เดลินิวส์ 31/12/2541

กรมศาสนาชี้ธรรมกายขายบุญ

กรมศาสนาฟันธงแล้วการสอนธรรมกายเป็นอันตรายต่อศาสนาเน้นขายบุญ แข่งสร้างวัตถุ ขณะเดียวกันพระพุทธรูปก็แปลกแหวกแนวอ้างทำสมาธิแล้วเห็น จะทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จบ
ซ้ำร้ายยังสอน
นิพพานเป็นอัตตา มีตัวตน ฉีกคำสอนในพระไตรปิฎกป่นปี้ ตำรวจบางเขนเตรียมจับใหญ่พวกว่าจ้างบวชชีที่วัดธรรมกาย หากพบพฤติกรรมผิดกฎหมาย ยืนยันส่งสายตรวจลงพื้นที่พบพฤติกรรมนี้จริงจ้างชาวบ้าน 2 ร้อย คนยึดบัตร-ทะเบียนบ้านไปด้วย
ถ้าบวชที่เชียงใหม่ได้แสน อยู่ปทุมธานีได้ 4 หมื่น
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ ปานสาคร ผกก.สน.บางเขน ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสข่าววัดพระธรรม
กายเกณฑ์คนไปบวชชีว่า เรื่องดังกล่าวตำรวจสืบสวนแล้วพบว่าเป็นเรื่องจริง โดยมีการติดต่อประชาชนในชุมชนร่วมใจสามัคคี โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิงให้ไปบวชชีที่วัดพระธรรมกายเป็นเวลา 3 เดือน
ถ้าไปที่เชียงใหม่จะได้ 1 แสนบาท แต่ถ้าอยู่ที่วัดพระธรรมกายปทุมธานีได้ 4 หมื่นบาท โดยคนรับจ้างส่วนใหญ่เป็น
หญิงอายุ 40-60 ปี
การสอบสวนนี้ ได้สั่งการให้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล ซึ่งพบว่ามีการนำบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านของผู้ที่รับจ้างบวชไปเก็บไว้และต้องรอวันที่ 5 มกราคมนี้อีกครั้งเพราะตามกระแสข่าวระบุว่าจะมาทำสัญญา
บวชกันบนโรงพัก และมีข่าวว่าตำรวจจะเป็นคนกลาง
แต่พ.ต.อ.ขจรศักดิ์กล่าวว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ตำรวจจะเป็นคน
กลางนั้นจริงหรือไม่ และเมื่อถึงกำหนดจริงอาจไม่มากันหรือไม่ เพราะข่าวปูดออกมาก่อน
"เป็นเรื่องอันตรายมากที่มีการนำบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของคนที่จะบวชชีไปเก็บไว้
เพราะไม่รู้เอาไปทำอะไรแน่ และเราจะดำเนินการถ้าพบการทำผิดกฎหมาย"
ขณะเดียวกันท่ามกลางปัญหาวัดพระธรรมกายที่ยังอึมครึม ก็ได้มีพระหลายรูปที่เคยมีส่วนเกี่ยวพันกับวัดออกมาเปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของวัดมากมาย
ล่าสุดพระครูสังฆรักษ์(ชาคริสต์ อาภากโร) ปัจจุบันอยู่วัดอินทารามซึ่งเป็นพระที่บวชรุ่นเดียวกับพระไชยบูลย์ ธัมมฺชโย
เจ้าอาวาสพระธรรมกาย ก็ให้สัมภาษณ์ว่าพระไชยบูลย์เคยชวนไปวัดพระธรรมกายนานแล้ว
แต่นับแต่นั้นมาก็ไม่ไปเหยียบอีกเลย ไม่ไปข้องแวะ ไม่มีการติดต่อ ไม่ถามถึงหรืออะไรกันอีก
แม้แต่ข่าวเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายก็ไม่เคยอ่าน อาจเป็นเพราะแนวความคิดต่างกัน-ขัดแย้งกัน คิดไปคนละทาง
"เจตนาทั้งหลายอาจจะแปลเปลี่ยนไปเพราะว่าสมัยพุทธกาล พระท่านจะไม่มีหน้าที่ที่สร้างวัด แต่ทายกจะเป็นผู้สร้างและยกให้อย่างในสมัยพระไตรปิฏกก็มีเศรษฐีอยู่หลายคนที่สร้างวัดแล้วยก
ให้พระพุทธเจ้า เช่น วัดเวรุวัฬ วัดบุพผาราม วัดเชตวัน เมื่อยกให้แล้วพระก็ต้องมาดูแลรักษา
ต้องมาจัดเวรทําความสะอาด และสำหรับวัดนั้นหากการหาเงินมันอยู่ในขอบข่ายก็ดี
แต่ถ้าอยู่นอกขอบข่ายมันก็อันตรายต้องถวายด้วยศรัทธา
ด้วยความเต็มใจ ไม่ได้บังคับ หรือการซื้อบุญ"
พระชาคริสต์ยังกล่าวอีกว่าสำหรับการเงินทําบุญที่พระรับเงินบริจาคมาแล้วเอาไปทําอย่างอื่นไม่ตรงตามจุดประสงค์
ถือว่าผิด อย่างเช่นไปซื้อที่ดินแล้วเป็นชื่อของเจ้าอาวาส เป็นชื่อพระ เพราะต้องเป็นชื่อวัดถ้าเงินบริจาคให้วัด
และเมื่อได้มีการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้วเงินเหลือก็ต้องเอาเงินส่วนที่เหลือเข้าที่ประชุมสงฆ์
ว่าจะทําอย่างไรกับเงินที่เหลือ เป็นตามมติสงฆ์ ผลประโยชน์ต้องโปร่งใส ทั้งรายรับ-รายจ่าย
"การที่จะบอกว่าผิดหรือถูกก็ต้องดูสองอย่างคือ หนึ่งศีล สองกฎหมาย ต้องดูสองอย่างจะดูอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้ามันเกินแล้ว มันเหลือแล้วต้องเอาเข้าที่ประชุมสงฆ์เพราะของที่เหลือนั้นมันเป็นของสงฆ์ ประชุมสงฆ์แล้วประกาศท่ามกลางสงฆ์ว่าจะเอาเงินส่วนที่เหลือไปทําอะไร คือ ใช้มติสงฆ์เป็นใหญ่ ในหลักพุทธศาสนาใช้ตัวนี้ แต่ว่าถ้าที่วัดนั้นมีคนที่เผด็จการ ท่านบอกว่าคนๆนั้นก็รับบาปไป คือคนทําบุญก็ได้บุญเต็มไปแล้ว ที่เหลือก็เป็นส่วนของบาปเฉพาะตน "
สำหรับการสร้างศาสนวัตถุใหญ่โตพระชาคริสต์กล่าวว่าไม่ผิด จะสร้างเล็ก สร้างใหญ่แต่จะขึ้นอยู่กับเจตนาการหาเงิน ได้มาด้วยวิธีการอันชอบหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม เพราะคนศรัทธา อีกส่วนหนึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปทําอะไรไว้ ถ้ามีคนหมู่มากเข้ามายุ่งเกี่ยวก็ต้องมีส่วนผิดและส่วนถูก
ขณะเดียวกันคณะกรรมการกลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาซึ่งมีนายยุทธชัย อุตมา รองอธิบดีกรมศาสนาเป็นประธานทำการตรวจสอบคำสอนของวัดพระธรรมกายจำนวน 94 เล่ม โดยได้สรุปประเด็นการพิจารณาได้ 4 ประเด็นคือ
1.คำสอนของวัดผิดเพี้ยนที่อ้างนิพาานเป็นอัตตาคือมีตัวตน แต่ในหลักฐานโดยเฉพาะในพระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุว่า
นิพพานเป็นอนัตตาคือไม่ใช่ตัวตน,
2.การเผยแผ่ศาสนามีรูปแบบใหม่ ๆ แต่ส่งเสริมการอามิสบูชาหรือการทำบุญด้วยวัตถุมากกว่าการปฏิบัติบูชา เช่นการชักชวนให้สร้างถาวรวัตถุในวิธีหลากหลายถือเป็นอันตรายต่อ
พระพุทธศาสนาอย่างมาก
3.การทำบุญบริจาคทาน และถือศีลวัดจะอ้างการบริจาคโดยอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของพระเป็นรางวัล แต่หลักศาสนาระบุว่าการทำบุญต้องมีใจยินดี ขณะทำก็เลื่อมใส และทำแล้วเกิดความพอใจไม่ใช่ไปล่าบุญตลอด และ
4.การสร้างพระพุทธรูปในประเทศมีการสร้างปางต่าง ๆถึง 72 ปาง แต่ละปางจะคำนึงถึงลักษณะของพระพุทธเจ้าที่เป็นมหาบุรุษ 32 ประการ หรือพุทธจริยา และพุทธศิลป์ที่สวยงามตามเอกลักษณ์ไทย แต่พระของวัดพระธรรมกายอ้างว่ามาจากภาพนิมิต ที่เกิดจากการนั่งสมาธิทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่วิจารณ์มาก
เพราะถือว่าผิดหลักการสร้างพระพุทธรูป หากปล่อยให้มีการสร้างตามนิมิตแต่ละคนก็จะไม่มีที่สิ้นสุด
ข้อพิจารณาทั้งหมดจะสรุปเสนออธิบดีกรมการศาสนาเพื่อลงนาม โดยเสนอต่อไปยังพระพรหมโมลีเจ้าคณะภาค 1 ที่เป็นประธานสอบสวนปัญหาวัดพระธรรมกายเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป