Posted by ฉึกกะฉัก on December 11, 1998 at 23:28:53:
ดร.พระมหาจรรยา วัดอุโมงค์ ชี้ 7 ทางออกของมหาเถรฯกับ
วิกฤติธรรมกาย คอลัมน์หน้า 2 นสพ.มติชนรายวัน
ฉบับวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2541
ขณะนี้วัดพระธรรมกายกำลังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเป็นพิเศษ
จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนแทบทุกสาขาได้จับประเด็นและเกาะติดข่าวชนิดกัดไม่ปล่อยมาเป็นเวลาแรมเดือน
แม้ว่าจะมีข่าวใหญ่เรื่องแผนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านและเรื่องเอเชี่ยนเกมส์ผ่านเข้ามาแต่
ก็ไม่สามารถดึงความสนใจให้ประชาชนและสื่อมวนทิ้งประเด็นของวัดพระธรรมกายไปได้
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะวัดพระธรรมกายถูกจับตามองมาเป็นเวลานานแต่ไม่มีการเปิดประเด็นขึ้นมา
เหมือนกับน้ำที่ขังไว้ในเขื่อนนานๆพอเปิดเขื่อนน้ำก็บ่าไหลหลากล้นไปตามที่ต่างๆอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุดง่ายๆ
วัดพระธรรมกายแม้จะก่อกำเนิดเกิดมาในพุทธจักรไม่นานนัก แต่เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป
ทั้งนี้เป็นเพราะวัดพระธรรมกายได้นำเอาวิธีการบริหารและการตลาดแบบธุรกิจมาใช้ในการบริหารงานในทุกๆด้าน
เริ่มตั้งแต่การคัดคนท่จะมาสนับสนุนต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีทุนทรัพย์มาก
กิจกรรมทุกอย่างที่ออกมาต้องยิ่งใหญ่มโหฬาร อลังการตระการตาในทุกเรื่อง เทคโนโลยี่ที่ทันสมัยที่สุดแห่งยุคที่จะใช้ในการจัดกิจกรรมให้ยิ่งใหญ่ตามเป้าหมายแม้จะมีราคาแพงก็สามารถจัดซื้อมา
ใช้อย่างไม่ชักช้าชนิดที่เรียกว่าก้าวทันโลกทุกฝีก้าวอย่างกระชั้นชิด เพื่อเสนอความทันโลกดังที่คนหลงโลกโดยทั่วไปต้องการ
บุคคลิกภาพของพระสงฆ์ในสังกัดถูกออกแบบและนำเสนอออกมาสู่สายตาชาวโลกในมาดนักธุรกิจที่ใช้เครื่องที่บ่งบอกถึงรสนิยมสูง
หรือใช้ของอย่างมีรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นจีวรเนื้อดีราคาแพงห่มแล้วสะท้อนแสงกาววาวที่บ่งบอกว่าร่างที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้ากาสวพัตร์ผืนนี้เป็นผู้เปี่ยมล้นไปด้วยศีลและ
บุญญาบารมี เป็นเนื้อนาบุญใครได้ทำบุญแล้วจะได้รบผลบุญเร็วและมากมามหาศาล
จีวรเหล่านี้คงมิใช่ผ้าบังสุกุลที่เย็บย้อมอย่างเรียบง่าย หรือหาซื้อได้ในท้องตลาดตามที่ศรัทธาประชาชนจะพึงมีปัญญาซื้อถวายได้
แต่คงจะมาจากที่ใดที่หนึ่งที่นับว่าพิเศษที่บ่งบอกถึงรสนิยมที่ไม่ธรรมดา กลดบาตรและบริขารอื่นๆซึ่งแต่เดิมเป็นสัญญลักษณ์แห่งชีวิตที่เรียบง่ายแต่สำหรับธรรมกายแล้วออกแบบได้เนี้ยบชนิดที่ใครๆก็ต้อง
ทึ่งและอยากลงนอนภายใต้ร่มเงาของกลด
ภาพกลดที่ถูกบรรจงวางไว้เป็นแถวยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา
และมีคนจำนวนแสนนั่งหลับตาทำสมาธิเป็นภาพที่มองแล้วชนความรู้สึกของคนจำนวนมากที่ชอบจินตนาการถึงความสงบแต่ไม่ชอบ
ความสงบแท้ ภาพนี้กลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งวัดพระธรรมกายอย่างรวดเร็ว
แม้แต่การปักกลดซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชีวิตที่ต้องการวิเวก
วัดพระธรรมกายสามารถนำมาจัดการให้เป็นเรื่องที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ได้
ที่ดินจำนวนมหาศาลถูกกว้านซื้อเพื่อนำมารองรับกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว
ว่ามีทำเลทางการลงทุนที่คุ้มทุน ข้อที่น่าสังเกตก็คือทั้งๆที่วัดพระธรรมกายสามารถระดมทุนได้เป็นร้อยเป็นพันล้านจะไม่มีสำนักวัดพระธรรมกายประเภท
สาขาไปตั้งอยู่ตามเขาตามดอยหรือถิ่นทุรกันดารเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้มากมายนัก
ทุกแห่งที่วัดพระธรรมกายเข้าไปสิ่งแรกก็คือต้องซื้อที่ดินจำนวนมากเอาไว้ก่อน
หรือถ้ามีน้อยต้องขยายให้ใหญ่ หากมีปัญหาหรือข้อพิพาทก็ต้องแก้ให้เสร็จโดยรวดเร็ว
วิธีแก้ไขจะดำเนินไปโดยวิธีใดนั้นเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้ๆล้วนทราบซึ้งกันอยู่ทีเดียวว่าน่าประทับใจแค่ไหน
เมื่อวัดพระธรรมกายมีเป้าหมายการดำเนินงานอยู่ที่ความยิ่งใหญ่ มโหฬาร ตระการตา
น่าดูน่าชม ดูดีในทุกเรื่องที่นำเสนอสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางที่จะเนรมิตขึ้นมาได้อย่างง่ายดายแม้ว่าในสำนักพระธรรมกายจะมีผู้ทรง
ปาฏิหาริย์มากมายสักเพียงใด เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างสรรค์และรักษาความคิดอันยิ่งใหญ่เหล่านี้เอาไว้
ทำอย่างไรจึงจะได้เงินมา คำตอบสั้นๆง่ายๆคืออยากได้เงินก็ต้องหาเงิน เมื่อวัดพระธรรมกายไม่มีเรือกสวนไร่นา
ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม จะทำเงินได้อย่างไร
ที่จริงถ้าจะหาก็ได้ แต่คิดว่าการหาเงินทางนั้นอาจจะรวยช้าไป สู้ทำการค้าขายไม่ได้ จึงมุ่งเข็มมาทางการค้าขายทางจิตวิญญาณ โดยวัดพระธรรมกายศึกษาตลาดชัดเจนแล้วว่า สินค้าที่จะตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญายังขาดแคลนอยู่มาก จึงนำเอาระบบการจัดการและการตลาดและการค้าทางด้านวัตถุมาจัดการธุรกิจทางจิตวิญญาณ แต่สุดท้ายปลายทางมีวัตถุออกมาให้เป็นผลกำไร
เมื่อเป้าหมายของสำนักมุ่งเน้นที่วัตถุและภาพอันยิ่งใหญ่ กิจกรรมทุกสิ่งก็แปรสภาพจากบุญกริยาวัตถุมาเป็นการดำเนินการทางธุรกิจ
หลักคำสอนที่นำออกมาสอนก็คือตัวสินค้า พุทธศาสนิกชนคือลูกค้าที่จะต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าที่วัดพระธรรมกายผลิตออกมา
ส่วนสินค้าที่ซื้อมาแล้วใช้ได้หรือไม่ ประกันคุณภาพแค่ไหน ไม่มีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคใดๆจะตรวจสอบได้
ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จะเลื่อมใสหรือบ่ายหน้าหนีก็ตัวใครตัวมัน
วัดพระธรรมกายไม่ได้ผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่แต่นำเอาของเก่าที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงทำเป็นสินค้าและนำเสนอในรูปแบบการตลาดซึ่งมีทั้ง
ลงทุน การโฆษณา การขายตรง การสร้างเครือข่าย ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
สินค้าที่วัดพระธรรมกายนำมาเสนอคือ
1.ภาวนา ภาวนาตามความหมายเดิมแท้คือกระบวนการเติมธรรมะลงในใจให้เต็มจนกิเลสไม่มีที่จะอยู่
เมื่อธรรมะเข้าครองใจไว้ได้ทั้งหมด พฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจาก็ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น
ในพระพุทธศาสนาของเราพระพุทธเจ้านับเป็นมนุษย์คนแรกที่ทรงเติมธรรมะลงในพระทัยจนเต็ม
ไม่มีที่ว่างไว้รองรับกิเลสอีกต่อไป ต่อมาพระอรหันต์อีกเป็นจำนวนมากได้ทราบว่ามีชีวิตที่เต็มไปด้วยธรรมะมีความสงบสุขกว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยกิเลส
ก็ตั้งใจปฏิบัติจิตภาวนาจนเติมธรรมะลงในดวงใจจนเต็มอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
ทั้งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เมื่อได้รับความสุขจากความไม่มีกิเลสแล้วก็นำเอาวิถีชีวิตที่สงบสุขอันเกิดจากการไม่มีกิเลสนี้มา
บอกเล่ากับประชาชนอื่นด้วยหวังว่าจะได้ความสุขต่อๆกันไป
เมื่อประชาชนได้รับฟังและนำไปปฏิบัติก็ได้รับผลดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ได้รับมา
ก็มีศรัทธาออกบวช ที่มิได้บวชก็ถวายความอุปถัมพ์แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สงฆ์มิได้ทรงรับสิ่งใดมากไปกว่าอาหารพอ
ยังชีพเพียงหนึ่งมื้อต่อวัน ที่อยู่อาศัยหรือกุฏิกว้างยาวไม่เกิดสองตารางวาโดยประมาณ
งานของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มิได้มีจุดเน้นที่เครื่องสักการะบูชาแต่เน้นที่ความสุขและ
ประโยชน์ของมหาชนเป็นหลัก
หากเราหันมามองดูวัดพระธรรมกาย วัดพระธรรมกายสอนเรื่องภาวนาเหมือนกัน แต่จุดเน้นมิได้อยู่ที่การเติมธรรมะลงในใจไล่กิเลส แต่จุดเน้นอยู่ที่การสร้างภาพซึ่งเป็นเรื่องการฝึกพลังจิตมากกว่าการฝึกภาวนาเพื่อเอาชนะกิเลสตามแบบพุทธ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พระอรหันต์และพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนพระสาวกรูปใด และไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน
ถ้าเปรียบการค้าขายก็เป็นที่ชัดเจนว่า วัดพระธรรมกายใช้ชื่อเสียงและอาคารสถานที่ของพุทธบริษัทจำกัด แต่นำเอาสินค้าที่มิใช่เป็นของพุทธบริษัทจำกัดมาขาย
แม้จะดึงดันเถียงคอเป็นเอ็นว่า สิ่งที่ตนนำมาสอนก็เป็นภาวนาชนิดหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับของพระพุทธเจ้าแล้วก็เป็นได้แค่สะเก็ดภาวนาเท่านั้น หาใช่เป็นจุดหมายปลายทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นย้ำไม่
สิ่งที่แตกต่างจากร่องรอยของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกเติมธรรมะให้เต็มหัวใจของพุทธศาสนิกชนแล้วก็เป็นอันหมดภารกิจก็เดินทางโปรดผู้ทุกข์ยากอื่นๆต่อไป มิได้ติดใจที่จะสถาปนาขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อนคอยห้อมล้อมพระองค์แต่ประการใด และที่สำคัญที่สุดมิได้รับเครื่องสักการะใดๆมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้พระองค์ พระศาสนาของพระองค์ หรือพระสาวกของพระองค์แต่อย่างใด ทั้งๆที่อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ แต่วัดพระธรรมกายเมื่อได้พบสะเก็ดภาวนาอันเป็นปรากฎการณ์ทางจิตชนิดหนึ่งก็นำออกขายทันที แน่นอนที่สุดการนำเอาสะเก็ดภาวนาออกมาขายได้ทั่วบ้านทั่วเมืองนั้นต้องอาศัยนักการขายออกแบบสินค้าให้เป็นที่ตรึงตาตรึงใจลูกค้าแน่นอน
ฝ่ายโฆษณาได้นำเสนอภาพออกมาหลายชุดที่ออกแบบแตกต่างกันไปแต่มีแนวคิดหลักที่ลูกแก้วนั่นเอง ซึ่งลูกแก้วเพียงแนวคิดเดียว ได้นำมาสร้างเป็นสื่อและนำไปเป็นสินค้าใช้ในเชิงการตลาดได้ อีกหลายโครงการดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าเน้นความยิ่งใหญ่ในภายในใจ คือยิ่งใหญ่โดยธรรมโดยมิต้องแสดงออกมาภายนอก แต่วัดพระธรรมกายได้เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้าในจุดนี้อย่างสิ้นเชิงทั้งรูปแบบและเนื้อหา
2. การทำบุญ ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแต่ตั้งเดิมคือการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
การให้ทานมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายความตระหนี่ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน จุดประสงค์หลักของการให้ทานจึงอยู่ที่การกำจัดความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจ
นอกจากการให้อภัยแก่ผู้ที่มีเวรมีภัยต่อกันหรือเคยกระทบ
กระทั่งกัน และยังมีการให้ที่สำคัญที่สุดคือการให้ธรรมะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง
เมื่อทำบุญด้วยวิธีการให้ทานอย่างใดอย่างหนึ่งตามสะดวกด้วยความตั้งใจ จิตใจได้รับความปีติจากการทำบุญนั้น ผลออกมาก็เป็นบุญอยางแท้จริง นอกจากทำบุญด้วยการให้ทานดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็ยังมีการสมาทานศีล เจริญภาวนา การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น การฟังธรรม การแสดงธรรม การให้ความดีต่อกัน การแสดงความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี การเปลี่ยนความเห็นจากความเห็นผิดมาทำความเห็นให้ถูกถ้วนเป็นวิธีการบุญที่ได้ทั้งบุญทั้งนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่การทำควมเข้าใจถึงเรื่องของการทำบุญอย่างถ่องแท้เสียก่อน เมื่อเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่าทำบุญเพื่อขจัดความเห็นแก่ตัวก็ทำลงไปโดยมีเป้าหมายอยู่กันที่ความเห็นแก่ตัว
วัดพระธรรมกายก็นำเอาเรื่องการทำบุญมาสอนเหมือนกัน
แต่เน้นตรงที่การทำทานเพียงอย่างเดียว ดังมีคำพูดอยู่อย่างหนาหูว่า ทำบุญกันให้สุดฤทธิ์สุดเดช
ความหมายก็คือให้ทานกันแบบสุดฤทธิ์สุดเดช ถ้าคำดังกลาวออกมาจากการตลาดหรือเป็นแนวคิดการทำบุญของวัดพระธรรมกายแล้วไซร้
ความคิดดังกล่าวล้วนย่อมสวนทางกับแนวคิดเรื่องบุญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ค่อนข้างแน่นอน
ยิ่งความคิดที่ว่ายิ่งให้มากเท่าไรได้บุญมากเท่านั้น มองในทางกลับกันคนที่ไม่มีจะให้ก็คงไม่มีโอกาสจะได้บุญกระนั้นหรือ ทำดีอย่างอื่นก็ไม่ได้บุญเท่ากับบริจาคเงินมากๆ พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ทานจะน้อยหรือมาก เมื่อจิตใจปกติสม่ำเสมอไม่หวั่นไหวย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก จุดนี้เน้นที่จิตใจเมื่อจิตใจพร้อมทำบุญมากหรือน้อยย่อมมีความอิ่มอกอิ่มใจอย่างมากและทนนาน มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุที่ทำทานแต่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ มากหรือน้อยตามความสะดวก
ชาวธรรมกายเป็นจำนวนมากมักจะออกมาถามด้วยอารมณ์หงุดหงิดว่า
ผิดด้วยหรือที่ทำบุญด้วยความตั้งใจ ไม่มีใครผิด แต่ประเด็นที่พูดกันอยู่ขณะนี้คือวัดพระธรรมกายมิได้ปล่อยให้การทำบุญเป็นไปตามธรรมชาติ
แต่มีการโฆษณาโหมโรงกันมาก และเป็นการโฆษณาที่ออกมาในรูปของการกำหนดจำนวนทำบุญ
เช่นกำหนดราคา
พระพุทธรูป จำนวนเท่านั้นเท่านี้ การกำหนดราคาของไว้ชัดเจน อย่างนี้ยังเรียกว่าทำบุญอยู่อีกหรือ
เขาไม่เรียกว่าขายหรอกหรือ
การกำหนดราคาการบริจาคทุกๆรายการไว้อย่างชัดเจนไม่เรียกว่าบังคับจะเรียกว่าอะไร
คนที่มีความตั้งใจบริจาคยี่สิบบาทจะได้รับพระประจำวันไหม
ถ้าไม่เป็นการบังคับ แต่ถ้าไม่ได้นั้นเป็นการบังคับให้บริจาค การบังคับมิได้หมายความว่าเอาปืนมาจี้ให้ไปทำบุญ
แต่การกำหนดจำนวนการบริจาคการให้ของตอบแทน
ต่างหากเรียกว่าการบังคับบริจาค วิธีการทางการตลาดแบบนี้ไม่มีอะไรผิด
ใครเห็นแล้วชอบใจเข้าก็เข้าไปใช้บริการได้ แต่ไม่ควรเรียกว่าการทำบุญ
แต่ควรเรียกเสียใหม่ว่าการขายบุญ
3. พระพุทธรูป แต่โบราณกาลดั้งเดิมมา การสร้างพระพุทธรูปพุทธศาสนิกชนจะพากันสร้างขึ้นมาด้วยศรัทธา เพื่อเป็นสัญญลักษณ์สื่อให้รำลึกพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แล้วน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อกำจัดพฤติกรรมชั่วอันจะมีมาทางกาย วาจา และใจ เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว คือเหนี่ยวใจมิให้ตกต่ำจนเกินไปสู่อำนาจของกิเลส
แต่ไหนแต่ไรมาวัดพระธรรมกายไม่เคยสร้างพระพุทธรูปขาย แต่เป็นจุดขายด้านอื่น แต่มาตอนนี้ได้สร้างพระพุทธรูปที่โด่งดังปางดูดทรัพย์ออกมจำหน่าย แม้ทางวัดจะบอกว่าเป็นของที่ระลึก แต่เมื่อกำหนดราคาบริจาคก็เรียกกันตรงๆว่า จำหน่ายไปก็แล้วกัน นับว่าเป็นพระพุธรูปที่มีชื่อแย่ที่สุดตั้งแต่มีการตั้งชื่อพระพุทธรูปมาแต่โบราณ พระพุทธรูปสมัยโบราณที่บรรพบุรุษสร้างมานั้น เวลาจะตั้งชื่อก็นำเอาพระพุทธคุณมาตั้ง เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธโสธร พระพุทธลีลา พระพุทธสิหิงค์ ล้วนเป็นชื่อที่แสดงถึงความเคารพต่อพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชี้ถึงความรู้ ความตื่น ความเบิกบานทั้งนั้น
แต่การตั้งชื่อว่าเป็นพระดูดทรัพย์ฟังดูแล้วไม่เป็นมงคลนาม
ชวนให้คิดถึงการตบทรัพย์ การยักยอกทรัพย์ มากกว่าจะระลึกถึงพระพุทธคุณเมื่อได้ยินชื่อ
หรือถ้าฟังเฉพาะภาษาพูดก็ชวนให้คิดไปว่า เป็นการดูดซับอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นคล้ายๆกระดาษทิสชูมากกว่า
แต่ชื่อสมัยโบราณพอพูดออกมาก็เข้าใจทันทีว่าอย่างไร เช่น เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธลีลา
ภาพพระพุทธลีลาก็จะมาปรากฎในใจของเราทันที ไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่น
ยังมีสินค้าอีกหลายรายการเหลือคณานับที่วัดพระธรรมกายได้วางจำหน่ายไปแล้วและจะออกจำหน่ายในโอกาสต่อไป
ด้วยเหตุที่วัดพระธรรมกายอุบัติขึ้นและดำเนินกิจการเชิงการตลาดอย่างต่อเนื่องแม้ไม่นานนักแต่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป โดยเฉพาะเน้นความยิ่งใหญ่ชนิดที่เรียกว่า เล็กๆธรรมกายไม่ ใหญ่ๆธรรมกายทำ ด้วยแล้ว แต่ละโครงการดังไปทั่วโลก มาถึงวันนี้มีคนที่พบธรรมกายแล้วแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ
1.เห็นด้วยคล้อยตามสนับสนุนสุดตัว พร้อมทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์เพื่องานของวัดพระธรรมกายทุกโครงการชนิดที่คิดอะไรออกมาดีหมด
2.กลุ่มธรรมกายแตกทัพ กลุ่มนี้ได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันมานาน
ครั้นได้รับผลกระทบกระเทือนใจบางอย่างที่ชวนเศร้าก็ไม่โวยวายอะไรออกไป ถือเสียว่าที่แล้วก็แล้วกันไป
แต่บางครั้งก็อาจจะระบายกับคนใกล้ชิดได้ฟังเท่าที่จะพูดได้หรือพูดไปแล้วไม่ถูกประณามว่าโกหก
หรือนรกจะกินหัว คนกลุ่มนี้ทางวัดต้องการตัวมาก โดยมักจะถามว่าไปเอาตัวมายืนยัน
คงไม่มีใครไปยืนยันกับพระเดชพระคุณหรอก เขาก็เริ่มหาที่ปฏิบัติธรรมใหม่และจิตใจเริ่มเข้าที่เข้าทาง
3.กลุ่มที่ได้ยินข่าวเฝ้าสงสัยไม่กล้าเข้าไปร่วมกิจกรรมแต่มองกิจกรรมต่างๆ
ในวัดพระธรรมกายด้วยความเคลือบแคลงสงสัย และกลุ่มนี้นี่เองพอนานวันเข้าพวกเขาก็พากันสนทนาปากต่อปากจนนำไปสู่การสนทนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสื่อมวลชนตัดสินใจ
แล้วว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงเริ่มเปิดประเด็นสนทนาโดยเปิดกว้างฟังความทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม
เมื่อสื่อมวลชนจับเรื่องนี้ ประชาชนที่หันมาสนใจศึกษาเรียนรู้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ความสับสนมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามว่าพฤติกรรมของวัดพระธรรมกายเหมาะสมหรือไม่
การถกถึงข้อดีข้อเสียก็เริ่มขึ้น ประเด็นวัดพระธรรมกายจึงเป็นประเด็นทางศาสนาที่แตกต่างออกไปจากประเด็นของพระที่ประพฤติชั่วที่ต้องอาบัติปราชิกเมื่อจับสึก
แล้วก็จบกันไปโดยเร็ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้สื่อมวลชนทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ด้วยดีตลอดมา
แต่ประเด็นของธรรมกายจะต้องให้ข้อมูลในแนวลึกเพราะเป็นกรณีที่อาจจะกระทบถึงคำสอนหลักในทาง
พระพุทธศาสนาทีเดียว พุทธศาสนิกชนทั่วไปจึงจับจ้องสายตาตรงเป็นไปยังมหาเถรสมาคมที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย
ของคณะสงฆ์และกิจการของพระพุทธศาสนา
ภารกิจของมหาเถรสมาคมครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ลำพังจะมอบหน้าที่ให้พระสังฆาธิการต้นสังกัดไปดูแลน่าจะไม่เพียงพอ
เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินว่าวัดพระธรรมกายทำผิดระเบียบข้อไหนอย่างไร แต่ความต้องการของพุทธศาสนิกชนทั่วไปในขณะนี้อยากจะทราบว่า
หลักคำสอนและกิจกรรมที่วัดพระธรรมกายกำลังดำเนินไปอยู่ถูกต้องตามหลักคำสอนของ
พระพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะมีความสับสนใจหลายจุด
ทราบว่าขณะนี้มหาเถรสมาคมได้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ประเด็นที่มหาเถรสมาคมต้องรีบกระทำให้กระจ่างโดยเร็วที่จะมองข้ามไม่ได้คือ
1.การสร้างมหาธรรมกายเจดีย์มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์บ้านเมืองทั้งพุทธจักรและอาณาจักรเพียงใด การสร้างมหาเจดีย์ดังกล่าวเพื่อเป็นพุทธบูชาเป็นอานิสงส์มากน้อยแค่นี้ พระพุทธรูปประสงค์ของการบูชาแบบที่พระองค์เคยตรัสหรือไม่ ถ้ามีมีอย่างไร จงแสดงหลักฐานเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
2.การโฆษณาให้คนบริจาคเงินโดยใช้คำว่าบุญขึ้นมาเป็นจุดขายมีความเหมาะสมกับความเป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่ดำเนิน
การโดยพระสงฆ์เพียงใด ควรจะปล่อยให้ดำเนินการไปตามเดิมหรือจะมีมาตรการอย่างไร
ถ้าวัดจำนวนมากหันมาทำกิจกรรมอย่างนี้บ้าง ทางมหาเถรสมาคมจะมีมาตรการดำเนินการอย่างไร
3.พระพุทธรูปน้อยใหญ่ในประเทศไทยที่มีอยู่หลายร้อยล้านองค์ทั่วผืนปฐพีไทยนี้ เพียงพอต่อการบูชาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พอจะให้สร้างขึ้นมาอีกสักกี่แสนกี่ล้านองค์ จะปล่อยให้พระพุทธรูปเป็นสินค้าอย่างนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร มีมาตรการหยุดยั้งการขายสิ่งที่เราเคารพบูชาบ้างหรือไม่ ถ้ามีมีอย่างไร และจะใช้มาตรการอย่างได้ผลอย่างไร
4.ขอให้มหาเถรสมาคมออกรูปแบบและเนื้อหาของการทำบุญที่ถูกต้อง
ทั้งที่เป็นเพื่อการพัฒนาจิตใจและบำรุงศาสนาโดยไม่เปิดโอกาสให้มาอาศัยช่องทางการทำบุญที่ประชาชนตั้งใจทำด้วยศรัทธา
เพื่อบำรุงศาสนาเป็นลู่ทางสร้างความร่ำรวยและการทำมาหากิน
ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถใช้เป็นหลักเกณฑ์อ้างอิงได้
5.ขอให้มหาเถรสมาคมอธิบายความหมายของพระนิพพานตามที่พระพุทธเจ้า
ได้ทรงแสดงไว้ให้ชัดเจน และชี้ด้วยว่าพระนิพพานที่วัดพระธรรมกายแสดงไว้ยึดเป็นหลักได้หรือไม่
ถ้ายึดถือไม่ได้เพราะเหตุใด หรือเห็นว่าถูกต้องเพราะเหตุใด จะได้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานของชาวพุทธทั้งหลายต่อไป
6.พุทธภาวะคืออะไร ความเป็นพุทธที่แท้อยู่ที่ไหน เป็นอัตตาหรืออนัตตาอย่างไร เพราะจุดนี้มีความสำคัญต่อหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างมาก และการอธิบายพุทธภาวะแบบธรรมกายจะถูกหรือผิดอย่างไรช่วยชี้แจงด้วย ถ้าถูกเหตุผลที่อธิบายถูกเป็นอย่างไร ถ้าผิดมีเหตุผลอย่างไร
7.ปาฏิหาริย์เกิดมาจากอะไร ในพระพุทธศาสนามีทีท่าต่อปาฏิหาริย์อย่างไร ชาวพุทธปัจจุบันควรมีท่าทีต่อปาฏิหาริย์อย่างไร กรณีที่มีผู้กล่าวว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำขึ้นไปเก็บตะวัน ชาวพุทธควรมีทีท่าอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม
เมื่อพระพุทธศาสนาตกอยู่ท่ามกลางความสงสัยก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยภูมิปัญญาอันสูงส่ง สุขุม คัมภีรภาพ แก้ปัญหา พุทธศาสนิกชนทั่วไปก็หวังใจไว้ว่าเป็นปัญหาพระพุทธศาสนาในขณะนี้มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนกว่าที่เคยเป็นมา การปล่อยให้พระพุทธศาสนิกชนตัดสินใจกันเองด้วยอารมณ์คงไม่มีทางจะหาข้อยุติที่ดีได้แน่
มหาเถรสมาคมมีความพร้อมทั้งบารมี ปัญญาและคุณธรรมอื่นๆ
และอำนาจทางกฎหมาย ขอจงเร่งรีบวินิจฉัยข้อกังขาเหล่านี้โดยเร็ว หากไม่รีบลงมืออย่างทันท่วงที
ความแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาอาจจะเกิดขึ้นในผืน
แผ่นดินไทยที่เราภาคภูมิใจว่า พระพุทธศาสนาของเราเป็นกาวใจให้คนไทยอยู่อย่างเป็นปึกแผ่นเอกภาพมาช้านาน
ขอให้มหาเถรสมาคมรับฟังปัญหาเหล่านี้ไปพิจารณาและออกมาเป็นมติมหาเถรสมาคมเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการ
พิจารณาศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไป
การแก้ปัญหาทุกชนิดด้วยขันติ เมตตา ปัญญา โดยไม่ใช้อารมณ์ล้วนเป็นทางออกที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งดีกว่าใช้อารมณ์ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย
หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาวัดพระธรรมกายจะยุติลงโดยเร็ววันด้วยความเข้าใจดีของพวกเราเหล่าชาวพุทธ ขอถวายกำลังใจแก่พระเถระผู้เฒ่าที่กำลังทำงานี้ด้วยความตั้งใจทุกรูป