เดลินิวส์ 16/3/2542

ดมกลิ่นมูลนิธิศึกษาธรรมสงสัย'ธรรมกาย 2

ตำรวจภาค 1 ตามกลิ่นมูลนิธิศึกษาธรรมกายเพื่อสิ่งแวดล้อมสงสัยเป็นธรรมกายสาขา 2 ตั้งขึ้นหวังขยายอาณาจักรภาคเหนือ รุกเช่าป่าผืนงามเฉียด 9 พันไร่ ผ่านฉลุยแปลงแรกยุค"ผ่อง เล่งอี้"ศิษย์เอก"ธัมมชโย"นั่งกรมป่าไม้ จากนั้นได้เรื่อยมารวาม 1,200 ไร่ ที่เหลือยังจ่อคิวรอ -แฉงานนี้ผิดปกติสีกาสนิทเจ้าอาวาสไปไล่ซื้อที่ใกล้กันพันไร่ กรมป่าไม้ใจดีถอนสาภาพป่าให้อีก
"อาคม"บุกพบพระพรหมโมลีให้ฟันเรื่องซื้อที่ดิน เผาทิ้งตำราผิดเพี้ยน รวมถึงคาดโทษวัดฉาวล่วงหน้ากรณีเบี้ยว
ไม่ทำตามมติมหาเถรฯ ถ้าไม่เด็ดขาดองค์กรสงฆ์จะเป็นเสือกระดาษ ทนายแมกไซไซระบุพระไม่ใช้
สมณศักดิ์ซื้อที่ดินสุ่มเสี่ยงต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าตนได้รับรายงานจากกรมการศาสนาว่าในวันที่ 19 มี.ค. นี้มหาเถรสมาคม จะมีการพิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกายแน่นอน โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นที่พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 เสนอและคงมีมติเอกฉันท์ชัดเจนว่าให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติอะไรบ้างทั้งเรื่องการสอนนิพพานเป็นอัตตา ซึ่งนอกจากวัด จะต้องเลิกสอนแล้วควรมีมติให้เก็บและทำลายเอกสารหรือเทปที่มีการเผยแพร่ในเรื่องนี้ให้หมด ที่เหลือ เป็นเรื่องการนำหลักวิปัสสนามาแทนวิชชาธรรมกาย, ปัญหาการเรี่ยไร, การก่อสร้างวัตถุจำนวนมาก โดยอ้างเรื่องบุญเรื่องบาปที่ไม่ถูกต้อง

จะมีการให้พระ ในวัดพระธรรมกายรวมถึงพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ไม่ทำตนให้เป็นโลกวัชชะ หรือชาวโลกติเตียน อย่างเรื่องความสัมพันธ์กับสีกา ที่ต้องมีมติให้ชัดว่า จะให้วัดปฏิบัติตามกฎของมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัด และในวันที่ 16 มี.ค. นายอาคมจะไปกราบนมัสการพระพรหมโมลี เพื่อขอให้มีการพิจารณา การถือครองทรัพย์สินของพระไชยบูลย์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมจะแก้ไขอย่างไร รวมถึงเรื่องการอวดอภินิหาร การอวดอุตริมนุสสธรรม จะมีหนทางให้วัดเลิกสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

"พระพรหมโมลีมีข้อมูลอยู่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอความเห็นการถือครองทรัพย์สินของพระไชยบูลย์ต้องโอนมาเป็นทรัพย์สินของวัด แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาทำให้ประชาชนไม่สบายใจ ต้องการให้มหาเถรสมาคม สร้างความกระจ่างว่าเรื่องใดวัดทำผิดพระวินัยบ้าง ผมจะถามพระพรหมโมลีด้วยว่า หากวัดไม่ยอมปฏิบัติ ตามมติมหาเถรฯจะทำอย่างไรต่อ ขอให้ชัดเจนไปเลย การพิจารณาเรื่องนี้จะนำไปใช้กับวัดอื่น ๆ ด้วย ถ้าตัดสินแล้วเกิดวัดพระธรรมกายไม่ทำตามคนอาจมองว่ามหาเถรฯ เป็นเพียงเสือกระดาษ มติที่ออกมาไม่มีความหมายต่อไปจะปกครองสงฆ์ไม่ได้"

นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายรางวัลแมกไซไซ ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่พระสงฆ์ทำนิติกรรมว่ามหาเถรสมาคมเคยมีประกาศเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2479 ไว้ว่าหากพระภิกษุไปลงนามโดยใช้คำว่า "นาย" และมีวงเล็บต่อท้ายว่า เวลานี้เป็นพระภิกษุซึ่งแสดงภาวะที่ไม่แน่นอนว่าเป็นนักบวชหรือคฤหัสถ์ ถือว่าผิดต้องจับสึกทันที อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการซื้อที่ดินของพระที่ใช้คำนำหน้าว่าพระ แต่ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง ไม่ใช้สมณศักดิ์ ถือว่าหมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะสมณศักดิ์ที่ได้เป็นการได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงต้องดูข้อกฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ การไม่ใช้สมณศักดิ์มองได้ว่ามีเจตนาที่ส่อไปในทางที่ไม่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน จากกรณีที่ "เดลินิวส์" ได้ตรวจสอบพบว่านอกเหนือจากมูลนิธิธรรมกายแล้ว ยังมีมูลนิธิศึกษาธรรม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ส่อเค้าว่าจะเป็นมูลนิธิธรรมกายสาขา 2 ที่วัดพระ ธรรมกายใช้ขยายอาณาจักรไปทั่วประเทศ โดยมูลนิธิดังกล่าว ก่อตั้งโดยลูกศิษย์เอกของพระไชยบูลย์ และไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่ มีการส่งภิกษุ สามเณรจากวัดพระธรรมกายไปอยู่ด้วยนั้น รายงานข่าว จากกรมป่าไม้เปิดเผยว่าการขยายสาขาของธรรมกายไปที่เชียงใหม่ มูลนิธิศึกษาธรรมฯ ยื่นขอใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ลาย ท้องที่ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ถึง 12 แปลง เนื้อที่ 8,343 ไร่ เป็นที่ผืนงามยาวติดต่อกัน โดยอ้างว่า ใช้เพื่อเป็นสถานที่อบรมศีลธรรม จริยธรรมและค้นคว้าทางชีววิทยา ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2508

ปรากฏว่ากรมป่าไม ้ได้อนุมัติให้ใช้ประ โยชน์แล้ว 3 แปลง เนื้อที่ 1,268 ไร่ แปลงแรกเนื้อที่ 30 ไร่ ให้เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2537, แปลงที่ 2 เนื้อที่ 255 ไร่ และแปลงที่ 3 เนื้อที่ 713 ไร่ ให้เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2539

พื้นที่ซึ่งได้รับอนุญาต สำหรับแปลงแรกจะมีการก่อสร้างในที่ป่าด้วย ได้มีการก่อสร้างห้องน้ำ อาคารสัมมนา หอถังน้ำสูง ห้องประชุม อาคารที่พัก 9 หลัง โรงอาหาร ขุดเจาะบ่อบาดาล และถังเก็บน้ำพร้อมเสา และมีการสร้างรั้วรอบขอบชิดทั้งหมด โดยที่ดินผืนแรกที่มีการก่อสร้างนี้ได้รับอนุมัติในสมัยนายผ่อง เล่งอี้ เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ และนายผ่องคือสานุศิษย์คนสนิทของพระไชยบูลย์ เนื้อที่ป่าทั้งหมดกรมป่าไม้ให้เข้าไปทำประโยชน์ถึง 30 ปี โดยเสียแค่เงินค่าเช่าไร่ละ 10 บาทต่อปี

สำหรับพื้นที่อีก 9 แปลงที่เหลือ มีความพยายามผลักดันให้กรมป่าไม้อนุมัติอีก โดยในแปลงที่ 4-10 เนื้อที่ 5,134 ไร่ ส่งให้กรมป่าไม้พิจารณาแล้ว และแปลงที่ 11-12 เนื้อที่อีก 1,941 ไร่ ให้อำเภอเพื่อส่งเอกสารพิจารณา อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่เหลือคาดว่าจะไม่ได้รับการพิจารณา เนื่อง จากนายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ อาจไม่อนุญาตการใช้ที่ดินเพิ่มเติมอีก

การขออนุญาต ใช้พื้นที่นั้น ประชาชนทั่ว ไปสามารถขออนุญาตได้ ตามกฎหมายจะอนุญาตในกรณีปลูกสวนป่า ที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม และธุรกิจระเบิดและย่อยหิน กรณีมูลนิธิศึกษาธรรมขอเช่าใช้พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และศึกษาพืชสมุน ไพร พร้อมใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในพื้นที่บริเวณเดียว กันที่มูลนิธิศึกษาธรรมฯไปยื่นขอเช่าที่ป่านั้น นางจิราวัฒน์ ศรีสัตนา ศิษย์เอกคนสนิทของพระไชยบูลย์อีกคนก็ไปกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จำนวน 41 แปลง เนื้อที่ประมาณ 873 ไร่ โดยซื้อในนามของตัวเอง 3 แปลง เนื้อที่ 63 ไร่และซื้อในนามบริษัทสวนสนบ้านบ่อหลวง ที่นางจิรา วัฒน์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเต็มแต่เพียงผู้เดียวอีก 810 ไร่ ที่ดินทั้งหมดเข้าไปซื้อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เรื่อยมา โดยซื้อใบจองหรือ นส. 2 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2503 ที่ดินที่ซื้อมาครั้งแรกยังมีปัญหาว่าอยู่ในเขตป่าหรือไม่ แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกกันออกนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ลาย ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่กษ. 0705.2/10152 ลงวันที่ 6 เม.ย. 2534 และ ที่ กษ. 0705.2/24476 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2534

รายงานข่าว จากกองบัญชาการตำรวจภาค 1 เปิดเผยว่า ตำรวจภาค 1 กำลังติดตามการก่อตั้งมูลนิธิศึกษาธรรมฯเช่นกัน นอกจากนั้น ตำรวจยังมีจดหมายของกองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระตำ หนักนนทบุรี ถึงนายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 แล้ว ที่เป็นหนังสือด่วนที่สุด ขอยกเลิกการพระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิอยู่ในพระราชูปถัมภ์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองกิจการในพระองค์ฯ มิได้รับรายงาน ผลการดำเนินงานฯรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในพื้นที่รับผิดชอบของมูลนิธิฯ การดำเนินการต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ๆ ในพื้นที่ความรับผิดชอบ ของมูลนิธิฯอาจส่งผลให้เกิด ความเสื่อมเสียพระเกียรติยศตามมาในภายหลังได้ เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ กองกิจการในพระองค์ฯ จึงขอยกเลิกการให้มูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ในพระราชูปถัมภ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.