เดลินิวส์ 5/2/2542

สั่งสอบเพิ่ม'ธัมมชโย'มั่วสีกา
"อาคม" สั่งด่วนสอบสวนเครื่องราชฯ ธรรมกายยุติแน่ สมนาคุณนักบริจาคมือหนัก เลขาธิการ ครม.ยันมีการขอเครื่องราชฯมาจริงตระกูล "ดิเรกคุณาภรณ์" หวังให้ศิษย์ที่ทุ่มบุญรวดเดียว 30 ล้าน แต่ถูกตีกลับ พออีกปีมาขอใหม่แต่ใช้ใบบริจาควัดอื่นแทน ร้องครูโรงเรียนในจันทบุรีเกณฑ์เด็กไปงานบวชขู่ใครไม่ไปถูกตัดคะแนน
จากกรณีที่มีการติดตามปัญหาที่วัดพระธรรมกายได้พยายามขอเครื่องราชฯเพื่อตอบ แทนให้กับสานุศิษย์ที่บริจาคเงินจำนวนมากให้กับวัด แต่ถูกตีเรื่องกลับไปนั้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายวิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าวัดได้ขอเครื่องราชฯเข้ามาจริง โดยสำนักงานเลขาธิการ ครม. (สลค.) ได้มีการออก
เครื่องราชฯ "ดิเรกคุณาภรณ์" มี 7 ชั้น มอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และศาสนา ในเรื่องของศาสนาจะเน้นที่การสร้างวัดเพื่อให้สำหรับบุคคลที่ออกแรงเป็นประโยชน์แก่สังคมไม่ใช่ให้คนที่มีหน้าที่ออกเงิน
การพิจารณาให้เครื่องราชฯดังกล่าวจะมีคณะกรรมการพิจารณาโดยมีนายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาอย่างรอบคอบรายใดที่ไม่เหมาะสมจะตีกลับและยึดหลักให้แก่ผู้ที่ทำประโยชน์แก่ชาติและศาสนา ไม่ใช่เป็นการขายเครื่องราชฯ หรือไม่ใช่ว่าบริจาค 30 ล้านบาทแล้วจะได้
"ใครบริจาคอะไรให้แก่วัดพระธรรมกายหรือวัดอื่น ๆ จะต้องมีใบเสร็จที่ทางวัดออกให้ และส่งให้กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ทำเรื่องเสนอมา จากนั้นกรมการศาสนาจะส่งให้กรรมการพิจารณาก่อนที่จะอนุมัติ โดยเครื่องราชฯ ตระกูลนี้ให้มาตั้งแต่ปี 2536 แต่มาเข้มงวดในปี 2539 เพราะช่วงแรกไม่มีประสบ การณ์-พิจารณาตก ๆ หล่น ๆ แต่ 3 ปีหลังมีการส่งเจ้าหน้าที่ปลอมตัวเป็นชาวบ้านไปสอดแนมและถ่ายรูปมาให้คณะกรรมการพิจารณา"
นายวิษณุ กล่าวว่ามีผู้เสนอขอเครื่องราชฯและถูกส่งเรื่องคืนหลายราย แต่จะคาดคั้นเอาว่าเป็นของวัดพระธรรมกายอย่างเดียวคงจะตอบไม่ได้ เท่าที่จำได้มีรายหนึ่งเป็นคนดังในสังคมทำเรื่องเสนอมา โดยบริจาคให้วัดพระธรรมกายสูงมากแต่ไม่ได้ ปีถัดมาเสนอเข้ามาอีกแต่ดึงใบอนุโมทนาบัตรของวัดพระธรรมกายออก และเอาใบอนุโมทนาบัตรของวัดอื่นเข้ามาแทน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดประโยชน์จึงให้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่ามีผู้บริจาคเงินให้วัดพระธรรมกายได้เครื่องราชฯ ไปบ้างแต่ไม่มาก เพราะเข้มงวดมากขึ้น ถ้า
หลักฐานไม่ชัดเจน คณะกรรมการสามารถตั้งบุคคลขึ้นมาตรวจสอบได้ และขอยืนยันว่าในเรื่องเครื่องราชฯ ของวัดพระธรรมกายนี้ตนไม่เคยไปพูดหรือประสานงานกับคณะกรรมาธิการศาสนาฯ
เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกันนายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา ได้เข้าพบพระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้นำข้อมูลที่คณะกรรมการรวบ รวมข้อมูลกรณีวัดพระธรรมกายที่มีนายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มามอบให้กับพระพรหมโมลีพร้อมทั้งข้อวินิจฉัยซึ่งประกอบด้วยเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งพระพรหมโมลียืนยันว่าหลังจากศึกษาข้อมูลทั้งหมดแล้วจะเดินทางไปตรวจสอบที่วัดพระธรรมกายด้วย ดังนั้นในขณะนี้ก็ถือว่าภารกิจของกรมการศาสนาได้เสร็จสิ้นไปขั้นตอนหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากพระพรหมโมลีจะมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการสอบสวนในประเด็นอื่นใดเพิ่มเติมอีก ทางกระทรวงก็ยินดีโดยเฉพาะประเด็นที่สังคมยังมีความเคลือบแคลงอยู่ เช่น เรื่องการขอเครื่องราชฯ หรือเรื่องของสีกาที่เข้ามาพัวพัน ซึ่งประเด็นเรื่องของสีกานั้น นายอาคม กล่าวว่าเท่าที่พูดคุยกับพระพรหมโมลีรู้สึกว่า ท่านจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพียงแต่เวลานี้กระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพราะ ข้อมูลที่เปิดเผยออกมานั้นเป็นเพียงข้อมูลของ
กรรมาธิการศาสนาที่ไปสอบถามมาเองจากทางวัด
นายอาคม กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นเรื่องการขอเครื่องราชฯ ของวัดพระธรรมกาย ได้มอบหมายให้ ดร.อำนาจ บัวศิริ นักวิชาการของกรมการศาสนาไปตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด คาดว่าจะสามารถรายงานกลับมาให้ตนทราบได้ในวันจันทร์ที่
8 ก.พ. นี้ โดยตรวจสอบผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 30 ล้านบาท ซึ่งมีผู้บริจาคเงินให้วัดทั่วประเทศจำนวน 308 ราย
และได้รับเครื่องราชฯ 200 รายเศษ
"หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่นำไปมอบให้พระพรหมโมลีนั้น ผมเชื่อว่าครอบคลุมทุกประเด็น แล้ว และถือว่าหมดหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ แล้ว เว้นแต่ท่านจะขอให้ช่วยสิ่งใดเพิ่มเติมอีก"
นายอาคม กล่าวว่าในเร็ว ๆ นี้น่าจะหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้ เพราะข้อมูลที่มีในขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งพระพรหมโมลีก็มีอำนาจที่จะตัดสินได้เอง เนื่องจากมหาเถระ ได้มอบอำนาจให้แล้ว อย่างไรก็ตามท่านอาจไม่ตัดสินใจเอง แต่นำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้มหาเถระ ตัดสินใจก็ได้
ผู้สื่อข่าว "เดลินิวส์" ประจำจังหวัดจันทบุรี รายงานข่าวมีผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียน แห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี มาร้องเรียนถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของครูสอนวิชาจริยธรรมที่มีการเกณฑ์นักเรียนมาร่วมงานบวชอุบาสกแก้วที่วัดพระธรรมกาย
ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยขู่ว่าถ้าไม่ไปครูจะตัดคะแนนและยังไปต่อว่าผู้ปกครองที่ไม่ยอม
ให้นักเรียนเดินทางไปร่วมงานด้วย โดยขณะนี้นักเรียนที่ไม่ยอมไปร่วมงานยังกังวลว่าจะถูกตัด
คะแนนหรือไม่
และเกิดมากับนักเรียนหลายรุ่นแล้วสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ปกครองมาตลอด
นอกจากนั้นครูคนนี้ยังพยายามพูดจาชักชวนให้นักเรียนบริจาคเงินให้กับสาขาของวัดพระธรรมกายที่ไปตั้งที่จันทบุรี ได้แก่ที่วัดเขาแก้ว หมู่ 5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง และที่สำนักสงฆ์จันทปุระ ต.อ่างคีรี อ.มะขาม โดยยกเอารุ่นพี่คนก่อน ๆ ที่จบไปแล้วมาอ้างว่าได้บริจาคไปเท่าไหร่ ถ้าไม่ให้ครูจะมีอาการไม่พอใจ นอกจากนั้นยังเกณฑ์นักเรียนไปนั่งสมาธิที่สาขาของวัด รวมถึงนำพระจากสาขาวัดพระธรรมกายมาให้นักเรียนถาม
ด้าน พล.ต.บุญยัง บูชา ผบ.มทบ.11 เปิด เผยว่า มทบ.11 ได้ส่งทหารเข้าร่วมพิธีบวชอุบาสกแก้วที่วัดพระธรรมกายจริงแต่เข้าไปช่วยเรื่องความสะอาดเป็นนโยบายของ ผบ.ทบ.ที่สั่งการให้ทุกหน่วยช่วยกิจกรรมของวัดและโรงเรียนหากได้รับการร้องขอ วัดไหนขอมาก็ช่วยทุกแห่ง ทหารก็กลับเข้าหน่วยหมดแล้วการที่วัดเกิดปัญหาก็เป็นเรื่องของวัด เราเป็นคนไทยจะแบ่งฝ่ายไม่ได้ และไม่ได้ยุ่งกับพิธีใด ๆ เลย ส่วนความถูกผิดต้อง เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคมที่จะตัดสิน เมื่อก่อนทหารเข้าไปช่วยวัดพระธรรมกายมากกว่านี้ ปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก ไม่อยากให้ดึงทหารเข้า ไปชนเรื่องนี้ ทหารไม่มีนโยบายไปชนกับใคร
ส่วน พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่าเมื่อวัดขอให้ช่วยเช่นเรื่องทำความสะอาดหรือยกของถวาย
พระทหารสามารถทำได้ แต่จะไม่ยุ่งกับกิจกรรมของวัด และรู้สึกเฉย ๆ ตนไม่เคยเข้าวัดนี้เลย ขณะที่ พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กล่าวปฏิเสธกรณีที่มีข่าว ผบ.ทบ.ให้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องวัดพระธรรมกาย เพราะท่านทราบตั้งแต่ต้น เราเป็นสื่อมวลชนไม่สนับสนุนเชียร์หรือโจมตีใคร.