กรณีธรรมกาย

ต้นเรื่อง

กรณีธรรมกาย ถึงขั้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย

         เมื่อ 9 วันที่ผ่านมานี้ คือวันที่ 11 มกราคม 2542 ได้มีผู้สื่อข่าว จากสื่อมวลชนต่าง ๆ มาถามปัญหา เกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย และมีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งได้ถวายหนังสือ ชื่อว่า "เจาะลึกวัดพระธรรมกาย ข้อมูลที่ไม่ เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน ลับสุดยอด" ต่อมาได้เปิดอ่านดูบ้างบางส่วน และในตอนที่ว่าด้วยคำถามคำตอบที่น่าสน ใจ เมื่อพลิกดูผ่านๆ ไปจนจบ ปรากฏว่า 2 ข้อสุดท้ายเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา และ เรื่องธรรมกายในข้อเกี่ยวกับนิพพานนั้นตั้งเป็นคำถามว่า
         "มีการถกเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ทราบ
          จริง ๆ เป็นอย่างไร?"
          และข้อสุดท้ายว่า
          "ธรรมกาย มีในพระไตรปิฎกหรือไม่?"
          สองข้อนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการ หรือหลักธรรมสำคัญ ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วย เรื่อง นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา เมื่ออ่านดูลักษณะการเขียนคำตอบเป็นไปในเชิงที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความ เข้าใจไปว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องนิพพานนั้น ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ยังหาข้อสรุป ไม่ได้ เป็นเรื่องของความคิดเห็น การเขียนเช่นนี้ถือได้ว่าถึงขั้นที่จ้วงจาบต่อพระธรรมวินัย เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นเอกสารซึ่งจะคงอยู่ยาวนาน อาจก่อผลกว้างไกล จึงสมควรรีบชี้แจงไว้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
        ต่อมาอีก 2-3 วัน ก็มีพระนำเอาหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันพุธ ที่ 13 มกราคม 2542 มาให้ดู โดยเฉพาะหน้า 12 "สุขสรรค์" มีบทความเรื่อง "สายตรงจากธรรมกาย นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" โดย พระ สมชาย ฐานวุฑฺโฒ บทความนี้เมื่ออ่านแล้วจะยิ่งสร้างความสับสนต่อหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ กล่าวมานั้นยิ่งขึ้น
        อีก 2-3 วันต่อมาก็มีรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2542 กล่าวถึงอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกาย ได้กล่าวถึง ปัญหาบางอย่างที่จะต้องแก้ไข ตอนหนึ่งได้กล่าวว่า "เรื่องนิพพานเป็นความคิดที่หลากหลาย" การที่ท่านกล่าว อย่างนี้ จะเป็นผลจากการเผยแพร่เอกสารของวัดพระธรรมกาย หรือไม่ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง ที่พูดนี้มิใช่จะว่ากล่าวข้าราชการผู้นั้น เพราะท่านไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่คำพูดนั้นเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า อันตรายที่ร้ายแรงกำลังเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา เพราะความสับสนหรือเข้าใจผิดต่อหลักการสำคัญของ พระพุทธศาสนากำลังแผ่ขยายออกไปในหมู่ประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสั่นคลอนของพระพุทธศาสนาถึงขั้นรากฐานเลยทีเดียว
         
ที่จริงนั้น หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามีความชัดเจน แน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความ คิดเห็น แต่เป็นเรื่องของหลักฐานที่ชาวพุทธถือกันว่ามาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คือมาในพระไตรปิฎก และมี คัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น อธิบายประกอบ ซึ่งชาวพุทธทุกยุคสมัย ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา เป็นหลัก สำคัญที่สุด และได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ให้ แม่นยำ ด้วยการทรงจำ ศึกษาเล่าเรียน และมีการ สังคายนาเป็นงานใหญ่หลายยุคสมัยตลอดมา
         เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นแก่พระศาสนา ชาวพุทธก็ควรตื่นตัวขึ้นมา ช่วยกันขจัดภัยและปกป้องรักษา พระศาสนาไว้ อย่างน้อยก็ใช้เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษา สร้างเสริม หรือแม้แต่ชำระ สะสางความรู้ความเข้าใจใน พระศาสนาที่ตนนับถือ ทำความเห็นให้ถูกต้อง ให้ได้ชื่อว่าสามารถถือเอาประโยชน์จากสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา และผ่านพ้นปัญหาไปอย่างได้ปัญญา
         ในการชี้แจงต่อไปนี้ จำเป็นต้องพูดพาดพิง ถ้าข้อความที่กล่าวจะเป็นเหตุให้ท่านผู้เกี่ยวข้องไม่สบายใจ ก็ขออภัยไว้ก่อน แต่
ขอให้ตั้งใจร่วมกันว่า เราจะทำการนี้เพื่อดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษได้รักษาสืบต่อตกทอดกันมาจนถึงเรา โดยอาศัยกำลังความ เพียรพยายาม เรี่ยวแรง ความอุตสาหะและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง มิให้สูญเสียไป และเพื่อให้ประชาชนทั้งในบัดนี้ และเบื้องหน้า ยังสามารถได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากพระพุทธศาสนา คือ มุ่งเพื่อรักษาพระธรรมวินัยและ
ประโยชน์สุขของประชาชน

ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ก็ร้าย แต่ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ร้ายยิ่งกว่า

         ปัญหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายที่กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นี้มีหลายเรื่อง แยกได้หลายแง่ หลายประเด็น เช่นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระ เรื่องการดำเนินงานขององค์กร คือวัดและมูลนิธิ เกี่ยวกับ การครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น ตลอดจนการดำเนินธุรกิจต่างๆ การแสวงหาเงินทอง โดยวิธีซึ่งเป็นที่ สงสัยว่าจะไม่ถูกต้อง ในแง่กฎหมายบ้าง ในแง่พระวินัยบ้าง โดยเฉพาะการยกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมาเผยแพร่ ในลักษณะที่เป็นการชักจูงให้คนบริจาคเงิน การใช้วิธีกึ่งเกณฑ์ให้เด็กนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนข้าราชการ เป็นต้น จำนวนมากๆ มาร่วมกิจกรรม โดยมีเป้าหมายที่น่าสงสัยว่าจะมุ่งไปที่การให้บริจาคเงินหรือไม่ ตลอดจน ในที่สุดก็คือ ปัญหาที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยโดยตรง โดยเฉพาะการแสดงหลักการของพระพุทธ
ศาสนาเรื่อง นิพพานเป็นอัตตา และเรื่องธรรมกาย
         ปัญหาทั้งหมดนั้น ล้วนมีความสำคัญ และจะต้องแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสมให้ถูกต้องแต่ละอย่าง แต่เมื่อพิจารณาใน
แง่ของการดำรงรักษาพระศาสนา ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ซึ่งกระทบ ถึงหลักการ
ของพระพุทธศาสนา
พูดให้เข้าใจง่ายว่า การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าการประพฤติ วิปริตจากพระธรรมวินัย
         ยกตัวอย่างด้านพระวินัย ถ้าพระภิกษุประพฤติผิดพระวินัย ต้องอาบัติปาราชิก เรียกว่าประพฤติวิปริต จากพระธรรมวินัย ก็ต้องแก้ไขโดยดำเนินการลงโทษไปเป็นการส่วนเฉพาะบุคคล          แต่ถ้ามีพระภิกษุยึดถือประกาศขึ้นมาหรือเผยแพร่ว่า การต้องอาบัติปาราชิกไม่ผิดพระวินัย ก็เป็น ปัญหาถึงขั้นทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับทำให้เกิดมีการสังคายนา
         ยกตัวอย่างด้านธรรม
ถ้าพระภิกษุเห็นว่านิพพานเป็นอัตตา หรือไม่ยอมรับว่านิพพานเป็น
อนัตตา เรียก ว่าเป็นการเห็นผิดจากพระธรรมวินัย ก็ต้องแก้ไขด้วยการให้ศึกษาหรือทำความ
เข้าใจกันให้ถูกต้องเป็นส่วน เฉพาะตัวของภิกษุนั้น        แต่ถ้ามีพระภิกษุยึดถือประกาศขึ้นมาหรือเผยแพร่ว่า พระพุทธเจ้าสอน หรือพระไตรปิฎกแสดงหลักการ ว่านิพพานเป็นอัตตา หรือบอกว่าพระไตรปิฎกที่แสดงหลักการ
ว่านิพพานเป็นอนัตตาเป็นหลักฐานที่เชื่อถือไม่ได้ ก็เป็นปัญหาถึงขั้นทำพระธรรมวินัยให้วิปริต
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับทำให้ต้องมีการสังคายนา

ไม่ควรยอมเสียพระศาสนา เพื่อรักษาตัวของตน

         ย้อนกลับไปข้างต้น ปัญหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายที่ว่า มีหลายเรื่อง หลายแง่ หลายด้าน หลาย ประเด็นนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ทางวัดโดยเฉพาะเจ้าอาวาส เงียบอยู่ และได้มีผู้เรียกร้องขอให้ ท่านเจ้าอาวาสมาชี้แจง ต่อมาทางวัดมีพระที่ออกมาพูดกล่าวตอบทำนองว่า
        "เรายึดแนวพระพุทธเจ้าจะชนะด้วยความสงบนิ่ง . . . พระพุทธเจ้ามีผู้หญิงมากล่าวหาว่ามีท้องกับพระ พุทธเจ้า บางทีมีคนจ้างคนมารุมด่าสองข้างทาง พระองค์แก้อย่างไร พระพุทธเจ้านิ่งตลอด บอกไว้เลยว่าชนะได้ ด้วยความสงบ นิ่ง แล้วความจริงก็ปรากฏในที่สุด พระพุทธเจ้าไม่เคยแก้ข่าว อยู่ด้วยความนิ่งสงบ และสุดท้ายก็ ชนะ ความจริงจะปรากฏ เราเองก็เลยใช้วิธีการเดียวกัน" (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2542)
         การกล่าวอ้างเช่นนี้ ต้องระวังมาก เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิดต่อพระพุทธเจ้า ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ ได้ใช้วิธีสงบนิ่งอย่างเดียว ทรงใช้วิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่จะให้เรื่องจบสิ้นลงด้วยดี ด้วยความถูก ต้องและชัดเจน
         พุทธศาสนิกชนที่คุ้นเคยวัด คงจะได้ยินพระสวดมนต์บทหนึ่งอยู่เสมอ เวลามีงานเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์ก่อนฉันเพลพระภิกษุสงฆ์ก็จะสวดบทสวดสำคัญบทหนึ่ง เรียก กันว่า บทพาหุง หรือ
พาหุง 8 บท เรียกเป็นภาษาทางการว่า ชยมังคลัฏฐกคาถา บทสวดนี้ท่านรวบรวมขึ้นไว้เพื่อแสดงถึงวิธีที่พระ พุทธเจ้าทรงมีชัยชนะผ่านพ้นเหตุการณ์ร้าย โดยทรงแก้ปัญหาด้วยวิธีปฏิบัติต่าง ๆ กัน ดังคำบาลีว่า
         "พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ . . . " เป็นต้น
         ในเหตุการณ์และปัญหาเหล่านี้ บางเรื่องพระพุทธเจ้าทรงแก้ด้วยวิธีเมตตา บางเรื่องทรงแก้ด้วยขันติ บางเรื่องทรงแก้ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ บางเรื่องทรงแก้ด้วยวิธีแห่งอาการสงบ บางเรื่องทรงแก้ด้วยความลึกซึ้งแห่ง
การใช้ปัญญา บางเรื่องทรงแก้ด้วยการชี้แจงแสดงความจริง หรือแสดงธรรม
         การที่มากล่าวอย่างข้างต้นว่า
"เรายึดแนวพระพุทธเจ้า จะชนะด้วยความสงบนิ่ง" นั้นเป็นคำที่กำกวม อาจจะทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าก็ทรงนิ่งเฉย ซึ่งนอกจากจะทำให้คน เข้าใจผิดต่อพระพุทธเจ้าแล้ว อาจจะเป็นการเสื่อมเสียต่อพระพุทธคุณ

         สำหรับผู้ที่รู้เรื่องพุทธประวัติดี เมื่อได้ยินได้ฟังอย่างนี้ นอกจากจะตำหนิได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความ เข้าใจผิด
แล้ว ก็ยังจะรู้สึกได้ว่า
ท่านผู้กล่าวนั้นมุ่งแต่จะรักษาตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำของตน จะเป็น การก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์พระพุทธเจ้าและเสื่อมเสียต่อศรัทธาในพระพุทธคุณ ที่ถูกนั้น ควรยอมสละตัว เราเพื่อรักษาพระศาสนา ไม่ใช่ยอมให้เสียแก่พระศาสนา เพื่อรักษาตัวเรา

จับประเด็นให้ชัด วางท่าทีปฏิบัติให้ตรงตามต้นเรื่อง

         สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่เรื่องความคิดเห็น นี้เป็นข้อสำคัญที่ต้องย้ำไว้ก่อน เพราะเอกสารของวัดพระ ธรรมกายที่เผยแพร่ออกมานั้น มีลักษณะที่ทำให้เกิดความสับสน เช่น เอาเรื่องข้อเท็จจริงบ้าง หลักฐานบ้าง เหตุ ผลความคิดเห็นต่างๆ บ้าง มาปะปนกันไปหมด จนทำให้คนเกิดความรู้สึกที่มองว่า แม้แต่พระไตรปิฎกก็เป็นเรื่อง ของความคิดเห็น
         จะต้องแยกให้ชัดว่า ขณะนี้กำลังพูดถึงหลักฐาน กำลังพูดถึงพระไตรปิฎก เป็นต้น หรือกำลังพูดถึง ความคิดเห็นของบุคคล

         ข้อเขียนต่อไปนี้ หรือคำชี้แจงต่อไปนี้ จะแสดงเฉพาะหลักฐานที่มาในคัมภีร์ เริ่มด้วยพระไตรปิฎกและ อรรถกถา ถ้ามีความคิดเห็น ก็จะบอกไว้ด้วยว่าเป็นความคิดเห็น
        มีบางท่านพูดทำนองว่า ควรจะปล่อยให้ต่างคนต่างทำไป เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความแตกแยก เรื่องนี้จะต้องระวังรักษาท่าทีให้ถูกต้อง
         ขอให้จำตระหนักต้นเรื่องเดิมไว้ให้ดี ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของคนที่เป็นฝักเป็นฝ่ายมาโต้เถียงทะเลาะกัน แต่
เรื่องอยู่ที่ว่า มีปัญหาเกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่ง โดยมีบุคคลหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำความเสียหาย หรือมีพฤติกรรมที่ น่าสงสัยว่าจะเป็นความผิดหรือเป็นภัย มีผู้พบเห็น แล้วนำมาร้องเรียนแก่เจ้าหน้าที่ และบอกกล่าวแก่มหาชน เจ้าหน้าที่และประชาชนทั้งหลายจึงต้องมาช่วยกันแก้ไขระงับปัญหา
         โดยเฉพาะกรณีนี้ก็คือ มีกลุ่มคนที่มีพฤติการณ์อันทำให้เกิดความสงสัยกันว่ากำลังกระทำความเสีย หายต่อพระธรรมวินัย และต่อประโยชน์สุข โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางปัญญาของประชาชน จึงเป็นหน้าที่
ของชาวพุทธและประชาชนทุกคน ที่จะต้องสนใจช่วยกันปกป้องรักษาธรรมวินัยไว้

          ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องระวังรักษาท่าทีที่ถูกต้องนี้ไว้ อย่าทำด้วยความรู้สึกเป็นฝักฝ่าย แต่ทำด้วย เจตนาที่มุ่งจะดำรงพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไว้ให้บริสุทธิ์
          ในเรื่องพระธรรมวินัยนั้น การรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะ พระพุทธศาสนาอยู่ได้ด้วยพระธรรมวินัยนั้น
         ไม่ต้องพูดถึงเรื่องใหญ่โต แม้แต่เพียงว่ามีภิกษุดื่มสุรา ชาวพุทธก็ต้องสนใจหาทางแก้ไข ไม่ใช่บอกว่า
ปล่อยท่านเถิด ใครอยากประพฤติอย่างไร ก็ต่างคนต่างประพฤติไป ถ้าไปว่ากล่าวหรือทำอะไร เดี๋ยวจะเกิดความ
แตกแยก
ถ้าชาวพุทธมีท่าทีหรือทัศนคติอย่างนี้ พุทธศาสนาก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ คงจะสูญไปในไม่ช้า
          ขอให้จำตระหนักไว้ว่า ที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนยาว มาถึงพวกเราได้ ก็เพราะพุทธบริษัททุกยุคทุก สมัย ถือว่าการรักษาธรรมวินัย เป็นแกนกลางของการ
รักษาพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ เพียงมีภิกษุรูปหนึ่งพูดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ต่อไปไม่มีใครจะคอยว่ากล่าว เราจะได้ทำอะไรโดยสะดวก พระมหากัสสปะได้ฟังคำเพียงเท่านี้ ก็เร่งชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายมาประชุมกันสังคายนา รวบรวมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าวางไว้เป็นหลักของพระศาสนา ดังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกสืบมา        ความจริงนั้นเป็นหนึ่งเดียว และเมื่อเข้าถึงความจริง คนก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยความจริงนั้น ไม่มีอะไรที่จะทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จริงเท่ากับความจริง
         เพื่อให้พิจารณาเรื่องราวได้ชัดเจน ขอโอกาสนำเอาเอกสารของวัดพระธรรมกายที่ได้เผยแพร่ ซึ่งอ้างถึง
ข้างต้นนั้น มาลงพิมพ์ไว้ด้วย (ดู ภาคผนวก) และขออภัยอีกครั้งหนึ่ง ที่บางครั้งจะต้องยกขึ้นมาเป็นบทตั้งในการ
พิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ปัญหาของวัดพระธรรมกาย ส่วนที่กระทบต่อพระธรรมวินัย

         สำนักวัดพระธรรมกาย เผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น
         
1. สอนว่านิพพานเป็นอัตตา
       2. สอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพนิมิต และให้มีธรรมกาย ที่เป็นตัวตนเป็นอัตตา
ของพระพุทธเจ้ามาก มายหลายพระองค์ ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน
       3. สอนเรื่องอายตนนิพพาน ให้เข้าใจผิดต่อนิพพาน เหมือนเป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิ
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ ถึงกับมีพิธีถวายข้าวพระ ที่จะนำข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้า
ในอายตนนิพพานนั้น

         คำสอนเหล่านี้ ทางสำนักสายวัดพระธรรมกายคิดขึ้นใหม่ เป็นของนอกธรรมนอกวินัย
ของพระพุทธเจ้า แต่แทนที่จะสอนไปตามตรงว่าเป็นลัทธิของครูอาจารย์ ทางวัดพระธรรมกาย
กลับพยายามนำเอาคำสอนใหม่ของ ตนเข้าใส่แทนที่หลักคำสอนเดิมที่แท้ของพระพุทธศาสนา
ยิ่งกว่านั้นเพื่อหาทางให้ลัทธิของตนเข้าแทนที่พระธรรมวินัยได้สำเร็จสำนักวัด
พระธรรมกายยังได้เผย แพร่เอกสาร ที่จ้วงจาบพระธรรมวินัย ชักจูงให้คนเข้าใจผิด สับสน หรือแม้แต่ลบหลู่พระไตรปิฎกบาลี ที่เป็นหลัก ของพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น
         - ให้เข้าใจว่าพระไตรปิฎกบาลี บันทึกคำสอนไว้ตกหล่น หรือมีฐานะเป็นเพียงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เชื่อ ถือหรือใช้เป็นมาตรฐานไม่ได้
         - ให้นำเอาพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ เช่น พระไตรปิฎกภาษาจีน และคำสอนอื่นๆ ภายนอกมาร่วมวินิจฉัย พระพุทธศาสนาเถรวาท
         - ให้เข้าใจเขวไปว่าหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องอภิปรัชญา ขึ้นต่อการตีความ และความคิดเห็น ตลอดจนการถกเถียงทางวิชาการ
         - อ้างนักวิชาการต่างประเทศ และการปฏิบัติของตน ดังว่าจะใช้วินิจฉัยหลักพระพุทธศาสนาได้ ฯลฯ

         อีกทั้งสิ่งที่ยกมาอ้าง เช่น คัมภีร์ของมหายาน และทัศนะของนักวิชาการตะวันตก ก็ไม่ตรงตามความ เป็นจริง หรือไม่ก็เลื่อนลอย นอกจากนั้น ยังนำคำว่า "บุญ" มาใช้ในลักษณะที่ชักจูงประชาชนให้วนเวียนจมอยู่กับการบริจาค ทรัพย์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ชนิดที่ส่งเสริมความยึดติดถือมั่นในตัวตนและในตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนว โน้มที่บั่นรอนสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้ลางเลือนไปด้วย พฤติการณ์ของสำนักวัดพระธรรมกายอย่างนี้ เป็นการจาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยีพระธรรมวินัย สร้างความ สับสนไขว้เขวและความหลงผิดแก่ประชาชน ข้อความบรรยายต่อไปนี้ ได้เขียนไว้เพื่อเป็นทางแห่งการศึกษา ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเป็นเหมือนคำขอร้องต่อชาววัดพระธรรมกาย ผู้ยังเห็นแก่พระพุทธศาสนา เมื่อรู้เข้าใจแล้ว จะได้หันมา ร่วมกันทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และสนองพระคุณบรรพบุรุษไทย ด้วยการรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์สืบไป