เดลินิวส์ 9/3/2542

แฉธัมมชโยซื้อที่ดิน ส่อเจตนาเลี่ยงภาษี ผิดชั้นอาบัติถึงปาราชิกต้องสึก

แฉกันจะ-จะ "ธัมมชโย"ฉ้อฉลซื้อที่ดินต่ำกว่า ราคาประเมินอื้อซ่า ทั้งในนามส่วนตัว รวมถึงมูลนิธิธรรมกาย ส่อเจตนาเลี่ยงภาษี ปิดบังทรัพย์สิน เฉพาะที่สุพรรณบุรีที่ดิน 18 ไร่ แจ้งแค่ 2 ล้าน ต่ำกว่าราคากรมที่ดินเกือบ 10 ล้าน ระบุผิดชั้นอาบัติถึงปาราชิกต้องสึก เรียกร้องให้หน่วยราชการสืบสวนเป็นคดีอาญา มหาจุฬาลงกรณ์ ออกหนังสือเฉพาะกิจลูกศิษย์ธรรมกาย เขียนเปิดโปงเหตุการณ์ตะวันแก้วที่แท้เป็นเรื่อง
ธรรมชาติที่สายตาพร่ามัวเมื่อมองดวงอาทิตย์ ไปจ้องที่หลังคาบ้าน ก็เห็นเหมือนกับที่วัด ระบุเจ้าอาวาสตัวการทำลัทธิคลั่งบุญ ใครไปบวชกลายเป็นเซลล์แมนขายบุญให้วัด

จากกรณี ที่มีการติดตามความไม่ชอบมาพากลของวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะพฤติกรรมของพระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายทั้งในเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวพันกับวัด และการถือครองที่ดิน ทั้งถือครองในนามตัวเอง
และถือครองทางอ้อมในนามมูลนิธิธรรมกายเกือบ 5 พันไร่นั้น เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซื้อที่ดินเหล่านี้หลายแปลงมีหลักฐานชัดเจนว่า มีการแจ้งมูลค่าที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริง โดยประโยชน์ที่จะได้รับก็คือการเสียภาษีที่ดินต่ำกว่าอัตราที่ต้องเสีย และอีกประการก็คือเป็นการปกปิดทรัพย์สินที่แท้จริงไม่สาธารณชนรับทราบ

สำหรับการซื้อที่ดิน ในชื่อมูลนิธิธรรมกาย หลักฐานที่พบนั้นอาทิการซื้อที่ดินในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 13 แปลง เนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 54.5 ตารางวา ในต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้องพบว่ามีการแจ้งราคาที่ดินต่ำกว่าราคาประเมินทุกแปลง

มูลนิธิธรรมกายจะส่งคน 4 คนเข้าไปไล่ซื้อที่ดินได้แก่นายปรัชญา ก้อนจันทร์ ,นางนวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ ,นายวีระศักดิ์ ฮาดดา ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการมูลนิธิธรรมกายและนายอำนวยศักดิ์ โตศิริพัฒนา ที่ปัจจุบันบวชเป็นพระชั้นในของวัดพระธรรมกาย
เป็นพระอำนวยศักดิ์ มุนิสักโก

ที่ดินผืนแรกที่มูลนิธิซื้อเป็น โฉนดที่ 995 ซื้อจากนางถนอม ศรีทองสุข เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2535 เนื้อที่3 ไร่ 1งาน10 ตารางวา ราคา 1 ล้านบาท แต่ราคาประเมินที่ดินผืนนี้สูงถึง 2,310,000 บาท

ในปี 2536 มูลนิธิซื้ออีก 2 แปลงเป็นโฉนดเลขที่ 945 จากนายฉลอม มีแก้วน้อย แจ้งราคาซื้อ-ขายที่ 2 แสนบาท แต่ราคาประเมิน กลับสูงถึง 356,000 บาท อีกแปลงเป็นโฉนดเลขที่ 944จำนวน 1ไร่3งาน34 ตารางวา ซื้อจากพี่น้องตระกูลสุขเจริญ แจ้งราคา 3 แสนบาท แต่ราคาประเมินสูงถึง 3.67 แสนบาท

ที่ดินที่เหลือกว้านซื้อในปี 2539-2540 ได้แก่โฉนดเลขที่ 940 จำนวน 7 ไร่ 1 งาน ซื้อจากนางย้อม โกมล โดยแจ้งราคา 7 แสนบาท แต่ราคาประเมิน จะมีมูลค่าถึง 2.9 ล้านบาท โฉนดเลขที่12911 ซื้อจากนางสาวทองชุบ ศรีทองเกิด จำนวน 50 ตารางวา ราคาซื้อ-ขายที่แจ้ง 35,000 บาท แต่ราคาประเมินอยู่ที่ 50,000 บาท

โฉนดที่ 20395และ20316 ซื้อจาก นางชวนพิศ ศรีสมปอง ทั้ง 2แปลง เนื้อที่รวม 387 ตารางวาแจ้งราคาซื้อ-ขาย 3.5 แสนบาท แต่ราคาประเมินของกรมที่ดินอยู่ที่ 1,935,000 บาท

โฉนดที่ 20377,20379,20380,20381และ20382 จำนวน 5 แปลง จากนางสาลี เพ็ชร์ชูดี พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 84.5 ตารางวา แจ้งราคาซื้อ-ขาย 1.6 แสนบาท แต่ราคาประเมิน อยู่ที่ 2,818,500 บาท สุดท้ายโฉนดเลขที่ 20378 ซื้อจากนางองุ่น ทองอ่อน ราคา 20,000 บาท จำนวน 277 ตารางวา แต่ราคาประเมินอยู่ที่ 1,385,000 บาท

จากหลักฐานเฉพาะที่สุพรรณบุรีมูลนิธิธรรมกายแจ้งราคาซื้อที่ดินแค่ 2,765,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินอยู่ที่ 12,121,500 บาท หรือต่ำกว่าราคาประเมินเกือบ 10 ล้านบาท และปกติราคาซื้อขายที่ดินจะสูงกว่าราคา
ประเมินอยู่แล้ว เท่ากับว่าราคาที่ดินที่มูลนิธิแจ้งต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ส่อเค้าจะเกิดการเลี่ยงภาษีและ
ปกปิดฐานะของมูลนิธิ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าไม่เพียงการซื้อที่ดินในนามมูลนิธิเท่านั้น แม้กระทั่ง การซื้อที่ดินในนามของพระไชยบูลย์เองก็แจ้งราคาซื้อ-ขายต่ำกว่าความเป็นจริง อาทิการซื้อที่ดินโฉนดที่ 17927 ที่ต.ไทรใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จากนางเรณู ปลื้มเจริญ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2536 จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา แจ้งราคาซื้อ-ขายแค่ 5 แสนบาท แต่ราคาประเมินของกรมที่ดินกลับสูงถึง 1,072,000 บาท

ทางด้านพระพิศาลธรรมพาทีหรือพระพระพยอม กัลญาโน ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พระไชยบูลย์ แจ้งราคาที่ดินที่ถือครองอยู่ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงว่า เรื่องนี้หากเป็นเรื่องจริง เป็นการกระทำผิดถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ เพราะเป็นการกล่าวโกหกเพื่อให้ได้มา
ซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ที่หนักเห็นจะเป็นเรื่องของการโกงชาติโกงแผ่นดิน โดยการจ่ายภาษีไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผิดมากถึงกับปาราชิกเลย

ส่วนพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตอบคำถามเดียวกันนี้ว่า เรื่องนี้เข้าข่ายผิดพระธรรมวินัยครบทุกขั้นตอนแล้ว คือมีความตั้งใจที่จะโกหก มีเจตนาที่จะโกหก วาจาที่กล่าวเป็นวาจาเท็จ และสุดท้ายผู้ที่รับฟังมีความเชื่อวาจาที่กล่าวเท็จนี้ ความผิดในส่วนคือการโกหก ขั้นของความผิดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการโกงทรัพย์ นอกจากผิดขั้นอาบัติปาจิตตีย์แล้ว ยังมีความผิดทางโลกด้วย เพราะการเป็นคดีอาญา ทางราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดำเนินการ

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จัดทำหนังสือŽวัดพระธรรมกาย จากหลายมุมมองŽขึ้น โดยเนื้อหาเป็นการรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายในด้านต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีบทความพิเศษŽจดหมายถึงพระน้องชาย วัดพระธรรมกายŽเขียนโดยอดีตผู้ที่เคยบวชธรรมทายาทรุ่นที่ 14 พ.ศ. 2528 โดยการบวชรุ่นนั้นมีพระเผด็จ ทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสเป็นพระอาจารย์และพระสมชาย ฐานวุฒโฑ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วัดพระธรรมกายเป็นพระพี่เลี้ยง

บทความดังกล่าวได้ระบุถึงการสอนพระภิกษุใหม่ในโครงการธรรมทายาทช่วงปี 2528 ว่ามีคำสอนที่แปลกแยกแล้ว เพราะจะต้องให้เชื่อฟังหลวงพ่อหรือหลวงพี่ที่พูดออกมา ไม่ว่าการกล่าวถึงศาสดา ของศาสนาอื่นตกอยู่ในขุมนรกไหนก็ต้องเชื่อแต่ขณะนั้นก็เชื่อถือไปเพราะยังเป็นเด็กอยู่

แต่ที่แย่สุดคือการบวชธรรมทายาทปี 2541 ที่ไม่ใช่บวชเพื่อศึกษาธรรมะอีกแล้ว พระใหม่ต้องเป็นพนักงาน
ขายบุญของวัด คอยปิดการขาย ส่งเอกสารบุญรุ่นใหม่ ๆ ให้ญาติโยมตลอดเวลา โดยจะแยกบุญเป็นสินค้า
หลายประเภททั้งบุญพิเศษ บุญใหญ่ ฯลฯ และการทำบุญแต่ละประเภทจะได้บุญไม่เหมือนกัน

แม้กระทั่งพระไชยบูลย์เอง ยังเทศน์เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2541 เรียกร้องให้ญาติโยมเป็นประธาน
รองสร้งมหาธรรมกายเจดีย์ด้วยวงเงิน 1 ล้านบาท โดยใครมีบ้านขายบ้านใครมีรถขายรถ โดยพระไชยบูลย์จะนำรายชื่อคนที่เป็นประธานรองไปทำวิชชาธรรมกายให้ด้วยตนเอง เหมือนกับการ อัดวิชชาธรรมกายให
้ การเรียกร้องของพระไชยบูลย์เช่นนี้ทำให้คนเขียนทนไม่ได้เพราะเดิมเคยคิด
ว่าการถ่ายทอดคำพูดและกา1รสอนผิด ๆ เป็นเรื่องของคนมาวัดพูดกันไปต่าง ๆ นาน ๆขาดการดูแลที่ทั่วถึง แต่เมื่อได้ฟังจากปากพระไชยบูลย์ทำให้หมดความอดกลั้น และรู้ว่าการอวดอ้างบุญบารมี รวมถึงการโฆษณาปาฎิหารย์วันอัศจรรย์ตะวันแก้วแท้ที่จริงแล้วเกิดจากพระไชยบูลย์

อย่างไรก็ตามผู้เขียนคนเดิมได้เดินทางไปวันพระธรรมกายอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 11 ต.ค. 2541 เพื่อพิสูจน์เหตุการณ์ วันอัศจรรย์ตะวันแก้ว เพราะในวันเสาร์ที่ 10 ต.ค. เป็นวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อสด จันทสโร ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ถ้าไม่มีปาฎิหารย์วันเสาร์ก็ต้องมีวันอาทิตย์ที่คนมาวัดมาก แม้ในวันอาทิตย์นั้น พระไชยบูลย์จะพูดว่า อย่าคาดหวังว่าปาฎิหารย์จะเกิดขึ้นอีกแต่คนจำนวนมากก็เดินทางไปยังธรรมกายเจดีย์ ปรากฎว่าคนเขียนก็เห็นเหตุการณ์อัศจรรย์ด้วยตัวเอง โดยในเวลา 17.05 น. ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ หายไปเหลือเพียงแสงสว่างจ้าบนท้องฟ้า สักพักดวงอาทิตย์ ก็กลับมาอีกที่เดิมลักษณะดวงกลมใสสว่าง ๆ ขอบ ๆ ดวงอาทิตย์จะสั่นนิด ๆ คนเขียนถึงกับตกตะลึง และก้มหน้ามองพื้นจากนั้นมองขึ้นไปก็เห็นเหมือนเดิม เมื่อหันไปทางพระสงฆ์ที่นั่งบนเจดีย์ก็เห็นจีวรกลายเป็นสีชมพู สีส้ม สีฟ้าสลับกัน ทำเอาขนลุกเกรียว

อย่างไรก็ตามอีกสัปดาห์ถัดมาคนเขียนได้ไปมองดวงอาทิตย์ที่บ้านของตัวเองในเวลาเดิม ก็พบว่าเหตุการณ์ที่บ้านก็เหมือนกับที่วัด และเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ปาฎิหารย์ ที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากปฏิกริยาธรรมชาติระหว่างแสงอาทิตย์และดวงตาของคน แต่วัดพระธรรมกายกลับนำเหตุการณ์นี้มาเป็นอุบายขายบุญแบบบ้าคลั่ง และได้เรียกร้องให้ธรรมทายาทรุ่นใหม่ใช้สติปัญญาพิจารณาความถูกผิดด้วย