เดลินิวส์ 17/3/2542

ตร.ภาค1 รับจัดการธรรมกาย

ตำรวจภาค 1 รับคำสั่ง จัดการธรรมกาย พร้อมสะสางมูลนิธิธรรมกายสาขา 2 ที่ถูกถอนจากพระราชูปถัมภ์ แฉมูลนิธิมีพฤติกรรมโหดหินถือครองโฉนด"ถนนสีขาว"ที่ตัดตรงจากพหลโยธินเข้าธรรมกายเจดีย์ จากนั้นมีไอ้โม่งไปบีบซื้อที่แต่ชาวบ้านไม่ขายเลยก่อกำแพงกั้นห้ามเข้าออก ระบุ ถนนนี้ใช้เงินบริจาคมา
สร้างแต่โอนในหมู่สาวกสนุกมือ"สีกาอี๊ด"มีเอี่ยวด้วย ขณะเดียว
กันการขอใช้ที่ป่าเชียงใหม่ 9พันไร่ ที่แท้ธรรมกาย เคยยื่นตั้งสำนักในป่าอุทยาน 7 แห่งรวดแล้วไม่ได้ "ผ่อง"เจ้าเก่าเลยสนองให้มูลนิธิยุคเป็น
อธิบดีป่าไม้ "อาคม"พบเจ้าคณะภาค 1 ยัน 19 มี.ค.ชี้ขาดแน่
พระนักวิชาการเสนอถอดเจ้าอาวาส-รองเจ้าอาวาส พระในอีก 10 รูป

จากกรณีที่"เดลินิวส์" ได้ตรวจสอบพบว่านอกเหนือจากมูลนิธิธรรมกายแล้ว ยังมีมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ส่อเค้าเป็นมูลนิธิธรรมกายสาขา 2 ที่วัดพระธรรมกาย ใช้ขยายอาณาจักรไปทั่วประเทศ โดยมูลนิธิดังกล่าวก่อตั้งโดยลูกศิษย์ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์(ไชยบูลย์ ธัมมชโย)เจ้าอาวาสวัด และไปขอใช้พื้นที่ป่าตั้งสถานปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่และมีการส่งภิกษุ สามเณรจากวัดพระธรรมกายไปอยู่ด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากกรมป่าไม้เปิดเผยเพิ่มเติมว่ามูลนิธิศึกษาธรรมฯขอใช้ที่ป่า 12 แปลงติดกัน และอนุมัติแปลงแรกสมัยนายผ่อง เล่งอี้ เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในปี 2537 โดยนายผ่องเป็นลูกศิษย์คนสนิทของพระไชยบูลย์ และเคยพยายามหลายครั้ง ในการผลักดันให้วัดเข้ามาใช้ที่ป่านับตั้งแต่นายผ่องเป็นผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2528 โดยได้จัดทำ โครงการอบรมปฏิบัติของกรมป่าไม้ร่วมกับมูลนิธิธรรมกายและยื่นขอให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง เช่นที่ภูกระดึง จ.เลย,เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ฯลฯโดยนายจำนงค์ โพธิสาโร อธิบดีกรมป่าไม้ในสมัยนั้นใช้อำนาจตามมาตรา 19 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ออกระเบียบ ให้อำนาจหัวหน้าอุทยานแห่งชาติอนุมัติมูลนิธิธรรมกายเข้าไปใช้พื้นที่ป่าได้ แต่โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงเพราะมีเพียงมูลนิธิธรรมกายที่จะได้รับอภิสิทธินี้ รวมถึงจะมีการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เช่นบริเวณห้วยคอกม้า และแหลมสนของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่จะใช้ที่อุทยานแห่งชาติถึง 1,562.5 ไร่จนนายณรงค์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้องออกคำสั่งระงับโครงการ เพราะการดำเนินการทั้งหมด ไม่ผ่านการอนุมัติจากนายณรงค์ กรมการศาสนาก็ยังคัดค้านด้วยเช่นกัน

นอกจากโครงการเข้าไปใช้ที่อุทยานแห่งชาติแล้ว นายผ่องยังผลักดันโครงการ ขยายพื้นที่วัดพระธรรมกายที่จ.ปทุมธานีอีกโดยตั้ง โครงการสร้างสวนป่าชานเมืองสำหรับธุดงค์มหาชน ที่จะเวนคืนที่รอบวัดพระธรรมกาย 6,000 ไร่ และใช้โอกาสฉลองกรุงเทพฯ 200ปี ยื่นขอ แต่ถูกปฏิเสธจากทางการสมัยนั้น สุดท้ายจึงกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พระไชยบูลย์ ต้องระดมทุนมหาศาลในการกว้านซื้อที่ดินรอบวัดจำนวน 2,500 ไร่

หลังจากที่นายผ่อง เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในช่วงปี 2537-2538 และมีการก่อตั้งมูลนิธิศึกษาธรรมฯมูลนิธิได้ยื่นขอใช้ที่ในสวนป่า 8,343 ไร่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ลาย ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยอ้างเพื่อปลูกป่าอนุรักษ์ธรรมชาติ และตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม และได้รับอนุมัติแล้ว 1,268 ไร่ โดยใช้ชื่อสำนักปฏิบัติธรรม สนแก้ววนารามที่มีการส่งพระภิกษุ สามเณรจากวัดพระธรรมกายไปประจำด้วย

นายผ่องสมัยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ยังเคยไปร่วมสัมมนาเรื่องการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อกิจการของพระศาสนา จัดที่วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 22-24 มี.ค. 2537 โดยนายผ่องกล่าวว่า กรมจะให้ใช้พื้นที่ป่าสร้างวัดได้ แต่จะให้เนื้อที่จำกัดคือ 15 ไร่ ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ได้ก็คือต้องยื่นเพื่อปลูกป่า ปลูกต้นไม้ และกรมอนุญาตมาแล้วหลายแปลง การสัมมนาดังกล่าวมีพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งครั้งนั้นยังมีสมณศักดิ์เป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นผู้ปิดการสัมมนา โดยพระพรหมโมลีเป็นพระอีกรูป ที่วัดพระธรรมกายยกย่อง อาทิเช่นได้นำประวัติมาลงในปี 2534 ในวารสารของวัด และยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์ผู้รจนาธรรมเป็นเลิศ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า มูลนิธิศึกษาธรรมฯไม่เพียงมีที่ดินที่เชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังไปถือครองที่ดินที่จ.ปทุมธานี โดยไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5963 ต.คลองสอง(คลองสองตก) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา ลักษณะที่ดินเป็นเส้นตรงและใช้ก่อสร้าง"ถนนสีขาว" ซึ่งเป็นถนนราดยาง 4 ช่องจราจร ความกว้าง 19 เมตร ตัดตรงจากถนนพหลโยธินหลักกิโลเมตรที่ 43 ไปจรดกับมหาธรรมกายเจดีย์

ที่ดินของถนนสีขาวนี้เดิม บุคคลที่ครอบครองคือนายสุธรรม ตีระวนิช คนสนิทของพระไชยบูลย์และเคย่เป็นเลขานุการมูลนิธิธรรมกาย นายสุธรรมเป็นบุคคลสำคัญในการออกไปกว้านซื้อที่ดินรอบเขตวัด เพื่อขยายอาณาจักรจำนวน 2,500 ไร่ขณะนี้นายสุธรรมบวชเป็นพระชั้นในของวัดพระธรรมกาย

ในปี 2533 นายสุธรรมขายที่ดิน ให้กับนางจิรวัฒน์ บุณยบุตร สีกาสนิทพระไชยบูลย์เช่นกันรวม 5 แปลงและหนึ่งในนั้นคือที่ดินถนนสีขาว สุดท้ายนางจิรวัฒน์ขายที่ดิน ถนนสีขาวใหักับมูลนิธิศึกษาธรรมฯในปี 2538 ราคา 1 ล้านบาท ขณะที่ราคาประเมิน 2.9 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าที่ดินถนนสีขาวนี้ เดิมทีชื่อถนนดวงธรรม วัดได้ระดมเงินบริจาคจากสาวกมาสร้าง และว่าจ้างให้บริษัทไทยวัฒน์วิศวการทาง ก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 และเสร็จในเดือนธันวาคม

ถนนสีขาวนี้ "เดลินิวส์"เคยได้รับการร้องเรียน จากชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียงถนนเส้นดังกล่าวว่า หลังจากสร้างราคาที่ดิน 2 ฝั่งถนนสูงถึงไร่ละ 5 ล้านบาท โดยได้มีนายทุนทั้งที่อ้างว่าเป็นตัวแทนจากวัดบ้าง เป็นผู้สนใจปฏิบัติธรรมบ้าง มาขอซื้อเพื่อก่อสร้างเป็นหอพักนักศึกษา สร้างหมู่บ้านจัดสรร หนึ่งในจำนวนนายหน้านั้นมีชื่อ"สีกาอี๊ด"ด้วย และมีการบอกว่าสีกาอี๊ดเป็นผู้เสนอให้สร้างถนน แต่ชาวบ้านไม่ขายสุดท้ายก็มีการสร้างกำแพงปิดกั้นยาว 500 เมตร ห้ามชาวบ้านเข้า-ออก จนทำให้ชาวบ้านต้องเจาะรูเข้า-ออกเรียกว่ารูหมารอด ขณะที่อีกฝั่งของถนนมีการสร้างตึกแถว และเปิดเข้าออกได้เสรี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมที่ชาวบ้านกล่าวว่าหินโหดเกินไปไม่น่าเกิด
ขึ้นมูลนิธิที่ชื่อ"ศึกษาธรรม"

การเข้าไปดำเนินการของมูลนิธิศึกษาธรรมฯ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าจะมีนางจิรวัฒน์เข้ามาเกี่ยวข้องตลอด อาทิการขอเช่าที่ป่าที่เชียงใหม่ นางจิรวัฒน์เข้าไปซื้อที่ดินใกล้เคียงที่ดินมูลนิธิ อีก 873 ไร่ และต่อมาที่ดินของนางจิรวัฒน์ถูกกันออกนอกที่ป่า หรือที่ดินถนนสีขาวที่จ.ปทุมธานีนี้ มูลนิธิฯก็ซื้อมาจากนางจิรวัฒน์ รายงานข่าวจากกองบัญชาการตำรวจภาค 1 เปิดเผยว่า ตำรวจภาค 1 ได้รับคำสั่งสะสางปัญหาธรรมกาย และต้องสืบไปถึงความเกี่ยวพันกับมูลนิธิศึกษาธรรมฯ เดิมมูลนิธินี้เคยอยู่ในพระราชูปถัมภ์แต่กองกิจการใน พระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร พระตำหนักนนทบุรีทำหนังสือด่วนสุด ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 ก.พ. 2542 ขอยกเลิกการพระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิอยู่ในพระราชูปถัมภ์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองกิจการมิได้รับรายงานผลการดำเนินงานฯ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างภายในพื้นที่รับผิดชอบของมูลนิธิฯ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติยศตามมาในภายหลังได้

ในวันเดียวกันนายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ เข้าพบพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 เมื่อเวลา 14.45 น. โดยใช้เวลาในการเข้าพบนาน 1 ชั่วโมงกว่า นายอาคมกล่าวภายหลังเข้าพบว่า มากราบเรียนถาม 2 ประเด็น คือในวันที่ 19 มี.ค. นี้มหาเถรสมาคมจะมีการพิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกายหรือไม่ พระพรหมโมลี บอกว่าพิจารณา แน่นอนเพราะได้บรรจุเป็นระเบียบเป็นวาระแล้ว อีกประเด็นคือรายงานที่ได้รับจากเจ้าคณะภาค 1 นั้นทำไมถึงไม่มีการพูดถึงเรื่อง การถือครองที่ดินของ เจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย ซึ่งพระพรหมโมลีและฝ่ายกฏหมายชี้แจงว่า ที่ดินที่เป็นชื่อพระถือว่าไม่ผิด เมื่อพระมรณะภาพไปที่ดินก็จะตกเป็นของวัด โดยกฏหมายเว้นแต่ว่ามีผู้มาร้องคัดค้าน,เจ้าอาวาสได้ยกให้กับญาติ
หรือใครก็ได้ ถึงจะไม่ตกเป็นของวัด

"ในประเด็นนี้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วงว่า ที่ดินจะตกไปเป็นของผู้หนึ่งผู้ใด เนื่องจากเจตนารมณ์ของผู้บริจาค หรือบางกรณีอาจศรัทธาเจ้าอาวาส ต้องระบุอย่างชัดเจน หากวัดพระธรรมกายหรือเจ้าอาวาสจะโอนเสียเลยในเวลานี้ก็สามารถทำได้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจให้ประชาชนสบายใจน่าจะโอนให้วัด หรือ มูลนิธิ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า การซื้อที่ดินที่ใช้คำนำหน้าว่าพระ แต่ใช้ชื่อจริงและนามสกุลจริง ไม่ใช้สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงแต่งตั้งให้ ถือเสี่ยงต่อการหมิ่น พระบวมเดชานุภาพหรือไม่ นายอาคม กล่าวว่าเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ถ้าไปโอนที่สำนักงานที่ดินต้องเอาหลักฐานและบัตรประชาชน ที่มีชื่อ-นามสกุลจริงของพระ และมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปโอนให้

"ในวันประชุม มส.วันที่ 19 ที่จะถึงนี้หากนำเอาเรื่องทรัพย์สินและที่ดิน เข้าไปไปด้วยประชาชนจะได้เข้าใจดีขึ้น ส่วนเรื่องอภินิหารย์ก็อยู่ในหัวข้อที่หนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องอภิธรรมชัดเจนอยู่แล้ว อีกเรื่องที่เป็นห่วงจึงเรียนถามเจ้าคณะภาค 1คือแม้จะมีคำรับรองจากพระธัมมชโย ว่าจะปฏิบัติตามมติมหาเถรฯ แต่หากไม่ปฏิบัติตาม จะทำอย่างไรท่านบอกว่าก็คิดอยู่เหมือนกันแต่เหตุการณ์มันยังไม่เกิด อย่าไปคาดการณ์ เท่าที่พูดคุยกันเชื่อว่าพระธัมมชโย ไม่ใช่คนกระด้างกระเดื่อง คงปฏิบัติตามมติแล้ว ถ้าไม่ทำตาม ค่อยมาว่ากันอีกที การแก้ปัญหาธรรมกายมีการเสนอให้มีการตั้ง คณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อดูแลแต่ไม่ใช่ในลักษณะไปจับผิด "

ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นเรี่ยไรเงินทำบุญ ทำไมไม่มีการแจงให้ทราบว่า เงินนั้นหายไปไหน อาคม กล่าวว่า ตนก็ถามเจ้าคณะภาค1 ท่านบอกว่าต้องเคารพกฏๆห้ามออกมาเรี่ยไรนอกวัด การทำถึงขนาดออกไปขายตรงคเช่น โทรศัพท์ตามหรือจดหมายตาม ถือเป็นการขัดกฏสามารถตรวจสอบได้

"อีกประเด็นหนึ่งที่วิจารณ์กันมาก คือมหาเถรฯไม่เข็มแข็งเป็นในลักษณะประนีประนอม ถ้าวันที่ 19 มี.ค.ถ้าไม่พิจารณาและยืดออกไปอีกจะมีปัญหาการไม่ยอมรับ เจ้าคณะภาค 1 ก็บอกคงไม่เป็นเช่นนั้น มติล่าสุดคงจะชัดเจนในทุกประเด็น ส่วนเรื่องมูลนิธิศึกษาธรรมฯที่เคยอยู่ในพระราชูปถัมภ์ แต่ถูกยกเลิกไปจะมอบให้กรมการศาสนา หาข้อมูล ทั้งเรื่องเอกสารหลักฐานและการติดตามด้วยว่าเกี่ยวพันอย่างไรกับธรรมกาย"

พระมหาบุญถึง ชุตินธโร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่าการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายควรปลดเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และพระในอีก 10 รูปออกจากตำแหน่ง และนำคณะสงฆ์ชุดใหม่เข้าบริหารเพื่อให้ปัญหาทั้งหมดยุติ แนวทางดังกล่าวสอดคล้อง กับข้อเสนอของกรรมาธิการการศาสนาฯที่ระบุว่าวัดพระธรรมกาย เป็นลัทธิที่ยึดตัวบุคคล โดยมีพระไชยบูลย์เป็นศูนย์กลางของปัญหา