ขบวนการสวดมนต์เพื่อชาติ

แท้จริงแล้วคือแนวร่วม 'หุบผาสวรรค์ 2'

เมื่อเร็วๆ นี้มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เชิญชวนชาวไทยสมัครเป็นสมาชิก 'โครงการสวด มนต์เฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อความสถิตสถาพรของแผ่นดินไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์' โดยมีชื่อของ ม.ร.ว.วิบูลยดิศ ดิศกุล เป็นประธานอำนวยการ และ ดร.สุธี อากาศฤกษ์ เป็นประธานดำเนินงาน

รายละเอียดในหน้าหนังสือพิมพ์มีแค่นี้ แต่เพียงแค่นี้ก็มากพอที่จะจุดชนวนความสนใจของผู้คนได้แล้ว

โครงการสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนกลุ่มหนึ่ง ที่อธิบายความเชื่อนี้ว่า

"การสวดมนต์อธิษฐานนั้น เป็นเรื่องมหัศจรรย์ และพลังแห่งการอธิษฐานนั้น จะทำให้เกิดสันติสุขได้ ยิ่งถ้าได้มีการสวดมนต์อธิษฐานจิตร่วมกันหลายๆ คน พร้อมๆ กัน ก็จะยิ่งมีพลังแห่งการอธิษฐานมากกว่าที่จะทำไปโดยลำพังคนเดียว หรือทำกันคนละที เปรียบเสมือนการออกแรงกาย ทำอะไรสักอย่าง ถ้าได้ช่วยกันออกแรงหลายคนพร้อมๆ กัน ก็จะมีพลังมากกว่าออกแรงเพียงคนเดียว หรือออกแรงคนละทีไม่พร้อมกัน...

การสวดมนต์อธิษฐานจิตย่อมส่งผลไปไกลกว่านั้นออกไปอีก กล่าวคือ นอกจากจะได้จิตที่มีพลังแล้ว ในการร่วมอธิษฐานจิตนั้นเอง ยังส่งผลให้ผู้ร่วมอธิษฐานมีความผูกพันทางจิตใจเข้าด้วยกัน และส่งกระแสจิตไปผูกพันอยู่กับสิ่งที่ดี ที่งาม อันกระแสจิตนั้นย่อมแผ่ออกไปได้ไม่มีเขตจำกัด ถ้าเป็นกระแสจิตที่ดีที่สะอาด ก็จะไปสู่กระแสจิต ที่มีลักษณะเดียวกัน"

ส่วนบทสวดที่ใช้นั้น คือพระคาถาชินปัญชร ทำไมต้องเป็นพระคาถาบทนี้ ม.ร.ว.วิบูลยดิศ ดิศกุล ประธานอำนวยการโครงการฯ ตอบว่า

"พระคาถาชินปัญชรเป็นหัวใจของคาถาทั้งหมด มีที่มาจากลังกา พบที่กรุกำแพงเพชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ท่านนำมาแปลร้อยกรองขึ้นมาใหม่...เดิมเป็นภาษาสิงหล ที่ว่าสำคัญเพราะจะมีกล่าวถึงพระทั้งหลายในยอดของศาสนาพุทธ เช่น พระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ ก่อนนี้ปฐมกัปป์ เราไม่รู้แต่กัปป์ของพระพุทธเจ้าเรียกภัททกัปป์ มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์...พุทธศาสนากล่าวไว้ใน 5,000 ปีต้องเสื่อมไป และพระศรีอาริยะเมตไตรย์จะมาเป็นองค์ที่ 5"

อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ แกนนำของโครงการก็สวดพระคาถาชินปัญชรอยู่เป็นประจำ ดังที่ ม.ร.ว.วิบูลดิศ เล่าว่า โครงการนี้สืบทอดมาจากชมรมสวดพระคาถาชินปัญชร ซึ่งมี รศ.ดร.พิชัย โตวิวิชญ์เป็น ประธานชมรม และปัจจุบันก็ยังติดต่อประสานงานกันอยู่

โครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2541 มีเป้าหมายคือ เพื่อความสถิตสถาพรของแผ่นดินไทย อาศัยรูปแบบการสวดมนต์ (เพื่อเพิ่มพลังจิต) ตามอนุสาวรีย์ของอดีตพระมหากษัตริย์ไทย โดยเริ่มจากกลุ่มของชมรมสวดพระคาถาชินปัญชร ซึ่งรวมกลุ่มกันสวดมนต์เป็นประจำที่อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 5 ปีก่อน อีก 1 ปีถัดมาก็ไปสวดที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนที่อนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทำมาได้ 3 ปี และอนุสาวรีย์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพิ่งครบรอบ 2 ปี

นอกจากนี้ยังมีการสวดที่อาคาร อริยสัจสี่ (สำนักงานชมรมสวดพระคาถาชินปัญชร) ทุกวันอาทิตย์ช่วงบ่าย และทุกวันที่ 19 ของเดือน ส่วนวัดที่เข้าร่วมโครงการ ก็มีวัดสน (เขตราษฎร์บูรณะ) วัดศรีสุดาราม (บางขุนนนท์) และวัดราชนัดดา

โครงการสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ หนึ่ง - เพื่อรวมพลังจิตตานุภาพของประชาชนชาวไทย น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 '72 พรรษามหาราชา' ให้ทรงมีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน สอง - เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคี ความเสียสละ และกำลังใจของประชาชนชาวไทย ให้เข้าซึ้งถึงความกตัญญูกตเวที และเห็นความสำคัญของชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

สาม - เพื่อรวมพลังแห่งจิตตานุภาพของศาสนิกชนชาวไทย ร่วมกันสวดมนต์อธิษฐานให้ผลร้ายที่จะเกิดแก่สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จงกลับกลายเป็นผลดี และมีความมั่นคงสถิตสถาพรตลอดไป สี่ - เพื่อให้นักวิชาการที่มีความรู้ถ่องแท้และปรารถนาดีต่อประเทศชาติ มีความกระตือรือร้นที่จะเห็นความเจริญของสังคม ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ห้า - เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการนี้มี ศีล สมาธิและสติปัญญาอันจะนำมาซึ่งความสงบสุขร่มเย็น มีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ส่วนการเผยแพร่นั้น ทางโครงการได้เตรียมงานไว้หลายรูปแบบ ตั้งแต่จัดพิมพ์บทสวดมนต์พระคาถาชินปัญชร พร้อมคำอธิษฐานถวายพระพรฯ แจกประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ, จัดรายการสวดมนต์เนื่องในวโรกาส '72 พรรษามหาราชา' ทางสถานีวิทยุ, เสนอโครงการฯ ไปยังผู้รับผิดชอบสถานีวิทยุต่างๆ ขอความร่วมมือเผยแพร่การสวดมนต์อธิษฐานน้อมเกล้าฯ ออกอากาศ และขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชนในการเผยแพร่โครงการ นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ ประกาศรับสมาชิกโดยตรง รวมทั้งรับสมัครสำนักงานสาขาประจำจังหวัด

ประเสริฐ สุโขธนัง เลขานุการคณะทำงาน ไขข้อข้องใจว่าทำไมต้องเป็นการสวดพระคาถาชินปัญชร ว่า

"อันนี้เป็นบทเสริม ไม่ได้บอกว่าคุณอย่าไปสวดบทนั้นนะ อันนี้ดีกว่า ถ้าเขาสวดอะไรอยู่แล้วก็สวดไป..พระที่รู้ความหมายของพระคาถาชินปัญชร จะไม่ปฏิเสธเลย แต่ถ้าจะมาถกเถียงกันว่าฉบับไหนถูกต้อง เปล่าประโยชน์ เพราะต้นฉบับจริงเป็นภาษาสิงหล และแต่ละวัดก็มาแก้ไขกัน ชุดที่ใช้อยู่นี้เป็นของชมรมสวดพระคาถาชินปัญชร'

ส่วนคำถามที่ว่าจะมีระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเมื่อใดนั้น ประเสริฐตอบว่า

"โครงการนี้ไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด คุณคงเคยได้ยินคำว่า 'ชาวพุทธแต่ในทะเบียน' แล้วคำพูดนี้จะเป็นอีกนานแค่ไหน โครงการนี้ต้องการเสริม ไม่ใช่เก่งกว่าวัด-พระ หรือสถาบันอื่นๆ เราเป็นแต่เพียงเสริม วัดไหนมีกลุ่มอยู่แล้ว เราก็ไปเสริม ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น ซึ่งกิจเหล่านี้วัดทำได้อยู่แล้ว...อย่างที่วัดสน เมื่อเอาโครงการไปถวายแล้ว ท่านก็จัดตั้งเอง เรียกกรรมการวัด มัคนายกมาทำพิธีเปิดโครงการ เปิดเสร็จผมก็ไปร่วมพิธีกับท่าน 2-3 ครั้ง พอเห็นว่าท่านไปได้สวยแล้ว ผมก็ไม่ไปอีกเลย

"วัดศรีสุดาราม ผมก็คิดว่าไม่ต้องไปก็ได้ แต่ท่านเจ้าคุณลงมาเทศน์เอาจริงเอาจัง ก็เลยยังไปที่วัดนี้อยู่ แต่อนาคตเมื่อมีงานขยายไปหลายวัด คงหาคนอื่นไปสวดนำแทน เพราะเราไม่คิดว่าเปิดแล้วจะคิดว่านี่เป็นวัดของเรา เพราะเราเชื่อว่าโครงการนี้ขยายมากเท่าไร วัดต่างๆ รณรงค์ให้คนมาสวดมนต์ประจำถวายในหลวง สิ่งที่ดีตามมาคือวัดเป็นที่รวมคนให้มาปฏิบัติดี-ชอบ และถ้าเจ้าอาวาสท่านสามารถโน้มน้าวให้ผู้มาสวดมนต์เชื่อฟังได้ และท่านโน้มน้าวในทางที่ดี ที่รัฐบาลต้องการอยู่แล้ว ท่านก็ทำได้ พระพูด ประชาชนจะฟังและเชื่อถือมาก"

ส่วนที่ว่ามีเป้าหมายให้คนมาร่วมโครงการสักเท่าไรนั้น ประเสริฐตอบว่าไม่ได้ตั้งเป้าไว้ แต่ที่เชิญชวนให้เป็นสมาชิก ก็เพราะอยากทราบว่าจะมีคนสนใจโครงการนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องการทราบความคิดเห็นของสมาชิกด้วย

"ในกรณีที่มีกิจกรรมพิเศษก็จะแจ้งไปยังสมาชิกได้ อย่างคนที่สวดตามลานพระรูป เขาเป็นสมาชิกเก่าของชมรมสวดพระคาถาชินปัญชร ไม่ได้รู้จักโครงการเท่าไร โครงการเข้าไปสนับสนุนร่วมมือเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นสมาชิกร้อยเปอร์เซ็นต์ และที่นั่นเราไม่ได้มีเป้าหมายว่าทุกคนต้องเป็นสมาชิกจึงจะมาสวดได้ อย่างนั้นเท่ากับไปสร้างสิ่งกีดขวาง... คนที่สมัครสมาชิกยังไม่ทราบจำนวน ทยอยมาเรื่อยๆ เราไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณ ที่จริงมันก็ควรตั้ง แต่ถ้าตั้งแล้วทำให้เกิดปัญหาต้องเท่านั้นเท่านี้ เป็นเรื่องของจิตใจ แต่ถามว่าอยากให้เยอะไหม แน่นอน ถ้าเราเชื่อว่าพลังจิตมีจริง แต่สมาชิกที่เขาไม่สมัคร แต่ทำอย่างที่เราทำ นี่ก็ถือเป็นสมาชิกโดยปริยายแล้ว" ประเสริฐกล่าว

หากจะมีคำถามว่า ในอดีตเคยมีการสวดมนต์เพื่อถวายพระพรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯบ้างหรือไม่ เลขานุการโครงการอธิบายว่า

"ถ้าคุณเคยศึกษาทศพิธราชธรรม บารมี..ก็จะมีคำว่าอธิษฐานบารมี องค์สมเด็จ-สัมมาสัมพุทธเจ้า จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็มีอธิษฐานบารมี ชาวพุทธส่วนใหญ่รู้จักคำว่าอธิษฐาน ใครไปทำบุญที่ไหนก็อธิษฐานทั้งนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เขาไม่อยากให้ใครรู้ แต่ถ้าอธิษฐานเพื่อส่วนรวมต้องปกปิดไหม ดังนั้น การไปให้แนวทางอธิษฐานเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ผิดหลักทางพุทธศาสนา" กล่าวและเพิ่มเติมว่า

ในต่างจังหวัดก็มีการสวดพระคาถาที่วัด สวนสาธารณะ เช่น นครราชสีมา ก็มีคนรับโครงการนี้ไปทำกัน ในกลุ่ม 10-20 คน ไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณ เพราะถือเป็นเรื่องรอง เอาคนที่มาโดยศรัทธาจริงๆ โดยเบื้องต้นผู้สนใจต้องแจ้งความจำนงมา และทางโครงการจะให้แนวทางไปคือพระคาถาที่ใช้สวดและคำอธิษฐาน ซึ่งปัจจุบันมีคนติดต่อเข้ามาเกือบครบทุกภาคแล้ว

"ทุกคนรักในหลวง รู้ว่าท่านทรงประชวรอยู่ แต่ผลดีของการมาแสดงความจงรักภักดี... คนที่มาจะเข้าใจ ก่อนที่จะเริ่มสวดมนต์เราก็อธิบายว่าคาถามีความเป็นมาอย่างไร สวดแล้วมีผลดี มีอานุภาพอย่างไร เขาก็สวดมนต์ด้วยความเข้าใจ...การสวดมนต์อธิษฐานเป็นสิ่งที่เชิญชวนประชาชนมาร่วมง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นกิจที่ชาวพุทธทำอยู่แล้ว การใช้คาถานี้เพราะมีความหมายดี และมีกลุ่มที่รวมตัวสวดมนต์อยู่แล้ว"

กล่าวโดยสรุป การสวดพระคาถาชินปัญชรมีมาหลายปีแล้ว โดยกลุ่มชมรมสวดพระคาถาชินปัญชร ซึ่งเชื่อกันว่าการสวดพระคาถาบทนี้เป็นประจำจะทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ลดวิบากกรรม มีความจำดี ในรายที่มีอำนาจสมาธิจิตสูง สามารถจะภาวนาพระคาถานี้ทำน้ำมนต์รักษาโรคบางชนิดที่แพทย์รักษาไม่ได้ และการสวดมนต์อธิษฐานร่วมกันหลายๆ คนเป็นหมู่คณะ จะยิ่งทำให้มีพลังแห่งการอธิษฐานมากกว่าที่จะสวดมนต์เพียงลำพังคนเดียว ทั้งจะมีอานุภาพบริสุทธิ์แผ่ออกไปกว้างไพศาลมาก ทำให้ผู้สวด/สถานที่/ประเทศชาติเจริญ รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศได้

แต่โครงการสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติเพิ่งเริ่มเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นพิธีการที่เพิ่มเข้ามาหลังจากการสวดพระคาถาชินปัญชรจบ โดยกลุ่มคนที่ไปนั้นเป็นผู้ที่สวดพระคาถาอยู่เดิม รวมทั้งสมาชิกใหม่ที่ทางโครงการประกาศรับสมัครอยู่ ในการสวดพระคาถาชินปัญชรแต่ละครั้งใช้เวลา 45-60 นาที หลังสวดจะมีการอธิษฐาน พระพรชัยมงคล หลังจากนั้นเป็นอันเสร็จพิธี พบกันใหม่อาทิตย์ต่อไป หรือตามจุดอื่นๆ ที่โครงการแจ้งไว้




Last modified: วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542