เดลินิวส์ 22/1/2543
กรมศาสนาสับสน'พรหมโมลี'ไม่ออก
กรมการศาสนาสร้างความสับสน โทรศัพท์ชี้แจงเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ ยืนยันเจ้าคณะภาค 1 ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งตามข่าว รองอธิบการบดี มจร. เผยเตรียมนำเรื่อง วัดพระธรรมกายบิดเบือน หลักธรรมเข้าที่ประชุมพระธรรมทูตทั่วโลก พร้อมหารือ ทางออกต่างหาก เจ้าคณะอำเภอคลองหลวงลงนามให้ "ทัตตชีโว" รั้งเก้าอี้รักษาการ เจ้าอาวาสวัดฉาวแล้ว ระบุต้องอธิกรณ์ตามกฎนิคหกรรมเมื่อใดเปลี่ยนเมื่อนั้น
ที่วัดเขียนเขต อ.คลองหลวง ปทุมธานี เมื่อวันที่ 21 ม.ค. เวลา 11.00 น. พระปริยัติวโรปการ เจ้าคณะตำบลคลองหนึ่ง เปิดเผยถึงเรื่องการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว ทราบว่าข่าวที่เกิดขึ้น ไม่เป็นความจริง เจ้าคณะภาค 1 ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่มีความคิดเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องมติมหาเถรสมาคมที่ให้ดำเนินการกระบวนการนิคหกรรมต่อนั้น ได้รับทราบแล้ว ทางเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีรอหนังสือรับรองมติมหาเถรฯ อยู่ หลังจากหนังสือมาแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้ คาดว่าจะส่งมาราวสิ้นเดือนนี้
เจ้าคณะตำบลคลองหนึ่งกล่าวว่า การเรียกนายไชยบูลย์ สุทธิผล เจ้าลัทธิธรรมกายและพระเผด็จ ทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมารับทราบข้อกล่าวหานั้นจะแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆมา เพราะครั้งนี้มีความชัดเจนมากที่สุด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากเรียกทั้ง 2 มารับทราบข้อกล่าวหา ก็คงจะบิดพลิ้ว ไม่มาเช่นเดิม โดยจะอ้างเหมือนเก่าว่า การดำเนินการตามกระบวนการนิคหกรรม ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว คงไม่ฟังมติมหาเถรฯอย่างแน่นอน
"ส่วนที่สงสัยว่า ที่ผ่านมาทำไมพระ สุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีถึงได้ลงนามในหนังสือรับรองว่า กระบวนการนิคหกรรมได้สิ้นสุดลงไปแล้วนั้น อาตมาตอบแทนได้เลยว่า หากวันนั้นทางเจ้าคณะ จังหวัดไม่ลงนาม วันนี้ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เจ้าคณะภาค 1 ก็ต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ไม่รายงานให้ เจ้าคณะใหญ่หนกลางทราบ คงต้องอ้างว่าเรื่องยังไม่สมบูรณ์และเรื่องยิ่งจะยืดเยื้อขึ้นไปอีก บัดนี้ทุกอย่างก็ชัดเจนแล้วว่ามหาเถรฯ ให้ดำเนินการกระบวนการนิคหกรรมต่อไป"
พระศรีปริยัติโมฬี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยกล่าวว่า การที่พระสงฆ์มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันนั้นถือเป็นความแปลกใหม่ เมื่อภาพ เหล่านี้ปรากฏย่อมทำ ให้ประชาชนเกิดความไม่สบายใจ เพราะแม้ว่าจะมีมติมหาเถรฯ ออกมายืนยันแต่ก็ยังมีความอึมครึมอยู่ เรื่องนี้อยากให้เห็นใจพระสงฆ์เนื่องจากเป็นกรณีที่รุนแรงที่สุด ในวงการสงฆ์ รวมทั้งฝ่ายบริหารด้วย หากไม่ระมัดระวังก็อาจจะเกิดข้อครหาว่าล้วงลูกก้าวก่ายคณะสงฆ์ด้วย
ส่วนกรณีการปกป้องพระธรรมปิฎกนั้น พระศรีปริยัติโมฬีกล่าวว่า ในการประชุม มจร.ได้มีการทวงถาม การแต่งตั้งคณะกรรมการปกป้องพระธรรมปิฎกว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนอย่างไร ไม่อยากให้แต่งตั้งขึ้นมา เพื่อปัดความรับผิดชอบเท่านั้น เพราะทำงานมานานกว่า 5 เดือนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้แจ้งว่าต้องใช้เวลาเนื่องจากมีงานที่ต้องรับ ผิดชอบมากมาย โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยพอใจนัก เนื่องจากวัดพระธรรมกายใช้สื่อของวัดในการบิดเบือนหลักธรรม แต่ มจร.ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการกลับไม่ตอบโต้ชี้แจงให้สังคมคลายความแคลงใจ
"เร็ว ๆ นี้อาตมาจะเดินไปร่วมประชุมพระธรรมทูต ซึ่งมีหลายประเทศเข้าร่วมอาทิ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และในกลุ่มประเทศยุโรป ตามโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายมาหารือด้วย เพื่อหาทางออกและทำความเข้าใจ กับพระธรรมทูตของประเทศต่าง ๆ ในปัญหานี้ด้วย"
ด้านพระมหาปัญญา ขันติธมฺโม เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง กล่าวว่า ได้รับหนังสือเสนอรายชื่อผู้จะมารักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยเสนอให้พระทัตตชีโวจากเจ้าคณะตำบลคลองหนึ่งและได้ลงนามอนุมัติแต่งตั้งไปแล้ว จากนั้นก็จะรายงานให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีทราบและจะแจ้งกลับไปยังเจ้าคณะตำบลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกรณีที่พระทัตตชีโวถูกกล่าวหาตามกฎนิคหกรรมนั้น ต้องถือว่าขณะนี้ยังไม่ต้องอธิกรณ์ เมื่อใด ที่ต้องอธิกรณ์ก็จะไม่สามารถเป็นรักษาการเจ้าอาวาสได้ วัดพระธรรมกายจะต้องเสนอชื่อ พระรูปใหม่ขึ้นมาทำการแทน ทั้งนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้งแต่เป็นไปตามกฎ
ขณะที่พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่า รู้สึกสับสนกับข่าวการลาออกของ พระพรหม โมลีเป็นอย่างมาก เพราะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ดี คงต้องรอฟังคำสั่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่และรอมติมหาเถรฯวันที่ 30 ม.ค.นี้อีกครั้งจะได้ชัดเจนขึ้น ส่วนกรณี นายไชยบูลย์และพระทัตตชีโวนั้นหากไม่มารับฟังข้อกล่าวหาคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณา อาจจะยืดเยื้อและวุ่นวายไม่รู้จบด้วย
ในวันเดียวกันนายอรรถสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคความหวังใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับปัญหาวัดพระธรรมกายซึ่งยืดเยื้อและทำให้เกิดความแตกแยกในคณะสงฆ์ ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์หนักหนาเช่นนี้ มหาเถรฯก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับสังคม แม้จะมีมติออกมาหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่ตัวบุคคลผู้ปฏิบัติมากกว่า เพราะกฎระเบียบนั้นมีความชัดเจนมากแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะกมธ.ได้ส่งหนังสือ ถึงวัดพระธรรมกายเพื่อขอเยี่ยมชมภายในวัดแล้ว โดยกำหนดไว้วันที่ 27 ม.ค. เวลา 10.00 น.