เปิดงานวิจัยวัดพระธรรมกาย

ขณะที่การถกเถียงเรื่องวัดพระธรรมกายต่อเนื่องมานานล่วงเข้า 2 ทศวรรษ หากแต่การศึกษากรณีวัดพระธรรมกายอย่างเป็นวิชาการ นับได้ว่าเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีนี้ ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตีพิมพ์งานวิจัยกรณีวัดพระธรรมกาย ของ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ไว้ในวารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2541 หนา 88 หน้า ในชื่องานวิจัยว่า 'ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย' อันเป็นงานวิจัยที่สื่อมวลชนใช้อ้างอิงในการทำความเข้าใจกับกิจกรรมของวัดในห้วงเวลานี้

งานวิจัย เรื่องศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย ประกอบด้วยงานศึกษาทั้งหมด 5 บท และเป็นบทสรุปอีก 1 บท โดยเริ่มจาก บทนำ ที่อธิบายถึง ความเป็นมาของปัญหาที่ตั้งไว้ในงานวิจัยกรอบคิดที่ใช้ในการศึกษา และประเด็นปัญหาที่มุ่งศึกษา ซึ่งได้แก่

1.องค์ประกอบอะไรบ้างของพุทธทัศน์ในแนวจารีตนิยม ถูกเลือกมาขยายความ ตีความ และประสมประสานเข้ากับองค์ประกอบบางอย่างของระบบคุณค่า รสนิยม และแนวคิดของสังคมทุนนิยมบริโภค และตรรกเบื้องหลังการผสมผสานดังกล่าวคืออะไร

2.กระบวนการผสมผสานดังกล่าวนี้ แสดงตัวเป็นรูปธรรมผ่านลักษณะโครงสร้างการจัดองค์กร ความสัมพันธ์ในองค์-กร แนวคำสอน แนวการปฏิบัติ พิธีกรรม ในลักษณะใดบ้าง

3.ในศาสนทัศน์แบบธรรมกาย 'การปฏิรูป' เพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่รอดได้ในสังคม ควรเป็นเช่นใด และบทบาทที่ควรจะเป็นของสงฆ์คืออะไร

4.อัตลักษณ์ของกลุ่มวัดพระธรรมกาย หรือความเข้าใจที่สมาชิกมีต่ออัตลักษณ์ของกลุ่มตน ทำให้กลุ่มมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรต่อมหาเถรสมาคมและรัฐ และปฏิกิริยาด้านกลับที่มีต่อวัดพระธรรมกาย สะท้อนให้เห็นพุทธทัศน์ที่เป็นองค์ประกอบของวาทกรรมทางการเมืองของผู้ปกครองอย่างไรบ้าง

ในบทต่อไป จึงศึกษาวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่ความเป็นมา ลักษณะทางกายภาพของวัด การสร้างภาพผู้นำ พระภิกษุและเจ้าหน้าที่วัด และพัฒนาโครงสร้างการจัดองค์กร ความสัมพันธ์กับสมาชิกฆราวาส ผ่านพิธีทำบุญ ความสัมพันธ์กับชาว-นาในแถบวัด การสร้างองค์กรสมาชิกในหมู่นักศึกษา กลุ่มอาสาสมัครกัลยาณมิตร ธุรกิจในเครือของวัด กระบวนการทำให้ 'บุญ' เป็นสินค้า

ไปจนถึง ความเชื่อ การปฏิบัติธรรม และพิธีกรรม ที่ศึกษาแนวคิดทั้งหมดตั้งแต่เรื่องนิพพาน กายธรรม และการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้แก่ความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์

นอกจากนี้ ในบทสุดท้ายยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ ที่วัดพระ-ธรรมกายมีกับรัฐ และคณะสงฆ์ ทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป การนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้นำการปฏิรูปของวัด และการขยายฐานองค์กรออกสู่นานาชาติ

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ผู้วิจัยได้สรุปปัญหาและความเข้าใจที่มีต่อวัดไว้ในบทสรุปที่ครอบคลุมทุกปริมณฑลของวัด ซึ่งน่าสนใจและควรค่าแก่การนำมาศึกษาต่ออย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของการศึกษาชุมชนเมืองสมัยใหม่ ซึ่งพาให้ผู้อ่านก้าวพ้นไปจากการมองไม่กี่มุม ไม่ว่าจะเรื่องพุทธพาณิชย์ หรือเรื่อง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ดังที่ผู้วิจัยได้สรุปไว้ก่อนจบงานวิจัยว่า

"ไม่ว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ กับแนวทางดังกล่าวก็ตาม การติดตามศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของวัด ก็ยังน่าสนใจ เนื่องจากวัดถือกำเนิดและเติบโตมาจากการตอบสนองความต้องการทางศาสนาในบริบทเมืองสมัยใหม่ วัดพระธรรมกายจึงเป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นความซับซ้อนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของยุคสมัยเรา"

สำหรับ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ จบการศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านสังคมวิทยาจนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศด้วยวิทยานิพนธ์ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสำนักพระธรรมกาย ก่อนจะได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พุทธศาสตร์ฯให้ทำการศึกษาเรื่องนี้ระหว่างปี 2538-2540 ปัจจุบัน ดร.อภิญญา เป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้สนใจหาซื้องานวิจัยชิ้นนี้ได้ที่ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา ชั้น 13 อาคารบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในราคาเพียงเล่มละ 20 บาท


Last modified: วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2541