เดลินิวส์ 21/6/2542
"ศาลสงฆ์"เสื่อมหนัก อย่าถามถึงความยุติธรรม
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากระบวนการศาลสงฆ์ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของชาวพุทธได้จริง ดังจะเห็นได้จากการที่พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้พิจารณาคำฟ้องนายไชยบูลย์ สุทธิผล กลับไม่กล้าที่จะประทับรับฟ้องคำฟ้องร้องกล่าวโทษ แม้จะมีอำนาจเต็มตามที่กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรมระบุไว้ก็ตามที โดยพระสุเมธาภรณ์กล่าวว่าจะให้พระพรหมโมลี เข้าคณะภาค 1 ที่ดำรงฐานะศาลชั้นต้นในกระบวนการศาลสงฆ์ชี้ขาดว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่แทน
ความจริงแล้วอาการ"ประหลาด"ในกระบวนการรับคำฟ้องร้องของพระสุเมธาภรณ์ปรากฏเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่การระบาดของ"โรคเลื่อน" ที่ยืดเวลาออกเรื่อยมา จนในที่สุดก็ไม่กล้าตัดสินประทับรับฟ้อง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของพระสุเมธาภรณ์ที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นฟ้อง กับตรวจลักษณะของคำฟ้องว่าตรงตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าตรงก็ต้องประทับรับฟ้องไม่ใช่โยนเรื่องออกไป
นอกจากนั้นคำฟ้องที่จะโยนไปให้พระพรหมโมลี ยังมีการตีตกคำฟ้องของกรมการศาสนาที่ยื่นในนามนายมาณพ พลไพรินทร์ ทิ้งไปด้วย เพราะคำฟ้องของนายมาณพไม่ได้ระบุว่า"เป็นชาวพุทธ" ถึงแม้นายมาณพจะผิดพลาดอย่างชนิดที่ไม่ควรจะพลาดและยากจะหาคำใดมาเปรียบเทียบได้ แต่ก่อนที่จะมีการตีตกคำฟ้องนายมาณพ ในกฎนิคหกรรมเปิดช่องให้เรียกตัวนายมาณพมาสอบถามเพิ่มเติมหรือแก้ไขคำฟ้องได้อีก แต่ทำไมถึงไม่ดำเนินการ
ผลจากการโยนเรื่องออกไปเช่นนี้จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีทางศาลสงฆ์ต้องล่าช้าออกไปอีก และอาจเกิดการโยนเรื่องกันไปกันมาอีกรอบโดยพระพรหมโมลี สามารถโยนเรื่องกลับมายังพระสุเมธภรณ์ได้ เพราะตามกฎนิคหกรรมผู้ที่จะต้องเสนอประทับรับฟ้องคือพระสุเมธาภรณ์ ไม่ใช่พระพรหมโมลี
ซ้ำร้ายการโยนกันไปโยนกันมา ทำให้ข้อเรียกร้องให้พิจารณาถอดนายไชยลบูลย์จากตำแหน่งเจ้าอาวาส ตามกฎมหาฯฉบับที่ 24 เนื่องจากการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ ต้องยืดออกไปเช่นกัน ทั้งที่ระยะแรกพระสุเมธาภรณ์การระบุว่าสามารถพิจารณาถอดถอนตำแหน่งนายได้ในระดับจังหวัด เหมือนแต่แล้วก็กลายเป็นเรื่องเงียบหายและก็ไม่แน่ชัดว่าสงฆ์ระดับไหนจะเป็นผู้ตัดสินใจ กลายเป็นเกมยื้อยืดเยื้อ
สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือพระสุเมธาภรณ์เพียงแต่ให้ความหวัง และคำหวานเรื่อยมา แต่สุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าของหวานนั้นเป็นลม ของขมนั้นเป็นยาอย่างแท้จริง ส่วนพระพรมโมลีเองสถานะก็ยังไม่เแน่ชัดว่าจะดำเนินการเยี่ยงใด เพราะที่ผ่านมาพระพรหมโมลีเคยเข้ามาดูและปัญหาธรรมกายแล้ว และได้เสนอข้อแนะนำ 4 ข้อให้วัดธรรมกายปฏิบัติ ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติ และเวลาได้พิสูจน์ชัดแล้วว่า 3 เดือนที่ผ่านวัดพระธรรมกายไม่เคยแยแสสนใจทำตามที่พระพรหมโมลีเสนอแม้แต่น้อย
และที่สำคัญคือปัญหาธรรมกายความจริงสามารถยุติได้ในระดับของพระพรหมโมลี โดยในฐานะเจ้าคณะผู้ปกครองพระพรหมโมลีใช้อำนาจตามกฎมหาเถรฯฉบับที่ 21 ข้อ 3(1) เข้ามาแก้ไข ด้วยการกำหนด"แนวทางปฏิบัติ"และขีดเส้นตาย"กำหนดระยะเวลา"ที่แน่ชัดให้ให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติ ทั้งเรื่องคำสอน การเรี่ยไรบุญ การอวดวิเศษ ฯลฯ หากวัดพระธรรมกายไม่ทำ พระพรหมโมลีสามารถสั่งจัดการนายไชยบูลย์ได้ทันทีด้วยการสั่งถอดผ้าเหลืองออกจากร่าง
แต่พระพหรมโมลีไม่ทำ กลับเดินหนีกลับกุฎิปิดลงกลอนแน่นไม่ได้นำประโยชน์ของกฎมหาเถรฯฉบับที่ 21 มาใช้ และปล่อยให้เรื่องทั้งหมดลุกลามใหญ่โต และยืดเยื้อจนต้องมายื่นใช้กระบวนการนิคหกรรม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดถ้าจะว่าตามความจริงแล้วคงไม่ใช่ความผิดพลาดของพระสุเมธาภรณ์ หรือพระพหรมโมลีทั้งหมด โดยปรากฎการณ์นี้เป็นเพียงเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าองค์ประกอบ กระบวนการศาลสงฆ์ มีปัญหา กลายศาลสงฆ์เป็นแค่องค์กรที่มีเขียนอยู่แค่ในกระดาษแต่ปฏิบัติไม่ได้ ในอดีตเคยมีข้อพิสูจน์มาแล้วว่าคดีความที่เข้าศาลสงฆ์ ไม่สามารถตัดสินชี้ขาดออกมา ทั้งกรณียันตระ จนมาถึงธรรมกาย และในอนาคตก็จะเกิดปัญหาเหมือนเดิมอีก
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะความไม่พร้อมของบุคลากรในองค์กรศาลสงฆ์ เพราะกระบวนการตัดสินตามกฎนิคหกรรมนั้นยึดแบบการดำเนินทางศาลโลกมาทั้งหมด แต่ในวงการสงฆ์ไม่มีผู้ชำนาญในด้านการตัดสินคดีความ การสอบพยาน ปากคำ การสอบเอกสารที่ใช้วิธีทางกฎหมาย และใช้กระบวนการทางโลก ผู้พิจารณาในระดัยบต่าง ๆ จึงไม่กล้าที่จะตัดสินใจเมื่อเกิดกรณีปัญหาใหญ่ ๆ อย่างกรณีธรรมกาย
ประการต่อไปคือองค์กรสงฆ์ขาดความเป็นอิสระ เปิดให้มีการแทรกแซง เพราะการปกครองของสงฆ์ คล้ายจะเป็นระบบปกครองแบบข้าราชการเต็มตัวไปแล้ว พระระดับสูงสามารถแทรกแซงพระระดับต่ำกว่าได้ทันที ดังจะเห็นได้จากการที่พระสุเมธาภรณ์ยอมรับเองว่ามีโทรศัพท์จากพระเถระระดับสูง ที่เป็นกรรมการมหาเถรโทรศัพท์เข้ามาหาในการพิจารณาปัญหาธรรมกาย ยังไม่นับการที่พระเถระที่มีบทบาทแอบอิงกับธรรมกายมาตลอด เรียกคณะทำงานของพระสุเมธาภรณ์ไปซักถามเรื่องต่าง ๆ กลางงานฉลองตำแหน่งเจัาคณะจังหวัดของพระสุเมธาภรณ์
และทั้งที่กระบวนการศาลสงฆ์มีปัญหา คณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้องยังมีความพยายามจะกีดกันให้แยกสงฆ์ออกจากชาวบ้าน โดยสร้างเขตสงฆ์ห้ามเข้าไปตรวจสอบหรือวิจารณ์กระบวนการทำงาน ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของสงฆ์หลายคณะที่ต้องการให้รัฐบาลปิดปาก ควบคุมการนำเสนอข่าวสารกรณีธรรมกาย โดยอ้างว่ากระบวนการปัญหาธรรมกายเข้าสู่กระบวนการศาลสงฆ์แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการขัดกับการวางรากฐานทางศาสนาพุทธของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมอบพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งปัจจุบันไม่มีพระภิกษุณีหลงเหลืออยู่แล้ว จึงมีเพียงพุทธบริษัท 3 เท่านั้นที่ได้รับมรดกพุทธศาสนา มีหน้าที่สืบทอด ปกปักรักษาเหมือน ๆกัน
แต่ 1 ใน 3 ของพุทธบริษัทคือคณะสงฆ์กลับต้องการแยกตัวปิดกั้น สร้างเขตผ้าเหลืองห้ามเข้า ทั้งที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความจริง เป็นศาสนาแห่งสัจจะ และยั่งยืนได้เนื่องจากการทนทานต่อการพิสูน์นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล พอมาถึงยุคนี้คณะสงฆ์ก็ทำท่าเป็นคณะผู้ผิวบาง ปฏิเสธการตรวจสอบให้เห็นสัจจะ ไม่กล้าพิสูจน์ความจริง
การแยกชาวบ้านออกจากพระที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดอันตรายจะเหมือนกับศาสนาพุทธที่ล่มสลายในประเทศ อินเดีย ก็เนื่องจากการแยกชาวบ้านออกจากพระนี้เอง
และสิ่งที่สำคัญสุดที่เป็นจุดอ่อนของศาลสงฆ์ก็คือการที่ไม่กล้านำเอาพระธรรมวินัย มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินปัญหา ทั้งที่พระวินัยเป็นกรอบในการกำหนดความประพฤติของสงฆ์ และพระธรรมถือเป็นแก่น ในการปฏิบัติ หากเอาพระธรรมวินัยมาชี้ขาดปัญหาทุกอย่างจะยุติลงได้อย่างรวดเร็วและสันติ
ถึงแม้ว่าจะมีพระเถระหลายรูปออกมาย้ำ ให้คำยืนยันว่าขอให้เชื่อถือว่ากระบวนการทางสงฆ์จะใช้พระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ในการตัดสินปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคำยืนยันกับสิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าศาลสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งได้จริง
นาทีนี้จึงมีแต่ความมืดทมึนที่ปกคลุมอยู่ในหัวใจของชาวพุทธ !!!!