เดลินิวส์ 29/2/2543
50 สงฆ์ยกพลบุก ศธ.ค้านปลด"พรหมโมลี"
50 สงฆ์มหานิกายมาแล้ว ยกพลยื่นหนังสือเรียกร้องมหาเถรฯ ทบทวนมติปลด "พระพรหมโมลี" พ้นเจ้าคณะภาค 1 ฐานไม่สอบนิคหกรรม "ไชยบูลย์-พระเผด็จ" ขู่ถ้ายังเฉยจะรุกคืบมากขึ้นกว่านี้ "สมศักดิ์" ระบุการเดินขบวนคัดค้านคำสั่งองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ ทำให้ภาพลักษณ์สมณเพศเสื่อมเสีย แต่ยังเชื่อมหาเถรฯจะหนักแน่นพอ มิฉะนั้นการปกครองสงฆ์เละแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 28 ก.พ. ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีกลุ่มพระภิกษุสงฆ์จากศูนย์ธุดงควัตรเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย สายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จำนวน 50 รูป เดินทางมาจากป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายวิชัย ตันศิริ รมช.ศึกษาธิการ ผ่านไปถึงมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อให้ทบทวนมติกรณีให้พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะ ภาค 1
พระครูธรรมธรวันชัย ซึ่งอ้างว่าเป็น ผู้อำนวยการมูลนิธิธุดงค์เคลื่อนที่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อให้กรมการศาสนาในฐานะเลขานุการมหาเถรฯ นำหนังสือเสนอต่อกรรมการมหาเถรฯให้ทบทวน เรื่องที่ให้พระพรหมโมลีออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เนื่องจากท่านเป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงาน และเป็นผู้ที่ยึดความถูกต้องตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรฯ และจารีตประเพณีอันดีงามของสังคม มากกว่าที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามความต้องการของกระแสภายนอก ที่มุ่งกดดันคณะสงฆ์ให้เกิดความระส่ำระสายและแตกร้าว
"มติมหาเถรฯ ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง หากมีหนังสือถึงมหาเถรฯแล้วไม่มีการทบทวนเรื่องนี้ ก็จะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เป็นการเคลื่อนไหวในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่ามหาเถรฯคงจะพิจารณาทบทวนเรื่องนี้"
นายวิชัย ตันศิริ กล่าวว่า จะนำเรื่องไปถวายสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และตนได้ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ที่เดินทางมายื่นหนังสือว่า มติมหาเถรฯดังกล่าวเป็นการใช้มาตรการทางการปกครองเนื่องจากพระพรหมโมลีขัดมติ จึงจำเป็นต้องให้ออกจากตำแหน่งเพื่อให้การดำเนินการตามกฎนิคหกรรมดำเนินต่อไปได้ และการให้ออกจากตำแหน่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่ความผิดทางวินัย ซึ่งจากการชี้แจงกลุ่มสงฆ์ที่มายื่นหนังสือก็ยอมรับว่าเข้าใจ แต่ก็ยังยืนยันที่จะให้กรมการศาสนายื่นหนังสือต่อมหาเถรฯ
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว. ศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่พระสงฆ์เดินขบวนมายื่นหนังสือก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่ต้องดูว่าสมณเพศอย่างท่านจะมาเรียกร้อง ในสิ่งที่องค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ได้วินิจฉัยไปแล้วมีความเหมาะสมหรือไม่ ตนอยากให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย ยอมรับว่ากระทรวงศึกษาฯไม่สิทธิจะไปห้ามปราม แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือภาพลักษณ์ของ สมณเพศที่พากันเดินขบวนเรียกร้อง
"ส่วนจะมีการทบทวนมติหรือไม่ผู้ที่จะให้คำตอบคือมหาเถรฯ แต่เชื่อว่ามหาเถรฯคงมีบรรทัดฐานที่มั่นคง ไม่ใช่ใครมาเรียกร้องอะไรก็เปลี่ยนแปลงมติ ถ้าเป็นเช่นนั้นการปกครองคณะสงฆ์ก็จะขาดความน่าเชื่อถือ" วันเดียวกัน ที่อาคารวุฒิสภา มีการจัดสัมมนาเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยผู้เกี่ยวข้องจากองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง
นายสมพร เทพสิทธา ประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ หนึ่งในฆราวาสที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้สอบนิคหกรรมนายไชยบูลย์และพระเผด็จ กล่าวว่า ตนเห็นว่า พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่จะเป็นการเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้เรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ด้วย เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ปี 2540 กำหนดให้รัฐบาลต้องอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา แต่จนบัดนี้รัฐบาลก็ยังไม่กล้าออกกฎหมายลูกเพื่อปกป้อง และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพราะกลัวการต่อต้านจากฝ่ายที่คัดค้าน
"รัฐบาลกลัวไม่กล้าออก พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพราะกลัวธรรมกาย ที่เขากล่าวหาว่าผมกับอาจารย์อำนวย (สุวรรณคีรี) ร่างขึ้นเพื่อให้ฆราวาสปกครองพระสงฆ์ ซึ่งไม่เป็นความจริง"
พล.ต.ต.วันชัย ศรีนวลนัด รอง ผบช.ก. ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีธรรมกาย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการอยู่ และได้แบ่งสำนวนสอบสวนออกเป็น 14 คดี เช่น คดียักยอกทรัพย์ ซึ่งทุกคดีก็อยู่ระหว่างการสอบสวนหาพยานหลักฐาน ทั้งนี้ พล.ต.ท.ล้วน ปานรศทิพ ผบช.ก. หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีธรรมกาย ได้สั่งการให้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 มี.ค. เวลา 14.00 น. ที่กองปราบปราม เพื่อสรุปว่าทั้ง 14 คดีมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว.