พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ของมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
เล่มที่ ๔๔
ขุทกกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ หน้า 711 ข้อ 158 ปฐมนิพพานสูตร
๑. ปฐมนิพพานสูตร
ว่าด้วยอายตนะคือนิพพาน
[ ๑๕๘ ] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ใกล้พระนคร
สาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง
ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรม
มีกถาอันปฏิสังยุตด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว
เงี่ยโสต
ลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ
อากิญจัญญยตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา
เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติเป็นการอุปปัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้
มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็น
ที่สุดแห่งทุกข์
อรรถกถา ปฐมนิพพานสูตร
หน้า 715
พระนิพพานท่านเรียกว่า อายตนะ
เพราะอรรถว่า เป็นเหตุ โดยเป็นอารัมมณปัจจัย
( ปัจจัยที่เป็นอารมณ์ ) แก่มรรคญาณและผลญาณเป็นต้น เหมือนรูปารมณ์เป็นต้นเป็นอารัมมณปัจจัยแก่
จักขุวิญญาณเป็นต้น
หน้า 718
อนึ่ง เราไม่กล่าวอาคติ คือการมาแต่ที่ไหนๆ
ในอายตนะนั้นคือพระนิพพานนั้นอย่างนี้ เพราะพระนิพพาน ไม่มีฐานะ ที่จะพึงมา
บทว่า น คตึ ความว่า เราไม่กล่าวการไปในที่ไหนๆ เพราะฐานะที่พระนิพพานจะพึงถึงไม่มี
เพราะการมาการไป ของสัตว์ทั้งหลาย เว้นการกระทำให้เป็นอารมณ์ด้วยญาณ ไม่มีในพระนิพพานนั้น
อนึ่ง เราไม่กล่าวถึง ฐิติ จุติ และอุปัตติ
บาลีว่า ตทปหํ ดังนี้ก็มี ชื่อว่าไม่มีฐิติ เพราะไม่มีฐานะที่ตั้งอยู่
เหมือนแผ่นดินเหมือนภูเขาเป็นต้น อนึ่ง ชื่อว่าไม่มีการเกิด
เพราะไม่มีปัจจัย ชื่อว่าไม่มีจุติ ( ตาย ) เพราะไม่มีการตายเป็นสภาวะนั้น
เราไม่กล่าวฐิติ จุติ และอุปัตติ เพราะไม่มีการเกิด และการดับ และเพราะไม่มีการตั้งอยู่ที่กำหนดด้วยการเกิดและการดับทั้ง
๒ นั้น อนึ่ง พระนิพพานนั้นล้วนชื่อว่าไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ