เดลินิวส์ 2/9/2542
'ธรรมกาย'ให้ตีความมีหวังแท้ง
4 พระผู้ดูแลบัญชีวัดพระธรรมกายเบี้ยวตามเคย หนีหน้าพนักงานสอบสวนไม่มาตามนัด ทนายวัดฉาวอ้างตื่นตระหนกข่าวที่สื่อเสนอออกจากวัดไปตั้งแต่เมื่อวันที่ตำรวจตรวจค้นยังไม่ กลับแถม โยนบาป ให้ตำรวจ อ้างกับสื่อมวลชนไม่ให้เข้าวัดตำรวจขอร้องมาเอง "พล.ต.ท.วาสนา"ถามกลับ ใครแน่ที่ขอร้อง ให้ห้ามสื่อมวลชน คำร้องให้ ศาล รธน.วินิจฉัยองค์กรรัฐรอนสิทธิมีหวังแท้ง ประธาน รัฐสภาเผยอาจไม่เข้าข่าย ม.266 ก็ได้ พบร่องรอย การยักยอกทรัพย์ถ่ายโอนบัญชีอีก 2 รมต.ศึกษาฯ มองโลกแง่ดี มหาเถรฯ กลับมติแค่เพื่อความถูกต้อง ไม่ใช่เตะถ่วง แต่ถ้าเป็นจริงสังคมคงหมดหวัง
จากกรณี ที่ศิษย์วัดพระธรรมกายกว่า 50,000 คนลงชื่อยื่นหนังสือเพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า องค์กรของรัฐ รอนสิทธิในการนับถือศาสนาตามมาตรา 38 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเดียวกันนั้น
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 1 ก.ย. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเปิดเผยว่า กำลังให้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเสนอของทางศิษย์วัดพระธรรมกายอยู่ว่าเป็นประเด็นอะไร และอยู่ในอำนาจ ที่ประธาน รัฐสภาสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่ามีรายชื่อแนบท้ายมาด้วยกว่า 50,000 ชื่อนั้น เรื่องนี้จะกระทำได้เพียง 2 กรณีเท่านั้นคือ การเสนอกฎหมาย และการถอดถอน ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายอื่น ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การส่งเรื่องให้ศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับรายชื่อ จะต้องเป็น เรื่องที่เกี่ยวกับมาตรา 266 เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ประธานรัฐสภากล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯกำลังพิจารณาว่าประเด็นที่วัดพระธรรมกายเสนอ มาเข้าข่าย มาตรา 266 หรือไม่ ซึ่งต้องดูเนื้อหาว่าเป็นประเด็นที่ประธานรัฐสภาสามารถเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่เป็นการเสนอกฎหมาย คาดว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในวันศุกร์ที่ 3 ก.ย.นี้
ขณะเดียวกันที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วอนุญาตให้ถอนคำร้องได้ และให้จำหน่ายคำร้อง ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541 ข้อ 6 ตามที่นายสนธยา โพธิ์แดง ทนายความผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นขอถอนคำร้องที่เสนอมายังศาลรัฐธรรมนูญด้วย เข้าใจผิดคิดว่า วัดพระธรรมกายเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ นายวิชัย ตันศิริ รมช.ศึกษาฯกล่าวถึงการประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่มีมติให้ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อความในมติมหาเถรฯเมื่อวันที่ 23 ส.ค. กรณีให้พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ทำรายงานชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะผู้พิจารณาเสนอสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่ยกฟ้องคำกล่าวหานายไชยบูลย์ตามกฎนิคหกรรมว่า เป็นเพียงต้องการปรับปรุงมติให้ชัดเจนขึ้น โดยพระพรหมโมลี ต้องการให้ระบุให้ชัดเจนว่าอยู่ในฐานะคณะผู้พิจารณาชั้นต้น จึงต้องรอให้ที่ประชุมมหาเถรฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 6 ก.ย. รับรองมติเสียก่อน เจ้าคณะภาค 1 จึงจะทำการชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น การเตะถ่วงนั้น นายวิชัยกล่าวว่า จะช้าหรือเร็วไม่สำคัญแต่ที่สำคัญก็คือต้องยึดหลักความถูกต้อง กรมการศาสนาคงไม่เข้าไปเร่งรัดมากนัก ทำแค่ประสานงานเท่านั้น เรื่องคงจะไม่จบเพียงเท่านี้ต้องมีการพิจารณากันต่อไป สำหรับความ คืบหน้าในเรื่องของการปรับปรุงกฎนิคหกรรมนั้นขณะนี้กรมการศาสนาได้ยกร่างขึ้นมาแล้ว 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการปรับปรุงกฎนิคหกรรมฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกฉบับเป็นการยกร่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.ศึกษา-ธิการกล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมคิดได้ แต่ต้องยอมรับว่าในที่ประชุมไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดก็มีสิทธิ์ที่จะปรับมติให้ชัดเจนขึ้นได้ ในกรณีของมหาเถรฯนั้น ต้องรอรับฟังผลการพิจารณาในครั้งต่อไปว่า จะมีการรับรองมติเมื่อ วันที่ 31 ส.ค. หรือไม่ ถ้าไม่รับรองกระทรวงศึกษาฯ ก็คงไม่สามารถไปบังคับมหาเถรฯได้ แต่รู้สึกเป็นห่วงความรู้สึกประชาชนที่ยังฝากความ หวังไว้ที่องค์กรนี้
ส่วนความ คืบหน้า ด้านการสอบสวนคดีวัดพระธรรมกายนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนได้รับการติดต่อจากนายสนธยา โพธิ์แดง ทนายความ ของวัดพระธรรมกายว่าจะนำพระ 4 รูปคือ พระปลัดสุธรรม สุธัมโม พระครูสมุห์สุวิทย์ สุวิชชาโน พระวิษณุ ปัญญาทีโป และพระสุวิทย์ ชาโท ซึ่งทั้งหมดเคยดูแลบัญชีของวัดกับนายไมยฤทธิ์ ปิตวณิช ผู้มีบทบาทในการโอนเงินให้กับบุคคลต่าง ๆ มาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในเวลาบ่าย แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีบุคคลใดมาพบพนักงานสอบสวน
นายสนธยาอ้างว่า พระทั้ง 4 รูปได้ออกจากวัดไปตั้งแต่วันที่พนักงานสอบสวน ไปตรวจค้นที่วัดจนเวลานี้ยังไม่กลับเข้าวัดแต่อย่างใด คาดว่า เป็นเหตุมาจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทำให้พระทั้งหมดนั้นตื่นตระหนกไม่กล้ากลับมาที่วัด ทั้งนี้โดยส่วนตัวไม่เคยรู้จักกับพระทั้ง 4 มาก่อน เมื่อรู้ว่าพนักงานสอบสวนต้องการสอบปากคำก็จะให้ความร่วมมือจึงได้รับที่จะประสานงานติดต่อว่า จะให้มาสอบปากคำแต่ยังไม่พบพระทั้ง 4 สำหรับกรณีนายไมยฤทธิ์ก็เช่นกัน น่าจะมาทำงานที่สำนักงานมูลนิธิธรรมกายแล้วแต่ก็ยังไม่มาทำงาน และตั้งแต่รับทำคดีนี้ก็ยังไม่เคยพบตัวเลย
"ผมอยากให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว จึงรับอาสาพนักงานสอบสวนจะติดตามพยานเหล่านี้ให้ แต่ก็ไม่พบใครสักคน สอบถามพระทัตตชีโวและนายไชยบูลย์ก็ไม่ทราบว่าเหตุใดพระทั้ง 4 รูป จึงยังไม่กลับมาวัด และได้ให้เจ้าหน้าที่ของวัดไปติดตามพระทั้ง 4 รูปแล้ว เท่าที่ทราบตามกฎในช่วงเข้าพรรษาพระจะออกไปจำพรรษาที่อื่นได้ไม่เกิน 5 วัน โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าอาวาส ถ้าเกินจากนั้นจะต้องแจ้งให้ทราบ ขณะนี้มีเพียงพระปลัดสุธรรมเท่านั้นที่แจ้งว่าไปสุพรรณบุรี
ต่อข้อถามที่ว่า หากพนักงานสอบสวนยังไม่สามารถสอบปากคำพยานทั้ง 4 ได้และออกหมาย จับจะถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ ทนายวัดดังกล่าวว่าคงต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ตนทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะไม่ใช่เจ้าพนักงาน ส่วนกรณีที่สื่อมวลชนต่างประเทศระบุว่าวัดเป็นแดนสนธยานั้น ต้องถาม สื่อด้วยว่า ทำอะไรไว้กับวัดพระธรรมกาย ที่ผ่านมาก็ชี้แจงข้อเท็จจริงทำทุกอย่างโปร่งใส วัดไม่เคยคิดเป็นศัตรูกับสื่อ
ต่อข้อถามที่ว่าการที่วัดห้ามสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวเสนอข่าวนั้นทำถูกต้องหรือไม่ นายสนธยากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพราะ ได้รับแจ้ง จากพนักงานสอบสวนว่า การให้สื่อมวลชนเข้าไประหว่างการตรวจค้น และสอบสวนนั้นจะทำให้ทำงานได้ไม่สะดวก ขอยืนยันว่าพนักงานสอบสวนเป็นผู้แจ้งเรื่องนี้กับวัดเอง ทางวัดก็เห็นด้วยเพราะหากให้สื่อเข้าไป จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงต้องห้ามไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการให้สัมภาษณ์ของนายสนธยานั้นเป็นไปด้วยความตึงเครียด โดยเฉพาะเมื่อถูกสื่อมวลชนซักถาม มาก ๆ นายสนธยาถึงกับมีสีหน้าตึงเครียดและแสดงออกด้วยคำพูด ซึ่งก็มีการตอบโต้กันอย่างรุนแรง กระทั่งพนักงานสอบสวนต้องสั่งให้หยุดการให้สัมภาษณ์
พล.ต.ท.วาสนา เพิ่มลาภ ผบช.สง.ก.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีวัดพระธรรมกาย ซึ่งได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ รองผบ.ตร.ให้นำกำลังเข้าตรวจค้น วัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมาเปิดเผยถึงข้ออ้างที่นายสนธยา ทนายความของวัดพระธรรมกายระบุว่า พนักงานสอบสวนได้เป็นผู้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่วัดช่วยกีดกันไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปในวัด เพื่อสะดวกต่อการตรวจค้นและสอบสวนว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงเลย "เรื่องนี้พนักงานสอบสวนอยากให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าไปมีส่วนร่วมและทำข่าว เห็นข้อเท็จจริงภายในวัดเพื่อจะได้เห็นหลักฐาน แต่วัด เป็นผู้เสนอมาว่า ไม่ควรให้สื่อมวลชน เข้าไปในวัดเพราะไม่สะดวกในหลาย ๆ ด้าน ไม่เข้าใจว่าทำไมทนายความวัดจึงมาออกข่าวเช่นนี้"
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากพนักงานสอบสวนคดีนี้แจ้งว่า จากการสอบพยาน หลายปากทำให้ทราบถึงวิธีทำให้คนหลงเชื่อคำโฆษณา โดยให้ผู้นำ บุญพูดจาโน้มน้าวให้คนที่เคยศรัทธาพระผู้ใหญ่รูปอื่นเปลี่ยนแปลงมาศรัทธาและนับถือนายไชยบูลย์แทน เช่น ยกย่องบารมีของ หลวงปู่แหวนนั้นเปรียบได้แค่แสงหิ่งห้อย ส่วนของนายไชยบูลย์นั้นมีแสงเท่ากับดวงอาทิตย์ถึง 2 ดวงและกลยุทธที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งคือการชักนำบุตรหลานผู้ที่มีฐานะร่ำรวยให้มานั่งสมาธิ และบอกเหล่าผู้ปกครองว่าให้ทำบุญมาก ๆ เพราะบุตรหลานเป็นผู้มีบุญ เป็นนักสร้างวิมาน ทำบุญมากวิมานก็จะขยายใหญ่มาก
"บางครั้งจึงเกิด กรณีพิพาท ระหว่างผู้นำบุญ กับผู้ปกครองเด็กเหล่านั้น เนื่องจากตั้ง เป้าหมายไว้ว่าจะต้องได้รับเงินบริจาค 10 ล้านบาทหรือ มากกว่านั้น แต่เอาจริงบริจาคแค่ 100,000-200,000 บาท นายไชยบูลย์ก็แสดงออกให้เห็นอาการโมโหกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย และมีหลายครั้งที่สื่อมวลชนเคยเสนอข่าวความเป็นคนโมโหร้ายขว้างปาสิ่งของที่อยู่ใกล้มือ"
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า บางครั้งผู้นำบุญเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่หากมีการบริจาคเงินน้อยลง โดยใช้เด็กเป็นสะพานพูดจาเกลี้ยกล่อมว่าวิมานที่สร้างขณะนี้หมองลงต้องต่อบารมีเพื่อเพิ่มรัศมี ซึ่งเป็นวิธีการคล้ายการสะกดจิต หากไม่ได้ผลก็จะสรรหาวิธีอื่นมาใช้อีกเช่น อ้างนรกสวรรค์ ใครทำกรรมมากก็ต้องบริจาคเงินเยอะ ๆ เพื่อทลายกำแพงนรกนั้น ขณะนี้พนักงานสอบสวนพยายามรวบรวมข้อมูลหลักฐานว่าเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ โดยได้สอบปากคำพยานไปแล้ว 7 ปาก นอกจากนี้พยายามเร่งสรุปสำนวนเกี่ยวกับเงินฝากของวัดและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายไชยบูลย์ด้วย เนื่องจากพบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่ง แต่ก็ทิ้งร่องรอยให้สามารถตรวจสอบจนพบได้.