ข่าวสด 14/2/2542

ชี้ธรรมกายวิปริต จาบจ้วงพระธรรมวินัย

หนังสือปกขาว- เอกสารเพื่อพระธรรมวินัยล่าสุดของพระธรรมปิฎก ชี้กรณีธรรมกายจาบจ้วงพระธรรมวินัยถึงขั้นปฏิเสธพระศาสดา ปฏิเสธพระธรรมวินัย นอกจากนี้ยังปลอมปนคำสอนให้คลาดเคลื่อนไปจากหลักการ เผยที่มาของรากศัพท์ "ธรรมกาย" แค่เรื่องพื้นๆ ไม่ใช่คำสำคัญในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หลักธรรมอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นคำรวมๆ ที่นำมาใช้บางสถานการณ์เท่านั้น ชี้การเห็นธรรมกายก็คือการเห็นอริยสัจ4 แต่ต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่สมาธิ แต่ถ้าเห็นด้วยสมาธิก็เป็นแค่นิมิตบางอย่างเท่านั้น

กรณีปัญหาวัดพระธรรมกายที่กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระธัมมชโย การดำเนินงานของมูลนิธิเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น ตลอดถึงการดำเนินการธุรกิจต่างๆ การแสวงหาเงินทอง โดยวิธีซึ่งไม่ถูกต้องในแง่กฏหมายและในแง่พระธรรมวินัย โดยเฉพาะการยกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ขึ้นมาเผแพร่ในลักษณะที่เป็นการชักจูงให้คนบริจาคเงินเยอะ รวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยโดยตรง ซึ่งเจ้าอาวาสอ้างแสดงหลักการของพระพุทธศาสนาเรื่องนิพพานเป็นอัตตา และเน้นวิชชาธรรมกาย ซึ่งอ้างเพิ่งค้นพบใหม่หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 13 กพ. พระธรรมปิฎก พระเถระที่มีความเชี่ยวชาญด้านพระธรรมวินัย เป็นสดมภ์หลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้ตีพิมพ์เอกสารเพื่อพระธรรมวินัยชื่อว่า "กรณีธรรมกาย" มีความหนา 159 หน้า มีเนื้อหาสาะแบ่งเป็นตอนๆ ดังนี้คือ

ตอนที่1 ต้นเรื่อง ตอนที่2 รู้จักพระไตรปิฎก ตอนที่3 นิพพานเป็นอนัตตา ตอนที่4 ธรรมกาย เรื่องสูงที่ไม่ใหญ่ ตอนที่5 อายตนนิพพาน คือดับอายตนะ ตอนสุดท้าย คือเรื่องเบ็ดเตล็ด

ใจความของตอนที่1 ต้นเรื่อง กรณีธรรมกายถึงขึ้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย พระธรรมปิฎกได้ยกเอาหนังสือชื่อว่า "เจาะลึกวัดพระธรรมกาย ข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน ลับสุดยอด" มาเปิดอ่านดูบางส่วน และในตอนที่ว่าด้วยคำถามคำตอบที่น่าสนใจ ปรากฏว่า 2 ข้อสุดท้ายเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา และเรื่องธรรมกาย มีการตั้งคำถามว่า "มีการถกเถียงกันว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ทราบจริงๆ เป็นอย่างไร?" และข้อสุดท้ายว่า "ธรรมกายมีในพระไตรปิฎกหรือไม่?"

พระธรรมปิฎกได้ชี้แจงว่า สองข้อนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการหรือหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรือนัตตา เมื่ออ่านดูลักษณะการเขียนคำตอบเป็นไปในเชิงที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจไปว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องนิพพานนั้น ไม่ชัดเจน ไม่แน่อนอน ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เป็นเรื่องของความคิดเห็น การเขียนเช่นนี้ถือได้ว่า "ถึงขั้นจาบจ้วงต่อพระธรรมวินัย เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นเอกสารซึ่งจะคงอยู่ยาวนาน อาจก่อผลกว้างไกล จึงสมควรรีบชี้แจงไว้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง"

พระธรรมปิฎก กล่าวไว้ในเอกสารอีกว่า ได้มีอดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเข้ามาเกี่ยวพันกับการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายได้กล่าวว่า "เรื่องนิพพานเป็นความคิดที่หลากหลาย" ซึ่งพระธรรมปิฎกเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง เพราะเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า อันตรายร้ายแรงกำลังเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา เพราะความสับสนหรือความเข้าใจผิดต่อหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนากำลังแผ่ขยายออกไปในหมู่ประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสั่นคลอนของพระพุทธศาสนาถึงขั้นรากฐานเลยทีเดียว

"ปัญหาทั้งหมดนั้นล้วนมีความสำคัญ และจะต้องแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสมให้ถูกต้องแต่ละอย่าง แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของการดำรงรักษาพระศาสนา ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ซึ่งกระทบต่อหลักการของพระพุทธศาสนา พูดให้เข้าใจง่ายว่าการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย" พระธรรมปิฎกระบุ

สำหรับคำสอนและแนวปฏิบัติของธรรมกายตามที่กล่าวอ้างมาตามหนังสือนั้น จ้วงจาบพระธรรมวินัยในระดับปฏิเสธพระศาสดา หรือปฏิเสธพระธรรมวินัย กล่าวคือกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานที่เชื่อถือไม่ได้ บันทึกตกๆ หล่นๆ เอาเป็นมาตรฐานไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการปลอมปนพระธรรมวินัย คือกล่าวให้คลาดเคลื่อนผิดพลาดไป เช่น เมื่อพระไตรปิฎกสอนอย่างนี้ กลับบอกว่าพระไตรปิฎกไม่ได้สอนอย่างนี้ แต่สอนอย่างนั้น หรือนำเอาบัญญัติ และคำสอนภายนอก แม้แต่นิกายอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงปะปนในพระธรรมวินัย หรือในพระไตรปิฎก

พระธรรมปิฎกระบุต่ออีกว่า เอกสารวัดพระธรรมกายกล่าวไว้ว่า "เรื่องซึ่งอยู่พ้นเกินกว่าประสบการณ์ของปุถุชนคนสามัญจะไปถึงหรือเข้าใจได้ เช่นเรื่อง นรก สวรรค์ กฏแห่งกรรม นิพพาน ที่ท่านเรียกว่าเป็นเรื่องอภิปรัชญา หรือเรื่องที่เป็นอจินไตยนั้น หลายๆ เรื่องเช่น เรื่องนิพพานในทางวิชาการสามารถตีความได้หลายนัย" คำกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะนิพพานไม่ใช่ทั้งเรื่องอจินไตย และไม่ใช่เรื่องปัญหาอภิปรัชญาด้วย อจินไตยมี 4 อย่าง ตามพุทธพจน์ที่ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อจินไตยมี 4 อันไม่พึงคิด (ไม่ได้หมายความว่าห้ามคิด แต่ถ้าคิดจะคิดไม่ออก คือเป็นสิ่งที่ไม่สำเร็จด้วยการคิด หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการคิด) ซึ่งเมื่อคิดจะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า จิตเครียดไปเปล่า 4 อย่างนั้นคือ พุทธวิสัย, ฌาณวิสัย, กรรมวิบากรหือวิบากแห่งกรรม และโลกจินตา ความคิดเกี่ยวกับเรื่องโลก" นิพพานไม่อยู่ในอจินไตย 4 นี้ และก็ไม่ได้เป็นปัญหาอภิปรัชญา

พระธรรมปิฎกกล่าวว่าพระพุทธทรงสอนหรือทรงพยากรณ์เรื่องที่จะทำให้ดับทุกข์ได้คือนิพพาน และนิพพานก็อยู่ในข้อทุกขนิโรธ (ในอริยสัจ4) ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรัสโดยตรงและเป็นเรื่องตรงข้ามกับอภิปรัชญา เพราะฉะนั้น นิพพานสำหรับชาวพุทธ ไม่ใช่เรื่องอภิปรัชญา แต่นักปรัชญาอาจจะเอาเรื่องนิพพานไปถกเถียงกันในแง่ของปรัชญาของเขาก็ได้ ถ้ามัวถกเถียงกันอยู่ก็ไม่ได้ปฏิบัติ และก็ไม่บรรลุนิพพาน อนึ่ง นิพพานเป็นเรื่องของความไร้ทุกข์ ภาวะที่ปราศจากปัญหา หรือภาวะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ภาวะแห่งความสงบ สันติ อิสรภาพ เป็นคามบริสุทธิ์ เป็นความสะอาด สว่าง สงบ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขารหรือโลก และชีวิตที่เป็นอยู่เฉพาะหน้าตลอดเวลานี้

"พระพุทธเจ้าตรัสไว้แน่นอนเด็ดขาดว่าลัทธิถืออัตตา ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังพุทธพจน์ที่อ้างไว้ในปุคคลกถา แสดงให้เห็นหลักการเกี่ยวกับเรื่องอัตตา 3 แบบว่าอย่างไหนไม่ใช่พุทธศาสนา อย่างไหนเป็นพุทธศาสนา ดังนี้ "ดูกรเสนิยะ ศาสดา 3 ประเภทที่ปรากฏอยู่ในโลก ในศาสดา 3 ประเภทนั้น 1.ศาสดาที่บัญญัติ อัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบันทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็นสัสตวาท (ลัทธิมิจฉาทิฎฐิว่าเที่ยง) 2.ศาสดาที่บัญญัติ อัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ เฉพาะในปัจจุบัน ไม่บัญญัติเช่นนั้นในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็นอุจเฉทวาท (ลัทธิมิจฉาทิฎฐิว่าขาดสูญ) 3.ศาสดาที่ไม่บัญญัติ อัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาผู้สัมมาสัมพุทธะ" พระธรรมปิฎกกล่าว

พระธรรมปิฎกชี้แจงอีกว่า ตามหลักการของพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีเรื่องอัตตาที่จะเลยขึ้นมาให้พิจารณาในขั้นว่านิพพานเป็นอัตตาหรือไม่ด้วยซ้ำ คือเรื่องอัตตานั้นจบไปตั้งแต่ชั้นพิจารณาเรื่องขันธ์ 5 ว่าไม่เป็นอัตตา แล้วก็จบ คือท่านถือว่าอัตตาซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้แทนกันได้กับชีวะ หรือสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขานี้ เป็นคำที่มีโดยสมมติ เป็นภาษาสำหรับสื่อสารเท่านั้น และในภาษาบาลีของพุทธศาสนาเถรวาทคำว่า "อัตตาหรือตัวตน" นั้นใช้ในความหมายที่เป็นสมมติทั้งหมด ถ้าอ่านพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องอัตตา ที่จะต้องมาพิจารณากันในขั้นปรมัตถ์ ขอย้ำว่า "ไม่มีเรื่องอัตตาที่จะพิจารณาขึ้นถึงขั้นว่านิพพานเป็นอัตตาหรือไม่ เพราะมันจบไปก่อนหน้านั้นแล้ว"

"ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เริ่มแต่พระไตรปิฎก และอรรถกถา ไม่มีหลักฐานในคัมภีร์ใดเลยที่กล่าวถ้อยคำระบุลงไปว่านิพพานเป็นอัตตา แต่หลักฐานในคัมภีร์ที่ระบุลงไปว่านิพพานเป็นอนัตตา นั้นมี และมีหลายแห่ง ขอให้ทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า ที่ว่านิพพานเป็นอนัตตา คำว่า "เป็นอนัตตา" นั้นเป็นการทับศัพท์บาลีเพื่อความสะดวกในการกำหนดหมาย โดยสาระก็คือเป็นการปฏิเสธอัตตา มิใช่หมายความว่า มีอะไรอย่างหนึ่งที่เรียกชื่อว่าเป็นอนัตตา" พระธรรมปิฎกกล่าว

หลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ระบุว่านิพพานเป็นอนัตตามีมากแห่ง อาทิ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 8 มีคำสรุประบุชัดไว้ดังนี้ว่า " อนิจจา สัพพสังขารา ทุกขานัตา จะ สังขตา นิพพานัญเจวะ ปัณณัตติ อนัตตาอิติ นิจฉยาฯ แปลว่า สังขารทั้งปวง อันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้"

สำหรับกรณีเรื่องคำสอนเรื่องธรรมกายนั้น พระธรรมปิฎกระบุว่าไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร ไม่ได้เป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่เป็นการกล่าวขึ้นในสถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะการใช้เชิงเปรียบเทียบ ข้อสำคัญไม่ใช่เป็นหลักธรรมอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวรวมๆ

"การเห็นธรรมกายที่ว่านี้ ท่านอธิบายว่าได้แก่การเห็นอริยสัจ4 นั่นเอง และท่านก็บอกไว้ด้วยว่าการเห็นธรรมกายคืออริยสัจ4 นี้ ต้องเห็นด้วยปัญญาจักษุ คือด้วยตาปัญญา เราเห็นรูปกายด้วยตาเนื้อ แต่จะเห็นธรรมกายด้วยตาปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยสมาธิ ถ้าเห็นด้วยสมาธิ ก็จะเป็นการเห็นนิมิตอะไรอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง" พระธรรมปิฎกระบุ

ด้านปกหลังของหนังสือพระธรรมปิฎกได้กล่าวยืนยันว่า ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเริ่มแต่พระไตรปิฎก และอรรถกถา ไม่มีหลักฐานในคัมภีร์ใดเลยที่กล่าวถ้อยคำระบุลงไปว่านิพพานเป็นอัตตา แต่หลักฐานในคัมภีร์ที่ระบุว่านิพพานเป็นอนัตตานั้นมี และมีหลายแห่ง เพราะฉะนั้น จึงต้องตรวจสอบตนเองว่า เมื่อปฏิบัติไปๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในใจของเราลดน้อยลงหรือไม่ ถ้ากิเลสเหล่านี้และความขุ่นมัวเศร้าหมองความทุกข์ไม่ลดหายไป ไม่ว่าจะเห็นอะไรที่ดีเลิศวิเศษแค่ไหน ก็ไม่ใช่การปฏิบัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นการห่างออกไปจากนิพพาน เป็นการไถลออกนอกทาง.