เดลินิวส์ 19/8/2542
พระพรหมโมลีเล่นกลล้มนิคหกรรม 'สมศักดิ์'ช็อกเจ้าคณะปทุมคืนข้อกล่าวหา
ชาวพุทธทั่วประเทศ ถูกตุ๋นคดีฟ้องร้อง"ไชยบูลย์"ตามกระบวนการสงฆ์ล้ม!!!เจออิทธิฤทธิ์พระพรหมโมลี พลิกแง่มุม กฎนิคห กรรม จนความชาว บ้าน ฟ้องไม่ได้ แม้มหาเถรฯ จะลงมติภายหลัง เจ้าคณะปทุมฯ ยืนยัน มีคำสั่งเป็น ลาย ลักษณ์อักษรให้ถอนคำฟ้องทั้งหมด ต้องเดินตาม ของเดิม "สมศักดิ์" งงเป็นไก่ตาแตก ขนาด ส่งอธิบดี กรมการศาสนาบุกถึงวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 ก็ไม่ยอมเลิกคำสั่งเดิม อ้างทุกอย่างมอบ ให้ พระสุเมธาภรณ์ จัดการไปแล้ว "สมพร" ประกาศ เลิกไว้ใจพระ เหลือที่พึ่งสุดท้ายให้ตำรวจสะสาง เตรียมตั้ง ข้อหาเพิ่มอีก พบหนังสือพระ ดูดทรัพย์เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เคยมีคำพิพากษา ศาลสูงจำคุกมาแล้ว
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ เพื่อพิจารณากรณีปัญหาวัดพระธรรมกาย โดยเชิญหน่วยงาน ด้านการข่าว ทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจสันติบาล ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ตัวแทนจากกรมการศาสนา และกรมที่ดินมาประชุมร่วมด้วย
นายอำนวย สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษา กรรมาธิการฯเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้ขอให้หน่วยงานด้าน การข่าวให้ความร่วมมือและประสานงานกับ พนักงานสอบ สวนคดีวัดพระ ธรรมกายมากขึ้น เพื่อให้ผลการสอบสวน มีศักยภาพและรวดเร็ว นอกจากนั้นยังขอให้หน่วยฝ่ายข่าวติดตาม สิ่งพิพม์ที่บิดเบือน และกระจาย ไปตามวัดต่าง ๆ โดยเกรงว่าอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
"ฝ่ายข่าวแนะนำให้กรรมาธิการแยกชี้แจงเป็นรายประเด็น โดยกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งพิมพ์ที่ออกมา มีทั้ง หนังสือพิมพ์ที่จดทะเบียนถูกต้อง กับสิ่งพิมพ์เถื่อน เป็นใบ แทรก แจกจ่ายในวัดพระธรรมกาย และตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่รู้มาจากใคร และเรื่องนี้หน่วยข่าวติดตามตลอด ถ้าจัดการได้คงทำ และเชื่อว่าในเร็ว ๆ นี้จะจัดการ กับปัญหา ธรรมกายได้ด้วยอำนาจทางกฎหมาย เพราะตอนนี้มันถึงที่สุดแล้ว"
นายอำนวยกล่าวอีกว่า นายวิเชียร รัตนพีรพงษ์ อธิบดีกรมที่ดิน ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบ ที่ดินของวัดพระธรรมกาย มาเพิ่มให้อีก รวมทั้งรายชื่อ ของผู้ที่ลงนามว่า ได้ลงเงินซื้อที่ดินให้นายไชยบูลย์เป็นการส่วนตัว 49 คน ที่เคยเสนอพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รมว.มหาดไทย
ด้านนายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ รองอธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า กรมการศาสนาจะประสาน งานกับกรรมาธิการฯเพื่อชี้แจงข้อมูลให้พระเถระ ส่วนกรณีที่ มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติขอการอารักขาด้วยนั้น นายสุทธิวงศ์กล่าวว่า เป็นการขอไว้ล่วงหน้า เช่นสมมุติคณะสงฆ์ตัดสินธรรมกายมีความผิด ก็ต้องขอให ้ตำรวจดำเนินการ หรือถ้าฝ่าย พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จะเรียกมารับฟังข้อกล่าวหา ก็สามารถขอให้ตำรวจมาดูแล ความสงบ เรียบร้อย หากเกรงว่าจะมีมวลชนจำนวนมาก
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ในวันนี้กรรมาธิ การได้พิจารณาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เสนอข่าวบิดเบือน ป้ายสีบุคคลต่าง ๆ ในวงการพุทธ ที่ออกมาเรียกร้องให้สะสาง ปัญหาธรรมกาย โดยการเสนอข่าวนี้เพื่อจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง และแตกแยก อันเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ขณะเดียวกันที่กองปราบปราม ได้มีการประชุมพนักงานสอบสวนโดยมีพล.ต.ท.วาสนา เพิ่มลาภ ผบช.สง.ก.ตร. เพื่อสรุปคดี ทั้งหมดที่กรมการศาสนาแจ้งความไว้ โดยเป็นการตรวจสอบพยานหลักฐาน และเอกสารทั้งหมดที่ได้รวบรวมไว้ ว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องบ้าง และพบว่าบางข้อกล่าวหาสมบูรณ์ แต่บางข้อกล่าวหา ยังไม่น่าจะรีบสรุป โดยจะใช้เวลา ประมวลข้อมูลอีกภายในสิ้นสัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการ ก่อนส่งไปให้ปลัดกระทรวง มหาดไทย ลงนามสั่งการในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป
สำหรับคดีที่ต้องลงในรายละเอียด อีกก็คือการยักยอกทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากระแสเงินสด ของนายไชยบูลย์ โอนเงินไปยังบัญชีสีกาหลายคน มีจุดประสงค์ทำอะไร บางรายได้สอบปากคำแล้ว และให้การขัดแย้งกับหลักฐานที่พนักงานสอบสวนมีอยู่ในมือ และทำให้พนักงานสอบสวนเลือกดำเนินคดี กับผู้เกี่ยว ข้องเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น
ส่วนการสอบปากคำนายผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ศิษย์เอกวัดพระธรรมกายเดินทางมาให้ปากคำเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมานานกว่า 8 ชั่วโมง นายผ่องยืนยันเป็น ผู้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธานำเงินไปมอบให้นายถาวร พรหมถาวร ซื้อที่ดิน จ.เพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่าเหมาะกับการปฏิบัติ ธรรม และจากการ สอบสวนส่วนใหญ่ ผู้ร่วมซื้อที่ดินเป็นผู้มีฐานะ มีการใช้เงินในการซื้อที่ดินกว่า 30 ล้านบาท โดยนายผ่องยืนยันไม่เกี่ยวกับเงินวัด
รายงานล่าสุดระบุว่าพนักงาน สอบสวนลงความเห็นร่วมกันว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายไชยบูลย์นั้น ทั้ง 3 ข้อกล่าวหาที่กรมการศาสนาแจ้งมา คือเป็นแจ้งความเท็จ, เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นพนัก งานยักยอกทรัพย์ เป็นคดีมีมูล และจะต้องถูกดำเนินคดี โดยจะมีการเสนอ ผู้บังคับบัญชา เพื่อออกหมายเรียกตัว นายไชยบูลย์มารับทราบข้อกล่าวหา
ส่วนสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติออก มาตอบโต้สื่อของวัดพระธรรมกาย เขียนโดย ดร.เบญจ์ บาระกุล โดยมีใจความระบุว่า สำนัก งานตำรวจแห่งชาติ มีฐานะเป็น เพียงหน่วยงานหนึ่งในสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี มิใช่กรม ตำรวจที่สังกัด กระทรวงมหาดไทย ทำให้ขาดอำนาจออกหมายเรียก สืบสวน สอบสวนและจับกุม ผู้หนึ่งผู้ใดได้ตาม ป.วิอาญา คณะทำงานของ พล.ต.ท. วาสนา จึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีกับนายไชยบูลย์ และพระทัตตชีโว ได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ เรื่องดังกล่าว พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ รอง ผบช. ตร.ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าข้อเขียนทั้งหมดผิดข้อเท็จจริง
สาเหตุเพราะใน พ.ร.ก.โอนกรมตำรวจนั้น ระบุให้โอนทั้งอำนาจหน้าที่และบุคลากร รวมทั้งงบประมาณของกรมตำรวจ ให้ไปเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งหมดและโอนจากสังกัด กระทรวงมหาดไทย ไปขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรี ไม่ใช่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงาน ที่มีลักษณะ เช่นเดียวกันกับ สำนักงานอัยการสูงสุด
"กฎหมายโอน อำนาจหน้าที่ชัดเจน เช่นเดียวกับอัยการสูงสุดที่โอนกรมอัยการ มาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด หากคิดดังที่เจ้าของ บทความระบุ พนักงานอัยการ ปัจจุบันคงไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของกรมอัยการ ใน ป.วิอาญาไม่มีการเอ่ยถึงชื่อ ผบ.ตร.เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โอนโดยกฎหมายอื่น เช่นเดียวกับ ตำแหน่งอัยการสูงสุด เป็นการเข้าใจผิดของผู้เขียนบทความ การพูดหรือเขียนในลักษณะนี้ใครก็สามารถกระทำได้ แต่เป็นการเขียน ที่อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจผิดในแง่มุมของกฎหมาย"
ผู้สื่อข่าวรายงานมาด้วยว่า ตาม พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 33 ระบุชื่อส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม แต่ไม่สังกัดสำนักนายกฯ กระทรวงหรือทบวง เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทั้งสิ้น 6 ส่วน ประกอบด้วย ราชบัณฑิตยสถาน สำนักพระราช วัง สำนักราชเลขาธิการ สำนักตรวจเงินแผ่นดิน สำนักเลขาธิการรัฐสภา และสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมาตรา 40 ระบุว่า "กระทรวง ทบวง กรม หรือข้าราชการซึ่งได้รับโอน อำนาจหน้าที่ หรือต้องใช้ชื่อตำแหน่งใหม่ ตามบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ยังคงมีอำนาจหน้าที่ที่ได้รับโอน หรือมีชื่อตาม ตำแหน่งใหม่ต่อไป
เมื่อเวลา 18.30 น. ของวันเดียวกัน นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา เดินทางไปพบพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี หลังจากที่นายพิภพไป พบพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 มาแล้ว
นายพิภพใช้เวลาหารือ อย่างเคร่งเครียดนานเกือบชั่วโมง จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่าเดินทางมาเพื่อบอกเจ้าคณะจังหวัด ให้เร่งดำเนินการตามกฎนิคหกรรม เพราะได้ไปหา พระพรหมโมลี และพระพรหมโมลีบอกมาว่าเรื่องต่าง ๆ ให้เจ้าคณะดำเนินการเพราะหนังสือต่าง ๆ ได้ส่งมาแล้ว จากนั้นนายพิภพ เดินทางกลับ ทันที
ผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์พระสุเมธาภรณ์ โดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่า อธิบดีกรมการศาสนา ได้มาเร่งเร้า ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับฟังข้อกล่าวหา แต่เรื่องต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อวันที่ 11 ส.ค. พระพหรมโมลี เรียกประชุมคณะผู้พิจารณาชั้นต้น มีอาตมา และรองเจ้าคณะภาค 1 และมีมติเป็น ลายลักษณ์อักษร มาให้อาตมาว่าฆราวาสจะฟ้องสงฆ์ไม่ได้
จากนั้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายวิชัย ตันศิริ รมช.ศึกษาธิการ ไปพบพระพรหมโมลี และก็ได้รับคำตอบว่าฆราวาสฟ้องได้ แต่พระสุเมธาภรณ์กล่าวว่า ไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำอะไรไม่ได้อีก
"จะให้อาตมา ทำอย่างไร ปัญหาต่าง ๆ พระพรหมโมลี มีมติและคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้อาตมา ต้องทำหนังสือเรียกโจทก์ มารับข้อกล่าวหา คืนอย่างเดียว ถ้าไม่มีหนังสือคำสั่งอื่นจากพระพรหมโมลีมาอีก ขั้นตอนต่อไปก็คือผู้กล่าวหาต้องอุทธรณ์ต่อพระพรหมโมลีต่อไป"
สุดท้าย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ถึงแม้มหาเถรฯมีมติออกมาฆราวาสฟ้องได้ แต่เป็นมติหลังจากพระพรหมโมลีมีคำสั่งมาแล้ว จึงไม่มีผลย้อนหลัง โดยพระสุเมธาภรณ์ กล่าวว่า หากไม่ทำตามคำสั่งพระพรหมโมลี จะถูกหาว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จะโดนถอดถอนได้ และจะให้นายมาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญ พิเศษ กรมการศาสนา และนายสมพร เทพสิทธา ประธานยุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติผู้กล่าวหาทั้ง 2 คน มารับข้อกล่าวหาคืน ในวันที่ 19 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงเย็นของวันเดียวกัน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว. ศึกษาธิการ มีท่าทีกระวนกระวายใจเพราะต้องการรู้คำตอบ จากนายพิภพหลัง จากเข้าไปพบพระพรหมโมลี ซึ่งไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งเวลา 20.10 น. นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนได้รับรายงาน อย่างไม่เป็น ทางการจากนายพิภพแล้วว่า ได้เข้าพบพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 และพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีแล้ว และพระพรหมโมลี แจ้ง ให้ทราบว่า ได้มอบเรื่องให้เจ้าคณะ จังหวัดปทุมธานีไปดำเนินการได้เลย พร้อมกับบอกว่าคฤหัสถ์สามารถฟ้องพระภิกษุได้ แต่ในกรณีนี้ผู้ที่มากล่าวหาไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนั้น คงไม่สามารถ รับข้อกล่าวหาได้
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็จะขอรอรายงานอย่างเป็นทางการอีกครั้งจากอธิบดีกรมการศาสนา หลังจากนั้นจะเชิญคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาแก้ปัญหา วัดพระธรรมกาย รวมทั้งจะเชิญที่ปรึกษาด้านศาสนามาหารือเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหานี้ต่อไป
"เรื่องนี้ช็อกทั้งประเทศ ช็อกความรู้สึก เหมือนไก่ตาแตก จะเรียกประชุมคณะทำงานในวันที่ 19 ส.ค.นี้ เป็นเรื่องของพระ ไม่รู้จะว่าอย่างไร กรุงศรีอยุธยาแตก ไม่ใช่พม่า เพราะคนในกรุงศรีอยุธยาเอง"
รายงานข่าว จากกรมการศาสนาแจ้งว่า การตรวจสอบหนังสือ "อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ" ของวัดพระธรรมกาย จำนวน 23 เล่ม ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม ส่งให้กรม การศาสนาตรวจสอบว่าเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน และสามารถจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้หรือไม่นั้น ทางกรมการ ศาสนา ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นตรวจสอบ และสรุปว่า เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนจริง เนื้อหาในหนังสือไม่ตรงตามหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่อ้างว่า พระมหา สิริราชธาตุจะทำให้ร่ำรวยได้
ผลการตรวจสอบยังได้อ้างถึง คำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาลงโทษผู้ที่ตั้งตนเป็นเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หลอกลวง เอาทรัพย์สินจากประชาชน ซึ่งมีความผิดตาม ประมวล กฎหมายอาญาหมวด 3 ว่าด้วยความผิดฐานฉ้อโกง มาตรา 343 ที่ระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ซึ่งได้กระทำด้วยการ แสดงข้อความ อันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วย การปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับมาตรา 341 ระบุว่า ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวง ดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอก ลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ์ ผู้นั้นกระทำ ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นายพิภพลงนามรับทราบผลการตรวจสอบดังกล่าว และได้มอบให้นายเชลียง เทียมสนิท หัวหน้าฝ่ายนิติกร นำผลการตรวจสอบไปมอบ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กองปราบปรามในวันที่ 19 ส.ค.นี้ แต่ทางกรม การศาสนาอาจจะไม่เป็นผู้กล่าวหาในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเอง เพราะเคยทำหนังสือถึง กองปราบปรามแล้วว่า หากพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจาก 3 ข้อที่กรมการศาสนาแจ้งความไว้ ให้พนักงานสอบสวนตั้งข้อหา เพิ่มเติมได้เองโดย กรมการศาสนาเห็นชอบด้วย
นอกจากนั้น จากการสอบสวน ของพนักงานสอบสวนพบว่ามีหลักฐานสามารถตั้งข้อกล่าวหานายไชยบูลย์เพิ่มได้อีก 1 ข้อ คือความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 151 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งทุจริตอันเป็นการเสียหายต่อรัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 40,000 บาท ข้อกล่าวหาใหม่นี้สืบเนื่อง มาจากการสอบสวน พบหลักฐานการใช้จ่ายเงินของนายไชยบูลย์ไปในทางไม่ถูกต้องหลายรายการ โดยเฉพาะการนำเงิน ไปลงทุนในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ แต่รายละเอียด ของข้อกล่าวหาทางตำรวจยังคงปิดเป็นความลับ และจะแจ้งข้อกล่าวหานี้หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาอื่น ๆ แล้ว
ทางด้านนายสมพร เทพสิทธา ผู้ยื่นฟ้อง นายไชยบูลย์กล่าวว่า พระสุเมธาภรณ์มีหนังสือลงวันที่ 13 ส.ค. ให้ไปพบ ที่วัดมูลจินดาราม ในวันที่ 19 ส.ค. เวลา 15.00 น. และไม่ทราบว่าให้ไปพบเรื่องอะไร และเพิ่งมาถึงความจริงในวันนี้ แต่ก็ไม่น่าเชื่อจะเป็นไปได้ ไม่เข้าใจเล่นเกมอะไร พระเล่นแง่หรือเปล่า ถ้าร่วมมือกันอย่างนี้ ไม่สามารถไว้ใจพระได้แล้ว ต้องแก้ไขกฎหมายสงฆ์เพราะเห็นแล้วว่าช่วยกัน ประชาชนจะได้รู้พฤติกรรมของพระเป็นอย่างไร ทำไมมหาเถรฯมีมติแล้ว เจ้าคณะ ภาค 1 ถึงไม่ดำเนินการ ไม่ควรให้พระฝ่ายปกครองมายุ่งกับฝ่ายกฎหมาย น่าจะมีพระวินัยธรได้ ขอดูหนังสือชี้แจงก่อน แต่เชื่อใจรมว.ศึกษาธิ การคนนี้เอาแน่ ยิ่งเล่นเกมยิ่งสู้
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าว เปิดเผยว่ามีพระชั้นในของวัดพระธรรมกายหลายรูป เดินทางไปพบพระเถระรูปสำคัญบางรูป จากนั้นเดินทางกลับวัด และมีการเปล่งเสียง ไชโยกันลั่นวัดเมื่อรับทราบข้อมูลจากพระเถระรูปนั้น