มหาเถระยังยื้อปล่อยธัมมชโย'ลอยนวล'

มหาเถรสมาคมยังไม่พิจารณาตัดสินวัดพระธรรมกายตามข้อสรุปของเจ้าคณะภาค 1 แต่ขอศึกษารายละเอียดตามข้อมูลของคณะกรรมาธิการการศาสนาอีกรอบก่อนตัดสิน ขณะที่เจ้าอาวาสทำหนังสือยอมปรับปรุงการทำงานต่างๆ แล้ว กรุงเทพโพลล์ระบุชาวพุทธเสื่อมศรัทธา จี้รีบตัดสิน ขณะเดียวกันใบปลิวธรรมกายเกลื่อน จ.ศรีสะเกษ เชิญชวนนักเรียน-นักศึกษา ไปบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน เสียค่าบวชคนละพันห้าร้อย คาดเงินเข้าวัดถึง 30 ล้าน

ภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเป็นองค์ประธาน นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนาได้นำเรื่องวัดพระธรรมกายเข้าสู่ที่ประชุม โดยนำข้อสรุปวินิจฉัยของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งเป็นเจ้าคณะปกครอง เข้าที่ประชุม แต่เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้นำเอกสารของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมเสนอมหาเถรสมาคม ที่ประชุมวันนี้จึงมีมติให้กรรมการมหาเถรสมาคมได้ไปศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ให้มากที่สุดก่อนพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า "เอกสารชิ้นสุดท้ายเพิ่งได้วันที่ 5 และ 9 มีนาคม ได้ข้อสรุปของพระพรหมโมลี เพราะฉะนั้นการที่จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรีบด่วน อาจจะเป็นการไม่รอบคอบ ไม่มีความละเอียดพอเพียง เรื่องของพระศาสนาต้องมีความละเอียดอ่อนเรื่องนี้ให้มากที่สุด โดยมหาเถรสมาคมจะยึดหลักให้ความเป็นธรรม สร้างความสามัคคีที่ถูกต้องในชาติและศาสนา ผมมั่นใจว่าพวกเราน่าจะอดใจรออีกสักนิด การพิจารณาเรื่องนี้จะมีความรอบคอบละเอียดและถูกต้องมากยิ่งขึ้น"อธิบดีกรมการศาสนากล่าวและว่า หากมีความเห็นเพิ่มเติมจากข้อสรุปของพระพรหมโมลีก็เสนอเพิ่มเติมได้ ส่วนการที่พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เซ็นรับคำวินิจฉัยของพระพรหมโมลีนั้นถือว่าเป็นรับคำแนะ นำเท่านั้น แต่คำตัดสินพิจารณาต้องรอก่อน

ก่อนการประชุม นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษา ธิการ กล่าวว่า ในเบื้องต้นเชื่อมั่นคำตัดสินกรณีวัดพระธรรมกายของมหาเถรสมาคม เพราะเป็นองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ รวมทั้งการพิจารณาสรุปของพระพรหมโมลี ซึ่งก็ได้ยืนยันว่า จะตัดสินบนหลักความถูกต้อง ตัดความสัมพันธ์ส่วนตัวออกไป ทั้งนี้มหาเถรสมาคม จะเป็นผู้เข้าไปกำกับให้คำพิจารณาที่วินิจฉัยแล้ว สามารถมีผลในด้านการปฏิบัติด้วย เนื่องจากหลายฝ่ายห่วงว่าวัดพระธรรมกายจะไม่ยอมปฏิบัติตาม

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ประเด็นอื่นที่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น มหาเถรสมาคมก็ต้องมีการพิจารณาเช่นประเด็นการเรี่ยไรเงิน การแสดงอภินิหาร ทรัพย์สินของวัดหรือทรัพย์สินของเจ้าอาวาสเช่นเรื่องที่ดิน ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่ามีชื่อเจ้าอาวาสในโฉนดที่ดินหลายแปลง แม้ว่าจะอ้างว่ามีคนบริจาค แต่มหาเถรสมาคมก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีวัดพระธรรมกายถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในหมู่ชาวพุทธ เพราะในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเริ่มรู้หลักคำสอนที่ถูกต้องมากขึ้น โดยเฉพาะคำว่านิพพานเป็นอนัตตา ต่อไปวัดหรือพระจะสอนตามอำเภอใจไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าองค์กรคณะสงฆ์ยังมีความเข้มแข็งอยู่

สำหรับการลงนามยอมรับคำวินิจฉัยของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นหนังสือลงนามยอมรับเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า "เป็นเรื่องรับทราบคำแนะนำ กราบเรียนพระเดชพระคุณพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ตามที่พระพรหมโมลีได้เมตตาให้วัดพระธรรมกายปรับปรุงการทำงานในด้านต่างๆของวัดนั้น เกล้าฯได้รับทราบและจักปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ด้วยความเคารพต่อไป และหากพระเดชพระคุณท่านยังมีคำแนะนำหรือข้อท้วงติงใด ขอได้โปรดเมตตาอนุเคราะห์แจ้งให้ทางวัดทราบด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง พร้อมลงชื่อ พระธัมมชโย"

พล.ต.ท.อนันต์ ภิรมย์แก้ว ผบช.ภ.1 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ใดในกรณีของวัดพระธรรมกาย เพราะยังไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ติดตามรวบรวมหาพยานหลักฐานเตรียมไว้เท่านั้น

ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สำรวจพบปัญหาวัดพระธรรมกาย มีผลต่อจิตใจพุทธศาสนิกชนมาก ถึงร้อยละ 62.2 ส่วนใหญ่ต้องการให้มหาเถรสมาคมพิจารณาแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วถึงร้อยละ 58.4 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามในอนาคต รวมทั้งประชาชนต้องการความโปร่งใสในเรื่องการบริจาค ร้อยละ 87.7 เห็นว่าเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส ถือครองโฉนดที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เป็นมูลค่านับล้านบาท เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน ได้มีใบปลิววัดพระธรรมกาย ได้แจกจ่ายไปทั่ว จ.ศรีสะเกษ เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ไปบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน โดยได้ตั้งเป้าหมายทั่วประเทศให้ได้ 200,000 รูป โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 1,500 บาท คาดว่ามีเงินเข้าวัดถึง 30 ล้านบาท


กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2542