เดลินิวส์ 29/6/2544
ศาลสั่งยกธรรมกายฟ้องมาณพ

ศาลยกฟ้อง คดีอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย "พระธัมมชโย" ยื่นฟ้องผู้เชี่ยวชาญกรมการศาสนา หาว่าหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไต่สวนมูลฟ้องเห็นว่าพฤติการณ์โจทก์ชวนให้คิดได้ว่าเบียดบังที่ดินของวัด ศาลถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ "พระธัมมชโย" อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดย พระภาณุมาศ ภาณุปาโณ ผู้รับมอบอำนาจ และ นางนงค์เยาว์ ปิ่นจันทร์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 5 เม.ย.43 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.42 จำเลยได้เขียนข้อความหรือบทความอันเป็นเท็จทำนองว่า ระหว่างปี 35-42 โจทก์ในฐานะเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้โอนที่ดินจำนวน 1,749 ไร่ บริเวณ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ที่มีผู้บริจาคให้แก่วัดพระธรรมกายมาเป็นของตนเอง ทั้งที่ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่ 2 มีจิตศรัทธามอบให้เป็นการส่วนตัว นอกจากนี้จำเลยยังมอบหนังสือดังกล่าวให้แก่เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี โดยที่จำเลยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยังได้เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนอีก การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย

คดีนี้ศาลได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์มาโดยตลอดจนเสร็จสิ้นแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ที่ 2 ยกที่ดินให้โจทก์ที่ 1 แต่ได้จดทะเบียนเป็นการซื้อขายกันเมื่อวันที่ 8 ก.ย.35 ต่อมาจำเลยซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการด้านวินัยได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีเรื่อง พระสังฆาธิการละเมิดพระธรรมวินัย กล่าวหาว่า โจทก์ที่ 1 โอนที่ดินที่มีผู้บริจาคให้วัดพระธรรมกายมาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการละเมิดพระธรรมวินัย ต่อมาสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวนี้ อย่างไรก็ตามโจทก์ที่ 1 เคยมีหนังสือถึงกรมการศาสนาแสดงเจตนาที่จะโอนที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่วัด พร้อมกับตั้งตัวแทนเข้าหารือกับกรมการศาสนา ต่อมากลับแจ้งว่าขอให้ดำเนินการตามกระบวนการของศาลสงฆ์ก่อนจึงจะโอนที่ดินให้ นอกจากนี้พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ก็เสนอแนะว่า โจทก์ที่ 1 จะต้องมอบสมบัติทั้งหมดในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที พฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 สื่อมวลชนจึงนำมาเสนอเป็นข่าวทำนองว่า โจทก์ที่ 1 ยักยอกทรัพย์ที่ดินของวัด จนมีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม และสมเด็จพระสังฆราชฯก็มีพระลิขิตด้วยว่า การไม่ยอมคืนสมบัติทั้งหมดแก่วัดขณะที่เป็นพระก็แสดงชัดเจนว่า ต้องอาบัติปาราชิก แต่ในที่สุดก็ไม่มีการโอนที่ดินให้แก่วัด เป็นการสื่อชวนให้เกิดความรู้สึกนึกคิดโดยสุจริตใจว่า โจทก์เบียดบังที่ดินของวัด

การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่โดยสุจริตใจ เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาและทรัพย์สินของวัดเป็นสำคัญ ไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งใส่ความโดยไม่มีมูล และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ทั้งสองมาก่อน คดีโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะเอาผิดกับจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง