เดลินิวส์ 4/7/2542
เช็กเงิน'ไชยบูลย์'ตร.ตามดมกลิ่นตุตุ ขนสิบล้านไปซื้อที่ดินบางแปลง
กองปราบฯ ดมกลิ่นต่อตรวจบัญชีเงินฝากเดียรถีย์จับตากระแสเงินเข้า-ออก หลังได้ข้อมูลชัด ที่ดินในเมือง บางแปลง ไม่ใช่บริจาค แต่ขนเงินนับสิบ ๆ ล้านไปซื้อมา พลิกเกมกฎหมายเข้าข่ายยักยอกทรัพย์ "วาสนา" มั่นใจ กลางเดือนนี้ รู้หมู่หรือจ่า ตัดคดีโกงภาษีให้สรรพากร-กรมที่ดินไปเล่นงานเอง ระบุ ต้องสอบปากคำ เพิ่ม ให้ได้หลักฐาน มัดตราสัง ชาวพุทธไล่ เจ้าสำนักธรรมกายออกไปตั้งนิกายใหม่ จี้ให้รัฐบาลลงมาจัดการได้แล้ว
คดีการสอบสวน เล่นงานพระปลอม "นายไชยบูลย์ สุทธิผล" เจ้าสำนักธรรมกาย ที่ต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว ตามลายพระหัตถ์ สมเด็จพระสังฆราช ขมวดปมเข้าไปทุกขณะ โดยพนักงานสอบสวนเร่งสอบหาหลักฐานเพิ่ม เพื่อจะสรุปสำนวน ได้กลางเดือนนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วาสนา เพิ่มลาภ ผบช.ส.ก.ตร. หัวหน้าชุดสอบสวนคดีดังกล่าว กล่าวว่า ตำรวจ ต้องสอบพยานอีกมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลมากสุดเพื่อประกอบการตัดสินใจของเจ้าพนักงานสอบสวนชี้ความผิดตามข้อกล่าวหา หรือไม่ผิด
"ยังมีพยาน อีกหลายคน ทั้งพยานบุคคล และเอกสาร เราเร่งให้เร็วสุดทำไม่หยุด แม้กระทั่งเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องทำ บอกตรง ๆ คดีเรื่องพระเรื่องเจ้า ทุกอย่างต้องให้มันแน่นอน เพราะการตัด สินใจอะไรลงไปมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน การทำงาน ตำรวจเป็นอิสระ ไม่มีใครมากดดัน ขอยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และคงใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์เศษ ๆ ถึงจะรู้ผลแน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราได้สอบปากคำ นายชาญวิทย์ เปรมกมล นักธรณีวิทยา ที่ขายที่ดินที่พิจิตร เป็นประโยชน์มาก"
สำหรับข้อมูลอื่น ๆ ที่ทีมงานได้พบมา บางเรื่องจะไม่เข้าไปทำ และให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องจัดการเอง อาทิ เรื่องการเลี่ยงภาษีโดยซื้อที่ ดินราคาสูง แต่แจ้งเสียภาษีราคาต่ำ คงให้กรมที่ ดินกับกรมสรรพากรไปพิจารณา รายงานข่าวจากทีมงานพนักงานสอบ สวนเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตำรวจขยายผลไปสอบสวนเกี่ยวกับที่มาของเงินที่นายไชยบูลย์ใช้ไปในการซื้อ-ขายที่ดินด้วย เนื่องจากมีหลักฐาน ชัดเจนแล้วว่าที่ดินที่นายไชยบูลย์ซื้อมาไม่ใช่การบริจาคทั้งหมดเหมือนกับที่ได้อ้างมาตลอด โดยเฉพาะที่ดินที่จ.พิจิตร นายชาญวิทย์ ให้การว่ามีการโอนเงินผ่านธนาคารให้ผ่านธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาท่าแพ เมื่อต้นเดือนก.ค. 2534 งวดแรก 3 ล้านบาทและงวดหลัง 7 ล้านบาท
เดิมทีกรมการศาสนา ยื่นฟ้องนายไชยบูลย์ 3 ข้อหา คือการแจ้งความเท็จ, การเป็นเจ้าพนัก งานและยักยอกทรัพย์ และการเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต การสอบสวนจะมีการหาข้อเท็จจริงเพื่อมาพิจารณาว่านายไชยบูลย์กระทำผิดเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และอาจจะไม่ตรงกับที่ กรมการศาสนาแจ้งไว้ก็ได้ เช่น การยักยอกทรัพย์ กรมการศาสนา กล่าวหาว่านายไชยบูลย์ ยักยอกเอาที่ดิน ซึ่งมีผู้บริจาคให้วัดเป็นของตัวเอง แต่ข้อมูลที่ได้ก็คือมีการนำเงินไปซื้อ-ขายที่ดิน ไม่ใช่ยักยอกที่ดินที่บริจาคมาแล้ว ขั้นตอนจึงต้อง ล่าช้าออกไปเพราะต้องไปพิสูจน์ว่าเงินที่เอาไปซื้อ-ขายที่ดินมาจากไหน และเข้าข่ายการยักยอกทรัพย์ได้หรือไม่
นอกจากนั้นระหว่างการสอบสวนก็ได้มีเจ้าทุกข์เพิ่มเติมมายื่นฟ้องนายไชยบูลย์ในข้อหาฉ้อโกงด้วย ได้แก่ นางกนกวรรณ เลิศตระกูลพิทักษ์ และนางสาลี่ เพ็ชร์ชูดี ชาวนาสุพรรณบุรี
ก่อนหน้านี้ นายชูชาติ ศิลปรัตน์ นักกฎหมายสำนักงานกฎหมายศิลปนิติ อดีตที่ปรึกษา ในการต่อสู้คดีเรื่องที่ดินของวัดพระธรรมกายยืน ยันว่าครั้งแรก ที่เข้าไปแก้ปัญหาเรื่องที่ดินหลังนายไชยบูลย์ถูกเล่นงาน ข้อมูลที่ได้รับมาจากนายผ่อง เล่งอี้ ศิษย์คนสำคัญ ที่ยืนยันมีที่ดิน ของนายผ่อง บริจาคให้วัดจริง ถือว่าปรากฏข้อเท็จจริง จึงทำให้เป็นข้อต่อสู้ ทางกฎหมายที่เสนอแนะไปว่า ให้นายไชยบูลย์ทำหนังสือ ยืนยันจะโอนที่ดิน ให้วัดแต่ต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้บริจาค
อย่างไรก็ตามทีมงาน ทนายความของนายชูชาติไม่ได้สอบถามเจ้าของที่ดินทุกรายว่าบริจาคจริงหรือไม่ และข้อมูลทั้งหมด ที่ใช้ต่อสู้ก็ได้มาจากทางวัดที่ให้มา เท่าที่ทราบที่ดินบางแปลงซื้อมา
ขณะเดียวกันมูลนิธิธรรมกาย ชี้แจงกรณีที่ดินของนางสาลี่ เพ็ชร์ชูดี ชาวนาสุพรรณบุรี ว่ามูลนิธิจะสร้างอนุสรณ์สถานบ้านเกิดหลวงพ่อสด และศูนย์กัลยาณมิตรสุวรรณภูมิแก้ว เป็นผู้รวบ รวมเงินได้ 4 ล้านบาทเศษ เพื่อซื้อที่ดินจากนางสาลี่จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา โดยเฉลี่ยตกไร่ละ 1.6 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่ดินทั่วไป และทำสัญญาซื้อขายถูกต้อง มีหลักฐานการเงิน นับตั้งแต่ซื้อนางสาลี่ ขอผัดผ่อน อยู่ในที่ดินเรื่อยมา จนวัดถูกโจมตี เลยออกมาร้องเรียนขอที่ดินคืนหรือมิฉะนั้นก็จะขอเงินเพิ่ม และหากนางสาลี่ ยังเคลื่อนไหวตอไป มูลนิธิธรรมกาย ระบุว่าจะใช้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ และขอพึ่งศาลให้นางสาลี่ และพวกย้ายออกจากที่ดิน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรม การศาสนาเพื่อการพัฒนา ร่วมกับศูนย์ศึกษา เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ มูลนิธิโกมลคีมทอง และมูลนิธิพุทธธรรม จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อเรื่อง "วัดพระธรรมกาย...กับผลกระทบ ต่อเศรษฐ กิจการเมือง และสังคมไทย" โดยมีผู้ร่วมสัมมนา อาทิ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จากคณะเศรษฐศาสตร จุฬาฯ นายอรรถจักร สัตยานุรักษ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวอภิญญา เฟื่องฟูสกูล จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาวอรศรี งามวิทยาพงศ์ ทำหน้าที่พิธีกร ดำเนินรายการ
นายอรรถจักร กล่าวถึงผลกระทบทางสังคมว่า ที่เกิดลัทธิและพิธีกรรมแบบธรรมกาย ซึ่งพอจะมองได้ว่าสาเหตุแรกเกิดจากสังคมแยกย่อย นายไชยบูลย์ เจ้าสำนักธรรมกายมองเห็นจุดที่ว่าสังคมมีมุมมองที่แปลกแยกกันมาก อันมีผล กระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ จึงนำกลยุทธการ สร้างกระแสความมั่นใจในเรื่องของการเสี่ยง ด้วยวิธีการนำเงินไปเล่นหุ้นตามคำทำนายหรือปั่นหุ้นของสาวกคนสำคัญ โดยมีการกำหนดให้ นำผลกำไร 10% มาทำบุญกับวัดพระธรรมกาย เพื่อให้บุญบารมีที่ได้นำไปดูดทรัพย์ได้อีก และยังเพิ่มแรงเสริมศักยภาพ ในการเป็นผู้ชนะ คล้ายอวดวิเศษว่าทำสมาธิเพงดวงแก้วจะชนะมารทั้งปวง ซึ่งวัดอธิบาย ส่วนนี้จนสามารถ โน้มน้าวจิตใจสาวกได้ชะงักงัน
สาเหตุต่อมา ได้เกิดความอ่อนล้า ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งนี้แก่นของความอ่อนล้าเกิดจากคณะสงฆ์เถรวาท ซึ่งความอ่อนล้า ของคณะสงฆ์ทางธรรมกาย มองเห็นทะลุปุโปร่ง โดยตอบสนองชาวพุทธ ด้วยการนำชั้นเชิงการเก็งกำไร และขาดทุนมาสมานเข้ากับหลักศีลธรรม จากจุดนี้เองส่งผลให้สังคมเกิดการแตกแยก มาตรการแยกเขาแยกเราอย่างชัดเจน ภาพที่ปรากฏ จึงเป็นแต่เฉพาะคนชั้นกลาง กับชั้นสูงเท่านั้นที่จะเข้าวัดพระธรรมกายได้ นับเป็นอันตรายอย่างมากกับสังคมไทย
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีวัดพระ ธรรมกายนี้ ถือว่าถึงเวลาที่จะต้องยอมรับกันว่าทุกฝ่ายอ่อนล้ากันหมดแล้ว สังคมไทย ได้ใช้พลังทั้งหมด ในการดำเนินการกับปัญหานี้ เรียกว่าทุกฝ่ายหมดเรี่ยวแรงกันทั่วหน้า ต่อไปคงต้องให้รัฐบาล เข้ามาจัดการ อย่างจริงจังเสียที ที่ผ่านมารัฐบาลแทงกั๊กเพราะห่วงฐานคะแนนเรือนแสนจากสาวกวัดพระธรรมกาย มีการหยั่งกระแสว่า จะโน้มไปทางไหน หากไม่ปรากฏชัดแจ้งก็จะแทงกั๊กต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้วที่จะลงมาทุ่มสรรพกำลังลงมา และไม่ใช่เป็นการ ล้มล้างใคร แต่ถ้านายไชยบูลย์ออกไปตั้งนิกายใหม่ปัญหาก็จะจบโดยสวัสดี
ขณะที่นางสาวอภิญญา มองว่า คนไทยทำบุญเพราะยึดติดวัตถุมานานแล้ว ซึ่งมีผลการทำวิจัยที่พบว่าตลอด 40 ปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ต้องการสร้างวัดด้วยลำพังตัวเองสักแห่ง ขณะที่การถือศีลกลับเป็นวิธีการทำบุญที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด ซึ่งเป็นค่านิยมที่ผิด เช่นเดียวกับคณะสงฆ์ที่ยังมีค่านิยมผิด ๆ เพราะมีการบัญญัติให้ต้องสร้างสาธารณูปโภคมูลค่า 1 ล้านบาท สำหรับการเสนอขอสมณศักดิ์ครั้งแรก และมูลค่า 5 แสนสำหรับพระที่ขอเลื่อนสมณศักดิ์ ที่สำคัญพระสังฆาธิการนิยมที่จะนำเรื่องของไสยศาสตร์มาปนเปื้อนกับพระธรรม โดยเฉพาะการเทศน์ที่เกี่ยวข้องกับบุญมักมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์มาปะปนเสมอ
ด้านนายปริญญา กล่าวว่า ทางกฎหมายก็ต้องยอมรับสิทธิส่วนตัวของนายไชยบูลย์ในการเลือกนับถือความเชื่อ แต่กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้นำไปสอนใคร ส่วนคดีความฉ้อโกงที่อดีตเจ้าอาวาส วัดตกเป็นจำเลยนั้น มองว่าน่าที่จะมีมูลอย่างการอวดอ้างว่าพระมหาสิริราชธาตุเป็นหินที่เทวดารักษาไว้ถึง 200 ล้านปี ตรงนี้สามารถพิสูจน์ได้ก็ฟ้องร้องเอาผิดได้
"ที่เห็นเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องของการต้องปาราชิก เรื่องนี้พุทธบริษัทเลือกที่จะสนองตามลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีผลทันทีให้ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องรอกฎนิคหกรรมหรือคำวินิจฉัยของคณะสงฆ์อีก คณะสงฆ์เพียงทำหน้าที่ประกาศให้ชาวพุทธได้รับทราบเท่านั้น"
จากนั้นนายณรงค์เป็นผู้แสดงความเห็นคนต่อมาว่า การขายความแตกต่างของวัดพระ ธรรมกายเป็นเรื่องปกติอย่างหนึ่งของคนชั้นกลางใหม่นิยมทำ กรณีธรรมกายทำให้คนห่างวัดมากขึ้น เพราะมีการนำศาสนามาเป็นสินค้าทำกำไร นายไชยบูลย์มีเป้าหมายที่จะแยกตัวเป็นอาณาจักร ทุกอย่างที่ทำลงไปต้องการบรรลุเป้าหมาย โดยไม่นึกถึงว่าจะได้เงินมาด้วยวิธีการใด แต่ต้องลงทุนน้อยและได้กำไรงาม ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นความชอบธรรมของนักการตลาดอย่างนายไชยบูลย์ที่ร่ำเรียนมาทางด้านนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากวิทยากรตอบประเด็นคำถามหมดลง นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ สาวกคนสำคัญอีกคนหนึ่งของนายไชยบูลย์ ได้ขอแสดงความเห็นโดยกล่าวว่าการสัมมนาที่ดำเนินอยู่นี้ถือเป็นเรื่องดี ที่มีการระดมความคิดจากหลาก หลายศาสตร์ ซึ่งทางวัดพระธรรมกายพร้อมที่จะน้อมรับข้อคิดเห็นทั้งหมดไปปฏิบัติ แต่การแสดงความเห็นนี้ขอให้เป็นการแสดงมุมมองที่บริสุทธิ์ตรงไปตรงมา ไม่ใช่เป็นการวางเป้าเพื่อที่จะล้มล้างวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้การฆ่ากันให้ถึงตายไม่ใช่วิสัยของพุทธบริษัทไทย
เมื่อกล่าวจบพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ พระจากสำนักสงฆ์สวนเมตตาธรรม จ.เชียงใหม่ คัดค้านว่าสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมว่า ม้าที่ไม่สามารถฝึกได้ก็สมควรฆ่าด้วยพระธรรมวินัย ขณะที่นางนิสา เชนะกุล อุบาสิกาอาวุโส กล่าวว่า วัดพระธรรมกายสมควรที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของพระพรหมโมลีเจ้าคณะภาค 1 ทั้ง 4 ข้อ ตามมติมหาเถรสมาคมเสียก่อน และที่สำคัญควรที่จะปฏิบัติตามลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสังฆราชด้วย
สำหรับในช่วงบ่ายได้มีการสัมมนาในหัวข้อ "ทางออกของสังคมต่อสถานการณ์พุทธศาสนาในปัจจุบัน" โดยมีวิทยากรร่วมสัมมนาประกอบด้วยนายเอกวิทย์ ณ ถลาง นายทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นางสาวชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และนายวีระ สมบูรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยทั้งหมดมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ทางออกกรณีวัดพระธรรมกายจะต้องใช้ปัญญาเป็นหลักนำหน้า และทางออกมิได้หมายความถึงการล้มล้างหรือการฆ่าประหัตประหารกันเอง แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการที่นายไชยบูลย์คงเป็นพระต่อไป แต่จะต้องไม่อ้างตัวว่าเป็นพระในศาสนาพุทธเถรวาท ให้ไปตั้งนิกายใหม่จะเป็นศาสนาพุทธลัทธิธรรมกายก็ได้ ข้อสำคัญจะต้องออกไปจากเถรวาท เพราะไม่ยอมรับคำสอนของเถรวาทก็สมควรออกไป เช่นเดียวกันกับอดีตพระโพธิรักษ์ แห่งสำนักสันติอโศก นอกจากนั้นปัญหาธรรม กายไม่ควรที่จะปิดปากพระที่ออกมาวิจารณ์ อาทิพระมหาบุญถึง ชุตินธโร ผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย รวมไปถึงธรรมกายไม่ควรใช้วิธีการรุนแรง อาทิ ที่เกิดกับนายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต.