เดลินิวส์ 27/12/2541

ถกแนวทางธรรมกายยันเพี้ยน

ตรียมร้องเรียนเจ้าคณะภาค 1 "พระพรหมโมลี"ให้เปิดเผยฐานะทางการเงินวัดพระธรรมกาย เผยเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนด ช่อง 11 กรมปชส.จับมือมูลนิธิปรีย์ดี พนมยงค์ ระดมสมองผ่าทางตันแนวทางวัดพระธรรมกายทั้งพระและนักวิชาการยืนยันผิดเพี้ยนเกินไป แถมเอาธุรกิจเข้ามาดำเนินการจนน่าเกลียด ระบุลดด้านระดมเงินลงทั้งหมดน่าจะดีกว่านี้
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา สถาบันปรีย์ดี พนมยงค์ร่วมกับสถานีวิทยุและโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 ได้จัดให้มีการบันทึกรายการเวทีชาวบ้าน โดยมีหัวข้อการสัมนาว่ากรณีธรรมกาย:ข้อเท็จจริงกับการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ มีผู้ร่วมสัมมนาจากฝ่ายฆราวาสประกอบด้วย นายธรรมเกียรติ กันอริ นายทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นายสุพจน์ ด่านตระกูล ด้านพระสงฆ์มี ดร.พระสุธีวรญาณ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดร.พระมหาจรรยา สุทธิยาโณ วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ มีนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นผู้ดำเนินการ
ก่อนเริ่มรายการนายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนดัง ได้กล่าวกลางวงสัมมนาว่า ในวันที่ 27 ธ.ค. 2541 เวลา 13.00 น. จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องต่อพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค1 ให้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญที่ระบุให้ประชาชนสามารถร้องขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้เริ่มต้นรายการด้วยการแจ้งให้ทราบว่า ได้ใช้ความพยายามอย่างมาที่จะเชิญนายผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้และลูกศิษย์คนสำคัญหรือบุคคลที่วัดพระธรรมกายเลือกสรรมาร่วมรายการ หากแต่ได้รับการปฏิเสธเมื่อใกล้ถึงเวลาบันทึกรายการไม่กี่ชั่วโมง ด้วยอ้างติดงานอื่นที่สำคัญกว่า
การสัมนาเริ่มต้นด้วยคำถามว่าเหตุใดวัดพระธรรมกายจึงมาถูกขุดคุ้ยกันมากในช่วงนี้ ทั้งๆที่วัดได้สถาป นามาเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งวงสัมมนาได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้สรุปได้ว่า ความจริงวัดพระธรรมกายเคยมีเรื่องพิพาทกับชาวนาในพื้นที่ ด้วยการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากมายจนเกิดกรณีขับไล่ที่กับชาวบ้านเป็นข่าวเกี่ยวกราวมาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว
แต่กรณีพิพาทครั้งก่อนนั้นคงไม่เกี่ยวเนื่องกับกรณีที่กับลังถูกสังคมวิพากษ์อยู่เวลานี้ สาเหตุที่วัดพระธรรมกายกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เป็นเรื่องของการดำเนินกิจกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควรกับยุคสมัย ในขณะที่ทุกฝ่ายได้ใช้ความพยายามร่วมใจกันประหยัด โดยเฉพาะองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำแนวคิดว่าด้วย
เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสหลุดพ้นจากวิกฤติ
เศรษฐกิจ แต่วัดพระธรรมกายกับใช้ความพยายามดูดทรัพย์จาก
คนไทยไปก่อสร้างถาวรวัตถุหลายหมื่นล้านบาท เป็นการผิดเจตนาในพุทธศาสนาที่มุ่งให้พุทธบริษัทละความโลภโกรธหลง และละเว้นการเห็นแก่ตัว
ขณะที่ฝ่ายฆราวาสเสนอมุมมองด้านการตลาดของวัดพระธรรมกาย เป็นการนำพุทธศาสนามาเป็นสินค้าโดยมีการเสริมแต่งให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยการนำเอาปาฏิหารย์มาเป็นจุดขาย มีการทำโปรโมชั่นต่างๆทั้งการนำระบบขายตรงมีการวางดาวน์แล้วผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อไม่สามารถชำระได้ก็มักจะใช้วิธีการว่าเป็นการผิดศิลในเรื่องของการโป้ปดมดเท็จ เมื่อได้ลั่นวาจาออกไปต่อหน้าพระแล้วก็ควรหาเงินมาผ่อนต่อจนครบ
ด้านทางฝ่ายสงฆ์ได้แสดงความเห็นว่าต้องมองด้วยความเป็นธรรมว่า วัดพระธรรมกายเป็นวัดที่มีระบบการจัดการดี โดยในช่วง 10 ปีแรกเป็นระยะเวลาของการสร้างสมบารมีคือการสร้างความศรัทธาให้เกิดแก่ชาวพุทธ สิบปีถัดมาเป็นช่วงของการขยายเป็นระดับชาติและเผยแผ่ไปยังต่างประเทศทั่วโลกในช่วง 10 ปีสุดท้าย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์คือ การเปรียบเทียบว่าวัดอื่นไม่มีความสามารถเรียกคนเข้าวัดได้ เรื่องนี้อย่างมองว่าวัดอื่นอิจฉา
ในเรื่องของการขายตรงพระพุทธองค์เองก็ได้นำหลักการนี้มาใช้ในการเผยแผ่ศาสนาเช่นกัน โดยให้พระเดินทางสอนศาสนาเพียงลำพังองค์เดียว ไม่ควรไปกันหลายๆองค์ในที่เดียวกัน แต่การใช้หลักการขายตรงนี้มีข้อแตกต่างกันที่พระพุทธองค์ประสงค์ให้สาวกไปติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวพุทธ ไม่ใช้ไปสอนให้รู้จักการทำบุญกันแบบสุดฤทธิ์สุดเดชเช่นวัดพระธรรมกาย
"อาตมานิยมชมชอบการทำงานของวัดพระธรรมกายมากเป็นแนวทางการเผยแผ่ศาสนาที่ดี โดยเฉพาะหนังสือสอนศาสนาของวัดนี้ มีเนื้อหาน่าสนใจและเป็นการสอนศาสนาดีมาก แต่มาสะดุดตรงตอนท้ายเล่มที่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมต้องมีเรื่องของการทำบุญด้วยเงินมาเกี่ยวข้องด้วย ที่สำคัญพระรุ่นดูดทรัพย์ออกเสียงว่าดูดซับ ฟังดูแล้วคล้ายกับกระดาษชำระ อีกเรื่องเป็นการบวชพระทำไมต้องมาราคาค่าบวชถึงองค์ละสามพันบาท เลิกเก็บไม่ได้หรือพูดอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการต่อว่าวัดธรรมกาย แต่ทุกอย่างต้องแก้ไขได้ไม่มีใครคิดว่าวัดทำผิด พุทธบริษัทมีอภัยทานสามารถลืมเรื่องที่เกิดขึ้นได้"
รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเคยกล่าวใน หนังสือบานไม่รู้โรยนิตยสารรายเดือนที่เลิกการพิมพ์ไปแล้ว ที่นำมาเสนอนี้เป็นฉบับปีที่ 2530 ว่าประเทศไทยมีสองหมื่นกว่าวัดแต่หาวัดเข้าไม่ได้ พูดอย่างนี้หากทำอย่างเคล็งคัดเป็นการระเมิดหรือดูหมิ่นคนอื่น เป็นลักษณะที่กล่าวได้ว่าคุณภาพไม่พอและอาจไปก่อปัญหาสังฆเพศซึ่งผิดพระวินัยได้ ก็เข้าใจว่ารองเจ้าอาวาสอาจไม่มีเจตนา แต่ต้องการบอกว่าวัดที่ท่านทำนี้ถูกต้องที่สุดแล้ว
โดยแท้จริงแล้ววัดพระธรรมกายถูกวิจารณ์กันมาก มีสาเหตุหลักจากเรื่องของเงินจนมีการทำธุรกิจในรูปแบบต่างเกิดขึ้นในรูปของมูลนิธิ มีโปรเจ็กมากมายจนแทบจำไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดเป็นการขายบุญทั้งสิ้น โดยมีการนำปาฏิหาริย์มาเป็นตัวชูโรง ซึ่งเรื่องการเงินการลงทุนเป็นเรื่องของความร้อนรุ่ม ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาแบกรับไว้เพียงวัดเดียว ถ้าการก่อสร้างมหาธรรมเจดีย์เป็นเรื่องจำเป็น ป่านนี้พระพุทธเจ้าต้องขายกรุงกบินทรพัตรมาสร้างก่อนแล้ว
ในเรื่องของอนัตตากับนัตตาก็ยังถกเถียงกันมากว่าอย่างไหนคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ตั้งแต่อดีตไม่เคยเลยที่จะมีการตัดสินอะไรที่เด็ดขาดจากคณะสงฆ์ มาถึงวันนี้น่าจะมีการออก พ.ร.บ.สงฆ์ใหม่ ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ว่าจะทำในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆเลย
การจะออกกฏหมายนี้ต้องทำแบบเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ มีการระดมผู้รู้และประชาชนมาร่วมกันคิด ที่สำคัญต้องมีองค์กรที่สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้ ไม่อ่อนแออย่างที่เป็นอยู่นี้ หากไม่แล้วก็จะมีการต่างฝ่ายต่างตีความกันไม่มีที่สิ้นสุด และสุดท้ายศาสนาก็จะเสื่อมถอย เพราะมีการบิดเบือนพระธรรมกัน ซึ่งเรื่องการร่างกฏหมายใหม่นี้ถือเป็นการเนรียกร้องจากวงสัมมนา และผู้เข้าร่วมต่างก็มีความเห็นตรงกัน