เดลินิวส์ 25/10/2542
ความหวังพุทธศาสนิกชนหลัง"ออกพรรษา"ปฏิรูปวงการสงฆ์!?!
ตามประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาพุทธของคนไทย ยามใดที่ตรงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้ว พระภิกษุจะต้องอธิษฐานจำพรรษาอยู่ประจำที่หรือประจำวัดนั้นไปจนครบกำหนด 3 เดือน โดยเราเรียกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 นั้นว่า วันเข้าพรรษา หลังจากนั้นก็จะสามารถจาริกไปค้างแรมในที่อื่น ๆ ได้ ซึ่งพุทธศาสนิกชนเรียกวันนี้ว่า วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
วันออกพรรษา นั้นเรียกอีกอย่างว่า วันปวารณา
หมายถึงวันหลุดพ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัย สำหรับความเป็นมาของวันออกพรรษา ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 24 ตุลาคมนี้ระบุว่า สมัยก่อนพุทธกาล เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษาอยู่ตามอารามรอบ ๆ นคร พระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันจนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน หรือ มูควัตร เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิว่าอยู่กันเหมือนฝูงปศุสัตว์ และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกัน
วันออกพรรษา เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรงที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเรา ๆ แล้วถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำบุญทำทาน รักษาศีล และฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ ในประเพณีวันออกพรรษานั้น มีประเพณีต่อเนื่องอีกประการหนึ่งเรียกกันว่า ประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันตลอดมา
คำว่า เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ
แปลว่า การหยั่งลงจากโลก
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้ประกาศศาสนาในแคว้นต่าง ๆ ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางมหาปชาบดี พระนางพิมพา และพระราหุลราชกุมาร ตลอดจนพระประยูรญาติให้ได้บรรลุมรรคผลตามสมควร พระองค์ทรงนึกถึงพระนางสิริมหามายาพุทธมารดา ซึ่งสิ้นพระชนม์หลังจากพระองค์ประสูติแล้ว 7 วัน และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
พระองค์ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ทรงวินิจฉัยโดยรอบคอบแล้วเห็นแต่สิ่งเดียวเท่านั้น คือพระอภิธรรมที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา เป็นการใช้หนี้ค่าน้ำนมให้คู่ควรกัน พระองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ครั้นออกพรรษาแล้ว วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระองค์จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาประทับที่เมืองสังกัส มีประชาชนไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น เมื่อถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนจึงนิยม ตักบาตรเทโว จนเป็นประเพณีสืบเนื่องมา ถึงบัดนี้
การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดก็ทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันออกพรรษาแล้ววันหนึ่ง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 แต่ถ้าจะให้ตรงกับเรื่อง ก็ควรทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็น วันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก สมกับที่ชื่อว่าตักบาตรเทโวอย่างแท้จริง
พิธีที่ทำนั้น ทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบกซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อน มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคนลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระภิกษุสามเณรซึ่งถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ บรรดาพุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมานั่งเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่าน เพื่อคอยตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรกันในวันนั้น นอกจากข้าวปลาอาหารธรรมดาก็มี ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน เป็นพื้น โดยมาทำกันในบริเวณพระอุโบสถ แต่บางวัดทำกันในบริเวณวัดก็มี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม
นั่นคือประเพณีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน
แต่ในวันนี้ชาวบ้านชาวช่องเขาคิดเห็นกันอย่างไรบ้างล่ะ !?!
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ได้ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,849 คน ใน กท. และปริมณฑล ที่เรียกกันติดปากว่า สวนดุสิตโพล ในเรื่องคิดอย่างไรกับวันออกพรรษา เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเกิดความวุ่นวายในพระพุทธศาสนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บางรูป เสพเมถุนกับคนกับสัตว์ หรือพระบางรูปยักยอกทรัพย์ของวัด เป็นคดีอาญารอการพิจารณาไต่สวนของศาลสถิตยุติธรรมอยู่ในเวลานี้ เป็นที่เอือมระอาของชาวบ้านชาวช่องโดยทั่วไป
ตัวเลขออกมาน่าสนใจมิใช่น้อย ประชาชนกว่า 75.34% ทราบดีว่าวันออกพรรษาปีนี้ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม ในประเด็นต่อมาก็คือ ประชาชนตั้งใจทำอะไรในวันออกพรรษา ปรากฏว่า 32.91% จะไปทำบุญที่วัด 27.10% อยู่เหมือนเดิมทำตัวตามปกติ 20.98% จะทำความดี เลิกอบายมุข 8.74% จะถือศีล เป็นต้น
ถามว่าประชาชนอยากให้พระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ปรากฏว่า 22.04% อยากให้พระสงฆ์ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด 18.70% อยากให้เผยแผ่พระศาสนาในทางที่ถูกต้องและในทิศทางเดียวกัน หวั่นความสับสน 16.94% อยากให้ดำเนินการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายให้ดีกว่านี้ เป็นต้น น่าดีใจที่แม้สังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่คนไทยยังนึกถึงศาสนา
ยังมีความเป็นห่วงศาสนา โดยเฉพาะปัญหาวัดพระธรรมกาย
ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ อ่านแล้วก็ตรองด้วย ควรทำอย่างไร !?!.