กระบวนการกระชากผ้าเหลืองออกจากร่างเดียรถีย์"ไชยบูลย์ สุทธิผล" อดีตพระธัมมชโย ปรากฎภาพชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นางสาลี่ เพ็ชร์ชูดี ชาวนาสุพรรณบุรีมาฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ เป็นอาบัติปาราชิกข้อ 2 จนล่าสุด นายมาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมการศาสนา ยื่นฟ้องนายไชยบูลย์ต่อพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา

จากนี้ไปก็ต้องรอคำฟ้องร้องอีกคดีของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะรวบรวมประมวลหลักฐานเป็นเรื่องเดียว

การฟ้องร้องทั้งหมดจะนำไปสู่การพิจารณาของกระบวนการนิคหกรรมตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือกระบวนการศาลสงฆ์ ที่จะมีองค์ประกอบสำคัญคือมีผู้ฟ้อง มีศาลผู้พิจารณาและมีจำเลยเหมือนศาลทางโลก

สำหรับผู้ยื่นฟ้องตามกระบวนการศาลสงฆ์จะมี 3 ลักษณะคือเป็น"โจทก์" คือผู้เสียหายโดยตรงซึ่งมีน้ำหนักมากสุด รองลงมาจะสามารถฟ้องในฐานะ"ผู้กล่าวหา" และสุดท้ายฟ้องในฐานะเป็น"ผู้แจ้งความผิด"

กรณีนายไชยบูลย์การยื่นฟ้องที่เกิดขึ้นมีเพียงคดีนางสาลี่ถือเป็นโจทก์โดยตรง ส่วนกรณีนายมาณพและยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย จะฟ้องในฐานะผู้กล่าวหา ขณะที่การฟ้องร้องในฐานะผู้แจ้งความผิดกำหนดให้เฉพาะพระเท่านั้นที่จะทำได้

หลังจากได้รับคำฟ้องทั้งหมดพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จะตรวจสอบเอกสาร และหลักฐานข้อกล่าวหา จากนั้นจะเรียกนายไชยบูลย์มาสอบถาม หากมีการยอมรับตามคำฟ้องก็จะดำเนินการได้ทันที แต่เชื่อแน่ว่านายไชยบูลย์ไม่มีทางยอมรับ ซึ่งต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลสงฆ์ทันที โดยมีนายไชยบูลย์เป็นจำเลย

เริ่มแรกของการพิจารณาจะเริ่มจากศาลสงฆ์ชั้นต้นที่มี พระพรหมโมลี(วิลาศ ยาณวโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 เป็นประธาน โดยต้องมีการสอบสวนปากคำ พยานหลักฐานของ ผู้ยื่นฟ้องทั้งที่เป็นเอกสาร และบุคคล เพื่อพิจารณาว่าเป็นพยานหลักฐานที่ถูกต้อง และตรงกับพระธรรมวินัยหรือไม่ จากนั้นศาลชั้นต้นจะตัดสินลงนิหคกรรมหรือยกฟ้องก็ได้

แต่กระบวนการทั้งหมดยังสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลสงฆ์ชั้นอุทธรณ์ โดยกรณีนี้จะมีพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร)เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในฐานะเจ้าคณะหนกลาง เป็นประธาน ที่ทั้งโจทก์และจำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ทั้ง 2 ฝ่าย และถึงแม้ศาลสงฆ์ชั้นอุทธรณ์จะตัดสินไปแล้วยังไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังสามารถฎีกาถึงระดับศาลสงฆ์ชั้นฎีกาก็คือมหาเถรสมาคมต่อไป

เรียกได้ว่ากระบวนการพิจารณาศาลสงฆ์ มีขั้นตอนมากพอ ๆ กับคดีศาลทางโลก และอาจต้องใช้เวลาเนิ่นนานในการพิจารณา เนื่องจากลำพังคณะสงฆ์เองไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการพิจารณานิคหกรรม เพราะตั้งแต่ประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 มาตั้งแต่ปี 2521 ยังไม่เคยมีกรณีใดเลยที่พิจารณาด้วยกฎนิคหกรรมเป็นผลสำเร็จ ล่าสุดคือคดีสมียันตระ ปรากฎว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้พิจารณาเสร็จสิ้น!!!

กรณีธรรมกาย และนายไชยบูลย์เช่นกัน กระบวนการนิคหกรรมดังกล่าวก็อาจเกิดรายการ"ยื้อ"ด้วยพลังบารมีอุ้มเดียรถีย์กันต่อไปได้ โดยเฉพาะจากบรรดาพระเถระระดับสูงผู้ที่นายไชยบูลย์บอกออกมาว่าเหมือนพ่อกับลูก ที่ปรากฎความเคลื่อนไหวในการโอบอุ้มนายไชยบูลย์ตลอดมา

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีแรงอุ้มเดียรถีย์อย่างหนาแน่น แต่ความหวังที่จะชำระชะล้างสิ่งแปดเปื้อนในพระพุทธศาสนาก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะ การฟ้องร้องนายไชยบูลย์นี้ได้ยกเอากฎมหาเถรฯหลายฉบับขึ้นมา เพื่อให้จัดการนายไชยบูลย์ไปเสียก่อนที่กระบวนการนิหคกรรมจะสิ้นสุดลง

และเป็นเรื่องที่ชาวพุทธจะต้องจับตาความเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่าจะเป็นอย่างไร

ประการแรกก็คือการเสนอให้ปลดนายไชยบูลย์ออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไปเสียก่อน โดยใช้กฎมหาเถรฯฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

เหตุผลที่จะให้มีการปลดนายไชยบูลย์ก็คือตามกฎมหาเถรฯสมาคมกำหนดว่า พระสังฆาธิการซึ่งได้แก่พระระดับรองเจ้าอาวาสขึ้นไปต้องรักษาพระธรรมวินัย และกฎ คำสั่งของมหาเถรฯอย่างเคร่งครัด แต่ทว่าสำหรับนายไชยบูลณ์ปรากฎหลักฐานชัดว่าละเมิดทั้งพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม การปลดนายไชยบูลย์ โดยตามกฎมหาเถรฯฉบับที่ 24 เปิดช่องให้ดำเนินการได้ในระดับจังหวัด ด้วยการให้เจ้าคณะตำบลเป็นผู้ปลดออกจากตำแหน่ง!!!

ก้าวต่อไปก็คือการพิจารณาในระดับศาลชั้นต้น ที่มีพระพรหมโมลีเป็นประธาน โดยให้นำเอากฎมหาเถรฯฉบับที 21 (พ.ศ. 2538)ว่าด้วยการให้ภิกษุสละสมณะเพศ มาใช้จับนายไชยบูลย์เปลื้องผ้าเหลืองออกไปก่อน

ตามกฎมหาเถรฯฉบับดังกล่าวระบุไว้ว่าหากมีการฟ้องร้องตามกระบวนการนิคหกรรม และได้มีการพิจารณาผ่านศาลสงฆ์ชั้นต้นแล้ว เมื่อเรื่องนำเสนอเข้ามหาเถรฯทางมหาเถรฯก็สามารถสั่งถอดผ้าเหลืองออกจากร่าง นายไชยบูลย์ได้ในฐานะที่มีการละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ โดยไม่ต้องรอให้กระบวนการพิจารณาทางนิคหกรรมเสร็จสิ้น และไม่กระเทือนถึงการพิจารณาตามกฎนิคหกรรมด้วย

แต่ทั้งหมดต้องติดเงื่อนไขตรงที่ว่ากระบวนการในศาลชั้นต้นที่มีพระพรหมโมลีเป็นประธาน จะพิจารณาเสร็จสิ้นเหมือนใด และจะพิจารณาเยี่ยงไร เพราะพระพรหมโมลีเคยเข้าไปพิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกายมาแล้ว และมีเพียงข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ที่วัดพระธรรมกายไม่ยอมปฏิบัติเสมือนหนึ่งไม่เห็นอยู่ในสายตา

นอกจากนั้นเมื่อผ่านการพิจารณาจากศาลสงฆ์ชั้นต้นแล้ว เมื่อเสนอเข้ามหาเถรฯทางมหาเถรฯจะมีมติให้สึกทันทีหรือไม่

ถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะพิสูจน์กันว่าองค์กรสูงสุดของสงฆ์ จะรักษาพระธรรมวินัย รักษาศาสนาตามหน้าที่ทั้งทางโลกและทางธรรมหรือไม่

และเป็นโอกาสสุดท้ายเช่นกันที่จะพิสูจน์ว่าพระเถระที่เป็นกรรมการมหาเถรฯอยู่นั้น ยังเป็นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และสมควรกราบไหว้ได้ต่อไปอีกหรือไม่ !!!!