เดลินิวส์ 9/2/2542

พบหลักฐานชัด"ธัมมชโย"คุมบวชสามเณรีเองกับมือที่เชียงใหม่

พบหลักฐานชัด"ธัมมชโย"คุมบวชสามเณรีเองกับมือที่เชียงใหม่ เรียกชื่อโครงการ"อภิญญา"ทำขึ้นฉลอง
วันเกิดปีที่ 51 รุ่นแรกมี 12 คน อายุต่ำสุดแค่ 12 ขวบ คุมทั้งงานพิธี-ซักถามประวัติลูกหญิงไม่เสียดายเส้น
ผมหรือ ใครเข้ามาห้ามสึกตลอดชีวิตแถมต้องเชื่อฟังแบบไม่มีข้อโต้แย้ง "อาคม"สั่งสอบด่วนงานนี้พระรูปใด
บวชให้มีโทษถึงขั้นจับสึก
ธรรมกายทุ่มสุด-สุด แจกทุน 75 ล้านให้พระ-เณร 5 หมื่นรูปทั่วประเทศ มีข้อแม้ให้
รับวันมาฆบูชา แต่ถูกพระผู้ใหญ่ต้านบอกเข็ดแล้วเคยไปร่วมงานวัดถูกบังคับให้ใส่จีวรของธรรมกาย
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมานายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยว่าตนสั่งการให้กรมการศาสนาตรวจสอบและ
รายงานเรื่องการบวชสามเณรีของวัดพระธรรมกายให้ทราบภายใน 15 วัน เนื่องจากตามหลักพ.ร.บ.คณะสงฆ์หากมีพระอุปัชฌาย์บวชให้กับผู้หญิง
จะถือมีความผิด4 ระดับคือเตือน, ห้ามภิกษุด้วยกันพูดด้วย,ให้ออกจาก
วัดและจับสึก โดยโทษผู้ที่การพิจารณาของคณะสงฆ์ผู้ปกครอง ผู้หญิงจะบวชได้ก็เฉพาะอุบาสิกาเนื่องจากการบวชสามเณรีหรือภิกษุณีต้อง
ให้พระภิกษุณีเป็นผู้บวช แต่ขณะนี้ไม่มีพระภิกษุณีเหลืออยู่ใน
ประเทศไทย
สำหรับประเด็นการตรวจสอบคือพระไชยบูลย์เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชสามเณรีหรือไม่ หากไม่ใช่ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ นอกจากนี้นการที่ผู้ปกครองให้เด็กที่อยู่ในวัยเรียน
ระดับการศึกษาพื้นฐาน 12 ปีมาบวชจนไม่ได้รับการศึกษาจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องการศึกษามีโทษถูกปรับเป็นเงิน 1 พันบาทและจำคุกอีก 6 เดือน
ส่วนเรื่องการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของวัดพระธรรมกายจากการตรวจสอบพบว่าได้เสนอขอพระราชทานเครื่องราช
อิสริยาภรณ์ชั้นประถมดิเรกคุณากรณ์และได้รับพระราชทาน 3 รายได้แก่นายประกอบ จิระกิติ,นางประวาส บุนนาค และ
นางวรรณา เบญจรงคกุล ในปี 2540
โดยกรมศาสนาขอพระราชทานจำนวน 177 ราย แต่ได้รับพระราชทานเพียง 36 ราย
ส่วนปี 2541 เสนอขอ 308 รายและได้รับพระราชทาน 272 ราย
ด้านนายมานพ ผลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมการศาสนากล่าวว่าการบวชสามเณรี
นั้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองประมาณปี 2475 มีเจ้าเมืองนครนายกบวชลูกสาวเป็นสามเณรี 3 คน ปรากฎถูกคณะสงฆ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องสึกทั้งหมด และกรณีวัดพระธรรมกายต้องดูว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เท่าที่ทราบการบวชของวัดพระธรรกมายไม่เคยมีพระอุปัชฌาย์ของวัดเป็นผู้บวชให้ ส่วนใหญ่ผู้ที่บวชจะไปวัดดัง ๆ เช่นวัดราชโอรสก่อนแล้วถึงมาอยู่ที่วัดพระธรรมกาย อดีตที่ผ่านมาเคยมีพระอุปัชฌาย์หลายรูปถูกถอดออกจากตำแหน่งเพราะไม่มีหน้าที่แต่กลับบวชให้ เรื่องนี้อธิบดีกรมการศาสนาต้องเข้าไปดูแลใกลชิดและเสนอให้เจ้าคณะสงฆ์ผู้ปกครองเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง
ขณะเดียวกันจากการสืบค้นของผู้สื่อข่าวพบว่าพระไชยบูลย์เป็นผู้เบื้องหลังและเป็นเจ้าของ
โครงการบวชสามเณรี โดยใช้ชื่อว่า"นักเรียนอภิญญา"เอง โดยในหนังสือกัลยาณมิตรของ
วัดพระธรรมกายฉบับเดือนสิงหาคม 2538 ในคอลัมน์"จากดวงใจลูกที่รักแม่มาก
ที่สุดในโลก" เขียนโดย"น้องนุ่น"นักเรียนอภิญญารุ่นแรก ๆ ได้บรรยายไว้อย่างละเอียดว่าในวันที่ 22 เมษายน 2538 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 51 ของพระไชยบูลย์ได้มีงานโกนผมนักเรียนอภิญญา 7 คนแรกโดยมีหลวงพ่อซึ่งหมายถึงพระไชยบูลย์ให้ไปพูดให้โอวาทแก่นักเรียนอภิญญา
และพ่อ-แม่ที่ไปร่วมงานด้วย
หลังจากนั้นได้มีคนที่น้องนุ่นรู้อีกหลายคนทยอยบวช และในที่สุดนัองนุ่นก็ไปขอพระไชยบูลย์
เป็นนักเรียนอภิญญาเช่นกัน ซึ่งพระไชยบูลย์ถามว่าแน่ใจหรือเปล่า เพราะน้องนุ่นจะต้องเตี้ยลงไปอีก เพราะจะต้องโกนผม และไม่เสียดายอนาคตทางโลก
ที่อยากเป็นดอกเตอร์แล้วหรือ รวมถึงมีการทดสอบน้องนุ่นหลายประการ
สุดท้ายได้มีการบวชโกนผมน้องนุ่นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2538 ที่สำนักปฏิบัติธรรมพนาวัฒน์ จ.เชียงใหม่ โดยก่อนการโกนผมน้องนุ่นบรรยายว่าพระไชยบูลย์ถามอีกครั้ง
ว่าคิดว่าจะอยู่ได้ไหม ซึ่งน้องนุ่นกล่าวว่าไม่เป็นไร พอถามเสร็จก็เริ่ม
พิธีในตอน 17.00น.และใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ
หลังจากเสร็จพิธีนักเรียนอภิญญาทั้งหมดถูกส่งไปอยู่บนดอยสุเทพ
สำหรับเด็กผู้หญิงที่อยู่ในโครงการนักเรียนอภิญญารุ่นแรกมี 12 คน โดยอายุต่ำสุดที่ร่วมโครงการคือ 12 ปี และทั้งหมดเป็นลูกสาวของสานุศิษย์พระไชยบูลย์ทั้งสิ้น การบวชอภิญญานี้ ต้องบวชตลอดชีวิต และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเทา ทุกคนจะกลายเป็นลูกพระไชยบูลย์ต้องเชื่อฟังอย่างที่ไม่มีข้อแม้ ข้ออ้างและไม่มีข้อโต้แย้ง
ส่วนนายบุรี แก้วเล็ก ผู้อำนวยการกองศาสนศึกษา กรมการศาสนา เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าวัดพระธรรมกายจะให้
ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่เรียนอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศประมาณ 5 หมื่นทุนว่าจากการสอบถาม
พระครูสุวรรณวชิรธรรม เจ้าอาวาสวัดสกุณปักษี จ.สุพรรณบุรีในฐานะประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม
แผนกสามัญศึกษากลุ่มที่ 5 ได้ความว่าเรื่องดังกล่าวพระครูสุวรรณวชิรธรรมเป็นผู้ปรารภกับพระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเมื่อปลายเดือนมกราคม 2542ว่าวัดพระธรรมกายแจกทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนไป
แล้วก็น่าจะแจกทุนให้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนทุนการศึกษา
เรื่องดังกล่าวพระไชยบูลย์ให้ความสนใจและถามถึงจำนวนพระภิกษุสามเณรว่ามีเท่าใด และเมื่อทราบว่ามีอยู่ 73,000 รูป จึงแจ้งกลับมาว่าให้ทุนได้ประมาณ 50,000 รูป และให้รูปละ 1,000 บาท พร้อมค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับทุนอีก 500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75 ล้านบาท
เท่าที่ทราบนายบุรีกล่าวว่าพระไชยบูลย์จะให้ทุนเนื่องในโอกาสตรงกับวันเกิด แต่จะนัดให้มารับในพิธีวันมาฆบูชาในวันที่ 1 มี.ค. และเรื่องดังกล่าวสอบถามไปยังประธานกลุ่มโรงเรียพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษากลุ่มอื่น ๆ ด้วย เสียงของผู้ที่เห็นด้วยกับการรับทุนและผู้ที่ไม่เห็นด้วยยังใกล้เคียงกัน จึงไม่ทราบชัดเจนว่าจะมีผู้ไปรับทุนจำนวนเท่าใด แต่ต้องรอให้ประธานกลุ่มทั้ง 14 กลุ่มหารือกันก่อน คาดว่าจะรู้ผลในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตามพระบางรูปอาทิพระครูธรรมศาสนโฆสิต เจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม จ.อยุธยา ประธานกลุ่ม 6 ยืนยันว่ากลุ่ม 6 ไม่ไปรับทุนแน่นอน เพราะเคยพาภิกษุสามเณรไปร่วม
กิจกรรมกับวัดพระธรรมกายแล้วถูกบังคับให้เปลี่ยนจีวรเป็นสีของวัดพระธรรมกาย แถมต้องรอทั้งวันพระครูธรรมศาสนโฆสิตจึงบอกว่าเข็ดแล้ว
นายบุรียังนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับนายอาคมและอธิบดีกรมการศาสนาซึ่งนายอาคมกล่าวว่าการให้ทุนเป็นสิ่งดี แต่ไม่จำเป็นต้องให้พระเณร 5 หมื่นรูปเดินทางไปด้วยตัวเอง น่าจะให้ตัวแทนไปรับก็ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับวันมาฆบูชาที่ 1 มี.ค.นี้ วัดพระธรรมกายถือเป็นงานใหญ่และต้องการระดมคนมา
ให้มากที่สุดเพื่อให้เห็นว่ายังมีคนศรัทธาในวัดมากนับตั้งแต่การที่วัดเคยออกประกาศจะแจกพระมหาสิริราชธาตุ
รุ่นพิชิตมารให้กับผู้ที่มาร่วมงานบวชอุบาสกแก้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค. แต่ปรากฎว่าในงานกลับไม่ได้
แจกตามที่อ้าง และให้คูปองรับพระแทน โดยในคูปองบอกให้มารับพระได้ในวันที่ 1 มี.ค.
นอกจากนั้นยังมีการประโคมโหมข่าวว่าในวันดังกล่าวจะปิดพระมหาธรรมกายเจดีย์แล้วโดยใครที่ยังไม่ได้ทำบุญสร้างพระ
ประจำตัวก็ให้รีบทำไม่เช่นนั้นจะหมดสิทธิ์