ไทยรัฐ 4/12/2541

หวั่น "ธรรมกาย" บานถึงขั้นแยกนิกาย!

จากกรณีที่หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกต การดำเนินงานของวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ที่โฆษณาชักชวนให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเพื่อจัดสร้างถาวรวัตถุ โดยเฉพาะธรรมกายเจดีย์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดยักษ์ที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลว่า เป็นการขัดต่อหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งมีการเรียกร้องให้กรมการศาสนาเข้าไปตรวจสอบ และล่าสุดทางกรมการศาสนาก็ได้ออกมาเปิดโปงโครงการก่อสร้างของทางวัดพระธรรมกายว่า มหาเถรฯ เคยอนุมัติให้งดเว้นภาษีนำเข้าวัสดุต่างประเทศเป็นจำนวนกว่าหลายร้อยล้านบาทด้วยแล้วนั้น พระราชธรรมนิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระนักวิชาการศาสนากล่าวว่า กรณีวัดพระธรรมกายน่าจะมาคุยกัน แล้วเอาหลักศาสนามาว่ากันให้ชัดเจนมากกว่า ตนเคยคุยกับผู้รู้ทางศาสนาไว้ว่า ขอให้คอยจับตาดูให้ดีไม่เกิน 30 ปีประเทศไทย อาจจะมีพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีกนิกายก็ได้ เพราะปัจจุบันรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้กว้างมาก โดยเฉพาะในมาตรา 38 ที่ให้อิสระเสรีในการนับถือศาสนามาก ซึ่งที่มองกันไว้นั้นหนึ่งในนิกายที่จะ "แยก" ออกไปก็คือ "ธรรมกาย" นั่นเอง ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นจุดเริ่มต้นบ้างแล้ว โดยแนวทางการ "แยกนิกาย" นี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในประเทศอินเดีย และญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการ "แตกต่าง" ก่อนเช่นด้านพิธีกรรม หลักการ คำสอน สิ่งที่เป็นอุดมคติ เป็นต้น เมื่อสังคมไม่ยอมรับและถูกบีบมากขึ้น ก็จะต้องหาทางออกมาด้วยวิธีการแยกตัว อย่างในบ้านเราก็มีให้เห็นเช่นกรณีสันติอโศก ในอนาคตศาสนาพุทธบ้านเราคงไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น เพราะคนจะต้องบวชน้อยลง ชาวพุทธจะต้องการอะไรที่รวดเร็วไม่ต้องใช้เวลานาน แนวทางของธรรมกายเต็มไปด้วยลักษณะของการบริการ การให้ความอบอุ่น รอยยิ้ม และการต้อนรับ เป็นจุดดึงดูให้กับคนได้เป็นอย่างดี หากแยกนิกายออกไปผลกระทบอาจจะมีบ้าง เพราะคนอาจจะแตกแยกกันในทางความคิด แต่ถึงตอนนั้น คนที่ศรัทธาก็จะเพิ่มมากขึ้น และสามารถครอบงำความคิดของผู้คนได้แล้วทั้งหมด

ด้านนายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กิจกรรมของวัดพระธรรมกายนั้นน่าจะมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ตนเชื่อว่าถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใดบกพร่อง ทางมหาเถรสมาคม คงจะสั่งการให้แก้ไขเอง ส่วนที่จะถึงขั้นต้องปิดวัดนั้น คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง และเชื่อว่าพุทธศาสนิกชน คงไม่อยากที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ดังนั้นหากมีสิ่งอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรจะรับฟังและแก้ไขให้ถูกต้อง ขณะนี้ทราบมาว่าทางคณะกรรมการวัดพระธรรมกาย ได้เริ่มที่จะปลดป้ายที่เกี่ยวข้องกับอภินิหารลงแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนของพระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้มีหนังสือมาถึงตน เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายอย่างรอบคอบและเป็นธรรม เพราะเห็นว่ากิจกรรมที่ทางวัดทำขึ้น ทั้งการตัดเย็บเสื้อผ้า ก็เป็นการส่งเสริมอาชีพ หรือการส่งเสริมหรือชักจูงให้เด็กเข้าวัดนั้น ก็เป็นการช่วยกระทรวงศึกษา เพราะทำให้ครูและเด็กเลิกอบายมุข รวมทั้งการก่อสร้างในวัดก็ก่อให้เกิดการสร้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในประเทศ ล่าสุดตนได้สั่งการให้กรมการศาสนา เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายทางโทรศัพท์ ที่หมายเลข 2822445 เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อมหาเถรฯ วันที่ 11 ธ.ค. อีกครั้ง

ด้านศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แถลงถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย โดยออกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพจำนวน 1,318 คน ในระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. 41 ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 90.7 เคยได้ยินข่าวสารเรื่องการทำบุญกับวัดพระธรรมกาย และร้อยละ 88.5 เห็นว่าการทำบุญในลักษณะนี้ไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนในพุทธศาสนา นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 87.6 ยังเห็นว่าการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์โดยใช้ทุนนับหมื่นล้านโดยอ้างว่าเพื่อเชิดชู พุทธศาสนานั้นก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน และร้อยละ 83.5 เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปตรวจสอบ เพราะไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ในส่วนรูปแบบการเชิญชวนให้ชาวบ้านไปแทำบุญของวัดพระธรรมกาย โดยใช้วิธีเน้นเรื่องอภินิหาร ปาฏิหาริย์ และผลบุญที่สามารถซื้อได้นั่น ปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 90.8 เห็นว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 88.8 เห็นว่าการบอกบุญในลักษฯะชักจูง เช่นวิธีการที่วัดพระธรรมกายใช้อยู่นี้ ไม่เป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติได้