จากวัดปากน้ำ ถึงวัดพระธรรมกาย

กาเนิดวิธีทำสมาธิแบบธรรมกาย มีที่มาจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หลวงพ่อวัดปากน้ำ หรือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนทสาโร) ผู้ค้นพบวิธีทำสมาธิ ที่เรียกว่า 'วิชชาธรรมกาย' เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2427 ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ในครอบครัวค้าขาย อุปสมบทที่บ้านเกิดเมื่ออายุ 22 ปี ในพ.ศ.2449 จากนั้นก็เดินทางมาที่วัดพระเชตุพนฯ ในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตามคำบอกเล่าของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 (ปุ่น ปุณณ์สิริมหาเถร) ผู้ซึ่ง "เคยอยู่รับใช้เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีมาแต่ครั้งเป็นเด็กวัด เป็นสามเณรและเป็นภิกษุ" หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นผู้มีอัธยาศัยหนักแน่น จริงจัง พูดคำไหน คำนั้น เป็นนักปฏิบัติ

เมื่อท่านมรณภาพลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 มิได้ตั้งผู้ใดให้เป็นผู้สืบทอด ทั้งในแง่การปกครองวัด หรือเป็นอาจารย์ใหญ่ในการสอนสมาธิ ในช่วงนั้น ที่วัดมีพระเณรราว 500 รูป ยังไม่นับอุบาสก-อุบาสิกา ที่อยู่ปฏิบัติธรรมอีกจำนวนมาก เพื่อมิให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ศิษย์ของท่าน ทางฝ่ายปกครองจึงแต่งตั้งคนนอกที่มีบารมีเข้ามารักษาการเจ้าอาวาสไปก่อน นั่นก็คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก ซึ่งเป็นผู้เขียนประวัติหลวงพ่อวัดปากน้ำ และต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันเงียบๆ และการแตกเป็นกลุ่ม ก็เกิดมีขึ้นภายในหมู่ศิษย์ และการแยกกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม ก็เห็นได้ชัดในเวลาต่อมา สายหนึ่งแยกไปตั้งเป็น สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในปลายปี พ.ศ.2525 โดยมีพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งของวัดปากน้ำ และพระพรหมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นผู้นำ อีกสายหนึ่งคือสายศิษย์ของ อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งเข้ามาเป็นศิษย์รุ่นหลังของหลวงพ่อวัดปากน้ำ นำศิษย์ของตนแยกกลุ่มออกไปตั้งศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมที่ จ.ปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ.2518 ซึ่งได้พัฒนากลายเป็นวัดพระธรรมกายในเวลาต่อมา

'คุณยายจันทร์' สอนสมาธิแก่ผู้มาปฏิบัติธรรม และได้ 'ศิษย์เอก' ผู้หนึ่งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ นายไชยบูลย์ สุทธิผล ช่วงนี้นับเป็นจุดก่อตัวของชาววัดพระธรรมกาย ศิษย์คุณยายจันทร์ จะมารวมตัวกันที่ 'บ้านธรรมประสิทธิ์' ซึ่งเป็นเรือนไม้สองชั้นในวัดปากน้ำ จารีตของระบบอาวุโสที่เข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยให้นายไชยบูลย์ชักนำพี่น้องร่วมสถาบัน มาสนใจการปฏิบัติธรรมได้

นายไชยบูลย์ได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ.2512 ที่วัดปากน้ำ โดยมีพระเทพวรเวที เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีนั้นเองก็มีผู้บริจาคที่ดิน 196 ไร่ที่ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี การสร้างวัดพระธรรมกายจึงได้เริ่มขึ้น ใช้เวลาอยู่หลายปีจนถึงปี พ.ศ.2518 กลุ่มศิษย์คุณยายจันทร์จึงย้ายออกมาจากวัดปากน้ำ ในระยะแรกที่ปทุมธานียังมิได้เป็นวัด เป็นเพียงสำนักสงฆ์ ชื่อว่า ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม ดำเนินการขอสร้างเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2520 ครั้งแรกตั้งชื่อวัดว่าวัดวรณีธรรมกายาราม ตามนามของผู้บริจาคที่ดินและขอเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระธรรมกาย ในปี พ.ศ.2524 พระอุโบสถเริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี พ.ศ.2520 โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ มาทรงวางศิลาฤกษ์ ใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2525

หมายเหตุ : คัดลอกจากงานวิจัยเรื่อง 'ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย' ของ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล


Last modified: วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2541