มิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ มีองค์ ๒
๑. วตฺถุโน วิปริตฺตา ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ผิด
๒. ตถา ภาเวน อุปฏฺฐานํ เชื่อและยินดีพอใจในอารมณ์นั้น
ปโยคของมิจฉาทิฏฐิ คือ สาหตฺถิกปโยค คิดเอง นึกเอง
เฉพาะอกุสลกรรมบถข้อ ๑๐ มิจฉาทิฏฐิ นั้น มีความหมายดังนี้
มิจฺฉา ปสฺสตีติ มิจฺฉาทิฏฺฐิฯ ธรรมชาติใดที่มีความเห็นวิปริตอันผิดไปจาก
ความเป็นจริง นั่นแหละชื่อว่า
มิจฉาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก มิจฉาทิฏฐิ มีอยู่หลายประเภท เช่น
สักกายทิฏฐิ ๒๐ มีความยึดมั่นในขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเขา เป็นเรา
มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตรแห่งสีลขันธวัคค
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่แสดงไว้ใน สามัญญผลสูตร แห่งสีลขันธวัคค
สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ที่กล่าวในมโนทุจริตกรรมนี้ มุ่งหมายเฉพาะนิยตมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ ที่สำเร็จเป็นกรรมบถ
นิยตมิจฉาทิฏฐิ มีชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่า
มิจฉัตตนิยตะนั้น มี ๓ คือ
๑. อเหตุกทิฏฐิ มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น ไม่ได้อาศัย
เนื่องมาจากเหตุแต่อย่างใด
(ไม่เชื่อเหตุ อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒)
๒. นัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่า การทำอะไร ๆ ก็ตาม ผลที่จะได้รับนั้นย่อม
ไม่มี (ไม่เชื่อผล อุจเฉททิฏฐิ ๗)
๓. อกริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การที่สัตว์ทั้งหลายกระทำกิจการต่าง ๆ นั้น
ไม่ สำเร็จเป็นบุญ หรือเป็นบาปแต่
อย่างใดเลย (ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล สัสสตทิฏฐิ ๔)
มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ จำแนกเป็นสาขาใหญ่ ๒ สาขา คือ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑ และ อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๑
ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุในอดีต มี
๑๘ คือ
๑. สัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง (อกริยทิฏฐิ)
๒. เอกัจจสัสสตเอกัจจอสัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตา และโลกบางอย่างเที่ยง
บางอย่างไม่เที่ยง
๓. อันตานันติกทิฏฐิ ๔ เห็นว่าโลกมีที่สุด และไม่มีที่สุด
๔. อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ ความเห็นซัดส่าย ไม่ตายตัว จะว่าใช่ก็ไม่เชิง
จะว่าไม่ใช่ก็ไม่เชิง
๕. อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒ เห็นว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นลอย ๆ
ไม่มีเหตุ (อเหตุกทิฏฐิ)
อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผลในอนาคต มี
๔๔ คือ
๑. สัญญีวาททิฏฐิ ๑๖ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วมีสัญญา
๒. อสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วไม่มีสัญญา
๓. เนวสัญญีนาสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย เมื่อตายแล้ว
มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง
๔. อุจเฉททิฏฐิ ๗ เห็นว่า ตายแล้วสูญ (นัตถิกทิฏฐิ)
๕. ทิฏฐธัมมนิพพานวาททิฏฐิ ๕ เห็นว่า พระนิพพานมีในปัจจุบัน (คือ
๑.ว่ากามคุณ ๕ เป็นพระนิพพาน, ๒.ว่าปฐมฌาน, ๓.ว่าทุติยฌาน, ๔.ว่าตติยฌาน,
๕.ว่าจตุตถฌาน เป็นพระนิพพาน)
สักกายทิฏฐิ ๒๐
รูปํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ เห็นรูปโดยเป็นตน
รูปํวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนมีรูป
อตฺตนิ รูปํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นรูปในตน
รูปสฺมึ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนในรูป
เวทนํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ เห็นเวทนาโดยเป็นตน
เวทนาวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนมีเวทนา
อตฺตนิ เวทนํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นเวทนาในตน
เวทนาย อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนในเวทนา
สญฺญํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ เห็นสัญญาโดยเป็นตน
สญฺญาวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนมีสัญญา
อตฺตนิ สญฺญํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นสัญญาในตน
สญฺญาย อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนในสัญญา
สงฺขาเร อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ เห็นสังขารทั้งหลายทั้งหลายโดยเป็นตน
สงฺขารวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนมีสังขาร
อตฺตนิ สงฺขาเร สมนุปฺปสฺสติ เห็นสังขารทั้งหลายในตน
สงฺขาเรสุ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนในสังขารทั้งหลาย
วิญฺญาณํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ เห็นวิญญาณโดยตนเอง
วิญฺญาณเวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนมีวิญญาณ
อตฺตนิ วิญฺญาณํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นวิญญาณในตน
วิญฺญาณสฺสมึ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ เห็นตนในวิญญาณ
อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน มีอธิบายโดยย่อ ดังต่อไปนี้
๑. กามุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในวัตถุกามทั้ง ๖ มี รูปารมณ์ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๒. ทิฏฐุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในการเห็นผิด มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓, มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ และ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่นอกจาก สีลัพพตทิฏฐิ และสักกายทิฏฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในการปฏิบัติที่ผิด มีการปฏิบัติเยี่ยงโค
และเยี่ยงสุนัข เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่
สีลัพพตทิฏฐิ
๔. อัตตวาทุปาทาน
ความติดใจยึดมั่นในขันธ์ ๕ ของตน และทั้งของผู้อื่น ว่าเป็นตัวเป็นตน
เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา องค์ธรรมได้แก่ สักกายทิฏฐิ
อัตตวาทุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในขันธ์
๕ ของตน และทั้งของผู้อื่น ว่าเป็นตัวเป็นตน
เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา ได้แก่ สักกายทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต
๔
( โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตต ๔ ดวง )
ทิฏฐิเจตสิก
ทิฏฐิเจตสิก คือธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเห็นผิด จากความเป็นจริง มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีการถือมั่นด้วยหาปัญญามิได้
เป็นลักษณะ
ปรามาส รสา มีการถือผิดจากสภาวะ
เป็นกิจ
มิจฺฉาภินิเวสปจฺจุปฏฺฐานา มีการยึดถือความเห็นผิด
เป็นผล
อริยานํ อทสฺสน กามตาทิ ปทฏฺฐานา ไม่ต้องการเห็นพระอริยะเป็นต้น
เป็นเหตุใกล้
คำว่า ทิฏฐิ ถ้าใช้ลอย ๆ ก็หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด
เว้นไว้แต่ที่ใดบ่งว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ จึงมีความเห็นว่าเป็นความเห็นชอบ ความเห็นถูก
โดยเฉพาะ ทิฏฐิเจตสิก เป็นความเห็นผิดเสมอไป
และทิฏฐินี้แบ่งอย่างหยาบ ๆ เป็น ๒ คือ ทิฏฐิสามัญ และทิฏฐิพิเศษ
ทิฏฐิสามัญ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือเห็นเป็นตัวตนบุคคลเราเขา อันเป็นความเห็นผิด แต่ที่จัดเป็นสามัญ เพราะทิฏฐิชนิดนี้มีประจำทั่วทุกตัวสัตว์เป็นปกติวิสัย (เว้นพระอริยบุคคล)
ทิฏฐิพิเศษ ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ คืออเหตุกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุ นัตถิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผล อกิริยทิฏฐิ ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล และสัสสตทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยงแท้แน่นอน อุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าสูญ ตลอดทั้งทิฏฐิ ๖๒ ที่จัดเป็นทิฏฐิพิเศษ ก็เพราะว่าทิฏฐิชนิดนี้บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี
ความแตกต่างกันระหว่างตัณหากับอุปาทาน
ใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ว่า เอตฺถ จ ทุพฺพลตณฺหา นาม พลวติ อุปาทา
นานํ แปลความว่า ในที่นี้ตัณหาที่มี
กำลังน้อยเรียกว่า ตัณหา ตัณหาที่มีกำลังมาก เรียกว่า อุปาทาน
อีกนัยหนึ่งว่า ปริเยสนทุกฺขมูลํ ตณฺหา อารกฺขมูลํ อุปาทานํ อยเมเตสํ
วิเสโส แปลความว่า ตัณหามีทุกข์ใน
การแสวงหาเป็นมูล อุปาทานมีทุกข์ในการ ระวังรักษาเป็นมูล
ตัณหา คือ ความพอใจในอารมณ์ที่ตนได้พบครั้งแรก อุปาทาน คือความติดใจ
ในอารมณ์ที่ตนได้พบนั้นไม่หาย
ครุ่นคิดอยู่เสมอ
ตัณหา คือ ความอยากได้ในอารมณ์ที่ตนยังไม่ได้ อุปาทาน คือ ความยึดมั่น
ในอารมณ์ที่ตนได้มาแล้ว
โดยไม่ยอมปล่อยวาง
จึงได้มีข้ออุปมาไว้ว่า ตัณหา เหมือนต้นไม้ที่ยังเล็ก ๆ อยู่ ถอนทิ้งได้ง่าย
อุปาทาน เหมือนต้นไม้ที่ใหญ่โตแล้ว ย่อมยากแก่การถอน เพราะรากแก้วยึดมั่นเสียแล้ว
อัปปิจฉตาคุณ คือ มีความปรารถนาน้อย ที่เรียกกันว่า
ไม่มีความอยากใหญ่ เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา ทำให้ตัณหามีกำลังลดน้อยถอยลง
สันตุฏฐิคุณ คือ ความมีสันโดษ ก็เป็นปฏิปักษ์แก่อุปาทาน สันโดษ หรือ สันตุฏฐี ได้แก่ มีความพอใจเท่าที่ตนมีอยู่ พอใจแสวงหาตามควรแก่กำลัง และ พอใจแสวงหาโดยสุจริต เพียงแต่มีสันโดษเท่านี้ ก็เป็นคุณแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เป็นอย่างมาก
ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑๒ องค์นี้ บางทีก็เรียกว่า
ภวจักร์ มีความหมายว่า หมุนเวียนไปยังภพต่าง ๆ อันได้แก่
ภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิซึ่งเรียกว่า วัฏฏสงสาร สังสาร วัฏฏ วัฏฏทุกข์ สังสารทุกข์
เป็นต้น
การอุปการะของปัจจัยธรรมต่อปัจจยุบบันนธรรม ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท ซึ่งมี ๑๒ องค์นั้น มีบาลีแสดงว่า
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
ผสฺสปจฺจยา เวทนา ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานปจฺจยา ภโว อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภวปจฺจยา ชาติ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ
โสก ปริเทว ทุกฺข โทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติฯ (ส่วน) โสกะ ปริเทวะ
ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ
ย่อมเกิดตามขึ้นมาด้วย
เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็พอจะทำให้เห็นได้แล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน
สังสารวัฏฏ ไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้น
ของสัตว์บุคคลใด แต่เป็นการเกิดขึ้นติดต่อกัน ของขันธ์ ธาตุ อายตนะ อันได้แก่
ปฏิจจสมุปปาทธรรมนั่นเอง
ในอัฏฐสาลินี อรรถกถา แสดงไว้ว่า " การเกิดขึ้นและเป็นไปโดยติดต่อกันอย่างไม่ขาดสายแห่ง
ขันธ์ ธาตุ อายตนะ
เหล่านี้แหละ เรียกว่า สังสาระ "
ปฏิจจสมุปปาทนี้เป็นตัววัฏฏะติดต่อกันเป็นวงกลม อันว่าวงกลมนั้นจะกล่าว
อ้างว่า ตรงไหนเป็นต้นเป็นปลายไม่ได้ แต่ที่ยกเอาอวิชชาขึ้นกล่าวก่อนธรรมองค์
อื่นนั้น ไม่ใช่อวิชชาเป็นต้นของวัฏฏะ หรือเป็นองค์ที่เกิดก่อน หากเป็นเพราะ
อวิชชานี้เป็นตัวประธาน เป็นตัวสำคัญ เป็นรากเง้าเค้ามูลที่ก่อให้เกิดมี
วัฏฏะ คือ การหมุนวนเป็นวงกลมขึ้น
ถ้าไม่มีอวิชชาอันเป็นตัวสำคัญนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปฏิจจสมุปปาทอีก
๑๑ องค์ ก็จะไม่ปรากฏเกิดขึ้นได้เลย
อวิชชา นี้องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก คือความไม่รู้นั่นเอง ไม่รู้ในที่นี้หมาย
เฉพาะไม่รู้ธรรม ๘ ประการ อันได้แก่
ไม่รู้อริยสัจ ๔, ไม่รู้อดีต ๑, ไม่รู้อนาคต ๑, ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ๑
และไม่รู้ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑
เมื่อละตัณหา อุปาทาน ( ๑. กามุปาทาน ,๒. ทิฏฐุปาทาน,๓.
สีลัพพตุปาทาน,๔. อัตตวาทุปาทาน ) ได้เด็ดขาดเป็นสมุทเฉจ แล้ว
ภพ ก็ไม่เกิด เพราะ อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ เมื่อไม่เกิดภพ
( ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทว ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ ก็ไม่เกิด ) จึงไม่ต้องมาปฏิสนธิอีก
คือเข้าถึงพระนิพพาน
นั่นเอง ซึ่งบุคคลที่ละอุปาทานได้เด็ดขาดแล้ว ก็หมายถึง พระอรหันต์
พระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องปฏิสนธิอีกเลย เป็นอันสิ้นภพสิ้นชาติ พ้นจากสังสารวัฏฏ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
อัตตาตัวตนไม่มีใน สภาวะธรรมต่างๆ หรือไม่มีใน ปรมัตถธรรม
4 ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
แต่การที่สัตว์ต่างๆ ยึดในปรมัตถธรรม 4 ว่าเป็นตัวของเรา เป็นของๆเรา
เป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตน
ก็เพราะความเห็นผิด คือ สักกายทิฏฐิ ซึ่งก็คือยังมี
อัตตวาทุปาทาน อยู่นั่นเอง
ดังนั้นถ้ายังละอัตตาตัวตนลงไปไม่ได้ ยังยึดสภาวะธรรมต่างๆ ว่าเป็นอัตตาตัวตนอยู่
ก็ไม่สามารถทำลาย
ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑๒ องค์ ได้
เพราะการยึดอัตตาตัวตนในสภาวะธรรมเกิดจาก อุปาทานที่เข้าไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
หรือยึดว่าเป็นอัตตาตัวตน ซึ่งก็คือ อัตตวาทุปาทาน
เมื่อยังมีอุปาทานอยู่ภพก็ต้องเกิด เพราะ
อุปาทานปจฺจยา ภโว อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
เมื่อภพเกิดทำให้ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด
ไม่สิ้นสุด และยังต้องหมุนเวียนใน วัฏฏทุกข์ต่อไป ดังนั้น การที่จะทำลาย ปฏิจจสมุปปาทธรรม
๑๒ องค์
ก็คือการทำลาย อุปาทาน( ๑. กามุปาทาน ,๒. ทิฏฐุปาทาน,๓.
สีลัพพตุปาทาน,๔. อัตตวาทุปาทาน )
ให้หมดสิ้นไม่ให้เหลือ ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑๒ องค์ ถึงเกิดขึ้นสืบต่อไม่ได้เพราะเมื่ออุปาทานดับ
ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ชราและมรณะก็ดับ และโสกะ ปริเทวะ
ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ ก็ไม่เกิดตามมาเมื่อนั้นก็จะออกจาก วัฏฏสงสาร
สังสาร วัฏฏ วัฏฏทุกข์ สังสารทุกข์ ได้ ซึ่งก็คือพระนิพพาน