กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2542

สวช.จี้สอบมูลนิธิคนไทยพบผิดยกเลิก

สวช.ติดตามมูลนิธิความหวังคนไทยอย่างใกล้ชิด หากพบผิดจะยกเลิกทันที ขณะที่มูลนิธิแก้ข้อกล่าวหาปฏิเสธดึงนักการเมืองมาเป็นฐาน แต่ยอมรับมีการเรี่ยไรจริง ด้าน กศน.ประกาศจะเลิกจ้างครูที่บังคับให้นักเรียนบวชอุบาสกแก้ว วัดพระธรรมกาย ในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ด้าน คกก.เตรียมข้อมูลส่งคณะภาค 1 พิจารณาวันนี้

ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวกรณีที่คณะกรรมาธิการการศาสนาระบุว่ามูลนิธิความหวังของชาวไทย มีการดำเนินการที่เป็นอันตรายต่อสังคม และสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ว่า มูลนิธิดังกล่าว ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2530 โดยแสดงความประสงค์ว่าจะเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งในการจดทะเบียนนั้น ก็ไม่ได้ระบุว่าจะทำการเผยแพร่ทางศาสนาแต่อย่างใด แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ทางมูลนิธิได้ยื่นความจำนง ขอเพิ่มวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่พระศาสนา ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ สวช.ได้ประสานไปยังกรมการศาสนา และได้รับคำตอบปฏิเสธกลับมา

ทั้งนี้การขออนุญาตให้มูลนิธิสามารถจดทะเบียนได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนแรก ซึ่ง สวช.ก็ได้ติดตามเฝ้าดูความประพฤติของมูลนิธิดังกล่าวมาโดยตลอด ยังไม่พบว่าได้ประพฤติไปในทางเสื่อมเสีย ทั้งนี้ สวช.มีหน้าที่กลั่นกรองมูลนิธิที่ขอจัดตั้งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ไม่ใช่หน้าที่ในการควบคุมดูแล โดย สวช.ก็มีข้อมูลเข้ามาสองด้าน ทั้งข้อมูลที่เป็นความจริงและไม่จริง ซึ่ง สวช.ก็จะติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิต่อไป และหากพบว่ามีหลักฐานที่ไม่ตรงกับที่ได้รับรายงาน ก็จะพิจารณาดำเนินการเพิกถอนเฉพาะจุดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้แต่เดิมต่อไป

ขณะที่ น.ส.รูบินา กรัยวิเชียร ผู้ดูแลมูลนิธิความหวังของชาวไทย ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการการศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาชี้แจงว่า มูลนิธิความหวังใหม่ของชาวไทย ได้รับการจัดตั้งถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย และดำเนินการอย่างถูกต้องทั้งในแง่กฎหมายและศีลธรรม ซึ่งได้ประกอบพิธีกรรมตามปกติในศาสนาคริสต์ ปกติวันละ 1 รอบ แต่วันอาทิตย์จะมี 4 รอบ ได้มีการเรี่ยไรจริง ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้ตรวจสอบเรื่องการเงินของมูลนิธิมาตลอด จนไม่มีข้อข้องใจ

น.ส.รูบินา กล่าวยอมรับว่า มูลนิธิแห่งนี้ถูกคณะกรรมาธิการการศาสนาตรวจสอบมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2540 ซึ่งในวันที่ 19 พ.ย. 2540 เธอได้ประสานงานไปที่นายเด่น โต๊ะมีนา ประธานคณะกรรมาธิการว่า หากต้องการคำชี้แจงก็ยินดีไปพบกับคณะกรรมาธิการ แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้คณะกรรมาธิการไม่เคยเรียกไปขอข้อมูลแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้เธอรู้สึกข้องใจว่าเหตุใดคณะกรรมาธิการจึงได้มาแถลงต่อสื่อมวลชนเช่นนั้น

น.ส.รูบินา ยังปฏิเสธว่า มูลนิธิไม่ได้เข้าไปชักจูงนักการเมืองมาเป็นฐานอย่างที่ถูกกล่าวหา และเธอเองก็ไม่เคยใช้บารมีของบิดามาดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธิ ส่วนเรื่องที่จะให้เด็กตัดขาดจากบิดา-มารดานั้น ก็ไม่จริง และอันที่จริงมูลนิธิยังได้ประสานกับบิดามารดาของเด็กบางคน เพื่อช่วยกันแก้ไขพฤติกรรมของเด็กที่เกเรด้วย นอกจากนี้หากบิดามารดารายใดไม่ต้องการให้บุตรมาที่มูลนิธิก็สามารถทำได้อยู่แล้ว พร้อมทั้งปฏิเสธว่า ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผอ.สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารมูลนิธิ แต่เคยมาช่วยงานเท่านั้น

ด้านนายกล้า สมตระกูล รองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กล่าวว่า ทาง กศน.ได้มีคำสั่งไปยังโรงเรียนในสังกัดไม่ให้บังคับเด็กเข้าร่วมบวชในโครงการวัดพระธรรมกาย โดยการนำคะแนนมาเป็นข้ออ้างแล้ว ซึ่งหากครูคนใดยังฝ่าฝืนจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กศน.

"กรณีนี้ผมเห็นว่าอาจจะมีนักเรียนบางคนไม่เห็นด้วยกับการที่ครูประจำกลุ่มนำคะแนน

มาเป็นข้ออ้าง ซึ่งครูไม่ควรทำเช่นนี้ เนื่องจากขณะนี้ประชาชนเริ่มลังเลใจในการปฏิบัติและความ

ประพฤติของวัดพระธรรมกาย หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างหนัก" รองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนกล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการไปยังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดปทุมธานีและอำเภอ

ให้ตรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร หากพบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและครูประจำกลุ่มยังบังคับให้เด็กเข้าบวชในวันที่ 31 ม.ค. จะถือว่าครูไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรม จะต้องถูกคณะกรรมการจังหวัดทำการสอบสวน และหากครูประจำกลุ่มไม่ใช่ข้าราชการแต่มีฐานะเป็นลูกจ้างสอนรายชั่วโมง ทางคณะกรรมการสามารถเลิกจ้างครูดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคนใน กศน.ที่ร่วมกิจกรรมกับทางวัดประมาณ 60-70% อยู่ใน จ.ปทุมธานี นนทบุรี และอ่างทอง

ด้าน นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีวัดพระธรรมกาย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการรวบรวมข้อมูลว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลที่วัดพระธรรมกายเพิ่มเติม เช่น การจัดระบบ การเผยแผ่ธรรมะของวัด เป็นต้น และในวันนี้ (22 ม.ค.) คณะกรรมการจะประชุมเพื่อสรุปข้อมูลและนำเสนอต่อพระพรหมโมฬี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 เพื่อพิจารณาต่อไป

วันเดียวกันนี้ ตัวแทนกลุ่มญาติธรรม วัดพระธรรมกาย ได้เดินทางเข้าชี้แจงกรณีวัดพระธรรมกาย ต่อนายอำนวย สุวรรณคีรี ประธานกรรมาธิการศาสนา ที่รัฐสภา