ข่าวฮือฮาเกี่ยวกับ 'อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์' ของวัดพระธรรมกาย พลันเป็นประเด็นร้อนขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์อีกครั้ง ยิ่งเป็นที่ฮือฮา และยังเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งขึ้น เมื่อมีการหยิบเอาประเด็นดังกล่าวนั้นโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูกต้อง หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร? นั้น คือคำถามที่ต้องหาคำตอบออกมาให้ได้ ก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายจนก่อความสะเทือนแก่พื้นฐานเดิมของสถาบันและสังคม ด้วยปรากฏการณ์นั้นมีบางคนเชื่อว่าเป็นจริง เนื่องเพราะมีพยานบุคคลมากมายเห็นปรากฏการณ์เหมือนๆ กัน บางคนไม่เชื่อ หาว่าเป็นการสะกดจิตหมู่ อุปทานหมู่ ฯลฯ
ทั้งหลายทั้งปวงนั้น อาจยากที่จะหาข้อสรุปชัดเจนได้ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเสาะค้นคำตอบออกมา ขอเพียงมีสติ ความตั้งใจมั่นที่จะพัฒนาความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าการที่จะเชื่อไปเรื่อยๆ เท่านั้น
ชำแหละ..ปาฏิหาริย์ธรรมกาย ขอเริ่มด้วยการอ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญว่า ในทรรศนะทางพุทธศาสตร์นั้น มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่อง 'อิทธิปาฏิหาริย์' อย่างน้อยจะได้มีข้อสรุปที่ถูกต้อง เพื่อชาวพุทธจะได้มี ท่าที ต่อปาฏิหาริย์อย่างถูกต้องต่อไป และอีกสาเหตุที่ต้องอ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก เนื่องเพราะวัดพระธรรมกายเป็นวัดในพุทธศาสนา นิกายเถรวาท โดยยึดเอาเครื่องแต่งกายนักบวชและระเบียบวินัยประเพณีเป็นเครื่องบ่งชี้
ทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้น จะยึดถือว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหลักฐานดั้งเดิมที่สุดคือ คำสอนของพระพุทธองค์ที่ปรากฏอยู่ใน 'พระไตรปิฎก' ที่จริงยังมีพุทธศาสนาอีกสายหนึ่งที่เผยแพร่ไปทางตอนเหนือของอินเดีย ผ่านทางประเทศจีน มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ฝ่ายนี้จะยึดเอาคำสอนอาจารย์เป็นหลัก มากกว่าคำสอนในพระ-ไตรปิฎก ฝ่ายมหายานจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'อาจารยวาท'
ซึ่งความเห็นของอาจารย์นั้น ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไป ประเภทร้อยอาจารย์ร้อยลัทธิความเชื่อ ลุ่มลึกบ้าง งมงายบ้าง บ้างก็ถือนิพพานเป็นแดนสุขาวดี ถือนิพพานเป็นอนัตตาก็มี อัตตาก็มี บางสำนักวัตรปฏิบัติเคร่งครัด บางสำนักย่อหย่อน พระมีภรรยาได้ก็มี เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ แตกเป็นนิกายย่อยนับร้อยๆ สำนักเลยทีเดียว
กรณีวัดพระธรรมกาย เป็นที่ทราบกันดีว่า ชอบอ้างคำสอนของอาจารย์ (หลวงพ่อสด) เป็นสำคัญ ว่านิพพานเป็น อัตตา มากกว่าจะยอมรับคำสอนในพระ-ไตรปิฎกที่ว่านิพพานเป็นอนัตตา จึงถูกตีความตามความเชื่อว่าคล้ายไปในทางฝ่ายมหายาน คือเชื่อคำสอนอาจารย์ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ว่า สำคัญกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก!?!?!?
ถ้าหากธรรมกายนั้นเป็นพุทธแบบมหายาน พุทธแบบมหายานเป็นพุทธศาสนาฝ่ายที่มีความเชื่อว่า ตนเป็นพุทธศาสนาเพื่อมหาชน เป็นยานลำใหญ่ที่ขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสาร จึงจะดัดแปลงคำสอนอย่างไรก็ได้เพื่อให้ถูกใจประชาชนเป็นสำคัญ ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดอะไร แต่พุทธแบบเถรวาท เป็นพุทธศาสนาฝ่ายที่ยืนยันรักษาหลักคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ให้คงความถูกต้องไว้มากที่สุด รักษาธรรมวินัยไว้ให้พุทธศาสนาฝ่ายต่างๆ ได้เข้ามาเรียนรู้หรือนำไปทำการแก้ไขปรับปรุงลัทธิของตนให้ถูกต้องยิ่งขึ้นต่อไป
-ฝ่ายมหายาน จะทำการประยุกต์พุทธศาสนาให้เหมาะสมกับยุคสมัยอย่างไร ไม่มีใครว่า หรือจะถึงขั้นตีความผิดทิศผิดทางไป ก็ไม่มีใครมาเอาผิดอะไร เพราะยอมรับกันแล้วว่า พุทธฝ่ายมหายาน เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เป็นเสรีภาพที่จะเชื่อ
แต่เมื่อวัดพระธรรมกายในขณะนี้ยังอ้างตัวว่า เป็นชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ก็ต้องถือว่าวัดพระธรรมกายยังเป็นพุทธในนิกายเถรวาท ซึ่งถ้าหากต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง ก็คงต้องนำหลักฐานของพุทธศาสนานิกายเถรวาท คือ 'พระไตรปิฎก' มาเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบ ว่ามีข้อวัตรปฏิบัติถูกต้องมากน้อยเพียงไร ยกเว้นธรรมกายจะยอมเปลี่ยนนิกาย และเครื่องแต่งกายให้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้
ซึ่งเมื่อเป็น 'มหายาน' ก็เป็นอันหลุดพ้นจากข้อหาทั้งปวงของทางเถรวาท โดยปริยาย!?!?!?
ในพระไตรปิฎก ระบุไว้ชัดเจนว่า มีวินัยห้ามมิให้พระภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ หากฝ่าฝืนถือเป็นอาบัติทุกกฎ (วินัยเล่ม 7 จุลลวรรค ภาค 2 ข้อ 33) เนื่องจากการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์จะก่อให้เกิดโทษมากมาย ทั้งต่อประชาชนและคณะสงฆ์ อันได้แก่ (หลักฐานอ้างอิงในแต่ละข้อให้ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎก ตามฉบับที่หมายเหตุไว้)
1.ทำให้ลาภสักการะเจริญแก่พระภิกษุผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ (ถึงแม้ภิกษุรูปนั้น จะไม่มีเจตนาแสวงหาลาภสักการะนั้นก็ตาม) จนในที่สุดทำให้เกิดความมักมาก และความไม่สันโดษแก่หมู่คณะ
(อ่านเรื่องพระปิลินทวัจฉะแสดงปาฏิหาริย์ช่วยคนให้พ้นผิด แต่เป็นผลทำให้ผู้คนตื่นเต้นหลงใหลนำลาภสัก- การะมาถวายมากมาย จนประชาชนทั่วไปเพ่งโทษติเตียน ว่าวัดร่ำรวยผิดปกติ)
2.ทำให้คนหลงใหลตื่นเต้น เฉพาะแต่พระภิกษุที่ชอบทำอิทธิปาฏิหาริย์จนไม่สนใจพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือไม่สนใจแม้แต่องค์พระศาสดาเลยด้วยซ้ำไป
(อ่านเรื่องพระสาคตะเถระแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ให้ประชาชนแปดหมื่นได้ชมตรงพระพักตร์ (ต่อหน้า) พระพุทธเจ้า ทำให้ประชาชนสนใจ แต่พระสาคตเถระที่แสดงปาฏิหาริย์ และมองข้ามพระศาสดาไป ตามคำบอกเล่าพระอานนท์ถึงเหตุการณ์ภายหลังพระสาคตะเถระได้แสดงปาฏิหาริย์แล้วว่า "ประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วถวายบังคมนั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพวกเขาพากันสนใจแต่พระสาคตะเท่านั้น หาได้สนใจต่อพระผู้มีพระภาคไม่...")
(วินัยเล่ม 5 มหาวรรค ภาค 2 ข้อ 1 หน้า 2 บรรทัด 20)
3.อิทธิปาฏิหาริย์ไม่ใช่วิชชาในพุทธศาสนา แต่เป็นไสยศาสตร์ชนิดหนึ่ง ที่ไม่ควรส่งเสริม เพราะจะทำให้คนโง่เขลายิ่งเกิดความหลงใหลมากขึ้น และทำให้ผู้รู้ผู้มีสติปัญญา คิดดูหมิ่นดูแคลนพุทธศาสนา เหลวไหลได้ที่แต่แสดงไสยศาสตร์เหมือนอย่างลัทธิอื่นๆ
(อ่านเรื่องพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงลักษณะการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ว่า เป็นไสยศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในการชักจูงผู้มีปัญญาเข้ามาเลื่อมใสในพุทธศาสนา และเมื่อพระพุทธองค์อธิบายลักษณะของอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว พระพุทธองค์ถึงกับสรุปในตอนท้ายว่า "ดูกรเกวัฎฎ์ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์)
(สุตตันตเล่ม1 ทีฆนิกาย สีลขันธ วรรค ข้อ 339 หน้า 307 บรรทัด 13)
แล้วเหตุไฉนบางครั้งพระพุทธองค์หรือพระสาวกบางรูป จึงมีการแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกคำตอบในกรณีนี้ คือ ถ้าอ่านมูลเหตุทุกครั้งที่ปรากฏอิทธิปาฏิหาริย์ในพระไตรปิฎก ก็จะพบเหตุที่พระพุทธองค์จะแสดงอิทธิ-ปาฏิหาริย์นั้นมีอยู่ประการเดียว นั่นคือ มุ่งจูงใจคนในลัทธินอกศาสนา ที่สนใจปาฏิหาริย์อยู่แล้ว ให้หันมานับถือพุทธศาสนา (โดยคำสอน)
ซึ่งแตกต่างจากการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพวกลัทธินอกพุทธศาสนาทั่วไป ที่มุ่งแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพียงเพื่อมุ่งแสวงหาลาภสักการะเท่านั้น!?!?!?
เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2530 ศาตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง ชื่อว่า 'สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก' โดยได้วิเคราะห์วิจารณ์แนวคิดและวัตรปฏิบัติของสำนักทั้งสามแห่งไว้อย่างน่าพิจารณา เฉพาะอย่างยิ่ง 'ธรรมกาย' นั้น ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจไว้ 3 ประการ คือ
1.'ธรรมกาย' ไม่ควรชูเรื่อง 'ผู้ใดเห็นธรรมกาย ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า' เพราะจะทำให้ต้องไปทะเลาะกับคนจำนวนมากในทางทฤษฎี ควรจะขยายการสอนธรรมะให้ครอบคลุมพุทธรรมโดยกว้างขวางและขยายเรื่องทางปัญญาให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเป็นช่องโหว่เรื้อรังหรือถาวร
2.อย่าชู 'ธรรมกาย' ให้เป็นเอกเทศ และดูเหมือนไปบุกรุกเบียดพุทธอื่นๆ จะก่อความขัดแย้ง ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับหาตัว ควรชูพุทธเป็นส่วนรวม
3.ลดภาพพจน์ในความต้องการทางการเงินลง ควรจะดำเนินการในทางที่ไม่ต้องใช้เงินมากนัก โดยการกระจายยิ่งกว่าการที่จะกระจุกให้ใหญ่และแพงขึ้นอีกต่อไป
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ขบวนการของพระองค์ก็ใหญ่โตน่าดู น่าศึกษาว่าพระพุทธองค์จัดตั้งอย่างไรจึงได้ผลดี--แต่พระพุทธเจ้าคงจะรับสั่งไม่ได้ว่า "ถ้าไม่ได้เดือนละ 15 ล้าน เราอยู่ไม่ได้"
ลุล่วงพุทธศักราช 2541 วัดพระธรรมกายก็ยังตั้งหน้าตั้งตาดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับกิจกรรมในวาระต่างๆ อยู่เสมอ รวมทั้งประเด็น 'อิทธิปาฏิหาริย์' ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์ยามนี้
จึงมีคำถามติดตามมาว่า ถ้าวัดพระธรรมกายยังเป็นชาวพุทธ ก็ต้องเคารพธรรมวินัย ซึ่งการที่มีสมาชิกธรรมกายบางท่านอ้างว่าหลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎก อาจบิดเบือนไปนั้น น่าจะเป็นคำพูดของผู้ที่ต้องการจะหนีประเด็น เพราะเมื่อเราเป็นชาวพุทธนิกาย เถรวาท เราก็ต้องยอมรับในพระไตรปิฎก ว่าเป็นตำราของชาวพุทธ หากว่า ต้องการจะคิดอะไรให้นอกเหนือไปจากพระไตรปิฎก ก็ต้องสร้างตำราเป็นของตนและตั้งชื่อศาสนาใหม่
เช่นเดียวกันเมื่อประกาศศาสนาของตนแล้ว ถ้ายังอยากจะยืนยันว่า นิพพาน เป็น อัตตา หรือธรรมกาย เป็น อัตตา หรือจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้เป็นที่น่ามหัศจรรย์สักเพียงไร? ก็คงไม่มีใครว่าอะไร?
แต่ประเด็นต้องชัดเจน แล้วชาวพุทธจะนับถือชาวธรรมกาย ถือว่ามาร่วมกันสอนประชาชนให้เป็นคนดีด้วยกัน ชาวพุทธมีความเคารพในความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ชาวพุทธจะไม่เคารพคณะบุคคลใดๆ ที่แอบอ้างเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท แล้วมาตู่สอนลัทธินอกศาสนาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า นี่คือคำสอนทางพุทธศาสนา --ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพุทธศาสนา
และยังจะถือเป็นธรรมะกลายพันธุ์ด้วย
Last modified: วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2541