กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ.2542

ก.ศึกษาฯนัดชี้ชะตา'ธรรมกาย '22 ม.ค.

ศธ.สรุปข้อมูลธรรมกาย 22 ม.ค. ก่อนเสนอเจ้าคณะภาค 1 ขณะที่ตำรวจกองปราบบุกศาลากลางปทุมธานี สอบงบดุลธรรมกาย เจอมูลนิธิธรรมกายวืดอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์

นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า เขาได้เดินทางไปยังวัดพระธรรมกาย เพื่อขอข้อมูลใน 5 ประเด็น คือ เรื่องคำสอน การบริหารจัดการและการจัดกิจกรรมของทางวัด ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ทรัพย์สิน และสัญชาติของพระธัมมชโย เจ้าอาวาส

"พระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลตามที่คณะกรรมการสอบถามทั้งหมดนานประมาณ 4 ชม.แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากคณะกรรมการ จะเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลทั้งคณะวันที่ 22 ม.ค.นี้ ว่าจะยอมรับข้อมูลนี้หรือไม่"

นอกจากนี้ยังจะพิจารณาว่า ส่วนใดจะเสนอต่อพระพรหมโมลี เจ้าอาวาส วัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 และหากข้อมูลยังไม่ชัดเจนก็จะกลับไปวัดเพื่อรวบรวมข้อมูลอีกครั้ง

ส่วนเรื่องที่ดินของวัดนั้น นายสุวัฒน์กล่าวว่า คณะกรรมการได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า วัดได้ดำเนินการอย่างเป็นสัดส่วน และมีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ และยอมรับว่ามีชื่อเจ้าอาวาส เป็นผู้ถือครองที่ดินจริง แต่ก็ให้หลักประกันว่าเงินที่ได้รับจากการบริจาค ไม่ได้นำไปซื้อที่ดินเป็นการส่วนตัวแม้แต่บาทเดียว ซึ่งวัดพระธรรมกาย ให้เหตุผลด้วยว่า การรวบรวมที่ดินของทางวัดนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร

สำหรับเงินบริจาคที่มีอยู่ 2 บัญชี คือในนามของทางวัด และมูลนิธิ นั้น นายสุวัฒน์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้บริจาคว่าจะให้ในนามของวัดหรือมูลนิธิ ซึ่งมีใบอนุโมทนาระบุไว้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ส่วนเงินสร้างพระประจำกายจำนวน 10,000 บาทต่อองค์นั้น ส่วนหนึ่งจะสร้างพระและอีกส่วนหนึ่งจะสร้างมหาธรรมกายเจดีย์

ขณะที่การทำธุรกิจของวัดที่มีบุคคลนามสกุลเดิมของเจ้าอาวาสเข้าไ
ปเกี่ยวข้องด้วยนั้น นายสุวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าวัดก็ต้องทำมาหากิน ไม่เช่นนั้นจะหาเงินที่ไหนมาให้ลูกหลานใช้
แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่า มีการนำชื่อวัดไปหากินหรือไม่ ซึ่งต้องแยกแยะว่าเป็นการกระทำของวัดหรือของผู้มาปฏิบัติธรรม

ด้าน พ.ต.ท.ระพีพงษ์ สุพรศรี รองผกก.3ป. ร.ต.อ.สุรพล เปรมบุตร สว.ผ.5 กก.3 ป.เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจสอบหลักฐานเอกสารที่มูลนิธิธรรมกายยื่นต่อจังหวัด และพบว่า มูลนิธิธรรมกายนั้น มีชื่อเดิมว่า มูลนิธิธรรมประสิทธิ์ ต่อมาเมื่อปี 2526 นายสุธรรม เตชะวณิช เลขานุการมูลนิธิ ได้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแก้ตราสารจากมูลนิธิพระธรรมกายเป็นมูลนิธิธรรมกาย ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้มหาชนพุทธบริษัทเข้าใจชัดเจนว่า วัดพระธรรมกายกับมูลนิธิธรรมกายไม่ใช่สถาบันเดียวกัน

จากการตรวจสอบหลักฐานทางด้านทรัพย์สิน พบว่า ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามงบดุลเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2519 มีเงินสด 9,930.63 บาท เงินฝาก ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาบางลำภู บัญชีเผื่อเรียก 13,200.34 บาท บัญชีประจำ 50,000 บาท ยานพาหนะ 50,000 บาท ที่ดิน 322,800 บาท ถนน 158,500 บาท อาคาร 250,000 บาท เครื่องมือ 33,800 บาท รวมทรัพย์สินทั้งหมด 888,570.99 บาท

จากการตรวจสอบงบดุลล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2540 พบมีทรัพย์สินรวม 171,396,277.52 บาท ที่ดินมูลค่า 144,317,189 บาท และยังพบว่า มูลนิธิธรรมกาย โดยพระเผด็จ ทัตตชีโว ประธานมูลนิธิธรรมกาย ทำหนังสือลงวันที่ 21 เม.ย.2528 ถึงราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อขอพระราชทานให้มูลนิธิธรรมกายอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ผ่านทางจังหวัดปทุมธานี

ต่อมาได้มีหนังสือจากนายไพบูลย์ ทองมิตร รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในสมัยนั้น มีหนังสือถึงผู้ว่าฯปทุมธานี เพื่อขอความเห็นและตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพื่อจะได้นำความบังคมทูลพระกรุณาประกอบพระราชวินิจฉัย และหลังจากหนังสือฉบับนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าทางจังหวัดได้รับแจ้งให้มูลนิธิธรรมกาย ได้รับอนุญาตอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์แต่อย่างใด