องค์กรปกครองสงฆ์
มหานิกาย-ธรรมยุต
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ในหมวด 2 ว่าด้วย 'มหาเถรสมาคม' ซึ่งถือเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ กำหนดพอสรุป ดังนี้ คือ
มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสิบสองรูป เป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ใน มาตรา 15 ตรี ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
2.ปกครองและกำหนดการ บรรพชาสามเณร
3.ควบคุมส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแพร่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์คณะสงฆ์
4.รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
5.ปฏิบัติหน้าอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ให้มหาเถรสมาคม มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใด หรือคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ.. เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งได้
กล่าวได้ว่า การปกครองคณะสงฆ์ จะมีการปกครองตามลำดับขั้น ซึ่งสงฆ์ไทยมีอยู่ 2 นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติก-นิกาย สงฆ์ทั่วประเทศไทยที่มีอยู่หลายแสนรูป เป็นสงฆ์ฝ่ายมหานิกายประมาณ 80% ส่วนอีก 20% เป็นฝ่ายธรรมยุต
มหาเถรสมาคม ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งหมด 21 รูป โดยแบ่งจากฝ่ายมหานิกาย
10 รูป และฝ่ายธรรมยุต 11 รูป ดังนี้ คือ 1.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต) เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ
20 รูป ประกอบด้วย
2.สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต)
3.สมเด็จพระมหามุณีวงศ์ วัดนรนาถสุนทริการาม (ธรรมยุต)
4.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต)
5.สมเด็จพระวันรัต วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต)
6.สมเด็จพุฒาจารย์ วัดสระเกศ (มหานิกาย)
7.สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม (มหานิกาย)
8.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ (มหานิกาย)
9.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุวรรณาราม (มหานิกาย)
10.พระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (มหานิกาย)
11.พระพรหมจริยาจารย์ วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม (มหานิกาย)
12.พระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (มหานิกาย)
13.พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศน์เทพวราราม (มหานิกาย)
14.พระพรหมโมลี วัดยานนาวา (มหานิกาย)
15.พระธรรมกิตติวงศ์ วัดราชโอรสาราม (มหานิกาย)
16.พระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต)
17.พระสุธรรมาธิบดี วัดราชาธิวาส (ธรรมยุต)
18.พระอุดมญาณโมลี วัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต)
19.พระธรรมปัญญาจารย์ วัดมกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุต)
20.พระมหารัชมงคลดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต)
21.พระเทพเมธาภรณ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต)
โดยมี นายสมานกิจ ภิรมญ์รื่น อธิบดีกรมการศาสนา เป็น เลขาธิการมหาเถรสมาคม
โดยตำแหน่ง
การปกครองคณะสงฆ์ ลำดับขั้นลงมาจาก มหาเถรสมาคม ของพระฝ่ายธรรมยุต จะมี เจ้าคณะใหญ่-ภาค (ซึ่งจะแบ่งเป็น 18 ภาค)-จังหวัด-อำเภอ-ตำบล-วัด
ส่วนลำดับขั้นการปกครองที่รองลงมาจาก มหาเถรสมาคม ของพระฝ่ายมหานิกาย (พระฝ่ายมหานิกายมีจำนวนมาก จึงมีลำดับขั้นมาก) คือ เจ้าคณะใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 4 ภาค คือ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ดูแลปกครองสงฆ์ในเขตภาคกลาง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ดูแลปกครองสงฆ์ในเขตภาคเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ดูแลในภาคตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ดูแลในภาคใต้ ซึ่งแต่ละภาคใน 4 ภาคนี้ จะแยกย่อยเป็น 18 ภาค รับผิดชอบจังหวัดต่างๆ ตามความเหมาะสม จากนั้นลำดับขั้นจึงลงสู่จังหวัด-อำเภอ-ตำบล-วัด
สำหรับกรณี วัดพระธรรมกาย ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี
ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย และกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมอยู่นี้ ตามลำดับขั้นการปกครองสงฆ์อยู่ในส่วนของภาค 1 ซึ่งมี พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 ปกครอง และลำดับขั้นปกครองต่อไปก่อนถึงมหาเถรสมาคม คือ คณะใหญ่หนกลาง ซึ่งมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม (มหานิกาย) ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปกครองดูแล
อย่างไรก็ตาม ทั้ง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม และ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่กำกับดูแลปกครองสงฆ์ในเขตภาคกลาง ต่างก็เป็นกรรมการของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดปกครองคณะสงฆ์
Last modified: วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2541