ความพยายามเฮือกสุดท้ายของวัดพระธรรมกาย ในการรักษาความเป็นสมณเพศของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระลิขิตให้จับสึกเพราะปาราชิกเอาสมบัติของวัดเป็นของตัวเอง ก็คือการผลักดันพระลิขิตเข้าไปในที่ประชุมมหาเถรสมาคม และหวังว่าที่ประชุมจะมีการยับยั้งพระลิขิตนี้ ทั้งที่ตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่มหาเถรฯไม่ยอมตามสมเด็จพระสังฆราช

เหตุที่วัดพระธรรมกายตั้งความหวังเช่นนี้ เพราะมั่นใจในความเมตตาของพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการในมหาเถรฯ จะแผ่ความเมตตาให้วัดเหมือนกับที่ได้มีเมตตามาตลอด โดยเฉพาะพระเถระรูปสำคัญในสายมหานิกาย เนื่องจากปกติแล้วเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับสงฆ์ หากเป็นพระสังกัดนิกายธรรมยุต กรรมการในฝ่ายธรรมยุตจะตัดสิน เช่นเดียวกับถ้าเป็นสังกัดมหานิกาย ฝ่ายมหานิกายก็ว่ากันไป

กรณีธรรมกาย เป็นพระในสายมหา นิกาย การประชุมมหาเถรฯ ที่ผ่านมาฝ่ายมหานิกายที่เป็นกรรมการมหาเถรฯ 10 รูปจึงมีบทบาทตลอด

สำหรับพระเถระรูปแรกที่เมตตาธรรมกายคือ สมเด็จพุฒาจารย์ วัดสระเกศ (เกี่ยว อุปเสโณ) ซึ่งถือเป็นพระเถระอาวุโสสูงสุดในสายมหานิกาย และเป็นพระเถระอีกรูปที่อาจได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชในอนาคตข้างหน้า!!!!

ก่อนเกิดปัญหากรณีธรรมกายสมเด็จพุฒาจารย์ได้รับนิมนต์ไปเป็นประธานในงานพิธีสำคัญ ๆ ของวัดพระ ธรรมกาย และหลังจากเกิดปัญหาแล้วสมเด็จพุฒาจารย์ยังแผ่ความเมตตาให้กับวัด อาทิ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงต้องการให้มีการประชุมมหาเถรฯนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาปัญหานี้ โดยเฉพาะสมเด็จวัดสระเกศก็เป็นผู้ระบุว่า ไม่ควรจะต้องประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากมหาเถรฯ มอบให้พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ไปจัดการแล้ว จะได้ไม่ต้องรบกวนสมเด็จพระสังฆราช

ความเมตตาของสมเด็จวัดสระเกศกับวัดพระธรรมกายมีการแสดงออกทางคำพูดเช่นกัน โดยกล่าวให้รู้ว่า "ดั่งพ่อกับลูก" โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เริ่มต้นกล่าวไว้เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ต่อหน้าสาวกฯ เมื่อครั้งปัญหาธรรมกายยังไม่ยุติ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของมหาเถรสมาคมว่า ต้องเชื่อในกรรมการมหาเถรฯ เพราะท่านมีสายตากว้างไกล ผ่านโลกมามาก และ มีความเมตตา เหมือนพ่อของเรา

ถัดนั้นมาเพียง 5 วัน คือในวันที่ 19 มี.ค. สมเด็จวัดสระเกศ ก็ได้กล่าวกลางที่ประชุมพระสังฆาธิการทั่วประเทศถึงการสอบสวนทางสงฆ์ ที่ล่าช้าเช่นกันว่าพระพุทธเจ้าให้ปกครองสงฆ์เหมือน พ่อปกครองลูก แม้อะไรผิดพลาดต้องดูแลลูก จึงทำให้เกิดความรู้สึกกับคนทั่วไปว่ามหาเถรสมาคมทำอะไรไม่ทันเหตุการณ์

ถือเป็นการพูดต่างกรรมต่างวาระ แต่เนื้อหาตรงกันอย่างน่าประหลาด?????

ถัดจากสมเด็จวัดสระเกศแล้ว สมเด็จรูปที่ 2 ที่เมตตาวัดพระธรรมกายคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยสมเด็จวัดปากน้ำเป็น พระอุปัชฌาย์ของพระไชยบูลย์ ที่ในทางสงฆ์แล้ว พระอุปัชฌาย์เปรียบได้เหมือนกับพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และบิดาทางธรรมของพระไชยบูลย์

สมเด็จวัดปากน้ำเมตตาและอุปถัมภ์วัดพระธรรมกายมาตลอด ที่สำคัญคือ การรับเป็นองค์ประธานชมรมพุทธศาสตร์สากล ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของวัดพระธรรมกายในการเข้าไปดูแลชมรมพุทธต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษา และเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมบวชธรรมทายาท รวมถึงการตอบปัญหาธรรมะ

ในขณะที่เกิดปัญหาวัดพระธรรมกายสมเด็จวัดปากน้ำไม่ต้องการให้พระลูกวัดวิจารณ์กรณีนี้ด้วย โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการขับ พระอดิศักดิ์ วิริยะสักโก อดีตพระผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายออกจากวัดปากน้ำเพราะไปวิจารณ์วัดพระธรรมกายเข้า และพระในวัดปากน้ำก็ไม่มีรูปใดออกมาวิจารณ์กรณีธรรมกาย

ถัดจากชั้นสมเด็จคือพระเถระชั้น "พรหม" องค์สำคัญคือ พระพรหมโมลี เจ้า อาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 นั่นเอง โดยวัดพระธรรมกายมีความสัมพันธ์อย่างดี รวมถึงยกย่องพระพรหมโมลีมาตลอด อาทิ ตั้งแต่พระพรหมโมลีเป็นพระราชวิสุทธิโสภณ และได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นของธนาคารกรุงเทพ วัดพระธรรมกายก็นำลงในหนังสือกัลยาณมิตรยกย่องขนาดว่าเป็นพระนักปราชญ์แห่งยุค

เมื่อเกิดปัญหากรณีธรรมกายพระพรหมโมลีได้รับมอบหมายให้สอบสวน พระพรหมโมลีแสดงความเมตตาสมกับเป็นพระนักปราชญ์ให้เห็นโดย "ไม่มีการชี้ถูกชี้ผิด" มีแต่คำอรรถาธิบายด้วย ศัพท์แสงที่ไพเราะจำพวก "ดวงจิตใด อะไรให้จิตดวงนั้นเกิดขึ้น" แต่ถูกวิจารณ์ว่าหามีสาระไม่ ซ้ำร้ายในการสอบสวนก็ถูกพระด้วยกันกล่าวว่าปฏิบัติได้สมศักดิ์ศรี เพราะเป็นผู้ไปหาพระไชยบูลย์ถึงวัดพระธรรมกายเพื่อให้ลงนามในหนังสือแนะนำ แทนที่จะเรียกพระไชยบูลย์มาหาที่วัดยานนาวา

ถัดจากชั้นพรหมลงมาเป็นชั้น "ธรรม" องค์สำคัญคือ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) วัดราชโอรสาราม โดยตั้งแต่พระธรรมกิตติวงศ์ ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพปริยัติโมลี ก็รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาวัดพระธรรมกายแล้ว และเคยมาเป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทพระภิกษุให้ด้วย

นอกจากนั้น เมื่อเกิดกรณีปัญหาธรรมกายและเริ่มสอบสวนกัน ใหม่ ๆ พระธรรมกิตติวงศ์เป็นพระเถระรูปแรกที่แผ่เมตตาบารมี โดยให้สัมภาษณ์หนังสือ พิมพ์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2541 ว่า ยังหาจุดผิดวัดพระธรรมกายไม่ได้ และการสร้างธรรมกายเจดีย์มองในแง่ดีเป็นการสร้างงานให้ประชาชนเป็นหมื่นคน ทั้งเรื่องการก่อสร้าง การค้าขายวัสดุ

ล่าสุดอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ได้มีหนังสือเปิดผนึกให้เชิญพระธรรมกิตติวงศ์ออกจากสภามหาวิทยาลัย หรือขอให้พระธรรมกิตติวงศ์ลาออกเอง เนื่องจากอาจารย์ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อถอนปริญญาเอกของพระไชยบูลย์ ที่มหาจุฬาฯมอบให้ และอาจเกิดปัญหาทางความคิดในสภามหาวิทยาลัย

พระเถระผู้มากเมตตาพระไชยบูลย์เหล่านี้ทั้งหมดยกเว้นพระพรหมโมลี ต่างทำสมาธิในแนววิชชาธรรมกาย ข้อที่สังเกตได้ง่ายก็คือท่านั่งสมาธิของวิชชาธรรมกายจะแตกต่างกับสมาธิแนวอื่น ๆ ในศาสนาพุทธ โดยเมื่อนั่งขัดสมาธิแล้วแนวทางของธรรมกายจะนำ "นิ้วชี้ข้างขวามาแตะกับนิ้วโป้งข้างซ้าย" วางไว้บนตัก ขณะที่ของที่อื่นมักใช้มือขวาทับมือซ้าย หรือใช้นิ้วโป้งทั้งสองข้างมาแตะกัน ความเมตตาที่เกิดขึ้นจึงอาจมาจากแนววิชชาธรรมกายด้วยส่วนหนึ่ง

และนอกจากพระเถระทั้ง 4 รูปแล้ว วัดพระธรรมกายยังมีสายสัมพันธ์อย่างยาวนานกับพระเถระอีก 2 รูปในกรรมการมหาเถรฯ คือได้แก่พระพรหมจริยา (สมุท รชตวัณโณ) และพระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสัมปันโน) ซึ่งเป็นพระเถระจาก วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยความเมตตาที่วัดเบญจฯมีกับวัดพระธรรมกายสืบเนื่องมาตั้งแต่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจฯ ยังไม่มรณภาพ โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้เมตตากับวัดพระธรรมกายมากโดยรับเป็นองค์อุปถัมภ์ชมรมพุทธศาสตร์สากลเป็นองค์แรก และได้มีการจัดให้บวชธรรมทายาทในโบสถ์หลวงของ วัดเบญจฯตลอดมา จนเพิ่งปีนี้ที่ต้องไปบวชที่อื่นภายใต้เหตุผลว่ากำลังซ่อมโบสถ์

ที่สำคัญวัดเบญจฯ ก็มีการปฏิบัติแนวทางธรรมกายเช่นกัน แต่บทบาทของพระพรหมจริยา และพระธรรมวโรดมที่แสดงออกมาสู่สังคมยังไม่มากนัก และยังคงดำรงสถานะที่ยังกราบไหว้ได้อยู่

และหากมีการนำกรณีพระไชยบูลย์เข้าที่ประชุมมหาเถรฯ การตัดสินใจชะตาของพระธัมมชโยก็จะอยู่ที่พระเถระระดับสูงเหล่านี้

ผลจะออกมาเป็นอย่างไร เตรียมสาธุกันอย่างกึกก้องได้เลย????.