เป็นการกล่าวขึ้นในสถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะใช้ในเชิงเปรียบเทียบ และข้อสำคัญก็คือไม่ใช่เป็นหลักธรรม อันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวรวมๆ เช่นอย่าง โลกุตตรธรรม ก็หมายถึงโลกุตตร-ธรรมที่พูดแบบคลุม ๆ รวมๆ ทั้งหมดทั้งชุด
         อนึ่ง การเห็นธรรมกายที่ว่านี้ ท่านก็อธิบายว่าได้แก่การเห็น อริยสัจจ์ 4 นั่นเอง และท่านก็บอกไว้ด้วยว่า
การเห็นธรรมกายคือเห็นอริยสัจจ์ 4 นี้ ต้องเห็นด้วยปัญญาจักษุ คือด้วยตาปัญญา เราเห็นรูปกายด้วยตาเนื้อ แต่ จะเห็นธรรมกายด้วยตาปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยสมาธิถ้าเห็นด้วยสมาธิ
ก็จะเป็นการเห็นนิมิตอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

         สมาธินั้นเราใช้เพียงเป็นตัวช่วยทำให้จิตพร้อมที่จะทำงานในทางปัญญา ซึ่งจะทำให้มองเห็นธรรมกาย ด้วยปัญญา
นั่นอีกที หนึ่ง
ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีคำว่าวิชชาธรรมกาย เพราะธรรมกายเป็นเพียงถ้อยคำอย่างที่กล่าว มาแล้ว ใช้เฉพาะในบางกรณี และใช้เชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งเป็นคำกล่าวคลุมๆ รวมๆ
         ในหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น
         คำว่า
" วิชชา " ท่านมีหลักวางไว้แล้ว ในคำวิชชา 3 ซึ่งหมาย ถึง
         
บุพเพนิวาสานุสติญาณ
         จุตูปปาตญาณ
         และอาสวักขยญาณ
         หรือวิชชา 8 ประการ ที่ขยายออกไปอีก ซึ่งก็ไม่มีคำว่าวิชชาธรรมกายนี้ หมายความว่า คำว่า " วิชชา " ของท่านมีอยู่แล้ว และวิชชาเหล่านี้ก็ยังปรากฏในคำสอน อยู่ครบถ้วนและเป็นตัวหลักที่แท้ของการที่
จะให้บรรลุธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนา ตลอดจนบรรลุนิพพาน ไม่ มีวิชชาอะไรที่หายไป จึงไม่ต้องมีวิชชาอะไรมาเพิ่มเติมอีก
         จะต้องย้ำว่า " ธรรมกาย " เป็นคำพูดรวมๆ หมายถึงองค์ธรรมหลายอย่าง ประมวลเข้าด้วยกัน โดย เฉพาะมรรค ผล นิพพาน
         หลักธรรมสำคัญๆ เหล่านั้น มีวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุหรือเข้าถึงชัดเจนจำเพาะอยู่แล้ว
จึงไม่ต้องมีวิธีปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงธรรมกายซ้อนขึ้นมาอีก

จะเอาธรรมกายของพระพุทธเจ้า หรือธรรมกายแบบไหน ก็มีเสรีภาพเลือกได้ แต่ขอให้บอกไปตามตรง

         เรื่องธรรมกายที่มีความหมายแตกต่างกัน เป็นเรื่องสัมพันธ์กับกาลเวลาที่ต่างยุคต่างสมัย จึงไม่มีอะไร จะสับสน เรื่องธรรมกายในมหายานเขาก็มีชัดของเขาอยู่แล้ว และถ้าต้องการรู้ว่าต่างกับเถรวาทอย่างไรก็ไม่ ต้องไปเที่ยวหาให้ยาก จะศึกษาหาอ่านเมื่อไรก็หาได้
         
มหายานเขาก็ยอมรับอยู่ว่า คำสอนเรื่องธรรมกายนั้นเขาพัฒนากันขึ้นมาหลังพุทธกาลหลายร้อยปี และของมหายานนั้นธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งของหลักตรีกาย ที่ถือว่าพระพุทธเจ้าทรงมี 3 กาย คือ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมาณกาย
          ทางเถรวาทเรามีข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงธรรมกายอยู่บ้าง ซึ่งมีความหมาย
ชัดเจนอยู่แล้ว
ความต่างระหว่างธรรมกายที่เป็นความหมายเดิมของพระไตรปิฎกบาลี กับธรรมกายที่มหายานพัฒนา
ขึ้นมา ก็ศึกษากันได้ง่าย
         แต่เวลานี้ยังมีธรรมกายของมหายาน กับธรรมกายของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกัน อันนี้จะต้องมาศึกษากันใหม่ คือกลายเป็นเรื่องว่า จะต้องศึกษาความแตกต่างระหว่างธรรมกายของมหายานซึ่ง เป็นกายหนึ่งในสามของตรีกาย กับธรรมกายของวัดพระธรรมกายซึ่งทางมหายานเขายังไม่เคยได้ยิน และทางวัด พระธรรมกายเองยังไม่ได้พูดถึงอีก 2 กาย คือ สัมโภคกาย และนิรมาณกาย จึงควรแสดงเหตุผลแก่ทางฝ่ายมหายานว่า เหตุใดจึงไม่มีอีก 2 กายนั้น
ส่วนทางเถรวาทนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องเถียงกับใคร เพราะไม่ได้ถือ ธรรมกายเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร
          ตรีกายนั้นเป็นหลักของฝ่ายมหายาน เท่าที่ทราบก็ว่าพัฒนากันขึ้นในพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทิน หรือสรวาสติวาทะที่ได้สูญไปแล้ว แล้วมหายานก็พัฒนาต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ศึกษาพุทธศาสนามหายานเอง ไม่ใช่เรื่องที่ทางเถรวาทจะไปพูดว่าอะไร เพราะปราชญ์มหายานก็ยอมรับอยู่เองว่าเรื่องตรีกายนั้นเกิดหลัง พุทธกาลตั้งหลายศตวรรษอย่างที่กล่าวแล้วว่า มหายานรับช่วงพัฒนาต่อจากนิกายสรวาสติวาทะ ซึ่งเวลานี้ว่า อย่างไร ก็หาคำอธิบายได้ไม่ยาก ต่อมาพอถึงพุทธศาสนาแบบตันตระ ธรรมกายก็มาเป็นอาทิพุทธะ คือเป็นพระ พุทธเจ้าองค์ต้น ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นที่มาของลัทธิต้นธาตุต้นธรรมหรือไม่
         ปัจจุบันนี้ องค์ทะไลลามะนั้น ทางพุทธศาสนาแบบทิเบตถือว่าเป็นนิรมาณกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเองก็เป็นเรื่องสมัยหลังพุทธกาลมากมายหลายศตวรรษ เรื่องอย่างนี้นักปราชญ์ ศึกษากันมาเพียงพอแล้ว เพียงแต่เรารู้ว่าเป็นคำสอนของมหายานที่เกิดขึ้นทีหลัง ส่วนในทางพุทธ
ศาสนาเถรวาท นั้น เรามุ่งที่คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า
         คำว่าธรรมกายก็เป็นคำที่มีอยู่เดิม
ทางมหายานนั่นแหละที่จะต้องมาศึกษาว่า หลักคำสอนเรื่องตรีกาย ของตนซึ่งรวมทั้งเรื่องธรรมกายนั้น ได้พัฒนาขยายความหมายขึ้นมาจากธรรมกายในพุทธศาสนาดั้งเดิมที่มีใน พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทอย่างไร เพื่อจะหาความหมายเดิมแท้ ๆ การที่จะเอาคำสอนเรื่องธรรมกายของ มหายานที่เกิดขึ้นภายหลังตั้งหลายศตวรรษ มาปะปนกับความหมายเดิมนั้นไม่ถูกต้อง มีแต่จะทำให้วุ่นวายสับ สนกันใหญ่
         ขอย้ำว่า คำสอนธรรมกายของมหายาน กับคำสอนธรรมกายของวัดพระธรรมกายนั้น ต่างกันมากมาย ยิ่งกว่าธรรมกายมหายานต่างจากธรรมกายเดิมของพระพุทธเจ้า          เรื่องวิชชาธรรมกายปัจจุบันของสำนักวัดพระธรรมกายนั้น ก็ควรจะกล่าวลงไปตรงๆ ไม่ต้องไปบอกว่า พระพุทธเจ้าค้นพบ หรือทรงสอนไว้แล้วหายไปจนต้องมีการค้นพบใหม่ ก็พูดไปตรงๆ ว่า อาจารย์ของสำนัก ท่านได้จัดวางของท่าน และได้สอนขึ้นมาในความหมาย
ของท่าน เรื่องก็เท่านั้นเองเพราะว่าธรรมกายที่ว่านี้ ก็ไม่ได้มีความหมายตรงกับธรรมกาย
เดิมในพระไตรปิฎก หรือแม้แต่ธรรมกายของมหายาน ที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาใน ยุคหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปหลายร้อยปี ควรจะมีความแจ่มชัดดังที่กล่าวมาแล้ว