เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ 2 ทัศนะของนักวิชาการตะวันตก เกี่ยวกับเรื่องอัตตา และเรื่องนิพพาน เป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา

นักปราชญ์ชาวตะวันตกก็น่ายกย่องอยู่ แต่ต้องรู้จักเขาให้พอดีกับที่เขาเป็นจริง

         เอกสารของวัดพระธรรมกาย กล่าวอ้างว่า
         " ปราชญ์ใหญ่ทางพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกที่มีชื่อเสียงก้องโลกจำนวนมาก ก็มีความเห็น
ว่า มีอัตตาที่แท้จริง อยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น Mrs. Rhys Davids นายกสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2465-2485 . . . Miss I. B. Horner นายกสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศ
อังกฤษ ปี พ.ศ. 2502-2524 . . . Christmas Humphreys . . . และอีกหลายๆ ท่าน "
         ข้อความข้างบนนี้ ให้ข้อมูลความจริงไม่เพียงพอ และทำให้เกิดภาพความเข้าใจ
นักปราชญ์ตะวันตกไม่ถูกต้อง
         เรื่องของนักปราชญ์ และนักวิชาการฝ่ายตะวันตกนี้ ถ้าจะเขียนสั้น ๆ ให้เข้าใจเขาถูกต้อง อาจเล่า วิวัฒนาการทางความรู้ความคิดของเขาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ (เป็นการแบ่งอย่างคร่าวๆ พอให้เข้าใจได้ง่ายเท่านั้น) คือ
         
ระยะที่ 1 ปราชญ์ในดินแดนตะวันตก แม้จะรู้ภาษาบาลี และค้นคว้าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาไม่
น้อย แต่ยังสับสน จับหลักการของพระพุทธศาสนายังไม่ได้ มักมองพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักธรรมต่างๆ ภายใต้อิทธิพลความคิดของตะวันตกเอง หรืออิทธิพลของศาสนาฮินดู ตลอดจนแนวคิดของพระพุทธศาสนา มหายาน บ้างก็เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนว่ามีอัตตาหรืออาตมันที่แท้จริงอยู่ในขั้นสุดท้าย บ้างก็เข้าใจว่า นิพพานเป็นการดับอัตตา บ้างก็จะเข้าใจไปทำนองว่า นิพพานดับอัตตาสามัญแล้วจะมีอัตตาที่แท้เหนือนั้นขึ้นไป
         ระยะที่ 2 ในขณะที่ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก ยังคงสับสน จับหลักการของพระ พุทธศาสนายังไม่ได้นั้น ได้มีชาวตะวันตกมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ในประเทศพุทธศาสนา โดยเฉพาะศรีลังกา และเมื่อได้ศึกษาถึงต้นแหล่งแท้จริงแล้ว ก็เข้าใจหลักธรรมได้ถูกต้อง เช่น จับได้ชัดว่า พระพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ มีอัตตาอยู่จริงโดยปรมัตถ์ และได้เขียนหนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามหลักการนี้มากขึ้นตามลำดับ ใน ระยะที่ 2 นี้ แม้ว่าคนในตะวันตกจะยังต้องอาศัยคัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาบาลีอักษรโรมันที่พิมพ์ในตะวันตก แต่ในด้านหลักธรรม ชาวตะวันตกได้หันมาฟังและอ่านหนังสือของชาวตะวันตกที่มาบวชเป็นพระภิกษุในประเทศ พุทธศาสนาเองเหล่านี้มากขึ้น
         ระยะที่ 3 นักปราชญ์ภาษาบาลีและพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกเอง ได้เรียนรู้และเข้าใจหลักการ ของพระพุทธศาสนา อย่างชัดเจนถูกต้องมากขึ้น และความสนใจในพระพุทธศาสนาเถรวาท ก็เริ่มแพร่ขยายมาก ขึ้นโดยทั่วไป ปรากฏว่า นักปราชญ์รุ่นใหม่ในตะวันตกนั้นกลับไปโต้แย้งคัดค้านปราชญ์รุ่นเก่าในประเทศของตน และเริ่มเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เช่น เขียนบอกชัดลงไปว่า พระพุทธศาสนาสอนว่าอัตตามีอยู่เพียงโดย สมมติ ไม่มีจริงโดยปรมัตถ์
         ขอเล่าประดับความรู้ความเข้าใจ พอเป็นสังเขปดังนี้

ปราชญ์พุทธศาสนาตะวันตกรุ่นเก่า ยังเข้าใจสับสน ระหว่างพุทธธรรม กับความคิดเดิมในวัฒนธรรมของตน

         ระยะที่ 1 เรื่องนี้ก็สืบเนื่องจากที่พูดข้างต้น ดังได้กล่าวแล้ว ว่า คนที่เรียกกันว่านักปราชญ์ทางพุทธ ศาสนาในดินแดนตะวันตกนั้น บ้างก็เป็นเพียงนักวิชาการชึ่งยังเป็นชาวคริสต์อยู่ บางคนถึงแม้มาเป็นชาวพุทธ แล้วก็มีพื้นฐานความคิดเดิมติดมาจากศาสนาคริสต์ นอกจากนั้นในยุคแรกนี้ฝรั่งมาเอเชียในกระแสของลัทธิ อาณา
นิคม โดยเฉพาะอังกฤษมาพบอารยธรรมเก่าแก่ที่อินเดีย
ก็รู้จักและคุ้นกับแนวคิดของศาสนาฮินดูที่ยึดมั่น ในลัทธิ
อาตมัน พร้อมกันนั้น พระพุทธศาสนาที่ฝรั่งรู้จักในยุคแรกนั้นก็เป็นฝ่ายมหายานซึ่งเข้าไปในตะวันตกก่อน
         ฉะนั้น ฝรั่งที่ศึกษาพุทธศาสนายุคแรกๆ ซึ่งยังไม่คุ้นกับบรรยากาศทางความคิดแบบใหม่จึงยังมีอิทธิพลความคิด
แบบกรีกและศาสนาคริสต์เดิมชักพามาก และ
มักตีความพระพุทธศาสนาตามแนวคิดฮินดู หรือไม่ก็แบบมหายาน
         ทั้งนี้จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น Max Muller ปราชญ์ใหญ่ทางภาษาสันสกฤตก็ตาม หรือทางด้านภาษา บาลี จะเป็น Rhys Davids ทั้งสามีและภรรยา กับทั้ง Miss I. B. Horner ชึ่งล้วนแต่ได้เป็นนายกสมาคมบาลีปกรณ์ สืบต่อกันมาก็ตาม ตลอดจนนักศึกษาหรือจะเรียกว่านักปราชญ์พุทธศาสนาของตะวันตกหลายคน มักมี ความคิดที่จะมองหรือจะหาทางให้
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอัตตา หรือยอมรับว่ามีอัตตาให้ได้
         ยกตัวอย่าง Miss I. B. Horner นั้น ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่าเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี แต่พื้นฐานเดิม เป็นฝรั่งในประเทศคริสต์ศาสนา มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องตัวตนเป็นฐานความคิดที่ยึดมั่นอยู่ นอกจากแปล คัมภีร์ภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ครั้งหนึ่งก็เคยไปทำหนังสือร่วมกับ Coomaraswamy (เพียงแค่ชื่อก็ฉาย ความเป็นฮินดูออกมาแล้ว) ให้ชื่อว่า The Living Thought of Gotama the Buddha
         ในตอนที่ว่าด้วย Self (อัตตา/ตน) พุทธพจน์แรกที่สองท่านนี้ยกมา ก็คือคาถาธรรมบทว่า "
         " อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ "
         พุทธภาษิตนี้ ชาวพุทธไทย แม้แต่ชาวบ้านที่แทบจะไม่ได้ศึกษาอะไรเลย แต่เพราะความที่คุ้นกับ บรรยากาศในพระพุทธศาสนา และเป็นพุทธภาษิตที่คุ้นหู ก็จึงแปลกันได้ว่า
" ตนเป็นที่พึ่งของตน " และเข้าใจ ความหมายกันดีพอสมควร
          
แต่ I. B. Horner และ Coomaraswamy พอเห็นว่ามีคำ " อตฺตา/ตน " อยู่ด้วยกัน 2 ครั้งในพุทธภาษิตนี้ แทนที่จะเข้าใจอย่างที่ชาวพุทธรู้กัน ก็ไปนึกถึง อัตตา 2 อย่าง แล้วก็คงจะแปลความ
หมายไปตามแนว คิดคำสอนของฮินดู หรือเอาพระพุทธศาสนาไปโยงกับศาสนาฮินดู ซึ่งถือว่ามีอัตตา หรือ
อาตมัน 2 อย่าง ได้แก่ อาตมันใหญ่ เรียกว่า ปรมาตมัน กับอาตมันเฉพาะบุคคล เรียกว่า ชีวาตมัน
         ปรากฏว่า I. B. Horner กับ Coomaraswamy แปลพุทธภาษิต ในคาถา ธัมมบท ที่ 160 อตฺตา หิ อตฺตโน
นาโถ
. . .นี้ ว่า
         " The Self is lord of the self . . . "
         พึงสังเกตว่า Self แรกใช้ S ใหญ่ ส่วน self หลังใช้ s เล็ก ทำนองว่า อัตตาใหญ่ เป็นนาถะของอัตตาเล็ก
         ทั้งสองท่านได้เจอพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งว่า
         " อตฺตนา ว กตํ ปาปํ         อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
           อตฺตนา อกตํ ปาปํ          อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ " (ขุ.ธ.25/22/37)

         ซึ่งชาวพุทธทั่วไปก็เข้าใจกันไม่ยาก ตามคำแปลว่า
         " ตัวทำชั่ว ตัวก็เศร้าหมองเอง
         ตัวไม่ทำชั่ว ตัวก็หมดจดเอง "

         พอเจออย่างนี้ ผู้ถือลัทธิอัตตา/อาตมัน ก็คงงงไปพักหนึ่งว่า อัตตา/อาตมัน/ตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งเที่ยง
แท้ถาวร จะมาทำความชั่วได้อย่างไร ในที่สุดก็เลยเอาอัตตา/ตน ในกรณีนี้ไปจัดเป็น อัตตาเล็ก          
ทั้งสองท่านได้แยกหัวข้อย่อยในหนังสือ ตอนที่ว่าด้วย Self นี้ ออกเป็น 3 หัวข้อย่อย คือ
         (a) The Two Selves
         (b) The Great Self แล้วก็
         (c) The Little Self
         ใน 3 หัวข้อย่อยนี้ ผู้รวบรวมได้ยกพุทธพจน์อื่นๆ มาแปลไว้อีกมากมาย ตั้งแต่หน้า 174 ไปถึงหน้า 192 ทำให้ตอนที่ว่าด้วย Self (อัตตา/ตัวตน) ยาวรวมเกือบ 20 หน้า นี่คือตัวอย่างความเข้าใจของคนที่เรียกว่าเป็น ปราชญ์ตะวันตกรุ่นค่อนข้างเก่า
         ฝรั่งในประเทศตะวันตกเองนั้น ย้อนหลังไปไม่กี่ปีนี้ น้อยคนนักจะเข้าใจพุทธศาสนาได้ถูกต้อง ซึ่งก็ต้อง เห็นใจเขา เพราะอิทธิพลความคิดที่ติดมาจากพื้นฐานวัฒนธรรมเดิมมีกำลังชักนำให้มองผิดเพี้ยนหรือเอียงไป
เอกสารของ
วัดพระธรรมกาย
จึงไม่สมควรจะไปยกย่องนับถือเขามากนักถึงกับให้เป็น " ปราชญ์ใหญ่ทาง
พระพุทธศาสนา . . . ที่มีชื่อเสียงก้องโลก "
ควรจะดูเพียงว่า คนใดเข้าใจดีขึ้นมา ก็อนุโมทนาเขาไป
         นอกจากพวกที่เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนว่ามีอัตตาในขั้นสุดท้ายที่นอกเหนือจากขันธ์ 5 แล้ว
บาง พวกก็เข้าใจผิดไปอีกแบบหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนว่านิพพานเป็นการดับอัตตา
         แม้แต่หนังสืออ้างอิงใหญ่ๆ อย่าง Encyclopaedia Britannica ก็ยังติดความเข้าใจผิดๆ มาเขียนกันจนบัดนี้ เช่น พูดถึงนิพพานเป็นการดับอัตตา (ที่จริงตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่มีอัตตาที่จะต้องดับ) แห่งหนึ่งว่า
         " The approaches to the divine or sacred are various rather than uniform . . . , it moves toward the ultimate goal: the annihilation of the self, . . . , Nirvana (the state of bliss) in Buddhism, . . ."
          
"วิธีเข้าถึงทิพยภาวะหรือภาวะศักดิ์สิทธิ์นั้น แตกต่างกันหลากหลาย มากกว่าจะเป็น
รูปแบบเดียว . . . เป็นการก้าว สู่จุดหมายสูงสุด คือการดับสลายอัตตา, . . . ,ได้แก่นิรวาณ (นิพพาน--ภาวะบรมสุข) ในพุทธศาสนา, . . . ,"

รู้ถึงตามทันว่าคนนอกเขาคิดเข้าใจไปแค่ไหน แต่ไม่ใช่รอให้เขามาวินิจฉัยหลักการของเรา

         อย่างไรก็ตาม เวลานี้ความคิดหรือทัศนะเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ความจริงทัศนะเหล่านี้ไม่ มีความสำคัญที่จะต้องยกมาอ้าง เพราะได้พูดไปแล้วว่าเรากำลังพูดถึงหลักฐานที่มา ว่าพระพุทธศาสนาเอง หรือ พระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทเองนี้ แสดงหลักการของตนไว้อย่างไร ไม่ใช่มาเที่ยวรอทัศนะของผู้ อื่นที่จะมาวินิจฉัยให้ตัวเรา ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง และ ที่ เอกสารของวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า
         "เกิดมีการอ้างอิงหลักฐานในคัมภีร์ ทั้งบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต และภาษาอื่นๆ มากมายอันนำ
มาสู่ ข้อสรุปความเห็นนี้ แต่ก็มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าไม่มีอัตตาในพระพุทธศาสนาเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างก็มี เหตุผลของตน"
         ความจริงเรื่องนี้ง่ายๆ ชัดเจน ไม่สับสน เพราะนักปราชญ์ปัจจุบันเขารู้กันแล้วว่า ต้อง
แยกแยะออกไป
ว่าหลักการในเรื่องนี้ของพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นอย่างไร แบบมหายาน
เป็นอย่างไร และในมหายาน ด้วยกันนั้น นิกายไหนว่าอย่าไร ไม่เอามาสับสนปะปนกัน
          การพูดอย่างนี้ ถ้าเปลี่ยนเอาอีกเรื่องหนึ่งเข้าไปแทน ก็เหมือนกับพูดว่า          "ปัญหาเรื่องภิกษุควรมีครอบครัวหรือไม่ ก็มีการอ้างอิงหลักฐานทั้งคัมภีร์บาลี
สันสกฤต จีน ทิเบต และ ในภาษาอื่นๆ มากมาย อันนำมาสู่การสรุปความเห็นของตน ต่างฝ่ายต่างยืนยันทัศนะของตน ฝ่ายหนึ่งก็ว่าภิกษุ ควรมีภรรยา มีครอบครัว อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าไม่ควรมี ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตน" อย่างนี้ใครๆ ก็อ้างได้
แต่ไม่มีประโยชน์

พอชาวตะวันตกมาบวชเป็นพระฝรั่ง ความรู้พุทธธรรมก็เริ่มเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง

         ระยะที่ 2 ได้กล่าวแล้วว่า I. B. Horner เข้าใจเรื่องอัตตาตามแนวคิดแบบอาตมันคล้ายๆ ศาสนา พราหมณ์ แต่ต่อมาชาวตะวันตกที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็ดี พระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาทชาว ประเทศนั้น ๆ เอง ก็ดี ได้แปลพุทธพจน์เกี่ยวกับอัตตานี้กันใหม่ อย่างพุทธภาษิตว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ก็จะ แปลกันทำนองนี้ว่า
         "Oneself is one's own protector (refuge); . . ."
         ตรงกับที่ชาวพุทธไทยทั่วไป แม้แต่ชาวบ้านเข้าใจกันดีอยู่แล้ว          
ที่จริงเรื่องนี้พระภิกษุชาวตะวันตกที่มาบวชในประเทศพุทธศาสนาเถรวาทนั้น มีความเห็นลงกัน ไม่ได้มี ปัญหามานานแล้ว มีแต่ฝรั่งนักวิชาการชาวตะวันตกที่อยู่ในเมืองของตนนั้น ที่วุ่นวายเรื่องว่าอัตตาเป็นอย่างไร พุทธศาสนามีสอนเรื่องอัตตาหรือเปล่า จนกระทั่งมาจบที่ Professer Richard Gombrich ที่จะกล่าวถึงข้างหน้า จึงมาเข้าสู่หลักพุทธศาสนาแบบเถรวาทจริง
         เรื่องนิพพานเป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตานี้ ชาวตะวันตกที่มาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาเถรวาท อย่างในลังกา เช่น พระNyanatiloka (ชาวเยอรมัน) ท่านไม่สับสนไปด้วย ดังตัวอย่างที่ท่านได้เขียนไว้นานแล้ว เช่นในหนังสือ Buddhist Dictionary ในคำ "Nibbana" ว่า
         ". . . the Buddha is known as the Anatta-vadi . . . the truth of Anatta (q.v.), the egolessness and insubstantiality of all forms of existence. Without such an understanding, one will necessarily misconceive Nibbana according to one's either materialistic or metaphysical leaning---either as annihilation of an ego, or as an eteral state of existence into which an Ego or Self enters or with which it merges."
         
พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามว่าเป็นอนัตตวาที...หลักความจริงแห่งอนัตตา คือภาวะไร้ตัวตน และความ ไม่มีตัวแท้แห่งสภาวธรรมทั้งปวง หากไม่มีความรู้เข้าใจเช่นนั้น คนก็จะต้องเข้าใจนิพพานผิดพลาดไปตามความ โน้มเอียงของตนที่เป็นข้างวัตถุนิยม หรือไม่ก็ข้างอภิปรัชญาว่า (นิพพาน) เป็นการขาดสูญของอัตตา หรือไม่ก็ เป็นภาวะเที่ยงแท้ถาวรที่อัตตาหรือตัวตนเข้าถึงหรือกลืนรวมเข้าไป"
          และอีกแห่งหนึ่งในหนังสือเล่มเดียวกัน คือในคำว่า "Anatta" ท่านเขียนว่า
         "While in the case of the first two Characteristics it is stated that "all formations" (sabbe sankhara) are impermanent and subject to suffering, the corresponding text for the third Characteristic states that าall things are not-self" (sabbe dhamma anatta; M. 35, Dhp. 279). This is for emphasizing that the false view of an abiding self or substance is neither appilcable to any "formation", or conditioned phenomenon, nor to Nibbana, the Unconditioned Element (asankhata dhatu)"
          " ในกรณีของลักษณะ 2 อย่างแรก ท่านกล่าวว่า 'สังขารทั้งหลายทั้งปวง' (สพฺเพ สงฺขารา) ไม่เที่ยง และ เป็นทุกข์ ส่วนพระบาลีที่เข้าชุดกัน สำหรับลักษณะอย่างที่ 3 ตรัสว่า 'ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา' (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา; มัชฌิมนิกาย สูตรที่ 35 และธรรมบท คาถาที่ 279)
พุทธพจน์นี้ช่วยย้ำว่า ความเห็นผิดว่ามีอัตตาหรือตัวตนที่ อยู่ยงนั้น จะใช้กับสังขารหรือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งใดๆ ก็ตาม หรือจะใช้กับนิพพาน ที่เป็นอสังขตธาตุก็ตาม ก็ไม่ได้ ทั้งนั้น"          นี้ก็เป็นตัวอย่างความลงกันของพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งไม่มีปัญหา
         การที่วัดพระธรรมกายมาสอนว่านิพพานเป็นอัตตา ด้วยวิธีทำหลักคำสอนที่มีอยู่เดิม
ให้คนเข้าใจสับสน ไขว้เขวอย่างนี้ เป็นเรื่องของความวิปริตผิดพลาดที่ร้ายแรง ซึ่งชาวพุทธ
จะต้องรู้เท่าทัน แล้วรีบแก้ไข

น่าอนุโมทนาที่แม้จะช้าสักหน่อย แต่ในที่สุดปราชญ์ตะวันตกก็ตามจับหลักพุทธได้

         ระยะที่ 3 เอกสารของวัดพระธรรมกาย นั้น ต้องขออภัยที่จะกล่าวด้วยคำที่อาจจะรู้สึกว่า
รุนแรงสัก หน่อยว่า มิใช่เป็นการกล่าวตู่เฉพาะพระธรรมวินัยเท่านั้น แต่ยังได้กล่าวตู่นักปราชญ์
และนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาชาวตะวันตกด้วย
ขอเล่าถึงความเข้าใจของปราชญ์ชาวตะวันตกต่อไปว่า
         เมื่อการศึกษาพุทธศาสนาของชาวตะวันตกเดินหน้าต่อมาผ่านพ้นยุคของ Mrs. Rhys Davids, Miss I. B. Horner, Christmas Humphreys, Edward Conze เป็นต้นมาแล้ว เวลานี้ก็ถึงนายกสมาคมบาลีปกรณ์คน ปัจจุบัน ชื่อว่า
Professor Richard Gombrich ซึ่งถ้ามองในแง่ลำดับกาลเวลา ต้องถือว่าเป็นปราชญ์ภาษาบาลี และพุทธศาสนาของตะวันตกรุ่นล่าสุด
         
ปรากฏว่า Richard Gombrich คัดค้านทัศนะของปราชญ์ตะวันตกรุ่นก่อนตน เช่นคัดค้าน Mrs. Rhys Davids ที่เคยเป็นนายกสมาคมบาลีปกรณ์มาก่อนอย่างเรียกว่าเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องนิพพานกับอัตตา ว่า พระพุทธศาสนาถือว่า อัตตามีจริงหรือไม่นี้ เราอาจว่า Richard Gombrich เป็นเหมือนผลสะสมแห่งปัญญาของนัก วิชาการตะวันตกผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ที่ได้เดินทางมาถึงจุดที่เป็นมติใหม่ของนายกสมาคมบาลีปกรณ์ปัจจุบัน
         
ทัศนะของ Richard Gombrich ทำให้ข้อสรุปแห่งเอกสารของวัดพระธรรมกาย ที่พูดไว้
๒ ข้อนั้น หมด ความหมายไปทันที
         Richard Gombrich ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Theravada Buddhism พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1988 แต่เดี๋ยวนี้พิมพ์หลายครั้งแล้ว เขาเขียนไว้ในหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น หน้า 21 ว่า
         "Many scholars of Buddhism, both Western and Hindu, have tried to prove that the Buddha himself did not preach the doctrine of no-soul as it has been understood in the Theravadin tradition . . . This amounts to a claim that this great religious teacher has been completely misunderstood by his followers . . "          
"นักปราชญ์พุทธศาสนาจำนวนมาก ทั้งชาวตะวันตก และที่เป็นชาวฮินดู ได้พยายาม
ที่จะพิสูจน์ว่า พระพุทธเจ้าเองไม่ได้ทรงสอนหลักอนัตตา อย่างที่เข้าใจกันในสายความคิด
ของเถรวาท การกระทำอย่างนี้เท่ากับเป็น การตู่ว่าเหล่าสาวกของพระพุทธเจ้าเอง ได้เข้าใจองค์พระศาสดาของตนผิดพลาดไปอย่างสิ้นเชิง . . ."
         เรื่องนี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พวกฝรั่งรุ่นก่อนที่ถือว่าเป็นนักปราชญ์ทางพุทธศาสนานั้น มีความ เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนิพพานกับอัตตา แบบต่างๆ
         
แบบหนึ่งเข้าใจว่ามีอัตตาหรือตัวบุคคลที่เข้านิพพาน
         บ้างก็ เห็นว่านิพพานเป็นอัตตา
         บ้างก็คิดว่านิพพานเป็นการดับอัตตา
         แต่ Richard Gombrich สรุปต่างออกไป โดย ค้านพวกนักปราชญ์ตะวันตกรุ่นก่อนตน หรือรุ่นพี่ที่แล้วมาทั้งหมด
         ทัศนะของ Gombrich มาตรงตามหลักการของเถรวาทอย่างแท้จริง คืออัตตานั้นโดยปรมัตถ์ไม่มี
อยู่เลย มีแต่โดยสมมติอย่างเดียวเท่านั้น เมื่ออัตตามีอยู่โดยสมมติ คือไม่มีของจริงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปดับอัตตาอะไรอีก เรียกว่าไม่มีอัตตาที่จะต้องดับ หมายความว่าดับแต่ความหลงผิด
และความยึดมั่นในอัตตาเท่านั้น เมื่อดับความหลงผิดและความยึดมั่นในอัตตาแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นอัตตาที่จะต้องพูดถึงอีก
ดังที่ต่อมาหน้า 63 เขาเขียนอีกว่า
         "Endless misunderstanding has been caused by Western writers, who have assumed that Nibbana is the blowing out of the personal soul . . . there is no soul or self as a separate entity, for such terms as soul, self, individual etc., are mere conventional terms . . . there can be no question of getting rid of a soul because one has never had one . . ."
         
" ได้มีความเข้าใจผิดกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากนักเขียนชาวตะวันตก ผู้ได้ยึดถือว่า
นิพพานคือ การดับอัตตาของบุคคล
. . . ไม่มีอัตตาหรือตัวตน ที่เป็นสิ่งมีอยู่จริงต่างหาก เพราะคำทั้งหลายทั้งปวงเช่น อัตตา ตัวตน บุคคล เป็นต้น เป็นเพียงคำสมมติบัญญัติเท่านั้น . . . ไม่ต้องพูดถึงการที่จะกำจัดอัตตา เพราะว่า ใครๆ ก็ไม่ได้เคยมีอัตตากันมาเลย"
         ถ้ามอง Richard Gombrich ว่าเป็นผลรวมแห่งความเพียรพยายามศึกษาและสติปัญญาของนัก ปราชญ์พุทธ
ศาสนาชาวตะวันตก ก็จะเห็นได้ว่าความเพียรพยายามศึกษาทั้งหมดนั้น เพิ่งมาบรรลุผลที่นี่
คือมา จบที่การยอม
รับหรือรู้จักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงว่า ไม่ยอมรับอัตตา หรือปฏิเสธลัทธิอัตตา
และ เกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นมาว่า ในหลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาท อัตตาเป็นเพียง
คำสมมติทางภาษา เพื่อ สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ ไม่ว่าในรูปใดๆ ไม่มีอัตตาแม้แต่ที่จะต้องไปดับ
เป็นการระงับคำสรุปในเอกสารของวัดพระธรรมกาย 2 ข้อ ที่บอกว่า          "ปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่มีผลงานมากมายเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเหล่านี้ มีความเห็นที่ตรงกันในเรื่อง อัตตา นี้ 2 ประเด็น ใหญ่ ๆ คือ
         ก. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า อัตตาที่แท้จริงไม่มี และไม่เคยตรัสปฏิเสธว่า
ไม่มี อัตตาใด ๆ ทั้งสิ้น ในสัจจะทุกระดับ
         ข. เขาเหล่านี้เชื่อตรงกันว่า ในคำสอนของพุทธศาสนายุคดั้งเดิมบ่งบอกนัยว่า มีอัตตาที่แท้จริง ซึ่ง
อยู่ใน ภาวะที่สูงกว่าขันธ์ 5 หรือสังขตธรรม"
         ตอนนี้เมื่อมาถึง Richard Gombrich ก็เลยต้องพูดใหม่ว่า          "ปราชญ์ทางพุทธศาสนาของตะวันตกได้มีความเห็นผิดกันมามากและยาวนาน จนกระทั่งในที่สุดนี้ ก็ ได้มีความเห็นถูกต้องว่า
          ก. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิเสธอย่างชัดเจน ว่าอัตตาที่แท้จริงไม่มี พระองค์ปฏิเสธอัตตาในระดับ ปรมัตถ์โดยสิ้นเชิง
          ข. ปราชญ์ตะวันตกมาถึงจุดที่ยอมรับแล้วว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิม ไม่ถือว่ามีอัตตา ที่จะต้องพูดถึงใด ๆ อีก นอกจากอัตตาคือตัวตนโดยสมมติเท่านั้น"
         เรื่องนิพพานเป็นอนัตตานี้ ประเทศพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททั้งหลายรวมลงเป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ไม่ ได้มีความขัดแย้งกันเลย ปัญหาไม่น่าจะมีขึ้นมา
ส่วนเรื่องของนักวิชาการตะวันตกอะไรนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา เป็นความคิดเห็นอย่างที่ว่ามาแล้ว ซึ่งก็มาจบที่ Richard Gombrich ที่มารู้จักพระพุทธศาสนาตรง
กับพระสงฆ์ ฝ่ายเถรวาทในที่สุด
         ขอให้นึกดูว่าต้องใช้เวลาช้านานเท่าไร กว่าปราชญ์ตะวันตกจะเดินทางมาถึงจุดที่รู้เข้าใจคำสอนของ พระพุทธ
ศาสนาอย่างนี้ ขณะที่ในประเทศเถรวาทนั้น เราได้รู้เข้าใจกันมาเป็นอย่างเดียวกันอย่างนี้นานนักหนาแล้ว เพราะฉะนั้นการ
อ้างนักวิชาการตะวันตก จึงไม่มีความหมายอะไร
         แต่แม้ว่าปราชญ์ชาวตะวันตกจะรู้ถูกต้องขึ้นแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปนำเขามาอ้างอิง เพราะ
         
ประการแรก ได้กล่าวแล้วว่า เราไม่เอาความคิดเห็น
        และประการที่สอง นักปราชญ์ตะวันตกเหล่านี้ก็มาศึกษา จากพระไตรปิฎกเถรวาทของเรา ไม่ใช่เขาจะเป็นผู้วินิจฉัยคำสอนของพระพุทธศาสนา

         เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ชาวพุทธก็ควรจะวางท่าทีให้ถูกต้อง คือ ยินดีอนุโมทนาปราชญ์และนักวิชาการชาวตะวันตก ที่ได้เกิดความเข้าใจถูกต้องนี้ขึ้นมาได้ในที่สุด และ
หันมากระตุ้นเตือนจิตสำนึกของพวกเรากันนี้เองว่า ควรจะหันมาช่วยกันรักษาพระไตรปิฎก ที่เป็นแหล่งคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาไว้ให้
แก่โลกต่อไป เพื่อให้คนทั้งหลาย ดังเช่นนักวิชาการตะวันตกเหล่านี้ ยังมีโอกาสจะมาศึกษา
และรู้จักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง

บทส่งท้าย

         บางท่านกล่าวว่า "ที่นั่นเขาต้องมีอะไรดีซิ จึงมีคนที่มีการศึกษาสูงๆ ไปกันมาก" คำกล่าวอย่างนี้ เป็นข้อ ที่ทำให้โต้เถียงกัน เพราะบางคนก็กลับพูดแย้งในทางตรงข้ามว่า "ที่พูดนั้นน่าสงสัย ถ้าว่าโดยอัตราส่วนแล้วคนมี การศึกษาสูงไปมากจริงหรือเปล่า ถ้าวิเคราะห์กันให้ดีจะเป็นไปในทางตรงข้ามหรือเปล่าว่า ที่นั่นคนมีการศึกษา สูงๆ ส่วนมากไม่ไป" แล้วก็เลยโต้เถียงกันอยู่นั่นไม่จบสิ้น
         ที่จริง เรื่องที่น่าพิจารณาคือปัญหาในวงกว้าง ไม่เฉพาะเรื่องของวัดพระธรรมกายเท่านั้น แต่เป็นปัญหา ของสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะสังคมไทยของเรานี้
         เวลานี้ อย่างที่รู้กันอยู่ เมื่อสังคมเจริญสูงทางวัตถุ คนกลับมีปัญหาจิตใจมาก ในสภาพเช่นนี้ วิธีแก้ ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการง่ายๆ ทางวัตถุ ก็มาก่อน เช่นการใช้ยา การพึ่งสุรา ยาเสพติด การมั่วสุม หรือไม่ก็ทำ
ร้ายตัวเอง จนถึงฆ่าตัวตาย
         
คนอีกพวกหนึ่ง ที่อาจถือว่าดีขึ้นมาหน่อย ก็หาวิธีแก้ปัญหาจิตใจนั้นด้วยวิธีการทางจิต ซึ่งช่วยให้รู้สึก ว่ามีความหวัง มีกำลังใจ มีสิ่งปลอบประโลมใจ หรือกล่อมใจ ตลอดจนสิ่งที่ให้ความรู้สึกว่าได้ที่พึ่ง ซึ่งช่วยให้เกิด ความมั่นใจมากขึ้น หรือดึงตัวเองหลุดหลบออกไปจากปัญหาหรือความทุกข์ได้ แม้แต่ความรู้สึกมีกำลังใจเข้ม แข็งหรือมีอำนาจ อย่างน้อยก็ครึ้มใจขึ้นมาจากการมีสังกัด รวมพวกรวมหมู่ บ้างก็อ่อนล้าทางใจ อยากมีอะไรที่ ตนไว้ใจวางใจหรือมอบใจให้แล้วปล่อยตัวไปตาม แล้วแต่เขาจะสั่ง หรือทำไปตามที่เขากำหนดให้ สิ่งที่สนอง ความต้องการทางจิตนี้ นอกจากสิ่งที่ให้ความหวังแล้ว ก็รวมไปถึงสิ่งลึกลับ ความเชื่ออำนาจดลบันดาลต่างๆ ตลอดจนสมาธิที่ใช้เพื่อมุ่งผลทางจิต
         วิธีการทางจิตเหล่านี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี จะก่อปัญหาได้มาก ลักษณะทั่วไป ก็คือ เป็นการพึ่งพา ไม่ว่าจะ พึ่งพาด้วยการผูกใจอยู่กับความหวัง หรือพึ่งพาความเชื่อในสิ่งลึกลับ อำนาจดลบันดาลก็ตาม และอยู่กับความ กล่อมใจ หรือทำให้ดื่มด่ำเข้าไป แล้วหลบทุกข์ลืมปัญหาไปได้
         เรื่องนี้สอดคล้องกับสภาพของสังคมยุคนี้ หรือสังคมนี้ อีกอย่างหนึ่ง คือการที่คนทั้งหลายมักปฏิบัติ
ต่อ สถานการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์ มากกว่าจะใช้เหตุผลหรือปัญญา เพราะฉะนั้นตัวแรงจูงใจที่
จะให้ ตัดสินใจทำอะไร หรือไปไหน จึงมักจะเป็นเรื่องของความต้องการทางจิตใจ มากกว่าการที่จะใช้ปัญญา
หรือ ต้องการแสวงปัญญา
         การดิ้นรนหาทางออกจากปัญหาจิตใจด้วยวิธีการทางจิตนี้ เป็นสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นการ
แก้ปัญหาด้านหนึ่ง แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ซึ่งอาจจะร้ายแรงและยืดเยื้อมากกว่าและข้อสำคัญคือไม่
เป็นวิธีที่ จะแก้ปัญหาได้จริง นอกจากทำให้เกิดการพึ่งพา และเป็นการกล่อมใจแล้ว โทษที่ทางพระพุทธศาสนา
ถือว่าร้ายแรงมาก ก็คือทำให้ตกอยู่ในความประมาท และเป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว หรือกลบปัญหา ไม่พ้นไปจาก ปัญหาได้จริง เพราะเป็นวิธีกดทับไว้ ดังที่ท่านเปรียบว่าเหมือนเอาหินทับหญ้า
         พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางจิต วิธีการทางจิตนั้น ไม่ใช่
ว่าผิด แต่ไม่เพียงพอ และต้องใช้ในขอบเขตที่พอดี
คือพอให้จิตใจได้พัก ทำให้จิตใจผ่อนคลาย
สงบหายเร่าร้อนกระวนกระวาย ว้าวุ่น และมีกำลังขึ้น คือเป็นเครื่องเตรียมจิตให้พร้อม แล้วต้องต่อด้วยวิธีการทางปัญญา เพื่อแก้ปัญหาดับทุกข์ ให้จบสิ้นไป
         ถ้าเรามีปัญหาหรือมีทุกข์ วิธีการทางปัญญาจะช่วยให้เราวางใจวางท่าทีต่อปัญหา
หรือทุกข์นั้นได้ถูก ต้องแล้วอยู่กับปัญหาหรือทุกข์นั้นได้อย่างมีความสุข หรืออยู่ได้ดีขึ้น และอาจจะนำเอาทุกข์หรือปัญหานั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์ได้ พร้อมกันนั้น ก็ไม่ลืมและ
ไม่ละเลยที่จะแก้ปัญหา
         ผู้ที่ใช้วิธีการทางจิต จะต้องไม่ลืมใช้ปัญญา อย่างน้อยก็คอยตรวจสอบสำรวจตัวเองว่า
         
วิธีแก้ทุกข์ของ เรา เป็นการหลบทุกข์หลบปัญหาหรือเปล่า
         เราลืมหรือละเลยการแก้ปัญหาที่แท้จริงหรือไม่
         
ความสุขที่เราได้นี้มา กับความดื่มด่ำแบบลุ่มหลง ที่ไม่ต่างมากนักกับความสุขของคนเสพยาหรือไม่          เราอยู่กับความกล่อมใจ หรือการ พึ่งพาหรือเปล่า          จิตใจของเราอยู่กับความเป็นจริงอย่างเป็นอิสระด้วยท่าทีที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิตหรือไม่
         ในที่สุด สภาพการดิ้นรนหาทางแก้ปัญหาชีวิตจิตใจของคนเหล่านี้ ก็เป็นเครื่องฟ้อง ไม่เฉพาะถึงสภาพ จิตใจของคนเท่านั้น แต่บ่งชี้ถึงกระแสสังคม เช่น ค่านิยมของผู้คน และศักยภาพของมนุษย์ในสังคมนั้นที่จะนำ พาสังคมของตนให้ก้าวไปอย่างไร และเป็นปัญหาทางการศึกษา ที่จะทำให้ต้องถามว่า การศึกษาที่เราจัดกันอยู่ ปัจจุบันนี้มีความผิดพลาดบกพร่องอย่างไร จึงทำให้คนที่แม้แต่เล่าเรียนกันสูงๆ กลายเป็นอย่างนี้ไป
          
อย่ามัวถกเถียงกัน อย่ามาอ้างกันเลยในเรื่องการศึกษาสูงๆ แต่สังคมของเรานี้ควรหันมาสำรวจตัวเอง กันให้จริงจัง ว่าเหตุใดเราจึงพัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาขึ้นมาไม่ได้
         เป็นที่รู้กันโจ่งแจ้งชัดเจนว่า คนไทยเราที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่เจริญมากๆ นั้น เวลามีข่าวเกี่ยวกับการ แสดงธรรม หรือรายการทางปัญญา ถึงจะพยายามประชาสัมพันธ์ ก็หาคนสนใจได้ยาก มีคนไปไม่กี่คน แต่ถ้ามี ข่าวแว่วๆ ว่า มีอาจารย์ขลัง ชำนาญทางเสกเป่าทำนายทายทัก หรือเกี่ยวด้วยเรื่องศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ อย่างน้อยว่านั่งสมาธิแล้วได้เห็นโน่นเห็นนี่ ว่าท่านเดินทางมา คนก็จะตื่นเต้นยกหูโทรศัพท์บอกต่อ
กันเอง และไป ชุมนุมคับคั่ง
         พฤติกรรมทำนองนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสภาพจิตใจ และลึกลงไปถึงภูมิธรรมภูมิปัญญา แสดงว่าเรา
อยู่ใน ขั้นของความต้องการทางจิตใจ และไม่พัฒนาความต้องการทางปัญญา ถ้าเราพัฒนาวัฒนธรรมทาง
ปัญญาขึ้น มาไม่ได้ เราจะถือเอาประโยชน์แท้จริงจากพระพุทธศาสนาได้ยาก
สังคมของเราจะหมุนเวียนอยู่ใน
วังวนของ
ผู้ตามเสพผล และจมอยู่กับความลุ่มหลง หลอกกันไปหลอกกันมา ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ ไม่ต้องพูดถึง
ว่าจะเป็นผู้นำชาวโลกในการแก้ปัญหาและเสริมสร้างสันติสุข
         เวลานี้ ที่พยายามปฏิรูปการศึกษากัน ก็เพราะมองเห็นว่าการศึกษาที่จัดกันมามีความผิดพลาดบกพร่อง แต่การที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลนั้น จะต้องเห็นชัดว่ามีข้อผิดพลาดบกพร่องอย่างไร
         จึงต้องถามอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า การศึกษาที่เราจัดกันมานี้ผิดพลาดบกพร่องอย่างไร คนแม้แต่เล่าเรียน กันสูง ๆ
แล้วจึง
         
1. ขาดความใฝ่รู้ พัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาไม่ขึ้น และคิดไม่เป็น ไม่รู้จักแยกแยะ แยกไม่ออก แม้แต่ ระหว่าง ข้อเท็จจริง หลักฐาน ความเห็น และในเรื่องความเห็นก็ยังแยกไม่ออก ระหว่างความเห็นเพื่อค้นหาความ จริงตามเหตุผล กับการหาเหตุผลเพื่อปกป้องตัวเอง
         2. แต่ก่อนนี้เรามุ่งให้การศึกษากันมา ในแง่หนึ่งก็โดยหวังว่าเมื่อคนมีการศึกษาแล้ว มีอาชีพการงานทำ และเป็นคนดี จะได้ไม่ต้องทำความชั่ว ที่จะทำให้ต้องไปติดคุก แต่เมื่อให้การศึกษากัน ไปมา กลับได้ผลกลาย เป็นว่า การศึกษานี้ทำให้คนฉลาด มีความสามารถที่จะทำความชั่วได้โดยไม่ต้องติดคุก
         3. การศึกษานี้เป็นอย่างไร จึงไม่สามารถทำให้คนมีความเข้มแข็ง ที่จะดำรงตนอยู่ใน
ความสุจริตได้ แต่ กลับอ่อนแอในทางจริยธรรมถูกล่อชักจูงให้ทำความชั่วเพื่อเห็นแก่
ผลประโยชน์ได้ง่าย
         4. การศึกษานี้เป็นอย่างไร จึงทำให้คนมีปัญหาจิตใจมาก และเมื่อมีปัญหาจิตใจขึ้น
มาแล้ว ก็ไม่ สามารถที่จะใช้ปัญญาแก้ไขปัญหานั้นได้ ต้องไปหาไสยศาสตร์ ต้องไปหาอิทธิฤทธิ์
ปาฏิหาริย์ให้มาช่วย รอผล จากอำนาจดลบันดาลภายนอก หรือหวังพึ่งสิ่งกล่อมใจต่างๆ
         มีการพูดกันว่า เป็นการดีที่ทำให้คนจำนวนมากๆ ไปวัด ไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา เขาไปทำความดี ดี กว่าไปสำมะเลเทเมา เข้าบาร์ ไนท์คลับ ฯลฯ เรื่องนี้จะต้องพิจารณา ด้วยความระมัด ระวัง โดยไม่ประมาท
         ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ว่า ความชั่วมีหลายอย่าง
มีทั้งความชั่วด้านโลภะ ความชั่วด้าน โทสะ และความชั่วด้านโมหะ
         คนมักจะหลงลืมมองข้ามความชั่วด้านโมหะ แม้จะไม่ทำความชั่วเพราะโลภะ แม้จะไม่ทำความชั่ว เพราะโทสะ แต่อาจจะ ทำความชั่วด้วยโมหะ ซึ่งร้ายแรงมาก
         บางครั้ง คนผู้จะทำการร้ายด้วยโลภะ อาจฉวยโอกาสใช้โมหะของคนอื่นๆ มาเอาโลภะ
เข้าล่อ แล้วชัก พาคนเหล่านั้นให้ทำกรรมชั่วอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะยิ่งขึ้นไป
         ถ้าเป็นเรื่องของความลุ่มหลง หรือเชื่อถือผิดๆ จะมีผลร้ายระยะยาว และยิ่งคนไป
มากก็ยิ่งน่ากลัวว่า จะทำให้เกิดผลร้ายที่แผ่กว้างลึกซึ้งอย่างยากที่จะแก้ไข มีพุทธพจน์ว่า ถ้าคนที่เป็นหลัก หรือบุคคลผู้นำ เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ มีความคิดเฉไฉผิดทางเสียแล้ว ก็จะ เป็นไปเพื่อความพินาศหายนะของมหาชนหรือคนจำนวนมาก
(ดู องฺ.เอก.20/192/44)
         คุณค่าของพระพุทธศาสนา มิใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาการปล้นฆ่า ฉกชิง ลักขโมย ทำร้ายกันภายนอก
แต่ เพื่อแก้ไขตลอดขึ้นไปจนถึงการทำร้ายทางปัญญา และการเบียดเบียนชีวิตและ สังคม ชนิดแอบแฝง ที่ลึกล้ำซ่อนเร้นนี้ด้วย
         คนที่ทำความดี ต้องมีความไม่ประมาท มิใช่เพียงที่จะไม่ ภูมิพองและติดเพลินอยู่กับความดีเท่าที่ทำ แต่ต้องไม่ประมาทที่จะหมั่นใช้ปัญญา เพื่อพัฒนากรรมดี และมิให้มีการทำความดีที่ขาดปัญญา จะต้องตระหนัก ไว้ว่า เจตนาดีที่ขาดปัญญา ได้นำความเสื่อมความพินาศมาให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์แล้วมากมายตลอดมา
         ในที่สุดนี้ ชาวพุทธควรจะพิจารณาตรวจสอบตนเองให้ดี ว่าเราจะรักษาพระพุทธศาสนา
ให้ดำรงอยู่ด้วย ความบริสุทธิ์ได้อย่างไร
มิใช่กลายเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นมรดกที่
บรรพบุรุษได้อุตสาหะเพียรพยายามรักษากันมาตั้งเป็นพันๆ ปี
ชาวพุทธจะต้องมีการศึกษา
แม้แต่ขั้นเบื้องต้น ที่จะทำให้รู้ตระหนักถึงความ สำคัญของพระธรรมวินัย ที่ท่านรักษาไว้ในพระไตรปิฎก และมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระไตรปิฎกนั้นกับ ความเป็นไปของพระพุทธศาสนา
         ขอเล่าเรื่องหนึ่งว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุจากประเทศไทยคณะหนึ่งเดินทางไปดูการพระศาสนาที่
ประเทศญี่ปุ่น วันหนึ่งก็ได้ไปเยี่ยมวัดของสังฆราชนิกายหนึ่ง เมื่อเข้าไปพบกับสังฆราชนิกายนั้น
ก็มี หญิงสาวนำน้ำ
ชามาต้อนรับพระภิกษุไทย ได้ความว่า หญิงสาวที่นำน้ำชามาต้อนรับนั้น เป็นลูกสาวของ
สังฆราชญี่ปุ่นนั่นเอง
         ถ้าคนไทยไม่อยากเห็นพระภิกษุไทยเป็นอย่างพระญี่ปุ่น ก็จะทำได้ด้วยการช่วยกันรักษา
พระไตรปิฎก บาลีของเถรวาทนี้ไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์มั่นคง ดังเป็นที่รู้กันอยู่ และเป็นที่ยอม
รับในหมู่ผู้รู้ทั่วโลกว่า พระไตรปิฎก บาลีของเถรวาทนี้แหละ เป็นแหล่งบรรจุรักษาคำสอนเดิม
แท้ของพระพุทธศาสนาไว้ เราควรจะมีความภูมิใจที่ สามารถรักษาคำสอนที่บริสุทธิ์บริบูรณ์
ของพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงนี้ไว้ให้แก่โลก เพื่อให้พระสัทธรรม
อำนวยประโยชน์สุขที่ยั่งยืนแก่มวลมนุษย์สืบไป




ภาคผนวก

เอกสารของวัดพระธรรมกาย

นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา*

บทนำ

         ในระยะ 2-3 เดือนนี้ ประเด็นเรื่องนิพพานว่าเป็นอัตตาหรืออนัตตา ได้กลับมาเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกัน อย่างกว้าง
ขวางอีกครั้ง และบางท่านถึงกับสรุปว่า ความเห็นว่านิพพานเป็นอัตตานั้นผิดเพี้ยนจากหลักการของ พระพุทธศาสนา จึงทำให้อาตมภาพมีความจำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูล เพื่อให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจและมีท่า ทีที่ถูกต้องในเรื่องนี้          จากการศึกษา โดยส่วนตัวอาตมภาพมีความเชื่อว่า นิพพานเป็นอัตตา แต่บทความนี้ไม่มีความ ประสงค์ที่
จะวิเคราะห์ลงในรายละเอียดทางวิชาการ เพื่อยืนยันว่านิพพานต้องเป็นอัตตาหรืออนัตตา แต่ต้องการ ชี้ให้เห็นในภาพ
กว้างว่า เรื่องซึ่งอยู่พ้นเกินกว่าประสบการณ์ของปุถุชนคนสามัญจะไปถึง หรือเข้าใจได้ เช่น เรื่อง นรกสวรรค์ กฎแห่งกรรม นิพพาน ที่ท่านเรียกว่าเป็นเรื่องอภิปรัชญา หรือเรื่องที่เป็นอจินไตยนั้น หลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องนิพพาน ในทางวิชาการ
สามารถตีความได้หลายนัย ลำพังการอาศัยหลักฐานทางคัมภีร์เท่าที่มีเหลืออยู่ และศึกษาคัมภีร์เพียงบางส่วนเท่านั้น แล้วมาสรุปลงไปว่ามีลักษณะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเด็ดขาด พร้อมกับ ปฏิเสธทัศนะอื่นโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ยังมีประเด็นทาง
วิชาการที่ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบอีกมาก อย่างที่ทำอยู่นั้น เป็นสิ่งที่พระเถระทั้งหลายในอดีตของเราไม่
ทำกัน เป็นการสรุปเกิน เป็นผลเสียต่อพระพุทธ ศาสนาและอาจนำมาซึ่งความแตกแยก สิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติคือ การตั้งใจปฏิบัติธรรม เจริญมรรค มีองค์ 8 ตั้งใจรักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา จนเกิดปัญญาความรู้แจ้งด้วยตัว
ของตัวเอง แล้วเมื่อนั้นเราย่อมเข้าใจ ประจักษ์ชัดด้วยตัวของเราเองว่า นิพพานเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องถก
เถียงกันเลย

แหล่งอ้างอิงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

         คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการรวบรวมไว้ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก ซึ่งพระไตรปิฎกบาลี ของพระพุทธ
ศาสนานิกายเถรวาทของเรา เป็นพระไตรปิฎกที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถรวบรวมรักษาคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธ
เจ้าไว้ได้มากที่สุด เป็นแหล่งอ้างอิงของคำสอนในพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมที่สำคัญที่สุด          แต่นอกจากพระไตรปิฎกบาลีแล้วยังมีคำสอนยุคดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในคัมภีร์อื่นอีก หลายแหล่ง เช่น พระไตรปิฎกจีน พระไตรปิฎกธิเบต คัมภีร์สันสกฤต และคัมภีร์ในภาษาอื่นๆ
         พระไตรปิฎกจีน เนื้อหาส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกจีนเป็นคัมภีร์มหายาน ซึ่งทุกคนรู้ว่าเป็นคัมภีร์ที่แต่ง ขึ้นใน
ชั้นหลัง ไม่ใช่พุทธพจน์โดยตรง แต่ในพระไตรปิฎกจีนนี้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นคำสอนของหินยาน มีความ ยาวประมาณ 2
ล้าน 3 แสนตัวอักษร ครอบคลุมเนื้อหาพระวินัยและพระสูตร 4 นิกายแรก โดยส่วนใหญ่และขุททกนิกายบางส่วน เนื้อหาโดยส่วนใหญ่คล้ายกับพระไตรปิฎกบาลี แต่แตกต่างในรายละเอียดในทางวิชาการ แล้ว เนื้อหาพระไตรปิฎกจีน
ส่วนนี้ มีความเก่าแก่ทัดเทียมกับพระไตรปิฎกบาลี
         พระไตรปิฎกธิเบต เนื้อหาเป็นคัมภีร์มหายานและวัชรยานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเนื้อหาที่ยกเอาคัมภีร์ หินยานขึ้นมาอ้างอิงกล่าวถึงเป็นตอนๆ ซึ่งในการศึกษาคำสอนยุคดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา เนื้อหาส่วนนี้ก็มี
ความสำคัญ จะต้องคัดแยกออกมาศึกษา เปรียบเทียบกับคำสอนในแหล่งอื่น เพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนที่สุด ใกล้เคียงคำสอนดั้งเดิมมากที่สุด
         คัมภีร์สันสกฤต มีคำสอนในชั้นพระไตรปิฎกเหลืออยู่เพียงบางคัมภีร์ ไม่ครบทั้งชุด แต่ก็มีความเก่าแก่ สำคัญ ที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดเช่นกัน
         คัมภีร์ในภาษาอื่นๆ เช่น คัมภีร์ในภาษาคันธาวี ภาษาเนปาลโบราณ ภาษาถิ่นโบราณ ของอินเดีย เอเชียกลาง และที่อื่นๆ คัมภีร์เหล่านี้ก็มีคุณค่าทางวิชาการสูงมากเช่นกัน บางคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ธรรมบทในภาษาคันธารี ถึงขนาดได้รับ
การยอมรับในหมู่นักวิชาการพระพุทธศาสนาว่า เป็นคัมภีรธรรมบทที่เก่าแก่ที่สุดในโลก          การจะศึกษาให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมจริงๆ นั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องศึกษาให้ เข้าใจคัมภีร์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด นำเนื้อหาคัมภีร์ที่คล้ายกันมาเปรียบเทียบกัน วิเคราะห์ด้วยหลักทางวิชาการ ทั้งด้านภาษาศาสตร์และอื่นๆ จึงจะได้ความเข้าใจที่รอบด้านสมบูรณ์
         นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจสภาพสังคมอินเดียในครั้งพุทธกาลว่า ผู้คนมีความคิด ความอ่าน ความเชื่ออย่างไร นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาจึงต้องศึกษาให้เข้าใจคำสอนของพระเวท อุปนิษัท เชน และลัทธิความ
เชื่ออื่นๆ ของอินเดียที่มีอิทธิพลในยุคนั้นๆ รวมทั้งศึกษาประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การแตกนิกาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ และระหว่างพุทธกับ ลัทธิศาสนาอื่น การศึกษาให้เข้าใจ
ภูมิหลังทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความเชื่อในยุคนั้นๆ นี้เอง จะทำให้เรา ตีความเข้าใจความหมายของคำสอนใน
พระพุทธศาสนาของเราเองได้ถูกต้องลึกซึ้งชัดเจนขึ้น
         มีผู้เปรียบเทียบไว้ว่า พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนดอกไม้อันงดงามที่บานสะพรั่งขึ้นอย่างโดดเด่นใน สวนแห่งหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนอินเดียในยุคนั้น หากเรามองดูแต่ดอกไม้ดอกนั้นเท่านั้น โดยไม่เห็นถึงสภาพสวน นั้นหมดว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นการมองที่คับแคบและอาจเข้าใจหลายอย่างผิดไปได้
         หากจะยกตัวอย่างทางโลกมาประกอบให้เข้าใจง่ายขึ้นแล้ว เหมือนกับว่า หากในอนาคตมีผู้มาอ่านบท กวีของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ในตอนที่ว่า
         "ฉันคือกรวดเม็ดร้าว
         แหลกแล้วด้วยความเศร้าหมองหม่น
         ปรารถนาจะเป็นธุลีทุรน
         ดีกว่าทนกลั้นใจอยู่ใต้น้ำ" จากหนังสือ "ใบไม้ที่หายไป"
         แล้วไม่รู้ถึงภูมิหลังของสังคมไทยในยุคนั้น ไม่รู้ประวัติชีวิตของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ไม่รู้เบื้องหลัง ความคิด
ของคำกวีที่เกิดขึ้นนี้ ความรู้สึก ความเข้าใจในความหมายของบทกวีเพียงตัวหนังสือของบุคคลผู้นั้นก็ ตื้นเขินยิ่งนัก          การศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจ เพื่อการปฏิบัติและการสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดี การศึกษา พระไตรปิฎกบาลีสามารถให้ความรู้กับเราได้ แต่การจะล่วงเลยไปถึงขนาดกล้าระบุว่า ทัศนะทางอภิปรัชญาใด ใช่หรือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิม พร้อมทั้งปฏิเสธทัศนะอื่นโดยเด็ดขาดนั้น ลำพังการศึกษา
พระไตรปิฎกบาลีอย่างเดียวไม่เพียงพอผู้นั้นจะต้องศึกษาแหล่งอ้างอิงคำสอนพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมทุก
แหล่งให้ เจนจบ และเข้าใจสภาพภูมิหลังของสังคมอินเดียในครั้งพุทธกาลอย่างลึกซึ้งก่อน

คำสอน 2 ระดับในพระพุทธศาสนา

         คำสอนในพระพุทธศาสนา เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
        1. คำสอนที่เป็นไปเพื่อการปฏิบัติ เช่น มรรคมีองค์ 8 ไตรสิกขา สังคหวัตถุ 4 ทิศ 6 บุญกิริยาวัตถุ 3
อิทธิบาท 4 เป็นต้น
        2. คำสอนทางด้านอภิปรัชญา คือ สิ่งที่พ้นเกินกว่าประสบการณ์ของปุถุชนคนธรรมดาจะสัมผัสรู้เห็นได้ โดยตรง
เช่น เรื่อง นรกสวรรค์ กฎแห่งกรรม นิพพาน จักรวาล วิทยา โครงสร้างของโลก เป็นต้น
         เรื่องทางด้านอภิปรัชญาบางเรื่อง เช่น โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่ ตถาคตเมื่อนิพพานแล้วยังดำรงอยู่หรือไม่ เมื่อมีผู้ถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ตอบ เพราะถ้าผู้ฟังยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมจนมี ภูมิธรรมถึงขีดคั่นแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจตามได้อย่างแท้จริง ถ้าตอบไปแล้วหากเขาไม่เชื่อก็ยิ่งเสียหายไปใหญ่
ไม่เกิดประโยชน์
         ทั้งนี้เพราะบุคคลทั่วไป จะทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยนำไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์เดิมของตน หากเป็นสิ่งที่ตนไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน หลุดไปอีกมิติหนึ่งก็ยากยิ่งนักที่จะทำความเข้าใจได้ เหมือนการ พรรณนาสีสรรความสวยงามของดอกไม้ให้คนตาบอดแต่กำเนิดฟัง เขาย่อมยากจะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้เอง
เมื่อกล่าวถึงนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่าอายตนะนั้นมีอยู่ แต่ทรงอธิบายด้วยการปฏิเสธว่า ไม่ใช่สิ่ง
นั้นสิ่งนี้ เพราะนิพพานอยู่เหนือเกินกว่าประสบการณ์ของมนุษย์ปุถุชนจะเข้าใจได้
         เพราะเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสอธิบายเรื่องทางอภิปรัชญาไว้อย่างละเอียด เพียงแต่บอก เป็นนัยให้ทราบเท่านั้น ความเห็นความเข้าใจในเรื่องทางอภิปรัชญานี้จึงมีความหลากหลายมาก สรุปยุติลงเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันได้ยาก ถ้าใครยืนกรานความเห็นในความเห็นหนึ่งว่าถูกต้องเด็ดขาดและปฏิเสธความเห็นอื่น ทั้งหมดว่าผิด เป็นสัทธรรมปฏิรูป ทำลายพระพุทธศาสนา ต้องขจัดให้หมดไป พระพุทธศาสนาคงจะเต็มไปด้วย การทะเลาะเบาะแว้งและความแตกแยกระส่ำระสาย อย่าว่าแต่เรื่องของนิพพานเลย แม้เพียงแค่เรื่องนรกสวรรค์ ก็มีบางท่านคิดว่าเป็นเรื่องสวรรค์ในอกนรกในใจ คือทำดีก็เย็นใจเหมือนขึ้นสวรรค์ ทำบาปก็ร้อนใจเหมือนตก นรก ไม่เชื่อว่ามีนรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมิสถานที่หนึ่งจริง บางท่านก็เชื่อว่ามีสวรรค์นรกที่เป็นภพภูมิสถานที่ มี วิมานเทวดา
นางฟ้าบนสวรรค์ มีกะทะทองแดง ไฟนรก สัตว์นรก อยู่ในนรกจริง โดยอ้างถึงพระไตรปิฎกและอรรถกถาว่า มีกล่าวถึงนรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมินี้มากมายชัดเจน ยิ่งกว่าเรื่องนิพพานเยอะ และถ้าคนกลุ่มนี้ปฏิเสธคน กลุ่มแรกที่ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมิมีจริง หาว่าเพี้ยน นอกลู่นอกทางพระพุทธศาสนา ต้องขจัดให้หมดไป เท่านี้ก็คงเพียงพอที่จะทำให้เกิดการแตกแยกในพระพุทธศาสนา
         จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ในประเทศไทยไม่ใคร่มีการถกเถียงกัน แต่ในต่างประเทศก็มีการถกกันมาก เช่น เรื่องการอุทิศส่วนกุศล ว่าขัดกับหลักกฎแห่งกรรม ใครทำใครได้หรือไม่ อยู่ๆ จะมายกบุญให้แก่กันได้อย่างไร ก็มีทั้ง
คนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ถกกันมากมาย และก็หาข้อยุติที่ทุกคนยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้งไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าเรื่องใด
ก็ตาม หากมีใครยืนกรานความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ปฏิเสธความเห็นอื่นโดยสิ้นเชิง ล้วนนำมาซึ่ง ความแตกแยกทั้งสิ้น และเป็นโทษต่อพระพุทธศาสนามากกว่าเป็นคุณ
         เมื่อเป็นเช่นนั้น ถามว่าเราจะปล่อยให้ใครสอนอย่างไรก็ได้ตามใจชอบหรือ คำตอบ ก็คือ ไม่ใช่ หลักสำคัญมี
อยู่ว่า ตราบใดที่ยังสอนให้ทำความดีตามหลักคำสอนที่เป็นไปเพื่อการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เช่น เจริญมรรคมีองค์ 8 ไตรสิกขา ทิศ 6 บำเพ็ญบุญกิริยา วัตถุ 3 ลด ละ เลิก อบายมุข เป็นต้น แม้ความเห็น
ในเรื่อง อภิปรัชญาจะอ้างอิงบทคัมภีร์คนละจุด ตีความและมีความเห็นต่างกันบ้าง เราก็ยอมรับซึ่งกันและกัน และร่วม แรงร่วมใจทำงานยกระดับศีลธรรมของผู้คนในสังคมช่วยกันได้ นี่คือ ความเป็นประชาธิปไตย
ในพระพุทธศาสนา และเป็นท่าทีอันชาญฉลาดของปู่ย่าตายายบรรพบุรุษไทย
ที่รักษาพระพุทธศาสนามาให้เรา
ถึงปัจจุบัน ทำให้พระ พุทธศาสนาในประเทศไทยมีความเป็นเอกภาพสามัคคี เป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าประเทศใดๆ เป็นสิ่งที่เราชาวไทยควร ภาคภูมิใจ
         หากเปรียบไปแล้ว เราทุกคนเปรียบเสมือนนักเดินทางไกลในวัฏฏสงสาร แม้ใน ระหว่างเดินทางอาจมี ความเห็นไม่ตรงกันว่า เป้าหมายปลายทางน่าจะเป็นอย่างไร เราก็สามารถเดินบนเส้นทางเดียวกัน ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันได้ และหากเราเดินอยู่บนเส้นทางที่ ถูกต้อง คือหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 โดยไม่เลิกละกลางคัน แล้วละก็ ในที่สุดเราก็ย่อมจะบรรลุเป้าหมายปลายทางนั้น และรู้แจ้งกระจ่างชัดด้วยตัวของเราเองว่าปลายทาง เป็นอย่างไร และทุกคนก็จะเข้าใจตรงกัน โดยไม่ต้องทะเลาะกันเลย ถ้าระหว่างเดินทางมามัวถกเถียงกันว่าเป้า หมายปลายทางตามที่ว่าในลายแทงนั้นเป็นอย่างไร แล้วเลยทะเลาะแตกแยก เสียเวลาเดินทาง หรือแยกทางกัน เดิน เป็นสิ่งไม่ให้ประโยชน์ ยิ่งถ้าใครไม่ยอมเดิน หรือเดินถอยหลัง เช่นไม่ยอมรักษาศีล ไม่เจริญสมาธิภาวนา แล้วมาถกเถียงกันเรื่องนิพพานว่าเป็นอย่างไร ก็คงเสียประโยชน์เปล่า ไม่มีวันเข้าถึงนิพพานนั้นได้เลย          ขอให้ตั้งสติพิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้ให้ดี
         "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร จะพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติ ปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8 เปรียบเหมือน แม่ไก่มีไข่อยู่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกไม่ดีให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ได้ แม่ไก่นั้นแม้จะ พึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น
         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอ จิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้น ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือ มั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ เพราะเจริญอะไร เพราะเจริญสติปัฏฐาน 4 ฯลฯ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8 เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบ อุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่นั้นจะไม่พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือ จะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถใช้เท้าหรือจะงอยปากเจาะ กะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี ฉะนั้นŽ (อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เล่ม 23 ข้อ 68 หน้า 126-127 )

นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

         เรื่องอัตตาและอนัตตานี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากตั้งแต่ยุคโบราณหลังพุทธกาลเป็นต้นมา และมีมาตลอด
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แม้ในยุคปัจจุบัน ก็มีนักวิชาการพระพุทธศาสนาทั้งในดินแดน ตะวันตก เช่น ยุโรป อเมริกา และทางตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ถกเถียงกันมาก ประเด็นที่ถกเถียงกันก็มี หลากหลาย เช่น
         1. อัตตา ตัวตนที่แท้จริง มีหรือไม่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา มีทั้งผู้ที่คิดว่า มี อัตตาตัวตนที่แท้จริง
อยู่ และมีทั้งผู้ที่คิดว่าไม่มี และดูเหมือนว่าผู้ที่มีความเห็นว่ามีอัตตานั้นจะมีจำนวนมากกว่า ปราชญ์ใหญ่ทาง พระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกที่มีชื่อเสียงก้องโลกจำนวนมาก ก็มีความเห็นว่ามีอัตตาที่แท้จริงอยู่ในคำ สอนทางพระพุทธศาสนา เช่น
         Mrs. Rhys Davids นายกสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2465-2485 [Steven Collins, Selfless Person; Imagery and thought in Theravada Buddhism, (Cambridge; University Press, 1997), p.7],
         Miss I.B.Horner นายกสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2502-2524 [Peter Harvey, The selfless Mind, (Curzon Press, 1995), p.17.]
         ทั้ง 2 ท่านนี้ล้วนเป็นผู้อุทิศตนเพื่องานพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธ ศาสนาที่หาตัว
จับยาก มีบทบาทสำคัญในการตรวจชำระจัดสร้างพระไตรปิฎกและอรรถกถาบาลีฉบับอักษร โรมัน ของสมาคมบาลีปกรณ์ แห่งประเทศอังกฤษ (Pali Text Society) ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกบาลีฉบับสากล เป็นที่ อ้างอิงของนักวิชาการพระพุทธศาสนา
ทั่วโลกในปัจจุบัน
         Christmas Humphrey [Christmas Humphreys, Buddhism, (Penguin Books, 1949, p.88.],
         Edward Conze [Edward Conze, Buddhist Thought in lndia, (George Allen and Unwin, 1962), p.39.]          และอีกหลายๆ ท่าน ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีผลงานมากมายเป็นที่รู้จักกันทั้งโลกเหล่านี้ มี ความเห็นที่ตรงกันในเรื่องอัตตานี้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
         ก) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า อัตตาที่แท้จริงไม่มี และไม่เคยตรัสปฏิเสธว่าไม่มี อัตตาใดๆ ทั้งสิ้นในสัจจะทุกระดับ
         ข) เขาเหล่านี้เชื่อตรงกันว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิม บ่งบอกนัยว่า มีอัตตาที่แท้จริงซึ่ง อยู่ในภาวะที่สูงกว่าขันธ์ 5 หรือสังขตธรรม
เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ตรัสตรงๆ ว่า มีอัตตาที่แท้จริงอยู่ เพราะผู้ที่ยัง ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอัตตาแบบเดียวกับที่ศาสนาพราหมณ์สอน
         มีการอ้างอิงหลักฐานในคัมภีร์ทั้งบาลี สันสกฤต จีน ธิเบต ในและภาษาอื่นๆ มากมาย อันนำมาสู่ข้อ สรุป
ความเห็นนี้ แต่ก็มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย ยืนยันว่า ไม่มีอัตตาในพระพุทธศาสนา เช่นกัน ต่างฝ่ายต่างก็มี เหตุผลของตน
         2. ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" คืออะไร นักวิชาการบางส่วน เมื่อพบศัพท์ ธรรมะคำหนึ่ง ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่ามีความหมายเดียวกันโดยตลอดทำให้ตีความเข้าใจพระไตรปิฎกคลาด เคลื่อนมาก เพราะในการแสดงธรรมแต่ละครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสสอนให้ตรงกับจริตอัธยาศัยและภูมิ ธรรมของ
บุคคลผู้ฟัง ความหมายของศัพท์ธรรมในแต่ละแห่งที่พบในพระไตรปิฎก จึงมีนัยที่ลึกซึ้งต่างกัน เหมือน ดังที่พระเถระในอดีตกล่าวไว้ว่า "บาลีมีนัยเป็นร้อย"
         ในกรณีของศัพท์ว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" นี้ ก็เช่นกัน คำว่า "อัตตา" บางท่านก็ตีความว่าเป็นตัวตน แบบที่ศาสนาพราหมณ์เขาสอนกันว่า มี อาตมัน อยู่ภายในคนแต่ละคนซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วต้องไปรวมกับ ปรมาตมัน หรือ อาตมันใหญ่ ก็เลยเกรงว่า ถ้าพุทธยอมรับว่ามีอัตตา จะกลายเป็นยอมรับศาสนาพราหมณ์ไป ซึ่ง จริงๆ เป็นคนละเรื่อง อัตตามีนัยมากมาย ทั้งอัตตาโดยสมมุติ เช่น ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ของของเรา ครอบครัว ของเรา เป็นต้น และอัตตาในระดับที่สูงขึ้น เช่น ความรู้สึกในเรื่องอัตตาของเทวดา ของพรหม ก็ย่อมต่างกัน หรือ อัตตาในระดับที่สูงกว่านั้น เป็นอัตตาที่แท้จริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชนทั้งหลายยึดเป็นเกาะ เป็นที่ พึ่ง ในพุทธพจน์ที่ว่า
         "อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา
         ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญญสรณา"
         แปลว่า "เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ จงมีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ จงมี ธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง" (ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10 ข้อ 93 หน้า 119)
         อัตตาในที่นี้ ก็ย่อมมีความหมายที่แตกต่างจากอัตตาในระดับสมมุติ และอัตตาของศาสนาพราหมณ์ ในการศึกษา
พระไตรปิฎก จึงต้องวินิจฉัยแยกแยะทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของศัพท์ธรรมะที่พบในแต่ ละที่ให้ดี
         ความหมายของคำว่า "อนัตตา" ก็เช่นกัน มีทั้งผู้ที่มีความเห็นว่า อนัตตา แปลว่า ไม่มีอัตตา และมีทั้งผู้ ที่มีความเห็นว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา เหมือนคำว่า อมนุษย์ แปลว่าไม่ใช่มนุษย์ ไม่ได้หมายความว่า ไม่มี มนุษย์ เป็นมุมมองที่ต่างกันในการพิจารณารูปคำสมาส และเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ ตัวตน ก็มีนัยให้รู้ว่า มีตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอยู่สูงกว่าขันธ์ 5 อยู่ ทรงสอนให้ยึดอัตตานั้นเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ และจะเข้าถึงอัตตาที่แท้จริงนั้นได้ด้วยการปฏิบัติ สติปัฏฐาน 4 คือการตามเห็นกายในกาย การตามเห็น
เวทนาในเวทนา การตามเห็นจิตในจิต และการตามเห็นธรรมในธรรม ประเด็นนี้ก็มีการถกเถียงกันมากมาย
         3. คำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นคำที่มีการอ้างอิงกันมากนี้ คำว่า สพฺเพ ธมฺมา คือ ธรรมทั้งปวง กินความกว้างเพียงใด เพราะมีทั้งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่บอกว่า ธรรมทั้งปวงในที่นี้รวมเอา พระนิพพานด้วย (อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิเทส ฉบับมหาจุฬาราชวิทยาลัย หน้า 8.; อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิเทส ฉบับมหาจุฬาราชวิทยาลัย หน้า 219)
         และมีทั้งคัมภีร์อรรถกถาที่บอกว่า ธรรมทั้งปวงที่ว่าเป็นอนัตตานั้นหมายเอาเฉพาะขันธ์ 5 ไม่ได้ครอบ คลุมถึงพระนิพพาน (อรรถกถาธรรมบท ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ภาค 7 หน้า 62)
         และนิพพานนี้ เป็นสิ่งอยู่พ้นจากกฎของไตรลักษณ์แน่นอน เพราะมีพุทธพจน์ยืน ยันว่า นิพพานนั้น เป็นนิจจัง คือ เที่ยงแท้ ยั่งยืนและเป็นบรมสุข
         ยสฺส อุปฺปาโท ปญฺญายติ วโย นตฺถิ ตสฺส ยญฺญทตฺถุ ปญฺญายติ นิพฺพานํ นิจฺจํ ธุวํ สสฺสตํ อวิปริณามธ มฺมนฺติ อสํหิรํ อสํกุปปํฯ
         แปลว่า ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดย
แท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ (ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม 30 ข้อ 659 หน้า 315)
         นิพพานํ ปรมํ สุขํฯ
         แปลว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง (ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่ม 25 ข้อ 25 หน้า 42)
         และมีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า
         ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา...
         แปลว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา (สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
เล่ม 17 ข้อ 91 หน้า 56)
         จึงน่าคิดว่า ถ้ามองในเชิงกลับกัน ในเมื่อนิพพานเที่ยง และเป็นสุข เราก็จะสรุปได้ว่า สิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข สิ่ง ใดเป็นสุข สิ่งนั้นก็น่าจะเป็น...อัตตา

สังขตธรรม เช่น ขันธ์ 5
(อยู่ในกฎไตรลักษณ์)
อสังขตธรรม เช่น นิพพาน
(อยู่พ้นกฎไตรลักษณ์)
ไม่เที่ยง เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นสุข
เป็นอนัตตา อัตตา...?

         ในการถกเถียงกันนั้น มีการอ้างอิงหลักฐานคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกในภาษาต่างๆ กันมากมาย และมี การ
วิเคราะห์วิจัยถึงความสอดคล้องโดยองค์รวมกับคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมด มีการวิเคราะห์ถึง ปัญหาที่ติดตาม
มากับข้อสรุปในแต่ละด้าน เช่น ถ้าไม่มีอัตตาที่แท้จริงอยู่เลย แล้วจะอธิบายในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้อย่างไรว่า ผลบุญ ผลบาปที่กระทำไว้ จะส่งผลไปในภพชาติต่อไปได้อย่างไร อะไรเป็นตัวนำไป ก็มีผู้ตั้งทฤษฎี ให้ความเห็นกันมากมาย แต่ก็ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับทั้งหมด ล้วนมีผู้ถกเถียงหักล้างกันไปมาทั้งสิ้น
         การจะสรุปว่า ความเห็นใดในเรื่องอภิปรัชญานี้เป็นความเห็นที่ถูกต้องจริงแท้แน่นอนของพระพุทธศาสนา โดยปฏิเสธความเห็นอื่นอย่างสิ้นเชิง ว่าเป็นความเห็นนอกพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก จะต้อง ศึกษาแหล่งอ้างอิงทางพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมทุกแหล่งเท่าที่มีอยู่ ไม่เฉพาะคัมภีร์บาลีเท่านั้น และต้องศึกษา การถกเถียงเรื่องนี้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สองพันกว่าปีก่อน ซึ่งมีการเขียนเป็นคัมภีร์ในภาษาต่างๆ มากมายว่า แต่ละฝ่ายมีเหตุผลใด รวมทั้งต้องศึกษาผลงานวิจัยในเรื่องนี้ของปราชญ์ทั้งหลายในยุคปัจจุบันในประเทศต่างๆ ต้องสามารถหักล้างเหตุผลของความเห็นที่แย้งกับความเห็นตนลงให้ได้ทั้งหมด จนเป็นที่ยอมรับ ไม่มีหลักฐาน เหตุผลแย้งที่เป็นอรรถเป็นธรรมใดๆ เหลืออยู่เลย จึงจะสรุปได้และเป็นที่ยอมรับ มิฉะนั้นข้อสรุปของตนก็จะเป็น เพียงความเห็นอันหนึ่งในเรื่องนั้นๆ เท่านั้น จะถือเป็นข้อสรุปว่าพระพุทธศาสนาต้องสอนอย่างนี้เท่านั้นไม่ได้          จากการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สิ่งที่อาจสรุปได้ประการหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถอาศัย หลักฐานทาง
คัมภีร์เท่าที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน มาสรุปยืนยันความถูกต้องของความเห็นในเรื่องนิพพานว่าเป็น อัตตาหรืออนัตตา โดยไม่มีประเด็นให้ผู้อื่นโต้แย้งคัดค้านได้
         หากประเด็นเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานี้ เป็นที่สนใจของชาวพุทธไทยมาก ก็น่าสนใจว่า เราน่า
จะลองจัดสัมมนาทางวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติ เชิญปราชญ์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา ยุคดั้งเดิมจากทั่วโลกมาแสดงความเห็น วิเคราะห์วิจัยเรื่องนี้กันเป็นการใหญ่ในประเทศไทยดูสักครั้ง

ท่าทีที่ถูกต้องของชาวพุทธ

         ในขณะที่ประเด็นปัญหาว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ในทางวิชาการ ยังไม่อาจสรุป ลงได้นั้น สิ่งที่ชาวพุทธ
พึงทราบก็คือ อายตนนิพพานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า มีอยู่จริง และทรงอธิบายด้วยการปฏิเสธ
ว่าไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนี้ เพราะอายตนนิพพานเป็นสิ่งที่เกินกว่าวิสัย และประสบการณ์ในโลกของปุถุชนใดๆ จะสามารถ
เข้าใจได้ ดังความในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 25 ข้อที่ 158 ปฐมนิพพานสูตร ความว่า
         "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระ อาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่าเป็น การมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็น ไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์"
         ดังนั้นสิ่งที่เราชาวพุทธพึงเชื่อมั่น ก็คือ อายตนนิพพานนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยืนยันว่า
มีอยู่จริง และเป็นที่สุดแห่งทุกข์ เป็นเป้าหมายสูงสุดในการสร้างความดีของชาวพุทธทั้งหลาย และเมื่อ
ทราบดังนั้นแล้วก็ขอให้ขวนขวายทำความดี ด้วยการเจริญมรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถเข้าถึงอายตนนิพพานนั้นได้แล้ว เราย่อมตระหนักชัด ด้วยตัวของเราเองว่า นิพพานนั้นเป็นอัตตาหรืออนัตตา ดีกว่าการมานั่งถกเถียงกันโดยไม่ลงมือปฏิบัติ

พระสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
วัดพระธรรมกาย

แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยโตเกียว
Doctor Candidate (Buddhist Studies)
Dip. in Chinese : Dip. in Japanese
1 มกราคม 2542