เสนอยื่นฟ้องอธิกรณ์"ไชยบูลย์ ธัมมชโย" ให้ทางโลกเข้ามาดำเนินการสอบสวนความผิดเอง ชี้เหมือนกรณีพระพิมลธรรมถูกพระสงฆ์ด้วยกันเอง กล่าวหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ถูกจอมพลสฤษดิ์ จับขังคุกเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ก่อนพระพิมลธรรมจะชนะคดีภายหลัง เผยยื่นนิคหกรรมไม่มีผลขั้นตอน ต่าง ๆ เลยมาแล้ว 4 วัดใหญ่ ย่านตลิ่งชันแฉซ้ำวัดฉาวเบี้ยวเงินค่าจ้างไปร่วมงานวันเกิดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ติดต่อทวงถามกลับบ่ายเบี่ยงผัดผ่อนมาตลอด

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พุทธสมาคม 51 องค์กรกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตามกฎนิคหกรรมตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2521) ในข้อหาอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งมีโทษถึงขั้นปาราชิกต้องสึก หลักฐานที่รวบรวมเป็นทั้งหนังสือกับเทปที่เผยแพร่โดยวัดพระธรรมกาย และเทปหลักฐานของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระไชยบูลย์อวดอ้างตัวเองว่ามีคุณวิเศษ เป็นผู้เดียวร่วมกับแม่ชีจันทร ์ที่สามารถนำเอาข้าวหรือเครื่องไทยทาน ไปถวายพระพุทธเจ้าได้ ทั้งที่ได้มีการพิสูจน์ชัดแล้วว่า คำสอนดังกล่าวผิดเพี้ยน

สำหรับขั้นตอนการฟ้องร้องตามกฎนิคหกรรมนั้น จะมีการพิจารณาเหมือนกับศาล ชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา โดยโจทก์ผู้ฟ้องร้องจะต้องไปฟ้องร้องที่เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับเป็นศาลชั้นต้น จากนั้นเรื่องก็จะไปถึงเจ้าคณะภาค ซึ่งได้แก่พระพรหมโมลี ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนศาลอุทธรณ์ และเรื่องการฟ้องร้องจะสิ้นสุด และถือเป็นการยุติสุดท้าย ที่การประชุมมหาเถรสมาคมซึ่งจะเป็นเหมือนศาลฎีกา

รายงานระบุว่า สาเหตุที่จะต้องฟ้องร้องตามกฎนิคหกรรม ก็เนื่องจากที่ผ่านมาการพิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกาย ไม่เคยมีการหยิบยกเรื่องการผิดพระธรรมวินัยมาชี้ขาดเลย เพราะมติมหาเถรฯที่ออกมา 4 ข้อนั้นคือ การให้ตั้งโรงเรียนพระอภิธรรมในวัด การให้สอนวิปัสสนา การให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และการให้ปฏิบัติตามมติและคำสั่งมหาเถรฯ เป็นเพียงข้อเสนอของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ในฐานะพระผู้ปกครองวัดพระธรรมกายเท่านั้น ซึ่งการจะชี้ผิดถูกพระธรรมวินัยก็จะต้องใช้กฎนิคหกรรมเท่านั้นถึงจะสอบสวน ได้ คาดว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ จะทำให้ปัญหากรณีวัดพระธรรมกาย ยุติลงไปได้แน่นอน

พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่มีองค์กรพุทธศาสนา 51 แห่งเตรียมยื่นฟ้องนิคหกรรมพระไชยบูลย์ ธัมมชโยว่า เรื่องนี้ได้พ้นขั้นตอนการนิคหกรรมมาแล้ว เพราะเรื่องได้ถึงเจ้าคณะภาค 1 และเสนอให้มหาเถรสมาคมพิจารณาสั่งการไปแล้ว การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็คือ การฟ้องต้องอธิกรณ์ร้าวฉาน คือทำให้เกิดความแตกแยกในวงการสงฆ์และสังคมไทย ปล่อยไว้ไม่ได้เพราะอาจจะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

พระศรีปริยัติโมลีกล่าวว่า รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการสอบสวนและพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะต้องทำให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ ด้วยการขจัดต้นเหตุของความร้าวฉานให้หมดสิ้นไป และสร้างความชอบธรรมถูกต้องขึ้นมาด้วยวิธีของรัฐบาลเอง โดยสอบสวนพฤติกรรมของเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่าขัดต่อพระ ธรรมวินัยและบิดเบือนคำสอนในศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาประจำชาติ ต้องทำความกระจ่าง ให้คนทั้งประเทศได้ประจักษ์

"รัฐบาลอาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประกอบด้วย พระสงฆ์และฆราวาสเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกล่าวหาใส่ความสงฆ์ หากคณะกรรมการสรุปว่ามีความผิดจริงรัฐบาลสามารถสั่งการถอดถอนและยุติปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ ในฐานะที่นายกรัฐมนตร ีเป็นผู้รับสนองพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์แก่พระภิกษุต่าง ๆ"

นายกมล ศรีนอก เลขาธิการสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เคยมีตัวอย่างมาแล้วเมื่อสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งกำลังเรืองอำนาจ ในวงการสงฆ์เองก็มีการปัดแข้งปัดขากันเพื่อจะขึ้นเป็นใหญ่ ครั้งนั้นพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ถูกฟ้องอธิกรณ์ต้องคดีในข้อหากระทำการ และฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จึงถูกทางการจับคุมขังโดยที่พระพิมลธรรมซึ่งรู้ตัวเองดีว่าไม่ได้ผิดตามข้อกล่าวหาก็ต่อสู้ ไม่ได้ลาสิกขาบท จน กระทั่งพระพิมลธรรมชนะคดีความกลับออกมา กระทั่งได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

"สมัยนั้นมีการนำ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2484 มาใช้ ซึ่งก็มีการแบ่งคณะสงฆ์เช่นเดียวกับคณะผู้บริหารประเทศ มีสังฆนายก ซึ่งขณะนั้นก็คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) พระพิมลธรรมดำรงสมณะเป็นสังฆมนตรี ดูแลกิจการงานศึกษาของสงฆ์ เรียกว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ แต่พระพิมลธรรมนั้นเป็นคนอีสานซึ่งมาเติบโตและประชาชนศรัทธามากตอนที่อยู่อยุธยา ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ จึงกล่าวหาท่าน แต่ท่านก็ชนะข้อกล่าวหานั้นได้ กรณีของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ถูกฟ้องลักษณะนี้ได้ แม้ว่าปัจจุบันนี้จะใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 ก็ตาม แต่เรื่องอธิกรณ์ยังมีบัญญัติอยู่"

นายชัชวาลย์ ปุ่นปัน อาจารย์พิเศษมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขต เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณาจารย์ที่ยื่นคำร้อง ให้ถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของพระไชยบูลย์ ธัมมชโยกล่าวว่า เข้าใจปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการที่ทาง มจร. อ้างว่า ไม่มีระบุไว้ใน พ.ร.บ.สงฆ์ และไม่มีอำนาจเปิดช่องให้ถอดถอนใบปริญญาดุษฎีบัณฑิต คิดว่าหากมี พ.ร.บ. ให้มีการถอดเมื่อ ไรก็หวังว่าทาง มจร. คงไม่เพิกเฉย

อย่างไรก็ตามยังนึกน้อยใจในสถาบันมจร. เพราะแม้ว่าจะไม่มีช่องเปิดให้มีการถอดถอน ก็น่ามีเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องนี้ให้มีท่าทีที่ชัดเจน เหมือนอย่างที่ทางสมาคมศิษย์เก่า มจร. เรียกร้องอยู่คือเรื่องการประกาศยกเลิกคำสดุดีเกียรติคุณพระไชยบูลย์ ที่ว่าเป็นพระผู้บำเพ็ญประโยชน์ในพุทธศาสนา เพราะมันไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พระไชยบูลย์มิใช่พระบำเพ็ญประโยชน์ แต่เป็นพระผู้ทำลายศาสนาไม่สมควรที่จะได้รับคำสดุดีหรือใบปริญญาใด ๆ ทั้งสิ้น

"ในเมื่อทาง มจร. ไม่มีอำนาจในการถอดถอนเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ ก็น่าที่เอาผิดทางพระธรรมวินัยด้วยการออกในแถลงการณ์ชี้แจงให้สังคมได้รับรู้ว่า พระไชยบูลย์ผิดพระธรรมวินัยอย่างไร ไม่มีคุณสมบัติเนื่องจากการสอนก็บิดเบือนจากพระไตรปิฎก เพราะคนทั่วไปเขาได้ตั้งความหวังไว้กับ มจร. ดังนั้น ก็น่าจะเป็นผู้นำชี้ถูก-ผิด"

นายชัชวาลย์กล่าวว่า กรรมการในสภา มจร. บางรูปมีความสัมพันธ์แนบแน่น มีสายสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์กัน ซึ่งอาจจะเป็นจุดอ่อน ของสภา มจร. ที่คนอาจมองว่าไม่มีความโปร่งใส รวมถึงมหาเถรฯ ด้วย สิ่งที่ขอต่อไปนี้คืออยากให้สถาบันอุดมศึกษาทางสงฆ์ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจับมือร่วมใจกันทำให้เกิดความชัดเจนถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม อย่าได้มีแต่ความคลุมเครือและอย่าได้หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใด ๆ ในเมื่อเราหวังองค์กรสูงสุดไม่ได ้เราก็ต้องตั้งความหวังไว้กับสถาบันอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตามช่วงนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม ทางเหล่าคณาจารย ์เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดกันหมด คิดว่าจะมีการหารือร่วมกันก็ต้องรอเปิดการศึกษา ซึ่งทางวิทยาเขตเชียงใหม่ก็คงต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากเราจะไม่ปล่อยให้ผู้ที่ทำให้ศาสนาเสื่อมหรือทำลายศาสนาประจำชาติ อย่างไรก็ตามเรื่องการถอดถอนนั้น ได้รับความสนใจจากคนในวงการศาสนา ดังนั้นคงจะต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด

ทางด้านพระศรีปริยัติโมลีได้กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เรื่องนี้ทาง มจร. มิได้เพิกเฉย เป็นมโนสำนึกอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับ หากไม่ทำเราก็จะไม่มีหลักยึด ความจริงเราก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ แต่ความเป็นจริงก็มีการดำเนินการอยู่ แต่ พ.ร.บ.สงฆ์ไม่ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ จึงยังไม่สามารถดำเนินการอย่างไรได้

พระมหาบุญช่วย ผู้อำนวยการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีให้เป็นผู้รวบรวมข้อมูล หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องของพระไชยบูลย์กรณีการถอดถอนปริญญาบัตร ขณะนี้ยังคงรวบรวมข้อมูลซึ่งเมื่อในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ผ่านมา ทางวิทยาเขตเชียงใหม่ได้ส่งพระราชวิมลเวที รอง ผอ.มจร. มาร่วมประชุม แต่ไม่ได้นำหลักฐานอะไรมาให้ที่ประชุมพิจารณา เท่าที่ทราบก็คือ ไม่มีการกำหนดวาระไว้แต่มีการบรรจุไว้เป็นวาระจร

ในวันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ รับการร้องเรียนจากวัดปฐมบุตร วัดไก่เตี้ย วัดชัยพฤกษ์ วัดนครมะค่าว่า ได้รับการติดต่อ จากวัดพระธรรมกายโดยผ่านทางวัดชัยพฤกษ์ให้วัดต่าง ๆ ช่วยรวบรวมพระ-สามเณรมาร่วมในงานวันเกิด ของพระไชยบูลย์โดยได้ยื่นเงื่อนไขว่าจะมอบปัจจัยบำรุง และเป็นทุนการศึกษาพระรูปละ 800 บาท แต่ปรากฏว่าภายหลังจากที่วัดต่างๆ ได้ส่งพระ-สามเณรไปร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดพระ ธรรมกายแล้ว กลับไม่ได้ถวายปัจจัยใด ๆ ให้แก่พระ-สามเณรที่ไปร่วมกิจกรรม เมื่อทางวัดต้น สังกัดทวงถามเรื่องนี้กับทางเจ้าหน้าที่ วัดพระ ธรรมกาย ก็ได้รับคำชี้แจงว่าจะเคลียร์ทั้งหมดให้ภายในวันเสาร์ที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อ ในเรื่องนี้จากเจ้าหน้าที่วัดพระธรรมกายเลย ทางวัดจึงคาดว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น ถูกหลอกให้ไปร่วมสร้างภาพเรียกศรัทธาให้แก่วัดพระธรรมกายมากกว่า