ท้าพิสูจน์ศรัทธา

'ปาฏิหาริย์ธรรมกาย'

กับอำนาจมหาเถรสมาคม

นับจากกระแสร่ำลือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ 'ปาฏิหาริย์' วัดพระธรรมกาย ที่ทางวัดและเหล่าสานุศิษย์ประโคมข่าวกันอย่างครึกโครม จนเป็นประเด็นที่มาของข้อกังขาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง หลักการเผยแผ่ที่ขัดกับหลักศาสนา โดยเฉพาะเรื่องของการทำทาน ที่อ้างหลักว่าบริจาคทานมาก จะได้รับผลบุญมาก

ประเด็นที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดคือ การที่วัดพระธรรมกายเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันสร้างวัตถุมงคล และพระประจำกาย ที่ตั้งเป้าไว้มากถึง 1 ล้านองค์ ที่จะบรรจุในมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งรวมมูลค่าแล้วหลายหมื่นล้านบาท

การจัดระบบการ 'ซื้อ-ขายบุญ' ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าเงินสดหรือการผ่อนชำระ ที่พระพยอม กัลยาโณ เรียกว่า 'ดาวน์บุญ' ชัดเจนยิ่งนัก

หลายกรณีดังกล่าวเมื่อถูกตีแผ่ออกมาแล้ว ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งหมู่สงฆ์และฆราวาส โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ที่พร้อมใจกันเสนอข่าวจนไฟแล่บ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีใครกล้าแตะวัดพระธรรมกาย

ร้อนถึง นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ และดูแลกรมการศาสนา ต้องเดินทางไปตรวจสอบวัดพระธรรมกาย พร้อมกับคณะ ประกอบด้วย นายนิคม มิสิ-กะคามะ อธิบดีกรมศิลปากร, นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา, นายอาทร จันทวิมล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และผู้สื่อข่าวอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

จากข้อมูลหลักฐานและการสอบถามกับพระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทำให้นายอาคม ไม่อาจที่จะตัดสินใจดำเนินการใดๆ ลงไปได้ จึงโยนเรื่องนี้ให้กรมการศาสนา เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการมหาเถรสมาคม อีกทอดหนึ่ง

"รู้ว่าวัดพระธรรมกายตั้งมา 30 ปี คงมีส่วนดีมากกว่าส่วนไม่ดี เพราะถ้ามีส่วนไม่ดีมากกว่า คงไม่มีคนเป็นล้านๆ มาบริจาคเงินเป็นพันล้าน เพื่อให้วัดขยายถึง 2,500 ไร่ มีถาวรวัตถุมากมาย แต่ต้องยอมรับว่าส่วนไม่ดีก็มีคนวิจารณ์กันมาก เป็นสิ่งที่วัดต้องทำความกระจ่าง ทั้งนี้ กรมการศาสนา คงจะไปสั่งให้วัดยุติกิจกรรมก่อนคงไม่ได้ เพราะวัดเป็นนิติบุคคล เวลานี้วัดยังไม่ได้ทำผิดกฎหมาย"

อย่างไรก็ตาม นายอาคม บอกว่าขอเวลาอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้มหาเถรฯ ชี้ขาดว่าวัดพระธรรมกายว่าทำถูกต้องหรือไม่ แล้วถ้าชี้ว่าไม่ถูกต้อง กรมการศาสนาก็ต้องแก้ไข ซึ่งมีหลายวิธี

สำหรับการดำเนินการขั้นต้นนี้ นายอาคมสั่งให้ทางวัดพระธรรมกาย ยุติเรื่องการพูดถึงเรื่องอภินิหารเพราะพิสูจน์ไม่ได้ และเรื่องการโฆษณาให้คนมาทำบุญด้วยการสร้างพระประจำกาย

นายอาคมให้โอกาสเพื่อตรวจสอบวัดอย่างละเอียด โดยฝ่ายที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด ขณะที่ พระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า

"เรื่องนี้ทางมหาเถรสมาคม ก็ลำบากใจมาก เห็นได้จากการที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พูดว่าลำพังตัวเขาเองทำอะไรไม่ได้ใหญ่โตเท่านี้หรอก แต่เป็นเพราะพระเถระชั้นผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ทำให้พระผู้ใหญ่วางตัวลำบาก จะจัดการอย่างไรก็ลำบาก ถ้าไม่จัดการก็คาใจประชาชน จัดการอะไรลงไปก็กระเทือนถึงตัวเอง"

เกือบ 30 ปี ที่ตั้งวัดพระธรรมกายมา ใช่ว่าจะไม่เคยถูกสอบ-ถูกรื้อ ในความไม่ชอบมาพากลต่างๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายถูกจับตามองความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด

ดั่งรายงานการวิจัยของ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เรื่อง 'ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย' ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2541) ซึ่งในบทที่ 5 ว่าด้วยหัวข้อ 'ความสัมพันธ์กับรัฐ' ผู้ทำงานวิจัยได้ทำความเข้าใจกับผู้อ่านถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายและองค์กรต่างๆ ของรัฐไทย

โดยเฉพาะหัวข้อย่อยเรื่อง 'วัดพระธรรมกายกับรัฐ : การนำเสนอภาพลักษณ์ผู้นำการปฏิรูป' นั้น ได้สะท้อนถึงการปรับภาพลักษณ์และปรับรูปองค์กรของวัดพระธรรมกาย ท่ามกลางการตรวจสอบจากสังคมภายนอกอย่างเข้มงวด แต่ชาวญาติธรรมและลูกศิษย์หลวงพ่อสด ก็ยืนโต้กระแสโจมตีอยู่ได้อย่างมั่นคง

เพื่อความกระจ่างในประเด็นดังกล่าว จึงขอคัดลอกงานวิจัยในส่วนนี้มาเผยแพร่ต่ออย่างละเอียดดังต่อไปนี้

..............................

วัดพระธรรมกาย รู้ตัวดีว่าถูกจับจ้องการเคลื่อนไหวจากผู้ใหญ่ในกรมการศาสนา มหาเถรสมาคม รวมทั้งจากสายสืบของสภาความมั่นคง ประเด็นการจับจ้องอาจต่างกันไปบ้าง ขณะที่ฝ่ายกรมการศาสนาและมหาเถรสมาคม สนใจการแสดงออกในเชิงวัตรปฏิบัติของพระ การตีความคำสอน หรือพิธีกรรมที่ไม่เพี้ยนไปมากนักจากจารีต เถรวาท ที่มีการปฏิบัติมาภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐไทย ฝ่ายสภาความมั่นคงสนใจจับจ้อง อย่างระมัดระวังในเรื่องความสามารถพิเศษของวัดในการระดมมวลชนจำนวนมหาศาล เพราะความสามารถดังกล่าว เมื่อมองจากเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงในการควบคุมประชากร เป็นความสามารถที่รัฐมิต้องการให้มีหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ มาเป็นคู่แข่งขันของรัฐ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐต้องการที่จะผูกขาดอำนาจดังกล่าวไว้เสียเอง

ตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งวัดใหม่ๆ ผู้นำวัดก็เลือกที่จะทำตนให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ที่รัฐจะยอมรับได้ โดยเลือกยุทธศาสตร์การปรับตัวแบบจารีต นั่นก็คือ ปรับตัวในระบบอุปถัมภ์ โดยหาการสนับสนุนจากร่มเงาของไม้ใหญ่ที่ทรงพลังในคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง เนื่องจากเป็น วัดมหานิกาย วัดจึงเน้นการผูกสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่สายมหานิกายหลายท่าน ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เช่น สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ซึ่งแสดงความเมตตาต่อวัดพระธรรมกายมาตลอด โดยรับเป็นองค์พระอุปัชฌาย์ให้แก่โครงการบวชพระธรรมทายาท ซึ่งจัดที่วัดเบญจมบพิตรฯทุกๆ ปี

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเจ้าคณะใหญ่หนเหนือองค์ปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นพระอุปัชฌาย์แก่ท่านธัมมชโยมาก่อน ก็เมตตารับเป็นองค์อุปัชฌาย์แก่การบวช 'พระใน' ของวัดพระธรรมกาย

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณกมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิฯ เคยเป็นประธานสงฆ์ในพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดพระธรรมกาย

นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒา-จารย์ (เกี่ยว อุปเสโน) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (กรรมการมหาเถรฯ ฝ่ายธรรม-ยุต) เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม ก็เมตตาต่อวัดพระธรรมกายมาตลอดเช่นกัน วัดพระธรรมกายจะแสดงความนอบน้อมให้เกียรติแก่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ด้วยการนิมนต์ท่านมาเป็นองค์ประธานในพิธีสำคัญของวัด เสนอรายละเอียดประวัติของท่านเหล่านี้ในฐานะปูชนียบุคคล ลงในวารสารกัลยาณมิตรของวัด หรือแสดงมุทิตาสักการะในโอกาสที่ระดับสูงเข้าเยี่ยมคารวะ และจัดพิมพ์ประวัติเชิดชูผลงานของท่านอย่างละเอียด ในหนังสือที่ทำขึ้นอย่างงดงามเป็นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสเฉพาะดังกล่าว

นอกจากความพยายามสร้างพันธมิตรระดับสูง วัดก็ไม่ละเลยพันธมิตรที่อยู่ใกล้ตัว วัดพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องที่จังหวัดปทุมธานี พระภิกษุระดับบริหารในท้องที่ จะได้รับเชิญมาในพิธีสำคัญของวัด และในปี พ.ศ.2535 วัดได้มอบศาลาทรงไทย 1 หลัง มูลค่ากว่าแสนบาท ให้แก่ที่ว่าการอำเภอคลองหลวง สำหรับให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการได้พักผ่อน และปีถัดมา ก็มอบปัจจัย 1 แสนบาท สำหรับสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอคลองหลวงด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพระผู้ใหญ่หลายองค์ให้ความสนับสนุน แต่ก็มีพระที่จับจ้องความเคลื่อนไหวของวัดอย่างไม่ไว้วางใจด้วย เช่น พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความกระตือรือร้นที่จะปกป้องพุทธศาสนาของรัฐ ท่านได้กล่าวถึงวัดพระธรรมกายไว้ว่า

"ถ้าเราจะมองในช่วงยาว อาตมายังมองเห็นว่า ธรรมกายต้องเป็นอีกนิกายหนึ่ง โอกาสที่จะมาบรรจบเข้ากับเถรวาทแบบมหานิกายเดิมนั้น ยาก ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าวิธีการทำงานของเขามีลักษณะที่ลอยตัวห่างออกไปโดยลำดับ แต่ก็ไม่ใช่โฉ่งฉ่างแบบพระโพธิรักษ์ วิธีการของธรรมกายนิ่มนวลกว่า แต่ว่าซึมลึกมากกว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นอันตรายมากกว่าสันติอโศก เพราะธรรมกายมีกำลังพลมากมายมโหฬารทีเดียว"

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ก็เคยโต้แย้งเรื่องการตีความความหมายของพระนิพพานกับสายแนววิชชาธรรมกายดังกล่าวแล้วในบทที่ 4 ในส่วนของกิจกรรมของวัด ท่านแสดงความเป็นห่วงการที่สายวัดพระธรรมกายมุ่งยึดในแนวทางของตน จนเกิดปัญหาขัดแย้งในหมู่ชมรมพุทธของมหาวิทยาลัยต่างๆ

"ถ้าพูดในแง่ศีลธรรม ก็...สอนได้ดี สอนมงคลสูตรสอนเรื่องความดีงาม สุภาพอ่อนน้อม สะอาด เรียบร้อย... เอาจริงเอาจังในหน้าที่การงาน การละเว้นอบายมุข เป็นเรื่องดีทั้งนั้น... แต่จะจำกัดแค่นั้นมันไม่พอ เพราะเรื่องพุทธศาสนา... จะต้องพิจารณาเรื่องตัวทิฐิด้วย... ความแตกต่าง ระดับทิฐินั้น บางทีรุนแรงยิ่งกว่าระดับความประพฤติ สงครามศาสนาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของทิฐิ... เรื่องทิฐิจึงเป็นเรื่องใหญ่... เพราะทิฐิเป็นแก่น เป็นตัวการของกลุ่ม... ศีลธรรมเป็นแค่องค์ประกอบหลัก เรื่องพุทธศาสนาจึงต้องดูที่หลักการ เพราะเรื่องนี้จะเป็นตัวกำหนดในระยะยาว"

วัดตระหนักดีว่าการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญ จึงมุ่งแสวงหาความอุปถัมภ์ตามจารีตโบราณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ในหนังสือที่ระลึกฉลองวาระครบรอบยี่สิบปีของการก่อตั้งวัดนั้น หน้าแรกๆ ของหนังสือเป็นภาพสีแสดงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จฯมาเป็นองค์ประธานในงานพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถของวัดในปี พ.ศ.2520 และมีภาพของสมเด็จพระราชชนนีที่เสด็จมาเททองหล่อพระประธานในปี 2522 ในงานบุญใหม่มาฆบูชาในปี 2537 วัดได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯพร้อมทั้งพระชายา และ โอรส-ธิดา ให้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน นอกจากนั้น พระองค์ยังได้เสด็จในพิธีงานศพของโยมพ่อของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสอีกด้วย

ความร่วมมือกับรัฐก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วัดให้ความสำคัญ เมื่อรัฐบาลจัดงานฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ชันษา ในปี พ.ศ.2530 วัดพระธรรมกายก็จัดโครงการปีคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ เป็นการถวายความจงรักภักดี โครงการนี้ประกอบด้วยกิจกรรมเผยแพร่ธรรมในลักษณะต่างๆ ทั้งหมด 9 โครงการย่อย ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่วัดริเริ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น โครงการ อุปสมบทหมู่ธรรมทายาท การอบรมระยะสั้นแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนโครงการธุดงค์ไปจังหวัดต่างๆ การรวมโครงการต่างๆ เข้ามาภายใต้ชื่อโครงการเฉลิมพระเกียรตินี้ เป็นยุทธวิธีที่น่าสนใจ ด้านโอ-กาสที่วัดจะได้เผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เมื่อคำนึงถึงการที่วัดถูกโจมตีจากสื่อมวลชน การเผยแพร่กิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว จึงเป็นวิธีสร้างการยอมรับในหมู่มหาชนที่ชาญฉลาด

วัดเน้นย้ำถึงความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ด้วยการตีพิมพ์จดหมายทางการ 2 ฉบับไว้ในหนังสือเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ในโอกาสครบรอบยี่สิบปีของการก่อตั้งวัด ฉบับหนึ่งเป็นจดหมายจากสำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจัดงานธุดงค์เฉลิมพระเกียรติ ในงานสัปดาห์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ในวันฉัตรมงคลของปี พ.ศ.2529 อีกฉบับหนึ่งมาจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก ในปี พ.ศ.2530 ขอความร่วมมือจากวัดให้นำสาธุชนไปร่วมนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมที่พุทธมณฑล เนื่องในงานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฉลองงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อผู้วิจัยสอบถามชาววัดบางคนในเรื่องดังกล่าว พบว่าในตอนแรกนั้น วัดตั้งใจจะจัดงานปฏิบัติสมาธิถวายพระพรที่วัด แต่ต่อมาเมื่อได้รับการร้องขอจากกรมกิจการพลเรือน จึงต้องขนมวลชนของวัดไปที่พุทธมณฑลแทน นัยแฝงที่ตีความได้ก็คือ วัดไม่ควรจัดงานใหญ่ซ้อนทับกับงานใหญ่ของรัฐบาล ความสามารถของวัดในการจัดระดมมวลชนและจัดพิธีกรรมขนาดใหญ่ได้โอฬารตระการตา อาจทำให้งานใหญ่ของรัฐดูด้อยลงไป คล้ายกับทำสิ่งที่เกินหน้าเกินตา การร้องขอดังกล่าวจึงมีนัยแฝงของการ 'ปราม' อยู่ในที อีกประการหนึ่ง

ศักยภาพในการระดมจัดตั้งมวลชน คือสิ่งที่ทางทหารสนใจจับจ้องมาตลอด เพราะเกรงจะกระทบกับ 'ความมั่นคง' สิ่งนี้ สะท้อนวิธีคิดที่ว่ากลไกการจัดตั้งมวลชน ควรเป็นสิ่งที่รัฐผูกขาดควบคุม และไม่ต้องการให้มีองค์กรใดมาทำตนเป็นคู่แข่ง จดหมายขอความร่วมมือจึงเป็นสัญลักษณ์ของ 'การผนวกกลืน' คือนำเอาความสามารถในเชิงการจัดการของวัดมารับใช้รัฐ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเตือนทางอ้อมอีกด้วย ส่วนการที่วัดตีพิมพ์จดหมายดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ก็อาจตีความได้ว่าด้านหนึ่งตั้งใจจะแสดงความพร้อมที่จะอยู่ในกรอบที่รัฐขีดไว้ให้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้นการเปิดเผยถึงการ 'ร้องขอ' จากรัฐ ก็ดูเหมือนกับจะแฝงความภาคภูมิใจในศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของตนด้วย

ในช่วงที่วัดเกิดเรื่องพิพาทกับชาวนาเช่าที่ดินนั้น เป็นอีกช่วงหนึ่งที่รัฐบาลมีโอกาสเข้ามาตรวจสอบวัดอย่างเป็นทางการ เมื่อเรื่องลุกลามจนเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับติดต่อกัน รัฐสภาจึงมีมติให้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย เข้ามาตรวจสอบการบริหารงานและกิจกรรมของวัด กระทรวงจึงส่งทีมของเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนามาตรวจเยี่ยมวัด ขณะเดียวกัน นายตำรวจที่เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษของกรมตำรวจ ก็ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่าหน่วยงานนี้ได้จับตามองกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของวัดอย่างใกล้ชิดมาก่อนแล้ว ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของท่านรองเจ้าอาวาส ว่า วัดรู้มานานแล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสายสืบปลอมปนมากับเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่วัดมีเงินฝากอยู่ เพื่อมาตรวจสอบฐานะการเงินของวัด วัดสนองตอบต่อท่าทีเหล่านี้ด้วยการเชิญผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาเยี่ยมชมวัด และใช้สื่อมวลชนของวัดเองอธิบายเรื่องต่างๆ ต่อสาธารณชน ต่อมา กระทรวงมหาดไทยก็ประกาศเป็นทางการว่าวัดมิได้ทำสิ่งใดให้เป็นที่เสื่อมเสียหรือผิดกฎหมาย รวมทั้งกรณีการซื้อที่ดินด้วย

ยุทธศาสตร์การวางท่าทีของวัดพระธรรมกายนั้น จะเห็นว่า แม้ในด้านหนึ่งพยายามคงความเป็นตัวของตัวเอง โดยยึดมั่นแนวปฏิบัติของตนว่าเป็นเอกายนมรรค รวมทั้งยืนยันความจำเป็นที่ต้องประสานกับค่านิยมบางอย่างของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทว่า ในด้านของการวางตนในระบบอำนาจของรัฐไทย วัดพยายามเสนอภาพลักษณ์ของผู้อยู่ในกรอบ (conformist) ทั้งกรอบของกฎหมายและกรอบของประเพณีในระบบอุปถัมภ์ ขณะเดียวกัน ก็เสนอภาพลักษณ์ของผู้นำที่กระตือรือร้นในด้านวิชาการและการสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนา

..............................

ข้อมูลที่ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล นำเสนอในงานวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงวิธีการรุกหาพันธมิตรทุกระบบและทุกระดับ จึงไม่แปลกว่าทำไมวัดพระธรรมกายนี้จะถูกตั้งประเด็นคำถามมากมาย และมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ แต่ก็รอดพ้นมาได้ทุกครั้งไป

รายงานข่าวล่าสุด (วันที่ 30 พ.ย.) ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร มีการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ตามวาระปกติ (อ่านรายละเอียดคณะกรรมการมหาเถรฯ ในล้อมกรอบ) แต่มีการหยิบยกประเด็นวัดพระธรรมกายมาพูดนานถึง 2 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งนายยุทธชัย อุตมา รองอธิบดีกรมการศาสนา ชี้แจงว่า การอภิปรายแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือเรื่องวัดพระธรรมกาย และการสร้างวัตถุมงคลของพระสงฆ์

โดยกรณีของวัดพระธรรมกาย ที่ประชุมมีมติให้มอบหมายให้ พระธรรมโมลี วัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาคที่ 1 รับไปดำเนินการ โดยประสานงานกับกรมการศาสนา ร่วมตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ภายในเวลา 2 อาทิตย์ นับจากวันนี้เป็นต้นไป เมื่อเจ้าคณะภาคที่ 1 ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรแล้ว ให้ยื่นเรื่องเสนอไปยัง พระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดชนะสงคราม ชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งยังกำหนดไม่ได้ว่าจะเป็นวันไหน

ส่วนประเด็นเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติให้รื้อฟื้นการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการขออนุญาตสร้างวัตถุมงคลของพระสงฆ์ให้ชัดเจนและเคร่งครัดกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะการโฆษณาชวนเชื่อเกินเลยความจริง และผิดหลักพระศาสนา

อีกไม่นานคงรู้ผลสอบสวนจากมหาเถรสมาคม ซึ่งหลายคนอาจมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าผลการสอบนั้นจะออกมาเป็นเช่นใด


Last modified: วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2541