เดลินิวส์ 12/3/2542

ยังชี้ขาด'ธรรมกาย'ไม่ได้ สั่งนำข้อมูล'ธัมมชโย'ขั้นปาราชิกมาถกด้วย

เสียงสาธุการกระหึ่มทั่วประเทศ มหาเถรฯตีตกข้อเสนอพระพรหมโมลี ที่ให้แก้ปัญหาธรรมกายเฉพาะคำสอนนิพพานเป็นอัตตากับการเพ่งลูกแก้ว สั่งอีกครั้ง นำข้อมูลกรรมาธิการศาสนาฯ เข้าที่ประชุมชุดใหญ่ ย้ำต้องยึดหลักความเป็นธรรมความสามัคคีที่ถูกต้อง นำข้อหา "ธัมมชโย" ถึงปาราชิกต้องจับสึกฐานอวดอุตริมนุสธรรมชี้ขาดด้วย เกิดเรื่องพิกลจดหมายธรรมกายส่งถึงเจ้าคณะภาค 1 ตั้งแต่ 5 มี.ค. รู้ล่วงหน้าว่าเกิดอะไร ขนาดเทศน์ให้สาวกเชื่อฟังมหาเถรฯ อ่านกันชัด ๆ งานนี้ไม่ใช่ยอมรับคำตัดสิน แต่ทำตาม "คำแนะนำ" ในการปรับปรุงวัด อาคมประกาศทุกอย่างยังไม่ยุติ นายกฯ เปิดช่องไว้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชขอให้สะสางปัญหาเพิ่มได้อีก

ปัญหาวัดพระธรรมกายมาถึงจุดสำคัญเมื่อพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 เตรียมเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมในวันที่ 11 มี.ค.นี้ให้ตัดสินปัญหาเพียง 4 ประการ ประเด็นหลักคือการเลิกสอนนิพพานเป็นอัตตา แก้ไขการนั่งสมาธิแบบวิชชาธรรมกาย และการเรี่ยไร โดยตัดข้อมูล ของกรรมาธิการการศาสนาฯทิ้งทั้งหมดแม้มหาเถรสมาคมจะมีมติให้
พระพรหมโมลีนำไปพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้พิจารณาวินัยพระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสถึงขั้นปาราชิกต้องจับสึกในข้อหาอวดคุณวิเศษไม่มีในตน รวมถึงการถือครองที่ดิน และการเกี่ยวพันธุรกิจที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เช้าของวันที่ 11 มี.ค.เกิดความเคลื่อนไหวทันที โดยเวลา 08.00 น. นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ ออกรายการ "เพื่อบ้านเพื่อเมือง" โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดำเนินรายการ นายอาคมกล่าวว่าตนได้รับรายงานการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายจากกรมการศาสนาที่พระพรหมโมลี ขอให้ไปช่วยเขียนคำพิจารณา เสนอมหาเถรสมาคมโดยจะแก้ไขเรื่องคำสอนที่เน้นนิพพานเป็นอัตตาและพระไชยบูลย์ยินดีแก้ไข

"ผมให้สังเกตคำเทศนาพระธัมมชโย เมื่ออาทิตย์ที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมาบอกว่าให้ลูกศิษย์เชื่อคำวินิจฉัยมหาเถรฯ แม้วันนั้นพระไชยบูลย์ยังพูด อายตนนิพพานที่ยังแสดงความเชื่อว่านิพพานเป็นอัตตาอยู่ก็ตาม พระไชยบูลย์ยังกล่าวให้สานุศิษย์รับฟังมติมหาเถรฯ ยังมีอีกประเด็น ที่เจ้าหน้าที่รายงานให้ทราบคือพระพรหมโมลี
จะลงไปกำกับดูแลวัดพระธรรมกายอย่างใกล้ชิด คล้าย ๆ กับเป็นเจ้าอาวาสซ้อนเจ้าอาวาส"

ประเด็นต่อไปที่พระพรหมโมลีจะให้แก้ไขคือการทำสมาธิแนวธรรมกายที่เพ่งลูกแก้ว ที่เป็นสมาธิพื้นฐาน ทางแก้คือต้องตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นมา และจากเอกสารก็พบว่าแม้แต่หลวงพ่อสด จันทสโร ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายในช่วงปลายชีวิตก็เห็นว่าวิธีนี้ไม่ใช่ทางหลุดพ้น ต้องกลับมาทางสายวิปัสสนาในที่สุด

นายอาคมกล่าวว่าประเด็นที่พระพรหมโมลีให้ข้อสังเกตคือวัดพระธรรมกายมีพระเปรียญธรรมถึง 200 รูป ถือว่ามากสุดในประเทศ หากนำมาเผยแผ่ศาสนาจะยิ่งใหญ่มาก เข้าใจว่าพระเปรียญธรรมเหล่านี้เข้าไปทีหลังด้วยการอุปการะ อุดหนุน จึงไม่กล้าโต้แย้งพระไชยบูลย์ในเรื่องคำสอน เหมือนกับอยู่ภายใต้การปกครอง เพราะเห็นว่าสอนผิดเพี้ยนไปก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการตัดสินปัญหาวัดพระธรรมกายเพียงแค่ 2 ประเด็นนี้จะเป็นมวยล้มเพราะไม่ได้นำเอาข้อมูลอื่นมาใช้ประกอบด้วยนั้น นายอาคมกล่าวว่าปัญหาธรรมกายนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง และได้ขอให้ตนไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นกรณีพิเศษ จากนั้นนายชวนก็เข้าเฝ้าเอง เมื่อวันที่ 9 มี.ค.และสมเด็จพระสังฆราช ได้ทำบันทึกให้นายชวนด้วย ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาธรรมกายได้

บันทึกดังกล่าวมีใจความว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงพบและปรึกษาหารือกับสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดสระเกศ และสมเด็จมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม มีความเห็นต้องกันว่าปัญหาวัดธรรมกายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องใช้ความรอบคอบในการปฏิบัติแต่จะตั้งใจแก้ไขให้เรียบ ร้อย โดยกำลังปรึกษาหารือร่วมกับกรรมการมหาเถรสมาคม อย่างไรก็ตาม กำลังสำคัญที่จะแก้ไขปัญหานี้คือรัฐบาลที่มีอำนาจ และกำลังพร้อม และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แม้มหาเถรสมาคมทุ่มเทกำลังจะไม่พบความสำเร็จด้วยดี เพราะไม่มีกลไก เหตุการณ์นี้มาเกิดในสมัยที่รัฐบาลจงรักภักดี จึงนับว่ายังโชคดีมาก

"จากบันทึกนี้ผมเชื่อว่าการพิจารณาจะออกมาอย่างไร ถ้าประชาชนไม่พอใจ นายกฯกราบทูลแล้วจะให้ผมไปประสานใกล้ชิด ผมมีช่องทางอยู่ไปกราบทูลตามความต้องการของประชาชนที่อยากให้บริสุทธิ์จริง ๆ"

สำหรับเรื่องการเรี่ยไรบุญนายอาคมกล่าวว่า เคยให้นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการไปกราบขอความเห็น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านให้ข้อคิดว่าจริง ๆ ในสถานการณ์อย่างนี้ วัดพระธรรมกาย ต้องเปลี่ยนแปลง อย่าตั้งเป้าเรี่ยไรเงินเท่านั้นเท่านี้ วิธีการอย่างนี้นายอาคมกล่าวว่าเป็นวิธีการตลาดขายบุญ
จะหมิ่นเหม่ต่อกฎมหาเถรสมาคมที่ห้ามเรี่ยไร และการทำบุญต้องทำตามศรัทธา

ส่วนข้อหาอื่น ๆ อาทิ เรื่องสีกานายอาคมกล่าวว่าจากข้อมูลของกรรมาธิการการศาสนา ยังไม่ได้กล่าวหาพระไชยบูลย์ต้องปาราชิก และเพียงแต่ส่อเค้าพฤติกรรมจะเป็นที่โลกติเตียนของชาวโลกหรือโลกะวัชชะ ในทำนองไปอยู่กับสีกาสอง ต่อสองเท่านั้น แต่หลักฐานเรื่องการถือครองที่ดินค่อนข้างชัดเจน ตำรวจภาค 1 ดำเนินการอยู่แล้ว เพราะมีชื่อของพระไชยบูลย์เป็นเจ้าของหลายโฉนด มหาเถรสมาคมเองต้องพิจารณาเหมาะสมหรือไม่ มีที่ดินลักษณะนี้ที่ใช้ชื่อเจ้าอาวาส รวมถึงมหาเถรสมาคมมีกฎอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับจดหมายที่พระไชยบูลย์ลงนามส่งถึงพระพรหมโมลี ได้ทำตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยจด หมายดังกล่าวไม่ใช่การยอมรับคำตัดสินแต่ระบุว่าเป็นเรื่อง "รับทราบคำแนะนำ" โดยเนื้อหาว่าตามที่พระเดชพระคุณได้เมตตาแนะนำให้วัดพระธรรมกายปรับปรุงการทำงานในด้านต่าง ๆ ของวัดนั้น เกล้าฯได้รับทราบแล้ว และจักปฏิบัติตาม "คำแนะนำ" นั้น ๆ โดยเคารพต่อไป หากพระเดช พระคุณ มีข้อแนะนำหรือข้อท้วงติงใด ๆ ขอได้โปรดเมตตาอนุเคราะห์แจ้งให้ทางวัดทราบด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

จดหมายดังกล่าวพระพรหมโมลีเก็บรักษาไว้ โดยถึงแม้ในวันที่ 5 มี.ค. วันเดียวกันนั้นจะมีการประชุมมหาเถรฯก็ไม่มีการนำจดหมายนี้เสนอเข้าไปหรือแจ้งให้ทราบ เพราะพระพรหมโมล ีไม่ได้เข้าประชุมมหาเถรฯ และเพิ่งมาเปิดเผยข้อความเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ก่อนจะประชุมมหาเถรฯ นัดนี้เพียง 1 วัน

วันเดียวกันเวลา 08.00 น. นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เดินทางไปนมัสการสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม กรรม การมหาเถรสมาคม เนื่องในวันคล้ายวันเกิด และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์มอบเหรียญที่ระลึก และรูปปั้นลิงปิดหูปิดตาปิดปากให้ หลังจากนั้นนายชวนสำรวจคลองบางกอกน้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดมาหยุดลง ณ เวลา 14.00 น. ที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคมเรียกประชุม เพื่อพิจารณา ข้อเสนอของพระพรหมโมลี ปรากฏว่าที่ประชุมใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง และมีข้อสรุปไม่ตัดสินตามข้อเสนอของพระพรหมโมลี เนื่องจากไม่มีการนำข้อมูลของกรรมาธิการการศาสนามาพิจารณา แม้ว่ามหาเถรสมาคม เคยมีมติเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ให้นำมาพิจารณาด้วย

นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่าการประชุมครั้งนี้มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานถือเป็นการนำเข้าหารือเป็นครั้งที่ 4 และได้นำข้อสรุปของพระพรหมโมลีเสนอเข้าที่ประชุม โดยผ่านสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเห็นว่าเอกสารชิ้นสุดท้ายเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายของคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ กรมการศาสนาเพิ่งมอบให้กรรมการมหาเถรสมาคมในวันนี้ หากพิจารณาอย่างเร่งด่วนอาจไม่รอบคอบ ไม่ละเอียดพอ ที่สำคัญมหาเถรสมาคมยึดหลักให้ความเป็นธรรม และสร้างความสามัคคี ที่ถูกต้องในชาติศาสนา จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุดและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

"การประชุมวันนี้เพียงได้ข้อสรุปจากพระพรหมโมลี แต่มติของมหาเถรฯ คือขอไปศึกษาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ผมเพิ่งถวายเอกสา รต้องให้ท่านกลับไปอ่านก่อน หากท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติมจากข้อสรุปของพระพรหมโมลีสามารถเสนอได้ ส่วนการที่พระไชยบูลย์ลงนามยอมรับกับพระพรหมโมลีไปแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นคำตัดสิน เป็นเพียงข้อเสนอแนะของพระพรหมโมลี ผลที่สุดแล้วต้องรอการศึกษาวิเคราะห์จากมหาเถรสมาคมก่อน แต่ไม่ทราบว่าจะเสร็จสิ้นและนำเข้าที่ประชุมครั้งหน้าหรือไม่" นายพิภพกล่าว

พระราชธรรมนิเทศ หรือพระมหาระแบบ ฐิตญาโณ วัดบวรนิเวศ กล่าวว่าการตัดสินปัญหาทั้งหมดจะยุติต่อเมื่อมีการลงพระนามของสมเด็จพระสังฆราชแล้ว แต่ต้องแยกประเด็นพิจารณาโดยในแง่ทางกฎหมาย ทั้งเรื่องสีกา เรื่องนิติกรรม ถ้ามีจริงก็ต้องดำเนินคดีทางโลกไปหากผิดตามกฎหมาย

พระราชกวี สัญญโต รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย กล่าวว่า หากมีการตัดสินวัดพระธรรมกายสอนผิดต้องมีการทำลายเอกสาร เทป หนังสือคำสอนทั้งหมด ไม่ใช่ยอมรับว่าผิดแล้วยังดำเนินการต่อไป เหมือนกระบวนการกฎหมายทั่วไป หากยอมรับแต่ปาก และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกระบวนการศาสนาจะใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม คือการประกาศนียกรรมให้โลกทราบ รู้ ว่าคนนี้ประพฤต ิไม่เหมาะกับหมู่คณะ เป็นการลงโทษอาจจะใช้กรณีก็ได้ เช่น การขับไล่ หรือการถอดยศลดตำแหน่ง ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของผู้บริหารที่จะทำ มีระเบียบวินัยอยู่ คงจะไม่ตัดสินคนเดียว แล้วแต่จะตกลงร่วมกัน