เดลินิวส์ 24/12/12541

ให้สอบบริษัทพัวพันวัดธรรมกาย

สั่งสอบบริษัทธุรกิจ"สีกาอี๊ด"ส่อเค้าเกี่ยวพันวัดพระธรรมกาาย ที่อาจโยงใยกัน เตรียมให้อธิบดีกรมที่ดิน
ตรวจโฉนดทั่วประเทศที่พระผู้ใหญ่ในวัดไปกว้านซื้อ สะสางโยงใยธุรกิจ เค้นหาเงินไหลเข้า-ออกเกี่ยวพันกับใคร
ก่อนเสนอมหาเถรฯ ตัดสิน ตั้งประเด็นถ้าเอาเงินไปใช้ผิดประเภทมีสิทธิติดคุก เผยบรรยากาศภายในวัดเริ่ม
เงียบเหงา แถมมียามดูแลเพิ่มมากขึ้น ระบุยังมีผู้มาติดต่อขอเงินคืนเช่นเดิม สามล้อสงขลาเจอพิษธรรมกาย
ถีบรถรับคนเท่าไหร่เมียเอาไปทำบุญหมด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมี
นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี พรรคความหวังใหม่ ประธาน คณะกรรมาธิการฯเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่อง
ปัญหาวัดพระธรรมกายตามที่มีผู้ยื่นญัตติมา ซึ่งได้เชิญนายยุทธชัย อุตมะ รองอธิบดีกรมการศาสนาและ นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก
ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์มาให้ข้อมูล การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุมนายเด่นกล่าวว่า รองอธิบดีกรมการศาสนาได้ชี้แจงในเรื่องหลักคำสอนของวัดพระธรรมกายว่าขณะ
นี้ทางกรมการศาสนากำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ว่าผิดหลักพุทธศาสนาหรือไม่ โดยได้มีการนำตำราจำนวน 111 เล่มที่รวบรวมไว้มาประกอบการพิจารณา ส่วนเรื่องที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายถือครองที่ดินใน
โฉนดที่ดินที่เป็นของวัดนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งนี้รองอธิบดีกรมการศาสนาระบุว่านายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความเป็นห่วงมาก จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาอีก 1 ชุดเป็นการส่วนตัวเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในอีกทางหนึ่ง
ด้านนายอรรถสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคความหวังใหม่ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯกล่าวว่า นายเสฐียรพงษ์
ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 2 แนวทางเพื่อให้คณะกรรมา ธิการฯได้นำไปศึกษาต่อไปคือ
1. หลักปฏิบัติของวัดพระธรรมกายที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้บิดเบือนไปจากหลักของพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะมีบางอย่างที่ปฏิบัติเป็นสิ่งน่าห่วงใยว่าจะไม่ตรงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา
2.การระดมทุนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆของวัด โดยไม่มีการแถลงที่ชัดเจนว่านำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ทำอะไรบ้าง
และใครเป็นผู้ดูแล ซึ่งทั้ง 2 ข้อสังเกตนี้กรรมา ธิการฯ ได้ฝากให้กรมการศาสนาไปตรวจสอบและแก้ไขต่อไป
นายอรรถสิทธิ์กล่าวว่า ในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 ม.ค. 2542 ทางกรรมาธิการฯ จะได้เชิญ นายนรวัฒน์ สุวรรณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลกรณีที่วัดพระธรรมกายมีการดำเนิน
การในรูปแบบธุรกิจจดทะเบียนบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัท เพื่อทราบการเข้า-ออกของเงินในบริษัทเหล่านี้ว่ามีการ
ดำเนินการอย่างไรมีใครเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง รวมทั้งจะเชิญนายวิเชียร รัตนพีรพงษ์ อธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย มาให้ข้อมูลกรณีที่มีการใช้ชื่อของพระผู้ใหญ่บางรูปในวัดพระธรรมกายในเรื่องโฉนดที่ดิน
"วัดเป็นนิติบุคคล ทำไมถึงไม่ใส่ชื่อวัดในโฉนดที่ดินเหล่านั้น หากว่าจะนำมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของวัด
นอกจากนี้เรายังจะเชิญตัวแทนของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
จะได้ทราบว่าได้ศึกษาเรื่องนี้ไปอย่างไรบ้างแล้ว จากนั้นในสัปดาห์ต่อไปก็จะเชิญตัวแทนของวัดพระธรรมกายมาชี้แจง
ข้อเท็จจริงด้วย"
นายอำนวย สุวรรณคีรี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ต้องทำเรื่องการถือครองที่ดินของวัดให้ชัดเจน
เพราะไม่ควรใส่ชื่อพระผู้ใหญ่ในโฉนดที่ดิน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้บริจาคด้วย และสิ่งที่อยากให้เกิด
ความชัดเจนที่สุดอีกเรื่องก็คือเรื่องของการตั้งบริษัทเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่หลายบริษัท วัดนี้มีนักธุรกิจ
เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบจากกรมทะเบียนการค้าอีกครั้ง
รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการการศาสนาเปิดเผยเพิ่มเติมว่านายเสฐียรพงษ์เสนอปัญหาวัดพระธรรมกายในประเด็น
เรื่องคำสอนของวัดผิดเพี้ยนหลักศาสนานั้นได้มีการยกคำสอนของวัดพระธรรมกายที่ว่าการภาวนาและบรรลุธรรมนั้นจะต้อง
นั่งเพ่งจนเห็นพระพุทธรูป และถ้าเพ่งให้พระพุทธรูปขยายใหญ่ขึ้นเท่าใดก็บรรลุธรรมสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าแน่หรือ นอกจากนั้นยังมีการสอนว่านิพพานเป็นสถานที่ และมีพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไปอยู่รวมกันนั้นมีจริงหรือไม่ในศาสนาพุทธ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่วัดพระธรรมกายมีวิธีการสอนคนว่าถ้าให้เจ้าอาวาสคือพระธัมมฺชโย "อัด" วิชชาธรรมกายให้ แม้ว่าจะไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็สามารถบรรลุธรรมได้ ซึ่งมีการนำคนมากมายไป "อัด" วิชากัน
นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงหลวงพ่อสด จันทฺสโร หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้คิดค้นวิชชาธรรมกายด้วยว่าในช่วงปลายชีวิต ได้พบการสอนดังกล่าวไม่ถูกต้อง และตีบตัน ไม่ก้าวหน้า จนต้องไปขอให้อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา วัดมหาธาตุ ช่วยแก้ไขให้ และก็มีลายมือของหลวงพ่อสดที่ให้ไว้เป็นหลักฐานว่าการปฏิบัติกรรมฐานของวัดมหาธาตุถูกต้องตามหลักที่สุด รวมถึงมีข้อมูลไม่ยืนยันว่าหลวงพ่อสดก็รู้ว่าการปฏิบัติไม่ถูกแต่ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีผู้เชื่อถือมาก แต่หลวงพ่อสดถือเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะต้องการหลุดพ้น และไม่ได้มีผลประโยชน์ใด ๆ ในชีวิต
วัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายก็ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากพระธัมมฺชโย ไม่ได้เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสด แต่เป็นลูกศิษย์แม่ชีจันทร์ ซึ่งแม่ชีจันทร์ก็ไปเรียนวิชชามาจากแม่ชีอีกรูป แต่วัดพระธรรมกายพยายามดึงเอาหลวงพ่อสดมาเกี่ยวข้อง และทำให้เกิดจุดขาย โดยให้คนนั่งเพ่งลูกแก้ว และเข้าใจว่าบรรลุธรรมแล้ว ทำให้กิดการทำบุญ และการขายบุญ
จุดที่สำคัญอีกประการคือวัดพระธรรมกายจัดทำโครงการอภิญญาแรกแย้ม โดยนำเด็กสาววัยรุ่นมาปฏิบัติธรรม และพรากจากพ่อแม่เด็ก โดยไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถูกต้องหรือไม่ตามหลักมนุษยธรรม และเอาไปรับเป็นบุตรบุญธรรมถือว่าขัดกับกฎของมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระรับบุตรบุญธรรม
ส่วนเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัดมีทั้งเรื่องการซื้อที่ดิน การทำธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำโครงการเช่นหล่อพระทองคำหลวงพ่อสดหนัก 1 ตัน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ถึง ซึ่งกรรมาธิการฯ สามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้เช่นการสอบโฉนดที่ดินทั้งหมดและบริษัทธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยว ข้อง รวมถึงต้องพิจารณาฐานะของเจ้าอาวาสด้วยว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และถ้าทำผิดเช่นเอาเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้หรือไม่ โดยเงินที่บริจาคต้องมีวัตถุประสงค์ การใช้จ่ายโดยเฉพาะถ้าเป็นมูลนิธิ
"กรรมาธิการฯ สนใจเรื่องดังกล่าว และจะมีการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเสนอให้มหา เถรสมาคมต่อไป เนื่องจากมหาเถรสมาคมคงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้ เหมือนกับกรณีพระยันตระ ที่แรก ๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ แต่เมื่อมีการหาข้อมูลเสนอมหาเถรสมาคมจนกระจ่าง ก็สามารถดำเนินการได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่านายเสฐียรพงษ์ได้มอบเอกสารให้กรรมาธิการฯ เป็นรายชื่อบริษัท ต่าง ๆ ที่สีกาอี๊ดมีชื่อถือหุ้นในฐานะกรรมการบริษัทให้พิจารณาตรวจสอบด้วย โดยที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าสีกาอี๊ดผู้นี้เป็นผู้ใกล้ชิดกับ
พระธัมมฺชโย และมีธุรกิจหลายประเภททำให้เกิดข้อสงสัยอาจเป็นเครือข่ายของวัดเพื่อระดมทุน
สำหรับธุรกิจที่สีกาอี๊ดเป็นกรรมการเท่าที่ตรวจพบในธุรกิจที่ดินตั้งที่ จ.เชียงใหม่ ที่เหลืออยู่กรุงเทพฯ และทำธุรกิจขายเครื่องใช้บุรุษและสตรี
ธุรกิจอีกสายที่สงสัยมีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน มีทำธุรกิจค้าขายอัญมณีทั้งส่งออกและนำเข้า, ธุรกิจโรงรับจำนำ
นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่เป็นชื่อของพระธัมมฺชโยอีก 47 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา ที่ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์-โฉนดเลขที่ 5140
นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อ คณะกรรมการศึกษากรณีปัญหาของวัดพระธรรมกายจำนวน 19 คนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ และได้เสนอต่อนายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ปลัดกระทรวงศึกษาฯเพื่อเสนอต่อไปยังนายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาฯลงนามแต่งตั้งต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง
นายสุวัฒน์กล่าวด้วยว่า ในวันเดียวกัน นี้มีเจ้าหน้าที่จากวัดพระธรรมกายจำนวน 4 คนเดินทางมาพบเพื่ออวยพรปีใหม่และได้สอบถามเกี่ยวกับข่าวของวัดพระธรรมกายในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็ได้บอกไปว่าทุกอย่างทำตามหน้าที่ที่ต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไป
ด้าน นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ปลัดกระทรวงศึกษาฯ เปิดเผยว่า ได้รับรายชื่อคณะกรรมการฯจากนายสุวัฒน์แล้ว จากนี้ก็จะนำเสนอต่อนาย อาคมพิจารณาลงนามแต่งตั้งก่อนจะดำเนินการศึกษาข้อมูลและรายละเอียดกรณีของวัดพระธรรมกายต่อไป
ส่วนความเคลื่อนไหวที่วัดพระธรรมกายนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศของวัดค่อนข้างเงียบมีญาติธรรมเข้าไปทำบุญไม่ถึง 50 คน ซึ่งการเข้าออกวัดเวลานี้ค่อนข้างจะเข้มงวดกว่าที่ผ่านมา มียามรักษาการณ์มากขึ้นและมีการนำแผงกั้นมากั้นขวางไว้พร้อมกับมีข้อความว่า ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้จากการสังเกตการณ์พบว่า ยังมีญาติธรรมส่วนหนึ่งที่เคยบริจาคเงินทำบุญกับวัดพระธรรมกายได้มาขอรับเงินคืนด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ของวัดจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ก็ตามที
ในวันเดียวกันที่จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 10.00 น. นายวิริยะ พร้อมพงศ์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96/77 หมู่ที่ 2 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เข้ามาร้องทุกข์ที่ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ว่า ครอบครัวได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของวัดพระธรรมกาย จนทำให้เกิดความแตกแยกในครอบครัว
นายวิริยะกล่าวว่า มีอาชีพขับรถสามล้อ โดยมีภรรยาชื่อนางสิริพร อยู่กินกันมานานจนมีลูกด้วยกัน 3 คน ก่อนหน้านี้ครอบครัวมีความสุขมากเพราะต่างคนต่างช่วยกันทำงานหารายได้ กระทั่งสามารถผ่อนบ้านเดือนละ 5,000 บาทได้ ต่อมาไม่นานนางสิริพรก็ถูกชักชวนให้ไปทำบุญที่วัดพระธรรมกาย หลังจากนั้นนางสิริพรก็เดินทางไปทำบุญที่วัดนี้บ่อยครั้งขึ้นเฉพาะในปี 2541 เดินทางไปบริจาคเงินให้วัดถึง 7 ครั้ง ๆ ละ 10,000 บาท
"ผมพยายามเตือนหลายครั้งแต่นางสิริพรก็ไม่ฟัง บอกเพียงว่าทำบุญกับวัดนี้ต้องใช้เงินทำบุญให้มาก ๆ จะได้บุญเยอะ ๆ และเท่าที่ฟังทางโทรศัพท์เวลาที่เจ้าหน้าที่จากวัดพระธรรมกายโทรศัพท์มาหาก็จะได้ยินในเรื่องของการให้ไปหา สมาชิกมาเพิ่ม หลังจากนั้นก็มีปากเสียงกันรุนแรงเรื่อยมา จนที่สุดก็ได้ตกลงแยกทางกัน"
นายวิริยะกล่าวด้วยว่า ที่มาร้องเรียนครั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบ ครัวตนเอง และต้องการให้ทราบด้วยว่าวัดพระ ธรรมกายมีวิธีหาเงินอย่างไร ทั้งยังไม่สนใจด้วยว่าการดำเนินการลักษณะนั้นจะทำให้ครอบครัวชาวบ้านเกิดความแตกแยก.