เดลินิวส์ 2/11/2542
สัมพันธ์ลึกล้ำวงการสงฆ์"พรหมโมลี-ไชยบูลย์"ขบวนการอุ้มเดียรถีย์
ใครจะไปนึกกันว่า ในวงการสงฆ์ขณะนี้ จะเกิดความขัดแย้งวุ่นวายมากมายขนาดนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ณ เวลานี้ความเชื่อถือในองค์กรสงฆ์กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณี การตีความกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม กระทั่งมหาเถรฯต้องเชิญนักกฎหมายมือ 1 ของประเทศ 2 ท่านคือ วิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานวุฒิสภา มาร่วมหารือ กระทั่งมีมติออกมาว่า ฆราวาสฟ้องสงฆ์ได้
คำฟ้องของมาณพ พลไพรินทร์และสมพร เทพสิทธา มีผล !! พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กำหนดดีเดย์เรียก "ไชยบูลย์ สุทธิผล" เจ้าลัทธิธรรมกายและ พระเผด็จ ทัตตชีโว มารับทราบข้อกล่าวหา 10 พ.ย.ที่จะถึงนี้ แต่แล้ววงการสงฆ์ก็ต้องสั่นสะเทือนอีกครั้ง
พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 กระโจนออกมาขวาง อ้างว่ามติมหาเถรฯยังไม่ผ่านการรับรอง ให้เลื่อนไปก่อน
พระพรหมโมลี (วิลาศ ยาณวโร) เจ้าคณะภาค 1 และเจ้าอาวาสวัดยานนาวานั้นคือความหวังของชาวพุทธในครั้งแรก ที่มีปัญหาเรื่องของวัดพระธรรมกายเข้ามาในสังคมไทย หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมการดำเนินการในพระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย กระทั่งมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชออกมาเผยแพร่ต่อพุทธศาสนิกชน และจากมติมหาเถรฯพระพรหมโมลีจึงเข้ามามีบทบาทตั้งแต่แรกที่ธรรมกายถูกตรวจสอบจากสังคม
ถ้าจำกันได้พระพรหมโมลีก็ได้รับมอบจากมหาเถรฯ เข้ามาดูแลปัญหาธรรมกายตั้งแต่ปลายปี 2541 และพระพรหมโมลี ใช้อำนาจพระปกครองได้สรุปแนวทางปรับปรุงแก้ไขวัดธรรมกาย 4 ข้อ เสนอมหาเถรฯ คือ ให้มีการเรียน การสอนพระอภิธรรม, ให้ปฏิบัติกรรมฐานตามหลักมหาสติปัฎฐานสูตร, ให้สำรวมระวังพระธรรมวินัย และให้ปฏิบัติตามกฎมหาเถรฯอย่างเคร่งครัด
ข้อเสนอของพระพรหมโมลีนี้ก็ถูกวิจารณ์อย่างมากมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งความหวังกับพระพรหมโมลีไว้อย่างสูงในฐานะพระนักปราชญ์ เปรียญธรรม 9 ประโยค และเคยเขียนหนังสือรจนาคุณวิเศษของพระศาสนาได้อย่างวิเศษสุด
ต่อมาเมื่อพุทธศาสนิกชนเคลื่อนไหวมากขึ้น จนถึงการยื่นคำฟ้อง"ไชยบูลย์-พระทัตตชีโว" ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรมต่อพระสุเมธาภรณ์ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระพรหมโมลีก็ทำให้วงการสงฆ์ไทยสั่นสะเทือนและพุทธศาสนาต้องช็อกอย่างแรง เมื่อพระสุเมธาภรณ์ออกมาเปิดเผยว่า พระพรหมโมลี ตีความกฎนิคหกรรมว่าฆราวาสไม่มีสิทธิฟ้องร้องในฐานะผู้กล่าวหา
เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มขึ้นทั่วทุกสารทิศอย่างช่วยไม่ได้ กระแส ณ เวลานั้นหมายถึงการเลือกปฏิบัติในวงการสงฆ์ มันมีตัวอย่างออกมาให้เห็นอย่างกรณีของ วินัย ละอองสุวรรณ หรืออดีตพระยันตระ ก็เคยถูกฆราวาสฟ้องร้องมาให้เห็นแล้ว ยังมิทันที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้จะสงบลงไป พระพรหมโมลีบอกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเข้าใจผิด โดยชาวบานสามารถฟ้องได้
เมื่อถึงที่สุดพุทธศาสนิกชนไทยก็ต้องตะลึงอีกครั้ง เมื่อพระพรหมโมลีออกมายืนยันว่า ฆราวาสฟ้องร้องสงฆ์ไม่ได้อีกครั้ง และให้พระสุเมธาภรณ์เชิญผู้กล่าวหาทั้ง 2 คนมารับคำร้องคืนไป ถือเป็นการพลิกลิ้นครั้งใหญ่ของพระสงฆ์ไทย พระที่เป็นระดับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เปรียญธรรม 9 ประโยค เรื่องยืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ กระทั่งมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมอีกครั้ง เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งที่พระพรหมโมลีตีความวินิจฉัยนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นการดำเนินการที่ยืดเยื้อมานานมาก 2 เดือนเศษ ที่สุดที่ประชุมมหาเถรฯก็มีมติให้เชิญฆราวาสที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และ เชื่อถือได้ทางกฎหมายมาร่วมพิจารณาวินิจฉัย แล้วก็ได้บุคคล 2 คน คือ วิษณุ เครืองาม และ มีชัย ฤชุพันธุ์
มติหลังจากนั้นสร้างความปรีดาให้แก่พุทธศาสนิกชนไทยเป็นอย่างมาก ก็อย่างที่ทราบกันนั่นคือฆราวาสฟ้องสงฆ์ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นกรมการศาสนาในฐานะฝ่ายธุรการก็นำมติไปแจ้งแก่พระสุเมธาภรณ์ เพื่อให้ดำเนินการตามกระบวนการนิคหกรรม พระสุเมธาภรณ์ติดต่อทุกฝ่ายก่อนที่จะเปิดเผยกับสาธารณชนว่า 10 พ.ย.นี้ จะเรียก "ไชยบูลย์-พระทัตตชีโว" มารับทราบคำฟ้องอีกครั้งและสอบถามข้อเท็จจริง หากมีการยอมรับตามคำฟ้องก็จะดำเนินการได้ทันที แต่เชื่อแน่ว่านายไชยบูลย์ไม่มีทางยอมรับ ซึ่งต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลสงฆ์ทันที โดยมีนายไชยบูลย์เป็นจำเลย
ตามกระบวนการนิคหกรรม หรือศาลสงฆ์นั้น เริ่มแรกของการพิจารณาจะเริ่มจาก คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นที่มี พระพรหมโมลีเป็นประธาน โดยต้องมีการสอบสวนปากคำ พยานหลักฐานของผู้ยื่นฟ้องทั้งที่เป็นเอกสารและบุคคล เพื่อพิจารณาว่าเป็นพยานหลักฐานที่ถูกต้อง และตรงกับพระธรรมวินัยหรือไม่ จากนั้นศาลชั้นต้นจะตัดสินลงนิคหกรรมหรือยกฟ้องก็ได้
แต่กระบวนการทั้งหมดยังสามารถอุทธรณ์ไปยัง คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ โดยจะมี พระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นประธาน ที่ทั้งโจทก์และจำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ทั้ง 2 ฝ่าย และถึงแม้คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์จะตัดสินไปแล้วยังไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังสามารถฎีกาถึงระดับชั้นฎีกาก็คือ มหาเถรสมาคม ต่อไป
แต่เมื่อประธานคณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นคิดแบบนี้แล้ว โอกาสที่จะพบความยุติธรรมสำหรับฝ่ายพุทธศาสนิกชน ที่ยึดถือความถูกต้องก็คงเป็นเรื่องที่ริบหรี่ และคาดหวังยาก
อยากระบุว่าเป็นขบวนการยื้ออุ้มเดียรถีย์เสียจริง !?!.