รู้จักพระไตรปิฎก

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา

         เบื้องแรกต้องรู้ความแตกต่างระหว่างศาสนากับปรัชญาก่อน ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดหาเหตุผล และถกเถียงกันในเรื่องเหตุผลนั้นเพื่อสันนิษฐานความจริง เรื่องที่ถกเถียงนั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ เป็นอยู่ เช่น นักปรัชญาอาจจะถกเถียงกันว่า จักรวาลหรือจักรภพเกิดขึ้นเมื่อไรและจะไปสิ้นสุดเมื่อไร โลกจะแตก เมื่อไร ชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไร เป็นต้น และนักปรัชญาก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามหลักการอะไร หรือแม้แต่ให้สอด คล้องกับสิ่งที่ตนคิด เขาคิดหาเหตุผลหาความจริงของเขาไป โดยที่ว่าชีวิตส่วนตัวอาจจะเป็นไปในทางที่ตรงข้าม ก็ได้ เช่น นักปรัชญาบางคนอาจจะเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย บางคนสำมะเลเทเมา บางคนมีทุกข์จนกระทั่งฆ่าตัวตาย           แต่ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เรื่องของการดำเนินชีวิต หรือการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ในชีวิตจริง
การปฏิบัตินั้นต้องมีหลักการที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะต้องมีจุดหมายชัดเจนด้วยว่าต้องการอะไร การที่ต้องมีข้อปฏิบัติที่แน่นอนและต้องมีจุดหมายที่ชัดเจนนั้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องยอมรับหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง และก็ต้องถามต่อไปว่าจะยอมรับหลักการที่บุคคลผู้ใดได้ค้นพบหรือแสดงไว้ ซึ่งเราเรียกว่าพระ "ศาสดา"          เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติคือศาสนิกชน เริ่มต้นก็ต้องยอมรับหรือเชื่อการตรัสรู้หรือการค้นพบ
ความจริงของ องค์พระศาสดา หรือยอมรับหลักการที่ศาสนานั้นได้แสดงไว้ ซึ่งเราเรียกว่า
คำสอน เพราะฉะนั้นศาสนิกจึงมุ่งไปที่ ตัวคำสอนของพระศาสดา หรือหลักการที่ศาสนาวางไว้ คำสอนของพระศาสดานั้นก็รวบรวมและรักษาสืบทอด กันไว้ในสิ่งที่เรียกกันว่าคัมภีร์ ในพระพุทธศาสนาเรียกคัมภีร์ที่รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดา ของพระพุทธศาสนาว่า "พระไตรปิฎก"

พระไตรปิฎก คือที่สถิตของพระศาสดา

         คัมภีร์ศาสนา เช่น ในพระพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎกนี้ เป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ตัดสินความเชื่อและ การประพฤติปฏิบัติ เป็นที่มา เป็นแหล่งรักษาหลักการของศาสนานั้นๆ ถ้าคำสอนหรือหลักการที่แท้ของพระ ศาสดาที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์นั้น สูญสิ้นหมดไป ก็ถือว่าศาสนานั้นสูญสิ้น
ดังนั้น ศาสนาทั้ง หลายจึงถือการรักษาคัมภีร์ศาสนาของตนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และพระพุทธศาสนา
ก็ถือว่าการรักษาคัมภีร์พระ ไตรปิฎกเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
         พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสไว้ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว
ธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้วและบัญญัติแล้ว แก่สาวกทั้งหลายนั้น จะเป็นศาสดาแทนพระองค์สืบต่อไป ธรรมวินัยนั้นเวลานี้อยู่ที่ไหน ก็รักษาไว้ใน
พระไตรปิฎก
         ธรรมวินัย ก็คือหลักการและหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา ที่มาจากพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ ซึ่งเป็นบรรทัด
ฐานที่ชัดเจน
         ยิ่งหลักการที่สำคัญ อย่างนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว ก็จะต้องมีความ แน่นอน
ว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าศาสนิกหรือผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ยังไม่อาจจะรู้ไม่อาจจะเข้าใจหลักการนี้ด้วย ประสบการณ์ของตนเอง พระศาสดาจึงต้องแสดงหลักการนี้ไว้ให้ชัด เท่าที่จะใช้ภาษาสื่อสารให้สติปัญญาของผู้ ปฏิบัติรู้เข้าใจได้
ถ้ามิฉะนั้นผู้
ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไป แทนที่จะบรรลุนิพพานของพระพุทธศาสนา ก็อาจจะกลาย เป็นนิพพานของฮินดูไป หรืออาจจะเข้าถึงฌานสมบัติ แล้วก็เข้าใจว่านี่เป็นนิพพาน หรือปฏิบัติไปรู้สึกว่าจิตไป เข้ารวมกับสภาวะ
อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็นึกว่านั้นเป็นนิพพาน
เพราะฉะนั้นหลักการที่สำคัญนี้ พระศาสดาจะ ต้องวางไว้อย่างชัด
เจนที่สุด เท่าที่สติปัญญาของคนที่ปฏิบัติซึ่งยังไม่รู้ได้ด้วยตนเองจะเข้าใจได้
         พระไตรปิฎกเป็นแหล่งรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า "ธรรมวินัย" นี้ ตั้งแต่เรื่องนิพพานซึ่ง เป็นจุดหมายสูงสุดลงมา ทั้งคำสอนทางปัญญา อย่างไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท ทั้งข้อปฏิบัติคือไตรสิกขา ตลอดจนวินัยเช่นที่เรียกว่าศีล 227 ของพระภิกษุสงฆ์ ศีล 10 ของสามเณร และศีล 5 ศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา ทั้งหมดนี้อาศัยพระไตรปิฎกเป็นแหล่งรวบรวมไว้ และเป็นมาตรฐานทั้งสิ้น
         ควรจะยกพุทธพจน์ที่ตรัสเมื่อจะปรินิพพาน มาย้ำเตือนพุทธศาสนิกชนกันไว้เสมอๆ ว่า
        โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา (ที. ม.10/141/178)
         แปลว่า:
"ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย,ธรรมและวินัย นั้น เป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป"

พระไตรปิฎกสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่าที่รัฐธรรมนูญสำคัญต่อประเทศชาติ

         ถ้าเทียบกับเรื่องที่ชาวบ้านพอจะเข้าใจ พระไตรปิฎกนั้นมีความสำคัญต่อศาสนิกชน ยิ่งกว่าที่รัฐธรรม นูญมีความสำคัญสำหรับพลเมือง คงไม่มีใครพูดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงตำราเล่มหนึ่ง หรือว่าเมื่อขึ้นศาลมีการ ยกรัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาตรานี้ขึ้นมากล่าว หรือแม้แต่ยกกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งมาตรานั้นมาตรานี้ขึ้น มาอ้าง คงไม่มีใครพูดว่า กฎหมายมาตรานั้นนี้ รัฐธรรมนูญมาตรานั้นนี้เป็นเพียงความคิดเห็น          ที่ว่าพระไตรปิฎกสำคัญยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ สำหรับศาสนิกชน เพราะรัฐธรรมนูญนั้น สามารถเปลี่ยน แปลงไปโดยมติของประชาชนที่ผ่านทางองค์กรนิติบัญญัติตามยุคตามสมัย แต่พระไตรปิฎกไม่อาจจะเปลี่ยน
แปลงได้ เพราะเป็นคำสอนขององค์พระศาสดา และพระศาสดาก็ปรินิพพานแล้ว ถ้าพระไตรปิฎกสูญหาย คำสอนของพระพุทธเจ้าก็สูญสิ้น

       การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรายอมรับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งอยากรู้และนำ ความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมาปฏิบัติ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการที่สุด จึงได้แก่คำสอนของ พระองค์ เมื่อพระองค์ ปรินิพพานแล้ว เราจึงถือเป็นสำคัญที่สุดว่าจะ
รักษาคำสอนหรือคำตรัสของพระองค์ที่เรียกว่าพุทธพจน์ไว้ให้แม่น ยำบริสุทธิ์บริบูรณ์
ที่สุดได้อย่างไร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าถึงคำสอนของพระองค์ได้ต่อไป
          เมื่อเรารักษาคำสอนของพระองค์ไว้ดีที่สุดแล้ว เราก็ใช้คำสอนของพระองค์นั้นเป็น
มาตรฐาน เป็น เกณฑ์ตัดสินความเชื่อและการปฏิบัติที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาต่อไป
        ดังนั้น ในเรื่องธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้ แทนที่จะคิดว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีแต่ว่าจะต้องรักษา ไว้ให้บริสุทธิ์ ให้ตรงตามเดิมเท่าที่เป็นไปได้
         อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติเพียงในด้านวินัย เช่น กำหนดสิทธิเสรีภาพ หน้าที่พลเมือง และหลักเกณฑ์ในการ อยู่ร่วมกันในสังคมเป็นต้น แต่พระไตรปิฎกนั้นบรรจุไว้ทั้งธรรมและวินัย คือทั้งแบบแผน ระเบียบความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ และทั้งหลักการของพระพุทธศาสนา ถ้าศาสนิกชนปฏิเสธพระไตรปิฎก หรือไม่ยอมรับพระไตรปิฎกก็คือไม่ยอมรับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบนั้น เช่น แบบเถรวาท แบบมหายาน แล้วแต่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกฉบับไหน
        ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุ การปฏิเสธไม่ยอมรับพระไตรปิฎก ก็คือการปฏิเสธไม่ยอมรับความ
เป็นพระภิกษุ ของตนนั่นเอง เพราะเหตุว่าการบวชของภิกษุนั้นก็ดี สิ่งที่เรียกว่า ศีล 227 ข้อ คือสิกขาบท 227 ในพระวินัยก็ดี ที่ พระภิกษุนั้นรักษาอยู่ ก็มาจากพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก เมื่อภิกษุไม่ยอมรับพระไตรปิฎก ก็คือปฏิเสธการ บวช และปฏิเสธศีล 227 เป็นต้นของตนนั้นเอง
         ที่กล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ พระพุทธศาสนาให้สิทธิและเสรีภาพ โดยสมบูรณ์ แม้แต่สิทธิและเสรีภาพที่จะปฏิเสธพระไตรปิฎกและปฏิเสธพระพุทธเจ้า แต่ข้อสำคัญในความเป็น ประชาธิปไตย ก็คือความตรงไปตรงมา เมื่อเราไม่ยอมรับพระไตรปิฎกนี้ เราไม่ยอมรับการบวชเป็นพระภิกษุแบบนี้ ก็จะเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ว่าเรายังเอารูปแบบที่เป็นบัญญัติในพระไตรปิฎกนั้นมาใช้          ยิ่งหลักการที่สูงขึ้นไปอย่างเรื่องนิพพานก็ยิ่งสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะว่าวินัยที่รักษานั้นก็เพื่อที่จะเป็น ฐานให้เข้าถึงจุดหมายนั้นเอง ถ้ารักษาหลักการอย่างนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดไว้ไม่ได้ การรักษาความ ประพฤติปฏิบัติเบื้องต้นเช่นวินัยก็แทบจะหมดความหมาย

พระไตรปิฎกบาลีที่คนไทยนับถือ คือฉบับเดิมแท้ เก่าแก่ และสมบูรณ์ที่สุด

         พระพุทธศาสนาแบบที่เรานับถือกันอยู่ ซึ่งสืบต่อมาในประเทศไทยนี้ เรียกว่าพระพุทธศาสนาเถรวาท หรือบางทีก็ถูก เรียกว่า หินยาน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของคำสอนที่รักษามาในพระไตรปิฎกภาษาบาลี         พระไตรปิฎกภาษาบาลีของเถรวาทนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมแท้ของ
พระพุทธเจ้า เก่าแก่ ที่สุดเท่าที่จะสืบหาได้ แล้วรักษากันมาอย่างเคร่งครัด ทั้งแม่นยำที่สุด
และครบถ้วนที่สุด
         เวลานี้ในโลกก็รู้กันอยู่ว่าพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ 2 นิกาย คือ เถรวาท กับมหายาน นอกจากพระ พุทธศาสนาแบบเถรวาทอย่างของเรานี้ ก็มีพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่มีในประเทศแถบเอเชียภาคเหนือ อย่าง ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มองโกเลีย เป็นต้น รวมทั้งทิเบตซึ่งมักจะไม่ยอมเรียกตนเป็นมหายาน แต่เรียกตนว่าวัชรยาน กลายเป็น 3 นิกาย
          
ทั้งโลกนี้รู้กันอยู่และยอมรับกันทั่วไปว่า เถรวาทเป็นพระพุทธศาสนาดั้งเดิม พระไตรปิฎกบาลีก็เป็นพระ ไตรปิฎกดั้งเดิม ชาวพุทธฝ่ายมหายานก็ยอมรับเช่นนั้น นักปราชญ์ที่เชี่ยวชาญด้านมหายานนั่นแหละ พูดออกมา เองอย่างเต็มปาก
        ยกตัวอย่างด้านจีน
เช่น Professor Soothill ผู้รวบรวมพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาภาษาจีน เขียน ไว้ในคำ "มหายาน" ว่า
         "Mahayana . . . is interpreted as มหายาน (คำจีน) the greater teaching as compared with หินยาน
(คำจีน ) the smaller, or inferior. Hinayana, which is undoubtedly nearer to the original teaching of the
Buddha, is unfairly described as an endeavour to seek nirvana through an ash- covered body, an extinguished intellect, and solitariness; . . .
         "มหายาน . . . ได้รับการแปลความหมายให้เป็นหลักธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า โดยเปรียบเทียบกับ "หินยาน" ซึ่ง(ถูกแปลความหมายให้) เป็นหลักธรรมที่เล็กน้อยหรือด้อยกว่า. หินยาน ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าใกล้เคียงกับคำ สอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้ามากกว่า ถูกกล่าวขานอย่างไม่เป็นธรรม ว่าเป็นความพยายามที่จะแสวงนิรวาณ (นิพพาน) ด้วยอาศัยกายที่หมกเถ้าธุลี ปัญญาที่ดับอับแสง และการปลีกตัวหลีกเร้น; . . ."
         ตัวอย่างด้านญี่ปุ่น เช่น Professor Mizuno ได้เขียนหนังสือไว้ ให้รู้ว่า
         ". . . of all the sects and schools of Buddhism, Theravada Buddhism, one of the major Hinayana schools, is the only one that possesses a complete canon in a single language."          "ในบรรดาพุทธศาสนาทั้งหมดทุกนิกายนั้น พุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายใหญ่นิกายหนึ่งในสาย
หินยาน เป็นพุทธศาสนานิกายเดียว ที่มีพระไตรปิฎกครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ในภาษาเดียว"
         ตัวอย่างด้านประเทศตะวันตก T. O. Ling ก็เขียนไว้ใน Dictionary ของเขาทำนองเดียวกันว่า
         "Tipitaka The canon of Buddh. scripture in Pali, regarded as authoritative by the Theravada; it is earliest form of Buddh. teaching available and the most complete"
        "ติปิฏก คัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาในภาษาบาลี ซึ่งเถรวาทยึดถือเป็นแบบแผน ติปิฏกเป็นคำ สอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมสุดเท่าที่มีอยู่ และสมบูรณ์ที่สุด"
         เรื่องที่ว่าพระไตรปิฎกบาลีเก่าแก่ เดิมแท้ ครบถ้วนที่สุดนี้ เป็นที่รู้และยอมรับกันทั่ว แต่ที่ก้าวไปไกลกว่า นั้น ก็คือการที่ปราชญ์มหายาน รวมทั้งในประเทศมหายานเอง ยอมรับด้วยว่าคัมภีร์ของตนไม่ใช่พุทธพจน์แท้จริง จนกระทั่งเห็นว่าจะต้องหันมาศึกษาพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทด้วย
         ยกตัวอย่าง นาย Christmas Humphreys ที่ เอกสารของวัดพระธรรมกาย ยกย่องให้เป็น "ปราชญ์ ใหญ่ทางพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก ที่มีชื่อเสียงก้องโลก" ได้เขียนไว้ในหนังสือตำราอ้างอิงของเขาให้รู้ ว่า พระสูตรของมหายานไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้า ดังความว่า
         "The Suttas of the Theravada are presented as actual sermons of the Buddha; those of the Mahayana are frankly later compilations put into his mouth"
         "
พระสูตรทั้งหลายของเถรวาทนั้น ท่านนำเสนอไว้โดยเป็นพระธรรมเทศนาที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า;
ส่วน พระสูตรทั้งหลายของมหายาน พูดกันตรงไปตรงมาก็คือ คำนิพนธ์ยุคหลังที่บรรจุเข้าในพระโอษฐ์"
         ในประเทศญี่ปุ่น ความตื่นตัวของมหายานที่จะมาถึงขั้นนี้ ต้องผ่านความกระทบกระทั่งเจ็บปวดกันบ้าง อย่างที่ Dr. Mizuno เขียนเล่าตอนหนึ่งว่า
         "Dr. Murakami stated that Shakyamuni is the sole historical Buddha and that Amitabha Buddha . . . never existed . . . clearly the statement that Shakayamuni did not expound Mahayana teachings is
consistent with historical evidence."
         "ดร.มูรากามิ กล่าวว่า
พระศากยมุนีเป็นพระพุทธเจ้าที่มีอยู่พระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ และกล่าวว่า พระอมิตาภพุทธะ ที่ศาสนิกนิกายสุขาวดีทั้งหลายนับถือนั้น ไม่เคยมีจริง . . . คำกล่าวที่ว่าพระศากยมุนีมิได้ตรัส แสดงคำสอนของมหายานนั้น เป็นการสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างแจ้งชัด"
         Dr. Mizuno ได้เขียนถึงสภาพปัจจุบันว่า
         ". . . in Japan it is commonly held that, for a correct understanding, a thorough study of
Mahayana Buddhism must include both primitive and fundamental Buddhism.
         The study of Pali sutras has served three important purposes. It has helped to provide a correct understanding of both primitive and fundamental Buddhism as the basis of Buddhism; to advance unity and cooperation among Japanese Buddhists of different sects, since the Mahayana Buddhist sects all originate in the same sourcesัprimitive and fundamental Buddhism; and to provide agreement that Shakyamuni was the founder of Buddhism."
         ". . . ใ
นประเทศญี่ปุ่น ได้ยึดถือร่วมกันว่า เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง การศึกษาพุทธศาสนามหายาน อย่างทั่วตลอด จะต้องรวมเอาพุทธศาสนา (เถรวาท) ที่ทั้งดั้งเดิมและเป็นพื้นฐานด้วย"         "การศึกษาพระสูตรบาลีสนองวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ
         
(1) ช่วยให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ต่อพระพุทธศาสนา (เถรวาท) ที่ทั้งดั้งเดิมและเป็นพื้นฐานนั้น ว่าเป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนา;
         (2) เพื่อส่งเสริม เอกภาพและความร่วมมือกันในหมู่ชาวพุทธญี่ปุ่นผู้นับถือนิกายต่างๆ ด้วยเหตุที่พุทธศาสนามหายานทุกนิกาย ล้วนมีกำเนิดจากแหล่งเกิดเดียวกันคือ พุทธศาสนา (เถรวาท) ที่ทั้งดั้งเดิมและเป็นพื้นฐานนั้น และ
         (3) เพื่อให้มี ความเห็นร่วมกันว่าพระศากยมุนี เป็นพระศาสดาผู้ประดิษฐานพุทธศาสนา"
         พระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานต่างก็มีหลักการของตนเองที่แน่นอน ชัดเจน ยิ่งมหายานแตก แยกเป็น
นิกายย่อย ๆ มากมาย ดังเช่นในญี่ปุ่น ไม่ต้องนับนิกายที่ล้มหายสาบสูญไปแล้วในยุคต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ก็ ยังมีนิกายใหญ่ถึง
5 นิกาย และแตกเป็นนิกายย่อยอีกประมาณ 200 นิกาย แต่ละนิกายก็มีคำสอน มีหลักการ ต่างๆ ที่แตกต่างกัน และ
มหายาน
ด้วยกันเองนั้นแหละแตกต่างกันไกล บางทีแตกต่างกันเองมากยิ่งกว่าแตกต่าง กับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
ด้วยซ้ำ ถ้าพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างของเราไม่สามารถรักษาหลักการของตนไว้ได้ ปล่อยให้หลักการ หรือคำสอนภายนอกอย่างของมหายานเข้ามาปะปนจะไม่เพียงเกิดความสับสนเท่านั้น แต่คำสอนที่แท้จริงของ พระพุทธเจ้า ที่ใครๆ หวังจากเรา ก็จะพลอยเลอะเลือนหมดไป

เพราะไม่รักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ มหายานจึงต่างกันเอง ห่างไกล ยิ่งกว่าต่างจากเถรวาทอย่างไทย

         ความจริงการชำระสะสางแยกกันชัดเจนระหว่างเถรวาทกับมหายานนั้น ได้มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อน เกิดเป็นมหายานด้วยซ้ำไป หมายความว่า ก่อนจะมีนิกายมหายานนั้นมีความคิดเห็นแปลกแยกออกไป ซึ่งใน
ระยะแรก เรียกว่ามหาสังฆิกะ แล้วจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นมหายานภายหลัง
การชำระสะสางความคิดเห็นแปลก แยกเหล่านี้ทางฝ่ายเถรวาทได้ชี้แจงแสดงไว้ชัดเจนแล้ว ตั้งแต่สังคายนา ครั้งที่ 3 ที่พระเจ้าอโศกมหาราชเป็น องค์อุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 235
         พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตก็ดี จีนก็ดี ทิเบตก็ดี หรือภาษาอะไรอื่นก็ดีที่นอกบาลีทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นของ
มหายาน หรือสืบเนื่องต่อมาหลังสังคายนาครั้งที่ 4 (ทางมหายานถือว่าเป็นครั้งที่ 3) ที่เมืองบุรุษปุระ ทาง ตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 643 ซึ่งเป็นการสังคายนาของนิกายสรวาสติวาทิน มหายานยอมรับ การสังคายนาครั้งนี้ ต่อมานิกายสรวาสติวาทิน สาบสูญไปแล้ว แต่มหายานพัฒนาต่อมาโดยใช้คัมภีร์ภาษา สันสกฤตอย่างเดียวกับนิกายสรวาสติวาทิน          คัมภีร์พระไตรปิฎกสันสกฤตเป็นของเกิดภายหลังจากพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่เป็นของดั้งเดิม การชำระ
สะสางก็ดี การรู้ความแตกต่างกันนั้นก็ดี เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว หมายความว่า พระเถระที่รวบรวม จัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทนั้น ท่านรู้ความแตกต่างอยู่ก่อนแล้ว และท่านได้สะสางไว้เสร็จแล้ว เราจึงไม่ควรจะนำกลับไปปะปนกันอีก
         ยิ่งพระไตรปิฎกจีนด้วยแล้ว ก็เกิดสืบเนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับสันสกฤตนั้นอีกต่อหนึ่ง พระไตรปิฎก จีนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในอินเดีย แต่เกิดขึ้นในประเทศจีน เพราะฉะนั้นก็ห่างหลังฉบับภาษาสันสกฤตออกไปอีก เท่าที่นักประวัติศาสตร์สืบทราบได้ พระพุทธศาสนาที่เข้าไปสู่ประเทศจีนอย่างจริงจังนั้น ได้เริ่มเมื่อ ประมาณ พ.ศ. 608 เมื่อพระเจ้ามิ่งตี่ หรือเม่งตี่ ทรงส่งทูต 18 คนไปสืบพระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตก คือ อินเดีย หรือชมพูทวีป ในครั้งนั้นพระกาศยปะ มาตังคะที่เข้ามาประเทศจีนจากประเทศอินเดีย ได้แปลพระสูตร พุทธวัจนะ 42 บท ที่ฝรั่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Sutra of Forty-two Sections ขึ้นเป็นสูตรแรก
         ต่อมาอีกนานจึงมีการแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตเป็นจีนอย่างจริงจังประมาณปี พ.ศ. 944 เมื่อพระกุมารชีวะจากแคว้นกูจา ในเอเชียกลาง มาถึงนครเชียงอานแล้วได้แปลคัมภีร์ออกมาส่วนหนึ่ง ต่อจาก นั้นเหตุ
การณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งก็คือสมัยราชวงค์ถัง เมื่อหลวงจีนที่เรารู้จักกันดี คือพระถังซำจั๋ง หรือหลวงจีนเหี้ยน จัง หรือยวนฉาง ได้ไปสืบพระไตรปิฎกในไซที คือแคว้นตะวันตก หรือดินแดนตะวันตก ซึ่งหมายถึงชมพูทวีป ใน พ.ศ. 1172 แล้วกลับมา
ถึงเมืองจีนเมื่อ พ.ศ. 1188 คือเกือบ พ.ศ. 1200 และได้แปลพระสูตรภาษาสันสกฤตที่นำ มาจากอินเดียเป็นภาษาจีน          ส่วนพระไตรปิฎกภาษาทิเบตก็เช่นเดียวกัน เพิ่งแปลมาจากภาษาสันสกฤตหลัง พ.ศ. 1160 เพราะว่า พระพุทธศาสนาเพิ่งเข้าสู่ทิเบตในช่วง พ.ศ. 1160 นั้น เมื่อกษัตริย์ทิเบตอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเนปาลและเจ้า หญิงจีน ที่นับถือพระพุทธศาสนา
         พระไตรปิฎกมหายานที่เป็นหลัก ก็มีของจีนกับของทิเบตเท่านี้ ส่วนพระไตรปิฎกมหายานนอกจากนี้ ก็ ถ่ายทอดต่อจากจีน-ทิเบตไปอีก อย่างของเกาหลี1 และญี่ปุ่นเป็นต้น หรือไม่ก็เป็นเพียงกระเส็นกระสาย มีนิดๆ หน่อยๆ หาเป็นชิ้นเป็นอันได้ยาก ที่น่าเสียดายก็คือ
พระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตที่เป็นต้นเดิมของมหายานนั้น ได้สูญ
หายไปแทบ หมดสิ้น แม้จะกลับไปพบที่ฝังหรือเก็บใส่สถูปเจดีย์ไว้ ก็อยู่ในสภาพกระจัดกระจายหรือแหว่งวิ่น         พระไตรปิฎกเดิมของสันสกฤต เกิดหลังบาลีอยู่แล้ว ยังมาสูญหายไปเสียอีก พระไตรปิฎกฉบับภาษา จีนและทิเบตที่แปลต่อจากฉบับสันสกฤตนั้น ก็เลยแทบไม่มีต้นฉบับเดิมที่จะตรวจสอบ การที่จะสืบหาคำสอน เดิมที่แท้แปลให้ตรงจริงจึงเป็นไปได้ยาก
ดังเช่นพระไตรปิฎกของจีนนั้น บางเรื่องเป็นพระสูตรเดียวกัน แต่เมื่อไม่ มีฉบับภาษาสันสกฤตที่เป็นตัวเดิม ก็เลยรวมเข้าชุดโดยเอาทั้งฉบับแปลของพระกุมารชีวะ (ราว พศ. 944) และ ฉบับแปลของหลวงจีนเหี้ยนจัง (ราว พศ. 1188) เพิ่มความใหญ่โตให้แก่พระไตรปิฎกของมหายาน
         เป็นอันว่า พระไตรปิฎกของมหายาน ตั้งแต่ฉบับใหญ่ของจีนและทิเบต ตลอดจนฉบับภาษาอื่นๆ ที่มี กระเส็นกระสาย ไม่ว่าจะพบที่ไหน เราก็พูดได้ชัดเจนว่าเป็นของที่เกิดทีหลัง
และเมื่อมองในแง่ของการรักษาคำ สอนของพระพุทธเจ้า ก็อยู่ในสภาพง่อนแง่น นอกจากสืบหาพุทธพจน์ได้ยากแล้ว ก็ยังเป็นส่วนที่แต่งใหม่ใส่พระโอษฐ์เข้าไปอีก ต่างจากพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทที่นอกจากเป็นของดั้งเดิมก่อนกว่าแล้ว ก็ยังมีประวัติการ รักษาสืบ
ต่อมาอย่างมั่นคง ดังที่ปราชญ์พุทธศาสนาไม่ว่าที่ไหนๆ ไม่ต้องพูดถึงตัวเราเอง แม้ถึงตะวันตกและ ประเทศมหายานเองก็ยอมรับทั่วกัน
         การที่เราเจอพระไตรปิฎกอื่น ๆ นั้นก็เป็นข้อดีใน 2 ประการ คือ
         ประการที่ 1 จะได้รู้ว่าเรื่องนั้นๆ ทางมหายานสอนว่าอย่างไร และเมื่อพูดถึงมหายานก็ต้องแยกนิกาย ด้วยว่า นิกายไหนของมหายานสอนไว้ว่าอย่างไร
แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะเอามาปะปนกัน (มหายานด้วยกันเอง เขาก็ไม่ยอมให้ต่างนิกายมาปนกับเขา) แต่เอามาเทียบเพียงให้รู้ว่า ในเรื่องนี้ เช่น นิพพาน ทางเถรวาทสอนว่า อย่างนี้ มหายานนิกายนี้สอนว่าอย่างนี้ มหายานนิกายนั้นสอนว่าอย่างนั้น เพราะนิกายมหายานนั้นแตกแยกกัน ออกไปมาก ตามคำสอนของอาจารย์ในแต่ละนิกาย ดังที่เรียกชื่อมหายานอีกอย่างหนึ่งว่า อาจารยวาท (บาลีว่า
อาจริยวาท)
มหายานเองก็ไม่ลงกัน เราควรจะปล่อยให้มหายานเถียงกันดีกว่าที่จะไปเถียงด้วย ถ้าเราเอาคำสอน มหายานจากพระไตรปิฎกมหายานเข้ามาละก็จะยุ่งกันใหญ่ เพราะมหายานเองก็ยุ่งกันอยู่แล้ว
         ประการที่ 2
ยิ่งค้นพบพระไตรปิฎกในประเทศอื่น ๆ มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการช่วยย้ำให้เราได้หลักฐาน มายืนยันเรื่องราวที่พระไตรปิฎกบาลีของเราได้บันทึกไว้ชัดเจนก่อนตั้งแต่ พ.ศ. 235 แล้วว่าท่านได้ชำระสะสาง นิกายแตกแยกแปลกปลอมทั้งหลาย แสดงว่าลัทธิเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ ดังหลักฐานที่ได้ค้นพบภายหลังเหล่านั้น

ถ้าตีรวนพระไตรปิฎกได้ ก็ถอนรากพระสงฆ์ไทยสำเร็จ

         เรื่องนี้จะต้องทำความเข้าใจให้ชัด เวลาพูดจะต้องจำแนกว่าเถรวาทหรือพระไตรปิฎกเถรวาทว่าอย่างนี้ พระไตรปิฎกมหายานว่าอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะสับสนปนเปเกิดปัญหามากมายยุ่งกันไม่จบ และพระพุทธ ศาสนาที่แท้ก็จะหมดไปด้วย
         ยกตัวอย่าง ดังที่กล่าวแล้วว่าในประเทศญี่ปุ่นมีพุทธศาสนามหายานหลายนิกาย และแยกนิกายย่อย เป็นร้อย ๆ นิกาย เอาเฉพาะนิกายใหญ่ 5 นิกาย ก็สอนและปฏิบัติต่างกันมากมาย
        เวลานี้สิ่งหนึ่งที่พระมหายานของญี่ปุ่นทุกนิกายรักษาไว้ไม่ได้ ก็คือเพศพรหมจรรย์ นิกายเซนที่ว่ารักษา ไว้ด้วยดีมานาน เดี๋ยวนี้ ตัวอาจารย์เจ้าสำนักก็มีครอบครัวกันไป
         พระญี่ปุ่นบางนิกาย อย่างนิกายชิน
นอกจากมีครอบครัว แล้ว ยังทำธุรกิจ เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของ กิจการ ทำการค้าพาณิชย์ต่าง ๆ บ้างก็เล่นการเมือง บางนิกายถึงกับตั้งพรรคการเมือง อย่าง เช่น นิกายโซกะงักไก ที่เป็นนิกายย่อยหนึ่งของนิกายนิจิเรน ได้ตั้งพรรคการเมืองโกเมโตขึ้น
         พระญี่ปุ่นบางนิกายนั้นในประวัติศาสตร์ถึงกับตั้งกองทัพของตนเอง มีอำนาจทางการเมืองและทางการ ทหารมาก แข่งอำนาจกับทางฝ่ายบ้านเมืองนั้น หรือแข่งอำนาจกับพวกขุนนาง จนในที่สุดทางฝ่ายบ้านเมืองทน ไม่ไหว ต้องยกทัพเข้ามาปราบ ปราม ทำสงครามกัน
         ส่วนทางพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่ารักษาวินัยแบบแผนคำสอน
หลักการเดิมไว้ อย่างแม่นยำที่สุด เพราะฉะนั้นสภาพสับสนและเหตุการณ์แปลกๆ อย่างนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะวินัยที่พระ รักษานั้น ป้องกันไว้อย่างรัดกุมที่สุด ไม่มีทางที่จะคลาดเคลื่อนไปได้ นอกเสียจากว่าเราจะไม่รักษาพระไตรปิฎกบาลีนี้ไว้
         ถ้าไม่รู้จักแยกอย่างที่ว่าข้างต้น ต่อไปก็อาจจะมีการกล่าวอ้าง เช่นอาจจะมีพระภิกษุบางรูปพูดขึ้น มาว่า เอ๊ะ! ที่ประเทศญี่ปุ่น พระไตรปิฎกฉบับนิกายนั้นไม่เห็นมีพุทธบัญญัติข้อนั้น หรือว่าบางนิกายไม่เห็นต้อง ให้ความสำคัญมาก
มายแก่พระไตรปิฎก เพราะเขานับถืออาจารย์เป็นใหญ่ เขาก็เป็นพระพุทธศาสนาอยู่ได้ เขา ไม่ได้ถือวินัยอย่างเรา วินัย
ข้อนั้นๆ ไม่มีในพระไตรปิฎกของญี่ปุ่น เขาถืออย่างนั้น ๆ แล้วทำไมเราจะต้องมาถือ อย่างนี้ด้วย
ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พระไทยต่อไปจะรักษาความเป็นพระภิกษุแบบเถรวาทไว้ไม่ได้ จะมีครอบครัว หรือจะทำธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของโรงงาน เป็นเจ้าของกิจการค้าขาย ทำการค้าพาณิชย์ ตลอดจนกระทั่งมี อำนาจในทางการเมือง อย่างที่เคยเป็นหรือเป็นอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและในบางประเทศอื่น ๆ
         ในด้านหลักการทางธรรม ถ้าเอาพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ มาอ้างกันสับสน ต่อไปก็อาจจะมีภิกษุบางรูป พูดว่า เอ๊ะ! ในประเทศญี่ปุ่นนั้นบางนิกายเขามีพระสูตรอื่น ๆ ที่เราไม่มี อย่างเช่น สุขาวตีวยูหสูตร ที่เป็น หลักสำคัญของนิกายโจโด และนิกายชิน ซึ่งเป็นนิกายที่นักบวชมีบุตรภรรยา และทำกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมที่ กล่าวมาแล้ว
         สุขาวตีวยูหสูตรนั้นสอนว่า มีสวรรค์ทิศตะวันตก เรียกว่าแดนสุขาวดี ที่มีพระพุทธเจ้าชื่อว่า อมิตาภะ ประทับอยู่ ใครอยากจะเกิดในสวรรค์สุขาวดีก็ให้เอ่ยนามพระองค์ให้มากที่สุดโดยเฉพาะเวลาตาย ก็จะได้ไปอยู่ กับพระอมิตาภะ และรอเข้านิพพานที่นั่น
ถ้าใครเกิดบอกว่าพระสูตรนี้ไม่มีในพระไตรปิฎกบาลีของเรา น่าจะเอา เข้ามา
ด้วยอย่างนี้เป็นต้น จะว่าอย่างไร
ความชัดเจนในหลักการและในคัมภีร์ของตนเองนี้จึงเป็นเรื่อง
ที่สำคัญอย่างยิ่ง
       คัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทนั้นเป็นของที่สืบมาจากการสังคายนาครั้งแรก จึงถือว่าต้นเดิมที่สุด และก็ได้ชำระสะสางความเห็นแตกแยกแปลกปลอม โดยเฉพาะในการ
สังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศก มหาราช พ.ศ. 235 นั้น เป็นที่ชัดเจนจะแจ้งอยู่แล้ว
ว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนาแบบเดิมแท้ ที่เรียกว่าเถรวาทนี้
         จริงอยู่ในเรื่องปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ อาจจะมีอะไรที่ไม่ชัดเจนได้เป็นเรื่องธรรมดา เช่นอย่างพระเทวทัต กับ
พระสารีบุตร ใครจะมีอายุมากกว่ากันอย่างนี้ อาจจะหาหลักฐานไม่ได้ หรือว่าต้นโพธิ์ชื่อว่าอานันทโพธิที่พระ เชตวันปลูกขึ้นปีไหนในระหว่างพุทธกิจ 45 พรรษา ดังนี้เป็นต้น แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ข้อสำคัญ สิ่งที่สำคัญก็คือ
หลักการใหญ่ๆ อย่างที่กล่าวแล้ว เช่นนิพพานนั้นจะต้องชัดเจน ท่านไม่ปล่อยไว้ให้คลุมเครือ ดังที่กล่าวแล้ว          ยิ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติหรือศาสนิกไม่อาจจะรู้เข้าใจได้
ถ้าพระศาสดาไม่วางหลักการไว้ให้ชัดเจน คำสอน
ของพระองค์ก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะผู้ปฏิบัติไม่รู้ว่าตนปฏิบัติอะไรอยู่ เป็นการปฏิบัติคำสอนของ
พระพุทธเจ้า หรือปฏิบัติคำสอนของเจ้าสำนักที่คิดขึ้นเองใหม่ หรือปฏิบัติอะไรที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
ของเขาเอง หรือแม้แต่ปฏิบัติลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา
         จริงอยู่ พระไตรปิฎกมหายานที่แปลไปเป็นภาษาจีนเป็นต้นแล้ว อาจให้ประโยชน์ได้บ้างในแง่ที่ว่า มา เทียบเคียงคำสอนเล็ก ๆ น้อยๆ เช่นข้อความในคาถาบางคาถา ว่ามีแปลกกันอย่างไร แต่นั่นไม่ใช่เรื่องหลักการ ใหญ่ ส่วนตัวหลักการใหญ่นั้นท่านวางไว้และชำระสะสางกันชัดเจนไปแล้ว มีแต่พูดได้ว่าเถรวาทสอนว่าอย่างนี้ มหายานสอนว่าอย่างนั้น หรือมหายานนิกายนี้ว่าอย่างนี้ มหายานนิกายนั้นว่าอย่างนั้น เป็นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่อง ที่จะมาปะปนกัน

เมื่อชาวพุทธยังนับถือพระไตรปิฎก ก็ยังเคารพพระพุทธเจ้า และมีพระศาสดาองค์เดียวกัน

         ประโยชน์ที่พุทธศาสนิกชนต้องการ คือ พระพุทธศาสนาแท้ที่เป็นพระดำรัสตรัสสอนของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกเป็นแหล่งที่บรรจุพระดำรัสตรัสสอนที่เราต้องการนั้น และเป็นที่ยอมรับทั่วกันรวมทั้งนักปราชญ์พุทธ ศาสนาของมหายานว่า พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทนี้ เป็นหลักฐานแสดงพุทธวจนะที่
         - ดั้งเดิมแท้เก่าแก่ที่สุด
         - รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้แม่นยำที่สุด
         - ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

          ที่ว่านี้มิใช่หมายความว่าพระไตรปิฎกบาลีจะมีพุทธดำรัสครบถ้วนทุกถ้อยคำของพระพุทธเจ้า หรือว่า ทุกถ้อยคำในพระไตรปิฎกเป็นพุทธดำรัส แต่หมายความว่าพุทธพจน์เท่าที่บันทึกไว้ได้ และมีมาถึงเราอยู่ในพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกนั้นเรียกได้ว่าเป็นแหล่งเดียวที่เราจะหาคำสอนที่แท้ของพระพุทธเจ้าได้
         เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนา และปฏิบัติพระพุทธศาสนา ก็คือเรายอมรับและต้องการปฏิบัติตามที่ พระพุทธเจ้าตรัสสอน ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องไปเฝ้าและไปฟังพระพุทธเจ้าตรัสเอง ถึงจะมีใคร เช่นครู อาจารย์ช่วยเล่าต่อให้ฟัง ก็ไม่เท่าได้ไปฟังพระองค์ตรัสเอง เพราะฉะนั้น แม้แต่ในสมัยพุทธกาล คนที่อยู่เมืองไกล ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระอาจารย์นำเข้าสู่พระพุทธศาสนาแล้ว ต่อมาในที่สุดก็เพียรพยายามเดิน ทางบุกป่าฝ่าดงแสนไกล มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บัดนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เราจึงไม่มีทางเลี่ยงที่จะต้องไปหา
และไปเอาคำสอนของพระองค์จากพระไตรปิฎก และใช้คำตรัสสอนในพระไตรปิฎกนั้นเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า สิ่งที่ใครก็ตามเชื่อถือหรือปฏิบัติอยู่ เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่
       ใครก็ตามที่กล่าวอ้างว่าตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก ก็คือ
พูดว่า ตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้อง อาศัยพระพุทธเจ้า เมื่อเขาปฏิบัติโดยไม่อาศัยคำตรัสสอน
ของพระพุทธเจ้า เราจะเรียกการปฏิบัตินั้นว่าเป็นพระพุทธศาสนาได้อย่างไร แน่นอนว่านั่น
เป็นการปฏิบัติลัทธิความเชื่อหรือความคิดเห็นของตัวเขาเอง หรือของใคร อื่นที่คิดข้อปฏิบัติ
นั้นขึ้นมา
หรืออย่างดีก็เป็นความที่เอามาเล่าต่อจากพระไตรปิฎก แบบฟังตามๆ กันมา ซึ่งเสี่ยง ต่อความคลาดเคลื่อน
ผิดเพี้ยน
         
เวลานี้ ชาวพุทธควรจะติติงและตักเตือนกันให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติ
ต่อพระพุทธเจ้า ให้ถูกต้อง เพราะมีการกล่าวอ้างพระพุทธเจ้า หรือกล่าวอ้างพระพุทธศาสนา (แปลว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า) กันง่ายๆ โดยมิได้มีการตรวจสอบว่าพระองค์ตรัสไว้หรือไม่ หรือเป็นเพียงความเชื่อหรือการคิดเอาของตนเอง ซึ่ง ถ้าไม่ถือว่าเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ก็เป็นการไม่เป็นธรรมต่อพระองค์ และถ้าไม่ถือว่าเป็นการหลอกประชาชน ก็เป็นความไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน
เช่นเดียวกัน
        ในเมืองไทยของเรา น่าเป็นห่วงว่ากำลังมีความโน้มเอียงจะเป็นอาจริยวาทกันมาก มักมีการอ้างพระ เถระ พระมหาเถระองค์นั้นองค์นี้ จนจะกลายเป็นการเอาอาจารย์ของตนไป
ตัดสินพระพุทธเจ้า แทนที่จะอัญเชิญ พระพุทธเจ้ามาเป็นมาตรฐานแก่อาจารย์
         ที่จริงนั้น คำสอนของพระเถระ และครูอาจารย์ที่เราเรียกกันนี้ ตามเกณฑ์มาตรฐาน ท่านไม่ยอมให้เรียก ว่าเป็นอาจริยวาทเลย ท่านยอมให้เป็นอัตตโนมติเท่านั้น
         คำสอนของพระเถระ และพระอาจารย์ทั้งหลายนั้น เป็นเครื่องช่วยเราในการศึกษา และช่วยโยงช่วยสื่อ เราเข้าหาพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเกณฑ์วินิจฉัยหรือตัดสินพระพุทธศาสนา
อย่าว่าแต่พระเถระและพระ มหาเถระรุ่นหลังๆ เหล่านี้เลย แม้แต่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร อัครสาวกสูงสุด เมื่อมีปัญหาข้อธรรม ก็ยังมี ความเคารพต่อองค์พระศาสดา นำถวายพระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัย        แม้พระมหากัสสปเถระ พระอุบาลีผู้ยอดแห่งวินัยธร และพระธรรมภัณฑาคาริกอานนท์ พร้อมด้วยพระ อรหันตสาวก รวมด้วยกัน 500 รูป ผู้ทันเห็นทันเฝ้าทันตามเสด็จพระพุทธเจ้า ก็พร้อมใจกันยกให้พระธรรมวินัยที่ มาอยู่ในพระไตรปิฎกนี้มีความสำคัญเหนือกว่าวาทะ
ของท่านนั้นๆ เอง
       เมื่อชาวพุทธทั้งปวงยังนับถือและรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ก็ยังสมควรแก่คำที่ เรียกว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และมีหลักที่จะยึดเหนี่ยวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีพระพุทธเจ้า
องค์หนึ่งองค์เดียวกัน เป็นแกนกลางและเป็นศูนย์รวม

ถ้าหลักคำสอนยังมีมาตรฐานรักษา พระพุทธศาสนาก็อยู่ไปได้ถึงลูกหลาน

         แท้ที่จริง บุคคล 2 ประเภทนี้ เท่ากับประกาศตัวอยู่โดยนัยว่า มิได้นับถือพระพุทธศาสนา มิต้องพูดถึง ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือผู้บวชอยู่ในพระธรรมวินัย กล่าวคือ
         
1. ผู้กล่าวอ้างว่า ตนปฏิบัติได้เอง โดยไม่ต้องอาศัย ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องสดับคำสอนของพระพุทธเจ้า
         2. ผู้ปฏิเสธคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่มีมาถึงเราในพระไตรปิฎก

         ที่พูดทั้งนี้มิใช่หมายความว่าจะต้องยอมรับคำและความทุกอย่างในพระไตรปิฎก โดยมิให้สงสัยหรือไต่ ถาม ในพระพุทธศาสนาไม่มีการผูกขาดเช่นนั้น เพราะท่านเปิดเสรีภาพให้แม้แต่ที่จะปฏิเสธพระไตรปิฎก และ ปฏิเสธ
พระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติการอย่างซื่อตรง โดยสละภิกขุภาวะหรือไม่อยู่ในพระพุทธศาสนาต่อไป แต่ สำหรับ
ผู้ที่ยังนับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องปฏิบัติการตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน
กล่าวคือ การนับถือพระพุทธศาสนา แปลว่านับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงต้องเพียรหาคำสอนของพระองค์ผู้เป็นพระศาสดาในพระไตรปิฎก          เมื่อสงสัยคำหรือความใดแม้แต่ในพระไตรปิฎก ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อทันทีอย่างผูกขาด แต่สามารถ
ตรวจสอบก่อน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักทั่วไปไว้แล้ว ซึ่งสำหรับพวกเราบัดนี้ก็คือการใช้คำสั่งสอนในพระไตรปิฎก ตรวจสอบแม้แต่คำสั่งสอนในพระไตรปิฎกด้วยกันเอง กล่าวคือ หลักมหาปเทส 4 ได้แก่ ที่อ้างอิงใหญ่ หรือ หลักใหญ่สำหรับใช้อ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียง เริ่มแต่หมวดแรก ที่เป็นชุดใหญ่ ซึ่งแยกเป็น
         1. พุทธาปเทส (ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง)
         2. สังฆาปเทส (ยกเอาสงฆ์ทั้งหมู่ขึ้นอ้าง)
         3. สัมพหุลัตเถราปเทส (ยกเอาพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้าง)
         4. เอกเถราปเทส (ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นอ้าง)1 (ที.ม. 10/113/104; องฺ.จตุกฺก. 21/180/227)
         นอกจากนั้น ถ้าเป็นปัญหาหรือข้อสงสัยที่จำกัดลงมาในส่วนพระวินัย ก็สามารถใช้หลักมหาปเทส 4 ชุด ที่ 2 ตรวจสอบ ซึ่งจะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ เพราะนักวินัยทราบกันดี (ดู วินย. 5/92/131)
         เมื่อพิจารณากว้างออกไป โดยครอบคลุมถึงคำสอนรุ่นหลังๆ หรือลำดับรองลงมา ท่านก็มีหลักเกณฑ์ที่ จะให้ความสำคัญในการวินิจฉัยลดหลั่นกันลงมา โดยวางเกณฑ์วินิจฉัยคำสอนความเชื่อและการปฏิบัติ เป็น 4 ขั้น คือ
(ดู ที.อ.2/172/; วินย.อ.1/271; วินย.ฎีกา 3/352)
         1. สุตตะ ได้แก่ พระไตรปิฎก
         2. สุตตานุโลม ได้แก่ มหาปเทส (ยอมรับอรรถกถาด้วย)
         3. อาจริยวาท ได้แก่ อรรถกถา (พ่วงฎีกา อนุฎีกาด้วย)
         4. อัตตโนมติ ได้แก่ มติของบุคคลที่นอกจากสามข้อต้น
         "สุตตะ" คือพุทธพจน์ที่มาในพระไตรปิฎกนั้น ท่านถือเป็นมาตรฐานใหญ่ หรือเกณฑ์สูงสุด ดังคำที่ว่า
         "
แท้จริง สุตตะ เป็นของคืนกลับไม่ได้ มีค่าเท่ากับการกสงฆ์ (ที่ประชุมพระอรหันตสาวก 500 รูป ผู้ทำ สังคายนาครั้งที่ 1) เป็นเหมือนครั้งที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังสถิตอยู่" (วินย.อ. 1/272)
        " เพราะว่า เมื่อค้านสุตตะ ก็คือ ค้านพระพุทธเจ้า" (วินย.ฎีกา.2/71)
        พาหิรกสูตร (สูตรภายนอก คือสูตรที่ไม่ได้ขึ้นสู่สังคายนาทั้ง 3 ครั้งใหญ่) ตลอดถึงพระสูตรของ
นิกาย มหาสังฆิกะ (นิกายใหญ่ที่จัดเป็นหินยานที่สืบต่อจากภิกษุวัชชีบุตร และต่อมาพัฒนาเป็นมหายาน) ท่านก็จัดเข้าเกณฑ์ไว้แล้วว่า
        "...ไม่พึงยึดถือ ควรตั้งอยู่ในอัตตโนมตินั่นแหละ หมาย ความว่า อัตตโนมติ ในนิกายของตน
(เถรวาท) ยังสำคัญกว่าสูตรที่นำมาจากนิกายอื่น "
(วินย.ฎีกา 2/72)

         นี้เป็นตัวอย่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่พระเถระในอดีตได้ถือปฏิบัติในการดำรงรักษาพระธรรมวินัยสืบกันมา ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งประสบการณ์ในการทำงาน และจิตใจที่ให้ความสำคัญแก่พระธรรมวินัยนั้นอย่างมั่นคงยิ่งใน หลักการ ท่านจึงรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ยืนนานมาถึงเราได้ ชนิดที่ว่าแม้พวกเราในปัจจุบันจะไม่เอาใจใส่ แต่ก็มีโอกาสให้คน
ยุคต่อไปที่ตื่นตัวขึ้นสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้อีก

เพราะยังมีพระไตรปิฎกเถรวาทไว้เป็นมาตรฐาน พระมหายานจึงมีโอกาสย้อนกลับมาหาพุทธพจน์ที่แท้

         มองในทางกลับกัน ถ้าพระเถระในอดีตเป็นอย่างที่พวกเราเป็นกันอยู่เวลานี้ ก็เห็นได้ชัดว่าพระพุทธ ศาสนาคงไม่อยู่ยืนยาวมาถึงปัจจุบันได้แน่ หรือถ้าอยู่ก็คงเป็นคล้าย
อย่างพระมหายานในญี่ปุ่น ที่นอกจากมี ครอบครัว เป็นนักธุรกิจ ฯลฯ แล้วก็ยังแตกแยกย่อยออกไปมากมายเป็น
ร้อยๆ นิกายย่อย
         ที่มหายานเป็นอย่างนี้ ก็สืบมาแต่เดิม คือแตกแยกย่อยกันมาเรื่อยๆตั้งแต่ก่อนเป็นมหายาน คือตั้งแต่ ยุคเดิมที่เป็นหินยาน ซึ่งคัมภีร์ของเถรวาทได้บันทึกเรื่องราวไว้แต่ต้น ขอเล่าโดยย่อ
         
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ 1 ศตวรรษ คือ ถึง พ.ศ. 100 ภิกษุพวกหนึ่งเรียกว่า "วัชชีบุตร"
ได้ ถือตามลัทธิอาจารย์ว่าการไม่ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติบางอย่าง รวม 10 ข้อ ไม่เป็นความผิด
เป็นเหตุให้
พระเถระ ผู้ต้องการรักษาพระธรรมวินัยไว้ตามเดิมแบบเถรวาท ได้จัดให้มีการสังคายนาครั้งที่ 2 ขึ้น

        อย่างไรก็ตาม ภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอม และได้แยกตัวไปตั้งเป็นนิกายขึ้นต่างหาก เรียกชื่อว่า "มหาสังฆิกะ" (พวกสงฆ์หมู่ใหญ่) เป็นอาจริยวาทกลุ่มแรก พอแยกออกไปแล้ว ปรากฏว่าลัทธิถือตามอาจารย์ (อาจริยวาท) ก็ เกิดมากขึ้น มหาสังฆิกะได้แตกแยกย่อยออกไป จนกลายเป็นอาจริยวาท 6 นิกายย่อย
        ทางด้านเถรวาทเดิม ก็ได้มีอาจริยวาทแยกตัวออกไป 2 พวก แล้ว 2 พวกนั้น ก็ไปแตกแยกย่อยออกไป เรื่อยๆ จนกลายเป็น 11 อาจริยวาท
        ความแตกแยกเกิดอาจริยวาทต่างๆ มากมายนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 100 ปี
ดังนั้น เมื่อถึง พ.ศ. 200 จึงมี พระพุทธศาสนานิกายย่อยรวมทั้งหมด 18 นิกาย1 เป็นเถรวาทดั้งเดิม กับอาจริยวาท 17 นิกาย
         โดยนัยนี้ เมื่อถึงรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช ใน พ.ศ. 218 พระพุทธศาสนาซึ่งรุ่งเรืองในด้านการ อุปถัมภ์บำรุง กลับไม่มีเอกภาพ มีการสั่งสอนลัทธิแปลกแยกกันมากมายสับสน
จนทำให้ต้องจัดการสังคายนา ครั้งใหญ่อีกเป็นครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 235 ซึ่งมีการชำระสะสางทิฏฐิต่างๆ ที่แตกแยกแปลกปลอม ดังที่ประมวลไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 37 คือ กถาวัตถุ รวม 219 หัวข้อ (เรียกว่า กถา) เริ่มด้วยข้อแรก คือ ลัทธิถืออัตตา ของพวก นิกายวัชชีบุตร และนิกายสมิติยะ พร้อมทั้งอัญญเดียรถีย์มากมาย มีความยาวเป็นพิเศษถึง 83 หน้า เรียกรวมๆ ว่า "ปุคคลกถา"          นิกายมหาสังฆิกะเป็นเจ้าของทิฏฐิที่ท่านชำระสะสางครั้งนี้ หลายเรื่อง(ไม่ต่ำกว่า 19 เรื่อง) ยกตัว
อย่าง เช่น พวกมหาสังฆิกะบางส่วน ถือทิฏฐิร่วมกับพวกนิกายสมิติยะ นิกายวัชชิปุตตกะ และนิกาย
สัพพัตถิกวาท (= สรวาสติวาท) ว่า พระอรหันต์ก็เสื่อมถอยจากอรหัตตผลที่บรรลุแล้ว กลับมาเป็นปุถุชน
อีกได้ (เรื่องใน "ปริหานิ กถา") ดังนี้เป็นต้น
         หลังจากสังคายนาครั้งที่ 3 แล้ว ก็เกิดมีเอกภาพขึ้นอย่างน้อยในส่วนกลางแห่งมหาอาณาจักร
ของพระ เจ้าอโศกมหาราช และได้มีการส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา 9 สาย ที่รู้กันว่าสายหนึ่ง
มายังทวาราวดี ซึ่งอยู่ในที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน ด้วย
         อย่างไรก็ตาม ในรอบนอกของชมพูทวีป ไกลออกไป ก็ยังมีพระภิกษุที่ถืออาจริยวาทต่างๆ ไปเผยแพร่อยู่ จึงปรากฏต่อมาว่า หลังจากสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเกือบ 4 ศตวรรษ เมื่อพระเจ้ากนิษกมหาราชครองแผ่น ดินแถบอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่เมืองบุรุษปุระ (ปัจจุบันคือ Peshawar ในปากีสถาน) ไกลออกไปทาง ตะวันตกเฉียงเหนือ จากนครปาตลีบุตร (ปัจจุบันคือ Patna) เมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณ 1,625 ก.ม.
เมื่อ พ.ศ. 621 พระองค์เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ใฝ่พระทัยศึกษาธรรม ถึงกับนิมนต์พระภิกษุไปสอน ธรรมแก่พระองค์ทุก
วันๆ ละรูป พระภิกษุแต่ละรูปสอนแตกต่างกันบ้าง ขัดกันบ้าง ทำให้ทรงสับสน จนกระทั่งทรง ปรึกษาพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งได้ถวายคำแนะนำให้จัดการสังคายนาขึ้นประมาณ พ.ศ. 643
         สังคายนาครั้งนี้ ถือว่าเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาท (สรวาสติวาทะ) และมีภิกษุมหายานร่วมด้วย ต่อมา แม้นิกายสรวาสติวาทะสูญสิ้นไปแล้ว เช่นเดียวกับอาจริยวาทยุคแรกที่เป็นหินยานหมดทั้ง 17 นิกาย (มหาสังฆิ กะได้พัฒนามาเป็นมหายาน) ทางฝ่ายมหายานก็นับเอาสังคายนาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ของตน (ไม่ยอมรับ สังคายนาครั้งที่ 3 ที่พระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 235; และในทำนองเดียวกันทางเถรวาทก็ไม่นับการ สังคายนาครั้งนี้)          พระเจ้ากนิษกะได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา และได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง ซึ่งได้เป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนามหายานแพร่หลายต่อไปสู่จีน เกาหลี มองโกเลีย และญี่ปุ่น
         เมื่อพระพุทธศาสนามหายาน เจริญขึ้นในประเทศเหล่านั้นแล้ว ก็แตกแยกนิกายและสาขาย่อยออกไปๆ จนในที่สุดจึงมาเห็นกันว่า ถึงจะแตกแยกไปเป็นนิกายไหนๆ ก็ควรจะต้องศึกษาพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท เพื่อจะได้รู้หลักคำสอนตามพระพุทธพจน์ดั้งเดิม และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างที่ Professor Mizuno ได้กล่าวไว้ข้างต้น

สิ่งควรทำที่แท้ คือ เร่งชวนกันหันมายกเอาพระไตรปิฎกของเราขึ้นศึกษา

         เอกสารของวัดพระธรรมกาย แสดงการยอมรับพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทว่า "เป็นแหล่งอ้างอิงของ คำสอนในพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมที่สำคัญที่สุด" แต่เขียนต่อไปว่า
        " แต่นอกจากพระไตรปิฎกบาลีแล้ว ยังมีคำสอนยุคดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในคัมภีร์
อื่นอีก หลายแหล่ง เช่น พระไตรปิฎกจีน พระไตรปิฎกธิเบต คัมภีร์สันสกฤต คัมภีร์ในภาษาคันธารี ภาษาเนปาลโบราณ ภาษาถิ่นโบราณของอินเดีย เอเชียกลางและที่อื่นๆ         "การจะศึกษาให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมจริงๆ นั้น จึงมีความจำเป็นจะต้อง
ศึกษา ให้เข้าใจคัมภีร์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด นำเนื้อหาคัมภีร์ที่คล้ายกันมาเปรียบเทียบกัน วิเคราะห์ด้วยหลักทางวิชา การทั้งด้านภาษาศาสตร์ และอื่นๆ จึงจะได้ความเข้าใจที่รอบด้านสมบูรณ์ "

       เอกสารของวัดพระธรรมกาย ทั้งที่นี้และที่อื่น เมื่อกล่าวถึงพระไตรปิฎก จะมีลักษณะ
การพูดทำนองนี้ ซึ่งนอกจากสับสนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดที่ไม่ควรให้อภัย
เช่น ออกชื่อคัมภีร์ในภาษาต่างๆ มากมาย ให้ดูน่าทึ่งประหนึ่งว่า แต่ละภาษาเหล่านั้นคงจะมีพุทธพจน์บันทึกไว้นอกเหนือ
จากที่เรารู้กันอีกมากมาย แต่แท้ที่ จริงเอาเป็นหลักอะไรไม่ได้
         คงจะไม่ต้องชี้แจงให้มากและยืดยาว ขอให้ทราบง่ายๆ สั้นๆ ว่าเรื่องทั้งหมดก่อนที่จะมาเป็นคัมภีร์อะไร ต่างๆ ที่ยกมาอ้างข้างบนนี้ (ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องกระเส็นกระสาย บางอย่างก็ไม่ใช่แม้แต่จะเป็นคัมภีร์)
พระเถระ ผู้รักษา
พระพุทธศาสนา ยุค 200 กว่าปีแรกท่านรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันดี และได้ชำระสะสางเสร็จสิ้น
ไปแล้ว
หลังจากนั้น ถ้าจะมีการยอมรับกัน ก็เพียงพูดให้ชัดว่า คัมภีร์นั้นๆ เป็นของนิกายไหน และนิกายนั้นสอนว่า
อย่างไร เช่น เถรวาทว่าอย่างไร มหายานนิกายย่อยนี้ว่าอย่างไร นิกายย่อยนั้นว่าอย่างไร ไม่ต้องมาสับสนกันอีก
         ขอทบทวนแต่เพียงโดยสรุปว่า
         
1. พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทที่เรารักษาไว้ (แต่ไม่ค่อยศึกษากัน) นี้ เป็นที่ยอมรับ
กันทั่วแม้โดยฝ่าย มหายานเอง ว่าเป็นที่รวบรวมพระพุทธพจน์ที่ดั้งเดิม แม่นยำตรงตามจริง และครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
         2. พระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ ก็คือ ที่เป็นของมหายานนั้น แม้แต่นักวิชาการตะวันตก ที่เอกสารของวัดพระธรรมกายยกย่องว่าเป็น "ปราชญ์ใหญ่ทางพระพุทธศาสนา . . . ที่มีชื่อเสียงก้องโลก" ก็ยังพูดว่า "พระสูตรทั้ง หลายของมหายาน พูดกันตรงไปตรงมา ก็คือคำนิพนธ์ ยุคหลังที่บรรจุเข้าในพระโอษฐ์" ดังยกมาให้ดูข้างต้น แล้ว (หน้า 18)        เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า การรักษาพระพุทธศาสนานั้น เราต้องการคำสอนที่แท้จริง
ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระสูตรของ มหายานเป็นของแต่งใส่พระโอษฐ์ภายหลัง แล้วเรา
จะนำเอามาสับสนปะปนทำไม
         3. แม้ว่าพระไตรปิฎกมหายาน เช่น ฉบับภาษาจีน จะมีคำสอนเก่าครั้งหินยานอยู่ด้วย ก็แทบจะไม่มี คุณประโยชน์อะไรเป็นสาระที่เราจะพึงสนใจ นอกจากจะได้รู้ว่าเคยมีพุทธศาสนา
นิกายนั้นจริง และสอนว่าอย่าง นั้นๆ ขอชี้แจงเล็กๆ น้อยๆ เช่น
         ก) หินยานที่แตกแยกออกไปถึง 17 นิกายและได้สูญสิ้นไปหมดแล้ว เป็นเรื่องเก่าที่ท่านสะสางเสร็จกัน ไปแล้ว ถ้าจะไปพบหลงเหลือบันทึกอยู่ในฉบับของจีนหรือแม้ภาษาอื่นๆ บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
         ข) ในบรรดานิกายต่างๆ นั้น เถรวาทนี้เป็นหลักมาแต่เดิม ก่อนมีการแตกแยก และแม้หลังแตกแยกแล้ว เมื่อนิกายอื่นสูญสิ้นไป เถรวาทก็ดำรงอยู่ต่อมา และเป็นที่รู้กันว่ารักษาคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าไว้แม่นยำ ครบถ้วนที่สุด เมื่อเป็นอย่างนี้ ควรจะตั้งใจศึกษาคำสอนที่ท่านเพียรพยายามรักษาไว้ให้นี้แหละให้ดี
         ค) คำสอนของหินยานนั้น อย่างของนิกายสรวาสติวาทิน เดิมรักษาไว้ด้วยภาษาสันสกฤต กว่าจะได้ แปลเป็นภาษาจีนก็ พ.ศ.ใกล้ 1000 แล้ว และคัมภีร์สันสกฤตเดิมก็หายสูญไปมาก ความน่าเชื่อถือแม้แต่ในแง่ที่ จะรักษาคำสอนของนิกายของตนเองก็เหลือน้อยลงไป
         พระไตรปิฎกตลอดจนคัมภีร์ทั้งหลายอื่นๆ ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ซึ่งที่จริงนอกจากที่รู้กันอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มี มากมาย
อะไร ถึงแม้นานๆ จะมีการตื่นเต้นกันขึ้นว่าเกิดไปพบอะไรขึ้นมาเหมือนเป็นของแปลกใหม่
โดยมากก็ เป็นของเกิดขึ้น
รุ่นหลังกว่าแม้แต่คัมภีร์อรรถกถาของเรา ไม่ต้องพูดถึงที่จะเทียบกับพระไตรปิฎกบาลี
ถ้าเรามี เวลาจะสนใจ
พิเศษก็ได้ในแง่ที่ว่าเป็นความรู้ทั่วไป เช่น เอาไว้พิสูจน์ว่าเป็นของนิกายเก่าที่สูญสิ้นไปแล้วนิกาย ไหน เป็นหลักฐานยืน
ยันเรื่องบางอย่างที่ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ของเราเรื่องไหนบ้าง ให้ความรู้ประกอบเกี่ยวกับเหตุ การณ์และสภาพสังคม อย่างไรบ้างไหมเป็นต้น
แต่ในแง่ตัวหลักการของพระศาสนาแท้ๆ ยากที่จะมีสาระอะไรคุ้ม กับการที่จะไปใส่ใจ
        พระไตรปิฎกบาลี 45 เล่ม และอรรถกถา 55 เล่ม เพียง 100 เล่มเท่านี้ก่อน ไม่นับคัมภีร์ภาษา
บาลีเล่ม อื่นๆ แม้แต่วิสุทธิมัคค์ ที่ท่านรักษาไว้ให้เราศึกษามากมาย ขอให้ตั้งใจศึกษากันจริงๆ จังๆ บ้าง
เพียง 5 เล่ม 10 เล่ม ก็ยังจะได้รู้จักพระพุทธศาสนาดีกว่าจะไปสนใจคัมภีร์ภายนอกที่กระจัดกระจาย
เหล่านั้น
ซึ่งถ้ามีอะไรเป็น ประโยชน์บ้าง ก็ไม่ต้องกังวล ผู้รู้ผู้ชำนาญก็จะเอามาบอกเราเอง หรือแม้ตัวเราจะต้อง
การรู้ก็ได้ แต่ควรจับหลัก เถรวาทของตัวเองให้ชัดเสียก่อน
         เวลานี้ก็รู้กันดี
ใครๆ ก็ยอมรับว่า จะรู้พระพุทธศาสนาที่เป็นคำสอนแท้ของพระพุทธเจ้า ต้องศึกษา
พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท
และวงการมหายานอย่างในญี่ปุ่นก็เห็นกันแล้วว่า จะต้องหันมาศึกษาคำสอนเดิมของ พระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกบาลีของเราเป็นฐาน ดังได้กล่าวข้างต้น
         สิ่งควรทำที่แน่แท้ก็คือ ควรจะปลุกเร้ากระตุ้นเตือนพวกเรากันเองนี่แหละ ให้หันมาศึกษาพระพุทธ ศาสนาที่แท้ จากแหล่งคำสอนที่อยู่ใกล้ตัวอยู่แล้วนี้กันเสียที ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
ถ้าไม่ยอมศึกษาเอง ก็ช่วยรักษาแหล่งคำสอนเดิมแท้นี้ไว้ เพื่อให้คนอื่นที่เขาเห็นคุณค่าจะได้มีโอกาสศึกษา โดยไม่ ไปทำให้แปด
เปื้อนเสียก่อน ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ยังจะเป็นบุญกุศลแก่ตนได้ส่วนหนึ่ง