เดลินิวส์ 2/3/2543
ระบุธรรมกายเป็นข่าวแห่งเกียรติยศ
ธรรมกาย"ข่าวเกียรติยศวงการหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวประกาศเชิดชูการต่อสู้เพื่อพระศาสนา เป็นการนำเสนอข่าวที่ยาวนาน ทำงานยากลำบาก โดย "เดลินิวส์" คว้ารางวัลชมเชย "พูลิเซอร์" จากการเปิดโปงสำนักฉาวด้วย ตำรวจเร่งสอบคดีเพิ่มเติม 2 ข้อหาใหญ่ ยึดคำให้การ "ทัตตชีโว" กรณีพระมหาสิริราชธาตุ มัดสาวกหลุดโลกเร่งหาคนร่วมงานฉลองมหาธรรมกายเจดีย์ตรงกับวันเกิด "ไชยบูลย์" ตั้งศักราชใหม่ "ปีมหาธรรมกายเจดีย์ที่ 1"
ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 1 มี.ค. เวลา 09.30 น. ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์คดีนายไชยบูลย์ สุทธิผล เจ้าลัทธิธรรมกายกับพวกยักยอกเงินวัดพระธรรมกายและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้า ที่โดยมิชอบ รวมทั้งให้การสนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเบิกความนายชาญวิทย์ เปรมกมล นักธรณีวิทยา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งซึ่งขายที่ดินที่จังหวัดพิจิตร 7 แปลง 158 ไร่ในราคา 10 ล้านบาท และเพชรบูรณ์ 1 แปลง 10 ไร่ให้นายไชยบูลย์
นายชาญวิทย์เบิกความว่า เหตุที่ขายให้ในราคาเพียง 10 ล้านบาทเนื่องจากชีวิตครอบครัวโดย รวมสุขสบายแล้ว และมีความศรัทธาในตัวนายไชยบูลย์ที่ต้องการแร่ทองคำ ในที่ดินผืนนี้ไปสร้าง พระพุทธรูปทองคำขนาด 3 ตัน โดยการจ่ายเงินนั้นจ่ายในลักษณะแคชเชียร์เช็ค 2 งวด ๆ แรก 5 ล้านบาท งวดที่ 2 จำนวน 8 ล้านบาท และไปทำการโอนลอยไว้ให้ จากนั้นจำเลยจึงได้จ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ ทั้งยืนยันว่านายไชยบูลย์ต้องการซื้อที่ดินบริเวณนี้เนื่องจากมีแร่ทองจริง รวมทั้งเป็นผู้วางแผนให้ซื้อที่ดินข้างเคียงด้วย
ในวันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ของวัด แกนนำศิษย์และผู้นำบุญวัดมีงานใหญ่ 2 งาน คือการโทรศัพท์ไปหาสาวกให้ลงคะแนนเลือกวุฒิสมาชิกที่เป็นลูกศิษย์วัด กับอีกงานคือระดมคนเพื่อมาวัดในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เพราะนอกจากจะเป็นวันเกิดของนายไชยบูลย์ สุทธิผล เจ้าลัทธิธรรมกายแล้ว ยังจะเป็นวันที่ วัดฉลองมหาธรรมกายเจดีย์ และจะประกาศให้เป็นศักราชมหาธรรมกายที่ 1 ด้วย
รายงานข่าวจากพนักงานสอบสวนคดีธรรมกายแจ้งว่า พนักงานสอบสวนกำลังเร่งสอบ สวนเพิ่มเติมคดีฉ้อโกงประชาชนและคดีโฆษณาพระมหาสิริราชธาตุหรือพระดูดทรัพย์ โดยยึดจากคำให้การของพระเผด็จ ทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่ระบุว่าพระมหา สิริราชธาตุสร้างขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินแก่วัด สร้างขึ้นจากหินมีค่าชนิดหนึ่งซึ่งหายาก แต่ไม่ยอมเปิดเผยแหล่งผลิต
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบแยกธาตุ พระมหาสิริราชธาตุของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า พระมหาสิริราชธาตุนี้มีส่วนประกอบของเหล็กและแร่ซิลิคอนซึ่งพบทั่วไปในประเทศไทย ส่วนคดีฉ้อโกงประชาชนนั้น ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งหนังสืออาณุภาพพระมหาสิริราชธาตุ ให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบ พบว่าถ้อยคำในหนังสือดังกล่าวไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก นอกจากนี้จะตรวจสอบเรื่องของการบวชอุบาสกแก้วและอุบาสิกาแก้วด้วย เนื่องจากทางวัดเรียกเก็บเงินค่าร่วมพิธีรายละ 100 บาท ทั้งยังต้องซื้อชุดจากทางวัดอีกด้วย รวมทั้งการรับประกาศนีย บัตรหากว่าต้องการรับจากนายไชยบูลย์เอง ต้องบริจาคเงินอีก 10,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในวันที่ 2 มี.ค.นี้ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้จัดพิธีมอบรางวัลข่าว และภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี 2542 โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ "ธรรมกาย" เป็น ข่าวเกียรติยศวงการหนังสือพิมพ์และของวงการวิชาชีพนักข่าว เนื่องจากเป็นข่าวที่ไม่ได้เสนอเพื่อขายข่าว แต่เป็นการทุ่มเทเพื่อปกป้องสถาบันศาสนา กระตุ้นให้พุทธศาสนิกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องศาสนา และจะออกหนังสือประกาศเกียรติคุณแก่นักข่าวและหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เสนอข่าวนี้
ในปีนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับได้แก่ เดลินิวส์, สยามรัฐ และมติชน เสนอข่าวดังกล่าวชิงรางวัลข่าวยอดเยี่ยมประจำปีด้วย ปรากฏว่าข่าว"ผ่าอาณาจักรธรรมกาย วิกฤติไทยร้ายแรงกว่าที่คิด" ของ "เดลินิวส์" ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลชมเชย เพราะเป็นผู้นำเสนอปัญหาวัดพระธรรมกายตั้งแต่ต้น-เป็นระบบและเห็นภาพความร้ายแรงของปัญหา โดยได้รางวัลชมเชยร่วมกับข่าว "เปิดเครือข่ายมหันตภัยยาบ้า" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
ส่วนข่าวยอดเยี่ยมประจำปี ได้แก่ข่าว"ผ่าจรรยาบรรณหมอขบวนการซื้อขายไต" ของหนัง สือพิมพ์ไทยรัฐ ส่วนรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมได้แก่ ภาพข่าว "ใจสลาย" ผลงานของนายจิตติศักดิ์ ตรีเดชี จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และรางวัลชมเชยเป็นของ นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง จากหนัง สือพิมพ์เดอะเนชั่น ชื่อภาพ "เหตุการณ์น้ำท่วม จ.จันทบุรี" และภาพข่าว "หมากัดม็อบ" ของนายชาญชัย หลำสำเริง จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประเภท ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ได้แก่ข่าว "ขุดรากเหง้า สารพิษบ่อฝ้าย ปลุกสำนึกสิ่งแวดล้อมไทย" จากหนังสือพิมพ์มติชน