เดลินิวส์ 25/12/2541

วัดฉาวจนแต้ม จ้าง 1 แสนบวชชี

ถึงกับต้องลงทุนจ้างชาวบ้านบวชีกันแล้ว จ้างหัวละ 1 แสนไปอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ถ้าอยู่วัดพระธรรมกายได้เบาะๆ 4 หมื่นบาท ลงนามบนโรงพักจ่ายล่วงหน้าก่อนครึ่งหนึ่ง ตั้งเงื่อนไขบวช 3 เดือน กรรมการศึกษาพฤติกรรมวัดพระธรรมกายของ"ตูมตาม"ออกแล้ว แต่ส่งกลิ่นมีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หุ้นกับศิษย์เอกพระธรรมกายทำ
คอนโดขายข้างวัดร่วมเป็นกรรมการ
เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 24 ธ.ค. พลเมืองดีได้แจ้งมายัง"เดลินิวส์"ว่า ได้มีการจ้างวานชาวบ้านในชุมชนรวมใจสามัคคี หลังโรงเรียนวัดราษฎร์นิยมธรรม ซอยพหลโยธิน 52ให้สมัครบวชชีกับวัดพระธรรมกาย ปทุมธานีและที่ธุดงคสถานล้านนา เชียงใหม่ โดยมีอัตราค่าจ้างในราคา 40,000 บาทและ 100,000 บาทต่อคนตามลำดับ
จากการไปตรวจสอบของผู้สื่อข่าวบริเวณชุมชนดังกล่าวพบว่า มีการดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งจริง ซึ่งชาวชุมชนที่สมัครใจบวชชีครั้งนี้กว่า 10 คนเปิดเผยตรงกันว่า ได้รับการติดต่อจากหญิงคนหนึ่งในชุมชนเดียว กันชื่อนางวรรณา ไม่ทราบนามสกุลให้บวชชี โดยอ้างว่ามีเจ้าของที่ดินรายหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ขายที่ได้แล้วตั้งใจจะเป็นโยมอุปถัมภ์บวชชี 200 คน
สำหรับคนที่สมัครใจบวชชีนั้น นางวรรณาบอกว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนคนละ 40,000 บาทในกร ณีที่บวชอยู่วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี หากสมัครใจไปบวชที่ธุดงคสถานล้านนา จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 100,000 บาท ทั้งนี้ผู้ที่สมัครบวชชีจะต้องถือศีลเป็นระยะเวลาสามเดือน การจ่ายเงินก็แบ่งเป็นงวดๆ โดยงวดแรกจ่ายครึ่งหนึ่งในวันทำสัญญาคือวันที่ 5 มกราคม 2542 ส่วนที่เหลือทยอยจ่ายกันเป็นรายเดือนจนกระทั้งวันสึกจึงจะจ่ายให้เป็นงวดสุดท้าย
"ผู้ที่สนใจจะสมัครบวชอุบาสิกากับทางวัดพระธรรมกาย จะต้องนำหลักฐานเป็นสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนำมามอบไว้กับนางวรรณาเป็นผู้รวบรวม ซึ่งตอนนี้ได้ปิดรับสมัครแล้วเพราะมีผู้สนใจมาสมัครมากกว่า 200 คนแล้ว โดยผู้สมัครส่วนใหญ่มีอายุประมาณตั้งแต่ 40- 62 ปี"
จากการสอบถามภรรยานายโก๋ ยามประจำหมู่บ้านเลิศอุบล ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่าเป็นนายหน้าด้วยคนหนึ่ง กล่าวว่าได้สมัครบวชชีกับทางวัดพระธรรมกายไปแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับเงินตอบแทนเลยจนถึงวันนี้ เพียงแต่พูดกันว่าจะได้รับในวันทำสัญญา โดยทางวัดจะพาไปทำสัญญาที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนกับสถานีตำรวจนครบาลสายไหม ทั้งนี้จะต้องเสียเงินให้กับทางตำรวจรายละ 5,000 บาทเป็นค่ารับรองและเป็นพยานในสัญญา
ด้านนางสอ ไม่ทราบนามสกุล อายุ 55 ปีกล่าวว่า เป็น 1 ใน 200 คนที่สมัครบวชชีครั้งนี้ และได้มอบสำเนาบัตรประชาชนกับทะเบียนบ้านให้นางวรรณาไปแล้ว รวมทั้งน้องสาวของตนเองอีก 2 คนด้วย ตอนนี้ก็เฝ้านับวันรอคอยวันทำสัญญา ซึ่งจะมีการพาไปทำสัญญาที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่ต้องเสียเงินให้ตำรวจรายละ 5,000 บาท แต่ไม่ทราบว่าเป็นค่าอะไรทราบเพียงว่าเงินที่จะต้องให้ตำรวจนี้ จะหักออกจากเงินที่จะได้รับจากการบวชชีครั้งนี้
"ตัวป้าเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ มีเพียงแต่เพื่อนบ้านในชุมชนพูดกันมากว่าทางวัดพระธรรมกายกำลังล้มสลาย เพราะมีมารดำมารขาวจ้างพวกหนังสือพิมพ์ลงข่าวล้มธรรมกาย จึงต้องมาระดมคนไปบวชชีมากๆ เพื่อให้เห็นว่ายังคงมีคนศรัทธาวัดอยู่เป็นจำนวนมาก ทางราชการจะได้กลังเกรงไม่กล้าทำอะไรกับวัด ลูกๆหลานๆก็เตือนว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายเพราะเป็นวัดที่ไม่สนใจคนจน แต่ตัวเองก็ตั้งใจจะบวชถือศิลอย่างจริงจัง ส่วนเงินที่ได้ก็จะได้ไว้ใช้จ่ายเป็นค่าเลี้ยงชีพต่อไป"
ด้านพ.ต.อ.ขจรศักดิ์ ปานสาคร ผกก.สน.บางเขน กล่าวว่า ยังไม่เคยมีใครมาแจ้งความถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแต่เท่าที่ฟังดูน่าจะมีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล หากจะมองว่ามีการหลอกลวงกันก็จะเป็นเรื่องแปลก เพราะเรื่องนี้คนถูกหลอกลวงได้เงินต่างจากคดีความที่เคยเกิดขึ้นคือผู้ถูกหลอกหมดตัว ถ้าจะมองว่ามีการนำเอกสารของประชา ชนไปใช้ในทางเสียหาย ก็เคยมีกรณีที่อยู่ดีๆต้องเป็นหนี้ค่าโทรศัพย์มือถือหลายแสนบาท อย่างไรก็ตามตำรวจคงไม่สามารถคาดเดาอะไรในตอนนี้ได้ ต้องรอจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2542 ตามที่ผู้สื่อข่าวแจ้งว่าจะมาทำสัญญากันที่โรงพัก
"เวลานี้สิ่งที่สามารถทำได้เป็นการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบและหาข่าวในพื้นที่ หากมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็จะได้ป้องกัน และจะได้ตรวจสอบกรณีที่อ้างว่ามีเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาให้ตำรวจ ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย แต่ถ้าจะมาเซ็นสัญญากันที่โรงพักทางตำรวจก็จะได้ดูแล คอยให้บริการชาวบ้านอย่างดีในข้อกฏหมาย ขอให้มาจริงจะรออยู่ที่สถานี"
ขณะเดียวกันพ.ต.ท.ถาวร ขาวสอาด รองผกก.หน.สน.สายไหม ซึ่งพาดพิงว่าจะมีส่วนหนึ่งขึ้นไปทำสัญ ญาที่โรงพักนี้กล่าวว่า กรณีที่ถูกพาดพิงถึงการรับเงินค่ารับรองพยานในการเซ็นสัญญาบวชชีนั้น เรื่องนี้ต้องขอความเป็นธรรมกับตำรวจด้วยเพราะไม่ได้ระบุชื่อนายตำรวจ แต่จะตรวจสอบภายในว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่ในความดูแลของสน.บางเขน จึงทำได้แต่ตรวจสอบภายในสถานีเท่านั้น
ด้านพระครูปลัดประสิทธิ ประสิทธิโก เจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยมธรรมกล่าวว่า ถึงวัดราษฎร์นิยมธรรมจะอยู่ใกล้เคียงกับชุมชนรวมใจสามัคคีก็ตาม แต่ไม่เคยมีแนวทางการดำเนินกิจสงฆ์ในลักษณะชักชวนให้คนมาบวช หากมีจิตศรัทธาที่จะบวชชีทางวัดจะมีการบวชกันปีละสามครั้งเท่านั้น คือบวชเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ อีกวันหนึ่งเป็นงานประ จำปีของวัดที่มักจัดในเดือนมีนาคมของทุกปี การจะมาบวชที่วัดนี้ต้องเสียเงินไม่มีทางได้เงินจากวัดแห่งนี้แน่
ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการในวันเดียวกัน นายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งที่ 1352/2541 แต่งตั้งกรรมการรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีวัดพระธรรมกายแล้ว โดยมีนายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน นายประพัฒน์ แสงวนิช กรรมการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยและนายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนาเป็นรองประธาน
สำหรับกรรมการนั้นประกอบด้วย ร.อ.อุส่าห์ ทุมมา เลขาธิการพุทธสมาคมฯ นายอนิรุทธิ์ ว่องวาณิช นายกยุวพุทธิกสมาคมฯ นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาฯ นายอุดม สุขสุวรรณ และนายยุทธชัย อุตมะ รองอธิบดีกรมการศาสนนายประพัฒน์พงษ์ เสนาฤทธิ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ นายสุทธิพงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ ผอ.พุทธมณฑล นายประทีป หงษ์โสภา ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี นายเชลียง เทียมสนิท นักกฎหมายกรมการศาสนา นายสำรวย สารัตน์ เลขาธิการมหาเถรสมาคม นายอำนาจ บัวศิริ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา นายประยูร รักยิ้ม หัวหน้าฝ่ายมหาเถรสมาคม มีนายสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ
นายอาคมกล่าวว่า ระยะเวลาในการดำเนินการของคณะกรรมการนั้นยังไม่ได้มีการกำหนด คาดว่าจะไม่เกิน 30 วัน อย่างไรก็ดีหากว่าคณะกรรมการได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากก็สามารถขยายเวลาได้ แต่ภายใน 30 วันควรจะแถลงความคืบหน้าให้ประชาชนทราบ
"การดำเนินงานก็เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายในเรื่องต่างๆ ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่มากขึ้น รวมทั้งประเด็นที่ว่ามีนักธุรกิจเข้าไปหาผลประโยชน์ในวัด มีการปลูกคอนโดมีเนียม นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นๆอีกเช่นการจัดพิมพ์เอกสาร ตัดเย็บเสื้อผ้าหรือแม้แต่อาหาร ทั้งหมดนี้เป็นช่องทางที่สามารถทำธุรกิจได้"
ภายหลังจากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯออกมา ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งนายอนิรุทธิ์ ว่องวาณิช นายกยุวพุทธิกสมาคมฯ เป็นกรรมการชุดนี้ เนื่องจากว่านายอนิรุทธิ์มีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะโครงการเมืองแก้วมณี ทำให้เชื่อกันว่าข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งอาจถูกบิดเบือนไปได้