เดลินิวส์ 6/2/2542

ศธ.เสนอขุดรากรื้อธรรมกาย
เปิดข้อมูล"ลับ"ปัญหาธรรมกาย กระทรวงศึกษาฯ เสนอรื้อแบบขุดราก ไล่ตั้งแต่การอวดอ้างปาฏิหาริย์ผิดสูงสุดถึงขั้นปาราชิก รูปแบบพระพุทธใส่เสื้อยืดไม่เคยพบเคยเห็น ส่วนการแจกพระของขวัญสร้างมหาธรรมกายเจดีย์เป็นการใช้ระบบธุรกิจผ่อนส่งให้รางวัลล่อใจ ไม่ใช่ทำบุญแบบพุทธ พบที่ดินมีนับหลายพันไร่เป็นของวัดแค่ 196 ไร่ ที่เหลือไม่ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ สุดท้ายสอนนิพพานเป็นอัตตาขัดหลักศาสนา ให้พระพรหมโลมีชี้ขาด
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นายประสิทธิ์ ชูช่วย ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่าตนไม่ทราบว่าวัดพระธรรมกายเคยทำเรื่องเสนอเครื่องราชฯสำหรับผู้ที่บริจาคเงินให้กับวัดหรือไม่ ต้องรอถามนายประทีป หงษ์โสภา ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานีที่ขณะนี้ไม่อยู่ไปธุรกิจที่ อ.ชะอำ จ.ประ จวบคีรีขันธ์ ตนเคยพบนายวีรศักดิ์ ฮาดดา เจ้า หน้าที่ประสานงานของทางวัดพระธรรมกายมาพบนายประทีปแต่ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร
ส่วน ร.ต.ท.เสวต กาสุริยะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานีและกรรมการเลขาฯ ในการประชุมเพื่อขอเครื่องราชฯ กล่าวว่าจังหวัดไม่เคยได้รับการร้องขอหรือรับเรื่องจากวัดพระ ธรรมกายในการขอเครื่องราชฯ
ที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ มีการประชุม มหาเถรสมาคม โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังไม่มีการพิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกาย เนื่องจากพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 เพิ่งได้รับเอกสารจากคณะทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มหาเถรฯยืนยันให้อำนาจพระพรหมโมลี
ในการตัดสินปัญหา
รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผย "เดลินิวส์" ว่าผลการศึกษาปัญหาวัดพระธรรมกายของนายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่เสนอไปยังพระพรหมโมลีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่าสมบูรณ์เพราะได้มีการเสนอข้อมูลโดยตั้งเป็นประเด็นปัญหา 8 ประเด็น จากนั้นมีข้อมูลทางวิชาการที่อธิบายความถูกผิดของปัญหานั้น และมีข้อมูลจากคำชี้แจงของวัดพระธรรมกาย สุดท้ายเป็นความเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งสามารถนำไปใช้พิจารณาได้ทันที ซึ่งถ้ามีการนำข้อมูลไปใช้จะทำให้วัดพระธรรมกายต้องปรับปรุงขนานใหญ่นับตั้งแต่คำสอน การสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ การสร้างพระพุทธรูป ฯลฯ
สำหรับข้อเสนอของกระทรวงศึกษาการประกอบด้วย
1.ในเรื่องคำสอนที่ว่านิพพานเป็นอัตตา หรือเที่ยง มีตัวตน ของวัดพระธรรมกายข้อมูลทางวิชาการคือนิพพานเป็นอนัตตาหรือไม่ใช่ตัวตน ซึ่งคำชี้แจงของวัดคือนิพพานเป็นอัตตาคือเป็นสถานที่มีอยู่จริงเรียกว่า
อายตนนิพพาน
ความเห็นของคณะกรรมการคือพระพุทธศาสนาของไทยเป็นแบบเถรวาทและใช้คำสอนใน
พระไตรปิฎกเป็นหลัก นิพพานจึงเป็นอนัตตาหรือไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาวธรรมที่ต้อง
เข้าถึงด้วยใจไม่ใช่ด้วยกาย
2.เรื่องการขายปาฏิหาริย์ มี 2 เรื่องสำคัญคือที่วัดได้เผยแพร่เรื่องปรากฏการณ์อัศจรรย์ตะวันแก้ว ที่ระบุว่ามองเห็นรูปหลวงพ่อสดบนฟ้า และสามารถมองทะลุแสงอาทิตย์ได้ และการออกหนังสืออานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ เล่าตัวอย่างของคนที่ทำบุญสร้างพระธรรมกายประจำตัวและได้พระมหาสิริราชธาตุเป็นพระของขวัญ หลังจากนั้นจะได้ผลบุญแบบต่าง ๆ เช่นหลุดหนี้ได้ทันที ดูดทรัพย์ได้จริง มีผีขอให้สร้างพระ
ความเห็นของคณะกรรมการคือในเรื่องปาฏิหาริย์พระพุทธเจ้าให้สาวกแสดงเฉพาะเรื่องการ
สอนหลักธรรมให้เป็นอัศจรรย์ และไม่อนุญาตให้แสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้านอื่น เพราะล่อแหลมทำให้หลงผิด เป็นช่องทางหลอกลวงของมิจฉาชีพ นอกจากนั้นอาจทำให้ผู้อวดอ้างปาฏิหาริย์ผิดใน เรื่องอุตริมนุษย์ธรรมถ้าทำไม่ได้จริง ซึ่งเป็นอวดอ้างในธรรมถ้าที่ไม่มีในตัวเอง โดยพระรูปใดที่มีความผิดเรื่องนี้จะถึงขั้น
"ปาราชิก" คือขาดจากการเป็นพระสงฆ์
3.การระดมทุน โดยมีเรื่องการสร้างพระธรรมกายประจำตัว 1 ล้านองค์ โดยจะตั้งไว้ภายนอกเจดีย์ 3 หมื่นองค์ ราคาองค์ละ 1 หมื่นบาท และในเจดีย์ 7 หมื่นองค์ ราคาองค์ละ 3 หมื่นบาท, การใช้ระบบขายตรงมาดำเนินการระดมบุญ, การจัดทอดผ้าป่าบ่อยครั้งทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน, การมอบพระของขวัญให้กับผู้บริจาคหรือชักชวนให้คนอื่นมาสร้างพระของขวัญ โดยถ้าหาคนมาสร้างพระได้มากเท่าใดก็จะได้รับพระตามระดับที่ทำได้ เช่น สร้างพระประจำกายได้ 10 องค์ได้พระคะแนนสุดสุด, สร้าง 20 องค์ ได้พระคะแนนสุดฤทธิ์ จนถึงสร้างพระ 100 องค์ ได้พระคะแนนสุดเดช และเรื่องการบริจาคสร้างพระทองคำหลวงพ่อสด
คณะกรรมการเห็นตามข้อมูลทางวิชาการจากพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐว่าการบริจาคทานจะ
ต้องเพื่อกำจัดความตระหนี่, บริจาคเพื่อบูชาคุณ, บริจาคเพื่อสงเคราะห์ โดยไม่ใช่การบริจาคเพื่อหวังผลตอบแทน เช่น รางวัล อามิสสินจ้างและผู้บริจาคต้องเป็นผู้ฉลาด มีเจตนาบริสุทธิ์ไม่หวังผล
4. การครอบครองที่ดินของวัด และเจ้า อาวาส โดยที่ดินของวัดพระธรรมกายมี 196 ไร่ ของมูลนิธิธรรมกายมี 2,300 ไร่ และที่ดินเป็นชื่อเจ้าอาวาสหลายแห่ง เช่น ที่เชียงใหม่และพิจิตรสำหรับความเห็น
ของคณะกรรมการคือที่ดินควรเป็นชื่อวัดหากเป็นชื่อมูลนิธิหรือชื่อเจ้าอาวาสไม่ถือว่าเป็นที่ดิน
ของวัด เนื่องจากวัดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว
5.การรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของวัด โดยบัญชีของวัดมี 2 ประเภท ได้แก่ บัญชีของวัดพระธรรมกายและบัญชีของมูลนิธิธรรมกายที่วัดไม่ยอมเปิดเผยให้คณะกรรมการ
รับทราบ แต่ยอมให้คณะสงฆ์ไปตรวจสอบได้ โดยความเห็นของคณะกรรมการก็คือวัดต้อง
ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ตรวจสอบบัญชีสามารถตรวจสอบได้
6.การสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ โดยใช้งบประมาณประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยคำ ชี้แจงวัดคือทำเพื่อเป็นสมบัติของประเทศและชาวพุทธทั่วโลก การสร้างไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐเลย เพราะได้จากการบริจาคของสาธุชน และจะเร่งสร้างให้เสร็จปี 2543 เพื่อสนองคุณแม่ชีจันทร์ ขนนกยูงที่ชรามากแล้ว
ความเห็นของคณะกรรมการคือการสร้างถาวรวัตถุต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและการใช้สอย แม้จะได้มาจากแรงศรัทธาของประชาชนก็ต้องได้จากศรัทธาอย่างแท้จริง จะบริจาคมากหรือน้อยก็ควรให้เสร็จสิ้นเป็นคราว ๆ ไปไม่ควรผูกมัดในลักษณะการผ่อนส่ง ซึ่งทำให้เกิดความเดือด ร้อนแก่ครอบครัวผู้ทำบุญ
7.ปัญหาเกี่ยวกับวัดมีส่วนพัวพันกับการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งจากคำชี้แจงของวัดคือเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทต่าง ๆ ที่มีการอ้างถึงในหน้าหนังสือพิมพ์และจากการตรวจสอบของกรมทะเบียนการค้า ความเห็นของคณะกรรมการคือเรื่องดังกล่าวยังไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่วัดมีหน้าที่ 6 ประการคือส่งเสริมการศึกษาของภิกษุสามเณร, การดูแลปกครองวัดให้เรียบร้อย,การเผยแผ่ศาสนา,การจัดเกี่ยว
กับสาธารณูปการ, การส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์และการช่วยเหลือสาธารณสงเคราะห์
8.การสร้างพระพุทธรูปของวัดที่เป็นรูปแบบของ "พระธรรมกาย" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ครองจีวรมีลักษณะแบบเนื้อเห็นรอยจีวรที่รอบพระศอ (รอบคอ) และที่รอบข้อพระหัตถ์(รอบมือ) ซึ่งมองดูเผิน ๆ คล้ายสวมเสื้อยืดคอ กลมแขนยาว วัดชี้แจงว่าการออกแบบเช่นนี้เพื่อให้เห็นลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ จีวรที่คล้ายของวัดมีในพระพุทธรูปสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 และในพุทธศตวรรษที่ 11 ที่อยู่ในศรีลังกาและอินโดนีเซีย
ความเห็นของคณะกรรมการซึ่งได้จากข้อมูลทางวิชาการคือการสร้างพระพุทธรูปควร
อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และควรคำนึงถึงพุทธศิลป์ และลักษณะพุทธมหาปุริส 32 ประการ โดยพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่พบในปัจจุบันมีประมาณ 72 ปาง แต่ไม่ปรากฏปางที่วัดพระธรรมกาย
จัดสร้างขึ้น
ทางด้านพระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาเรื่องนิพพานเป็นอัตตาของวัดพระธรรมกายได้ข้อยุติชัดแล้ว โดยพระมหาเถระต่างเห็นว่าเป็นคำสอนผิด เพราะนิพพานเป็นอนัตตา ส่วนเรื่องอื่น ๆ ต้องพิจารณาอีกครั้ง.