เดลินิวส์ 4/12/2541

เปิดม่านนิกายขายบุญ
MLM ทางตรงไปสวรรค์

บนเนื้อที่ 2,000 ไร่เศษ บริเวณ ต.คลอง สอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ลึกเข้าไปประมาณ 1 กม. จากถนนวิภาวดีรังสิต เป็นที่ตั้งของอารามแห่งหนึ่งนามว่า "วัดพระธรรมกาย" และหากเอ่ยถึง การทำการตลาด กลยุทธ์ ขายบุญ บริจาคทรัพย์สร้างกุศล เพื่อเปิด "ทางไปสู่สวรรค์" แล้วละก็ ชื่อเสียงของวัดพระธรรมกาย ก็นับว่าติดอันดับท็อปเทนทีเดียว
วัดแห่งนี้เปิดบริการให้พุทธศาสนิกชน ผู้ต้องการปลดแอกความทุกข์สารพัดเรื่อง เข้ามาทำพิธีปวารณาตัวเป็นผู้นำบุญในหลากหลายรูปแบบ รับหน้าที่ขายบุญ ขายกุศลให้ญาติสนิทมิตรสหาย คนในครอบครัว ได้แบ่งปันผลบุญกันถ้วนหน้า ซึ่งมีทั้งระบบซื้อสด ได้ขึ้นสวรรค์ทันตาเห็น และถ้าญาติโยมไม่มีเงินทางวัด ก็มีระบบดาวน์บุญ จ่ายเงินผ่อนส่งกันเป็นงวด ๆ จะต่างกับระบบผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ก็เพียงเงื่อนไข การยึดกรณีญาติโยมขาดส่งเงินบุญแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์ขึ้นสวรรค์ได้ง่าย ๆ เช่นกัน
สำหรับเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ชักชวนผู้คนแทบทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ตำรวจ ทหาร ข้าราชการใหญ่น้อย นักธุรกิจ พ่อค้า แม่ขาย เมียหลวงเมียน้อย เรื่อยไป จนกระทั่งใคร ๆ ก็ตาม ทางวัดพระธรรมกาย มีแม่เหล็กดึงคนเข้าวัดมาจ่ายเงินเพื่อดาวน์บุญ ด้วยการขายศรัทธา ความเชื่อและอภินิหาร ที่มีอยู่ในตัวของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยใช้ "วิชชาธรรมกาย" ที่หลวงพ่อสดเป็นผู้ค้นพบเป็น "สินค้า" แล้วใช้ชื่อของ "หลวงพ่อสด" เป็นพรีเซ็นเตอร์ทำโปรโมชั่นในทุกรูปแบบ
เงินที่ได้จากการขายบุญญาติโยมดังกล่าวนี้ วัดพระธรรมกาย มีพุทธโปรเจก ก่อสร้างวัตถุถาวร สายใยแห่งบุญ รองรับไว้ชัดเจนยิ่ง 1. หล่อรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ) มูลค่า 300 ล้านบาท 2. จัดสร้างธรรมกายเจดีย์ เจ้าภาพเสาเข็ม 3,333 ต้น ๆ ละ 1 แสนบาท สร้างพระธรรมกายประจำตัว 1 ล้านองค์ ๆ ละ 1 หมื่นบาท รวมมูลค่าโครงการ 10,333 ล้านบาท 3. สร้างพระวิหารประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อสด 1,150 ล้านบาท และ 4. ก่อสร้างอาคารที่พักสงฆ์ 72 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 11,855 ล้านบาท...!!!
เมื่อวัดมีพุทธโปรเจก ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอย่างนี้ ทางวัดก็ต้องคิดโครงการ "หาเงิน" เข้าวัดรองรับไว้ไม่ต่ำกว่า 20 โครงการ เริ่มจากโครงการธรรมทายาทอุปสมบทหมู่เรื่อยไป จนถึงโครงการล่าสุดบวชอุบาสกแก้ว ตั้งเป้ารับสมาชิกจำนวน 100,000 คน เฉพาะผู้สมัครจ่ายรายละ 100 บาทขึ้นไป ส่วนญาติโยมผู้สมัครเป็นเจ้าภาพจ่ายรายละ 1,000 บาทขึ้นไป ทุกกิจกรรมมีการจัดตั้งกองทุนบริจาคไว้ทั้งสิ้น
แต่หากพึ่งเฉพาะเงินบริจาค และรายได้จากกองทุนข้างต้น ต้องอาศัยเวลาไม่น้อยในการรวบรวมเงินทอง แต่แผนการก่อสร้างทุกโครงการกำหนดระยะเวลาแล้ว เสร็จระหว่างปี 2540 อย่างช้าไม่เกินปี 2542 ไว้ทั้งสิ้น เฉพาะโครงการพิเศษจัดสร้างธรรมกายเจดีย์ มีมูลค่าการลงทุนอยู่ในระดับหมื่นกว่าล้านบาทแล้ว
"วิธีหาทุนเรากำหนดลงไปเลย เราสร้างพระพุทธรูป พระพุทธรูปองค์หนึ่งราคา 1,000 บาท เราบอกเขาว่า พระพุทธที่ประดิษฐานที่เจดีย์นี้ เราขอองค์ละ 10,000 บาท นี่ไม่ใช่ค้ากำไรเกินควร แล้วเอาที่เหลือมาสร้างองค์เจดีย์ แล้วพระเหล่านี้ ก็เอาไว้ที่เจดีย์ ถ้าให้เอาไปไว้บ้านจะกลายเป็นบ้านใครบ้านมัน เดี๋ยวเจดีย์ไม่ขลัง ไม่ศักดิ์ศิทธิ์ ถ้าไว้ที่นี่อย่างน้อยคนที่เป็นเจ้าของต้องมากราบมาบูชา วงศ์ตระกูลต้องมากราบที่นี่ ถ้าวงศ์ตระกูลยังมากราบวัด หลวงพ่อไม่ล่มจมหรอก เพราะวงศ์ตระกูล ยังต้องบำรุงธรรมกายเจดีย์นี้อยู่" หลวงพ่อภาวนาทัตตชีโวภิกขุ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อปี 2539 ในช่วงที่กำลังเริ่มบูมโครงการธรรมกายเจดีย์
ด้วยวิธีการอย่างนี้ ศ.ประเวศ วะสี "จึงวิเคราะห์แนวทางการจัดการธุรกิจ "บุญ" ของวัดพระธรรมกายไว้ว่า มีสภาพไม่ต่างจากบริษัททั่วไป ที่มีประธานกรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการ คอยควบคุมกำกับดูแลดำเนินงานมีสินค้าคือ บุญ มีกลวิธีการดึงเงินจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายผ่าน การบริจาค เพื่อสร้างบุญบารมี ซึ่งวิธีการในขั้นตอนนี้ พระอาจารย์ พยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว และ ส.ศิวลักษณ์ ระบุว่า วัดพระธรรมกายใช้ระบบ "ธุรกิจขายตรง" หรือระบบการตลาดหลายชั้นที่เรียกว่า MLM (Multi Level Marketing) โดยจัดสร้างทีมงาน "ขายบุญ" เรียกชื่อรวม ๆ ว่า กัลยาณมิตร ซึ่งทางวัดพระธรรมกายจะแต่งตั้งให้เป็น "ผู้นำบุญ" โดยทางวัดจัดวางโครงสร้างของกัลยาณมิตร หรือผู้นำบุญ ให้ทำหน้าที่เป็น เซลส์แมน หรือตัวแทนในการแผยแพร่คำสอน ของวัดพระธรรมกาย มีหน้าที่หลัก ๆ อยู่ 2 อย่างคือ 1.) หาสมาชิกใหม่ 2.) หาเงินเข้าวัด 3.) เผยแพร่วัดพระธรรมกาย ผู้นำบุญหรือเซลส์แมนเหล่านี้มีทั้งหมด 10 ทีมประกอบด้วย 1. ทีมแก้วกัลยาณมิตร 2. ทีมแก้วภูธร 3. ทีมแก้วกายธรรมอาสาฯ 4. ทีมแก้วประสานใจ 5. ทีมแก้วขุนพล 6. ทีมแก้วเต็มคลัง 7. ทีมแก้วสัมพันธ์ 8. ทีมแก้วจักรพรรดิ 9. ทีมแก้วดอยธรรม 10. ทีมแก้วธรรมกาย แต่ละทีมยังจัดแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ แตกสาขาออกไปอย่างไม่จำกัดจำนวน
มีข้อมูลจากหนังสือวารสารคุณธรรม กัลยาณมิตร ฉบับที่ 145 ปี 2541 ระบุว่าขณะนี้วัดพระ ธรรมกายมีกัลยาณมิตรกระ จายอยู่ทั่วประเทศมากถึง 1,350,000 คน
ขั้นตอนการขายทางวัดจะแนะนำว่า ให้ชักจูงคนรอบตัวเช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก เมีย เข้ามาร่วมเป็นผู้นำบุญก่อน จากนั้นให้แต่ละคนแตกสมาชิกเพิ่มเป็น 1 ต่อ 7 คน แล้วขยายจำนวนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สำหรับกลยุทธ์ขาย บุญแบบแชร์ลูกโซ่นี้ วัดพระ ธรรมกาย จัดทำโปรโมชั่นทำนองว่า หากใครได้บริจาคเงินสร้างพระธรรมกายประจำตัว เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน อีกทั้งบุญกุศลอันเกิดจากผลบุญในครั้งนี้ จะดลบันดาลให้คนที่ยากจนร่ำรวยในพริบตา คนตกงานก็จะได้งานทำ มีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ ตบท้ายด้วยอภินิหารช่วยรักษาโรคร้ายที่หมอรักษาไม่หายได้ในพริบตา
จากข้อมูลการสัมภาษณ์ สมาชิกผู้นำบุญทีมแก้วธรรมกาย นางนพรัตน์ พันธุ์เพ็ชร อาชีพรับจ้าง เล่าว่า เข้าวัดครั้งแรกเมื่อปี 2538 เริ่มต้นจากเงิน 2 บาท ช่วงแรก ๆ ก็มีอุปสรรคมาก เพราะสามีไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่ท้อและไม่หยุด เพราะต่อมาเธอสะสมบุญเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างพระธรรมกายประจำตัวองค์ละ 10,000 บาท แต่ไม่มีเงิน ก็ใช้วิธีผ่อนส่งสะสมบุญเดือนละ 1,000 บาท สามีทราบข่าวโกรธมาก ต่อว่า "คนแถวนี้เขาทำบุญคราวละ 5 บาท 10 บาทเท่านั้น ทำไมมึงจะทำตั้งหมื่นบาท กูไม่เคยเจอมึงจะบ้าไปถึงไหน"
เมื่อสามีไม่ให้เงิน เธอบอกว่า ใช้วิธีเอาสร้อยคอไปจำนำได้เงินมา 10,300 บาท และทำมาเรื่อย ๆ ล่าสุดบริจาคร่วมสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ไปอีก 200,000 บาท และมีเป้าหมายว่า จะบอกบุญหาเงินบริจาคให้มากที่สุด 10 ล้านบาท นางนพรัตน์ บอกว่า เหตุที่บ้าทำบุญ เพราะชาตินี้เกิดมาลำบากเหลือเกิน จึงอยากทำบุญสะสมไว้ในชาตินี้เยอะ ๆ เกิดในชาติหน้าจะได้สบายกับเขาบ้าง
ชาวพุทธเชื่อว่า การได้สละทรัพย์สินและปัจจัยแก่ผู้อื่นบ้าง จะส่งผลให้ผู้ทำมีความสุขสบายใจ ได้รับอานิสงส์ผลบุญด้วยเหตุนี้ วัดและศาสนา จึงได้เข้ามารับหน้าที่นี้อย่างเต็มรูปแบบ ในรูปของการทำบุญประเภทต่าง ๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงรูปแบบภายนอก ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น เพราะศาสนาพุทธที่แท้เป็นศาสนาของ ผู้ถึงด้วยเหตุผลและปัญญา ศาสนาพุทธสอนความจริงอันเด็ดขาด ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ในโลกนี้คือ ให้รู้เหตุของทุกข์และหนทางแห่งการดับทุกข์นั้น
แล้วธรรมกายล่ะ
ทำอะไรอยู่..!!


LE FastCounter