ศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ แฉธรรมกาย ทำศาสนาวิบัติครั้งใหญ่ สร้างระบบให้เจ้าอาวาสชักหัวคิวลูกวัดถ้าส่งพระ-เณรในสังกัด 1 รูป ร่วมตอบปัญหา ฉลองวันเกิด 55"ธัมมชโย"เอาไปเลย 300 บาท ถ้าอยากย่ามตุงหาให้ได้ 100 รูปรับทันที 3 หมื่น พระนักวิชาการระบุ เจ้าอาวาสวัดไหนส่งลูกวัด เข้ามาถือว่าทำผิดคำสั่งมหาเถรฯ ต้องรับผิดชอบ ธรรมกายผวา เกณฑ์มาได้ตํ่ากว่าเป้าแสนรูป เพิ่มเงินอัดฉีดเพิ่มค่าตัว ให้พระ-เณรอีก 30 ล้าน"ชวน"สั่ง"อาคม"เร่งโอนที่ดินเจ้าอาวาสฉาวเป็นของวัด

จากกรณีที่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจะจัดงานวันเกิดปีที่ 55 ของตัวเองในวันที่ 22 เม.ย.นี้ โดยระดมพระ-เณรจำนวน 1 แสนรูปมาร่วมงาน ด้วยการจัดการตอบปัญหาธรรมะขึ้นมาบังหน้า ถ้าพระ-เณรมาร่วมงาน จะได้ทันทีรูปละ 200 บาท และจะโอนเข้าบัญชีวัดต้นสังกัด 300 บาท และมีรางวัลใหญ่อีก 1 แสนบาทสำหรับผู้ชนะเลิศ แต่มีข้อแม้ต้องเอาหนังสือ "พระแท้" ที่วัดเขียนขึ้นมาเป็นแนวทางในการตอบ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างมาก เพราะหนังสือดังกล่าว ผิดเพี้ยนบิดเบือนศาสนาสอนนิพพานเป็นอัตตา รวมถึงการระดมพระ-เณรมา ก็เป็นการอวดบารมีโดยใช้เงินเข้าล่อเท่านั้น

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ทราบวัดพระธรรมกาย ระดมพลพระ-เณรไปในภาคอีสาน เพื่อดึงพระ-เณรมาร่วมงาน โดยปรับราคาให้พระ-เณรที่มาร่วมงานจากเดิม 200 บาทก็เพิ่มเป็น 500 บาท ส่วนวัดต้นสังกัดได้ 300 บาทเท่าเดิม จะมีรถรับส่งจากวัดที่สังกัด ไป-กลับวัดพระธรรมกายด้วย แต่การเพิ่มเงินให้นี้ มีเงื่อนไขว่า พระเณรทุกรูปที่ร่วมงานต้องโกนหัวใหม่ให้เกลี้ยง ครองผ้าสีเหลืองทองที่วัดจัดให้ และต้องถือป้ายจังหวัด ที่จำพรรษาอยู่ นอกจากนี้ต้องอยู่ภายใต้ การบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่วัดพระ ธรรมกาย ห้ามมีข้อโต้แย้งหรือขัดข้อง

การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ ชิงเงินรางวัลนี้เข้าข่ายความผิดโทษฐานขัดคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพ หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก อย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2521 ตามที่ระบุในข้อ 6 ห้ามภิกษุสามเณรสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาล ทุนต่างประเทศ และทุนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในลักษณะเดียวกัน โดยมีเงินรางวัลเป็นของล่อใจ พระ-เณรที่เดินทางมา ต้องมีความผิด โดยให้เจ้าอาวาสตักเตือนก่อน หากไม่เชื่อฟังคำตักเตือนก็ให้เจ้าอาวาสวัดที่พระ-เณรสังกัดอยู่ไล่พระ-เณรที่ทำผิดออกจากวัดไป

"เมื่อมีคำสั่ง ของมหาเถรฯ ชัดเจนเช่นนี้ ก็งงมากขึ้นที่พระผู้ใหญ่อย่างเจ้าคณะหนกลางบอกว่าเป็นเรื่องดี และตอนนี้ก็ยังไม่มีใคร ทำความผิด คงต้องรอให้ผิดก่อน แล้วค่อยมาหาคนรับผิดชอบ และยังติดใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรพุทธศาสนา 51 แห่ง ที่เมื่อวันที่ 20 เม.ย.พยายามให้ระงับ การจัดงานแต่คณะสงฆ์ไม่เห็นความสำคัญ ของพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราช ที่ให้องค์กรพุทธ ไปรอที่ตำหนักเพชร เพื่อที่จะขอให้เข้าไปชี้แจงในที่ประชุม แต่ข่าวเกิดรั่วไปเข้าห ูพระบางรูปจนมีความพยายาม ล้มกระดานกลางคัน และก็ประสบความสำเร็จด้วย"

หม่อมหลวงจิตติ นพวงศ์ ศิษย์ห้องกระจก ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราช ไม่ทรงทราบเรื่อง การเลื่อนประชุมมหาเถรฯเลย เมื่อเวลาประมาณเที่ยงๆ ซึ่งใกล้กำหนดเวลาประชุม ได้มีคนนำพระพุทธรูปมาให้ท่านทำเบิกพระเนตร สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับสั่งกับคนใกล้ชิดว่า จะทำพิธีเบิกพระเนตรก่อน ให้เตรียมแฟ้มการประชุมมหาเถรฯ ไว้ด้วย นายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ลือชา กรรมาธิการการศาสนาฯ กล่าวว่า รู้สึกข้องใจบทบาท กรมการศาสนาเหมือนไม่จริงใจ ในการแก้ไขปัญหาธรรมกาย ในวันประชุม กรรมาธิการการศาสนาฯ จะนำเรื่องนี้ไปพูดกันด้วย

ที่ จ.สุพรรณบุรี พระครูสุวรรณวชิรธรรม เจ้าอาวาสวัดสกุลปักษี ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เขตการศึกษา 5 ต.สนามคลี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่าวัดจะส่งพระ-เณร 294 รูปร่วมงานที่วัดพระธรรมกาย และทั้งจังหวัดจะมีไปกว่า 2,300 รูป รวมถึงมีญาติโยม จะมาด้วยใช้รถบัสกว่า 50 คัน ส่วนเรื่องกระแสข่าว วัดพระธรรมกายนั้นไม่ได้สนใจเลย โดยค่าใช้จ่าย วัดพระธรรมกายออกให้

ที่จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีสาวกของ วัดพระธรรมกายเดินทางมาติดต่อกับวัดต่าง ๆ ให้ร่วมงานโดยจะมีรถรับส่งออกเดินทางวันที่ 21 เม.ย. และเท่าที่ทราบ มีเพียงวัดคลองน้ำเจ็ด ต.ทับเที่ยง จ.ตรัง ที่พระครูธรรมจักรศีลคุณ เจ้าอาวาสนำหนังสือ "พระแท้" มาติวสามเณร และจะพากันขึ้นมาราว ๆ 100รูป

พระศรีปัญญาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดตรังกล่าวว่าไม่ทราบวัดใดจะส่งพระ-เณรไปร่วมตอบปัญหา ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการ และคำสอนที่ผิดเพี้ยน หากกลับมามีเรื่องเสื่อมเสีย จะดำเนินการตรวจสอบ และต่อว่ากับเจ้าอาวาส ขณะที่นายประดิษฐ์ ระสิตานนท์ ศึกษาธิการ จังหวัดตรังกล่าวว่าการบวชสามเณรภาคฤดูร้านเป็นการบวชเพื่อถวายในหลวง และเพื่อให้ได้ ความรู้ทางธรรม และจริยธรรมจึงไม่เหมาะ ที่จะให้ออกนอกพื้นที่ แต่วัดเป็นนิติบุคคลจึงไม่สามารถก้าวก่ายได้ เป็นเรื่องของเจ้าอาวาส

นายชำนาญ นิศารัตน์ อดีตกรรมการสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ กล่าวว่าวิธีการหาพระ-เณรเข้าร่วมงานของวัดพระธรรมกายเหมือนกับการติดสินบนเจ้าอาวาส โดยถ้าส่งพระ-เณร มาร่วมงาน 1 รูปจะจ่ายเงินให้ 300 บาท ฉะนั้นเจ้าอาวาสวัดไหนอยากได้เงินมาก ๆ ก็ส่งพระ-เณรมา 100 รูปก็จะได้หัวคิวไป 30,000 บาท ถ้าพระ-เณรในวัดไม่พอ ก็เอาเณรบวชใหม่ส่งเข้าไปล้างสมอง เป็นการอัดฉีดความคิดที่ผิด การทำให้จำได้ไม่ยากแต่การทำให้ลืมยากกว่า รู้สึกเห็นใจพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดน ี้เพราะถ้าไม่ทำตามพระพรหมโมลีจะมีอะไรไปบังคับ

พ.อ. (พิเศษ) ทองขาว พ่วงรอดพันธ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ กล่าวว่าตนกราบขอร้อง พระคุณเจ้าทุกรูป อย่าตกเป็นเครื่องมือของวัดพระธรรมกายเลย จากการที่ไปบรรยาย ที่วัดเบญจมบพิตรฯ ในโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน 80 กว่ารูป ได้พูดคุยกับท่านเจ้าคุณวัดเบญจฯ ท่านก็บอกว่าวัดเบญจฯไม่งกเงิน จึงไม่ไปร่วมงานด้วย มหาจุฬาฯ เองก็มีโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา มีกฎระเบียบชัดเจนจึงหายห่วง ที่วัดพระธรรมกายตั้งความหวังไว้สูงมากคือ ภาคอีสาน ความจริงคำสั่งมหาเถรฯ ห้ามพระ-เณรสอบชิงทุนประกาศมานานแล้ว ต้องลองดูว่า ระหว่างกิเลส กับข้อบังคับของมหาเถรฯอันไหนจะยิ่งใหญ่กว่ากัน

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านย่านบางยี่ขัน ร้อง เรียน "เดลินิวส์" ว่า วัดจะส่งพระ-เณรเข้าร่วมงานกับทางวัดพระธรรมกาย เพราะมีโยมอุปัฏฐาก เป็นคนวัดพระธรรมกายขอร้องเจ้าอาวาส ทางวัดก็ตอบรับไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีการสอบถามความสมัครใจ สร้างความอึดอัดใจให้กับพระเณร และญาติโยมเป็นอย่างมาก เพราะได้มีการติดตามข่าวความอื้อฉาวต่าง ๆ ของวัดพระธรรมกาย ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ติดต่อพระมหาสุทัศน์ พระเลขาของเจ้าอาวาสซึ่งยอมรับว่า เป็นเรื่องจริงที่จะส่งพระ-เณรไปจำนวน 37 รูป ไม่ใช่ 100 รูป เมื่อนิมนต์มาก็ส่งไป ไม่แปลกตรงไหน เหตุผลที่ส่งไปให้ไปสอบถามเจ้าอาวาสเอาเอง ขณะที่เมื่อติดต่อ พระเทพปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสวัด ก็ได้รับคำตอบว่า มีพระผู้ดำเนินการเรื่องนี้ ไม่รู้เรื่องธรรมกายอะไร ไม่รู้วุ่นวายไปหมด พร้อมกับกระแทกหูโทรศัพท์

นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่ากรมการศาสนาตั้งกรรมการชุดหนึ่งจำนวน 15 คนมาดูแลการปรับปรุง วัดพระธรรมกายตามมติมหาเถรฯใน 3 เรื่องคือการตรวจสอบ หนังสือของวัดพระธรรมกายที่ชี้แจงข่าวต่าง ๆ ซึ่งพิมพ์มา 3 แสนเล่ม และหนังสือพระแท้ที่ใช้ในการตอบปัญหาธรรมะที่จัดขึ้น, ให้ตรวจสอบการเรี่ยไร โดยเฉพาะในงานใหญ่วันที่ 22 เม.ย.เช่นกัน และเรื่องการโอนที่ดินจากพระไชยบูลย์เป็นของวัด โดยให้เวลา 15 วัน รายงานผลมาที่ตนและจะประสานต่อเจ้าคณะภาค 1

"ผมถูกนายกรัฐมนตรี เรียกไปสอบถามความคืบหน้าเรื่องทรัพย์สินที่ดินของพระไชยบูลย์ก่อนการประชุม ครม. นายกฯห่วงใยมาก ถามว่าโอนกลับให้วัดหรือยัง เพราะสอดคล้อ งกับพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช หากผมได้รับรายงานจากคณะกรรมการว่ายังไม่ได้โอน ผมอาจเดินทางไปสอบถามเจ้าอาวาสเอง และเรื่องการตอบปัญหา ธรรมะจะมีคณะกรรมการ ของกรมการศาสนาไปตรวจสอบ โดยเฉพาะหนังสือพระแท้ ถ้าผิดเพี้ยนจากพระไตรปิฎกถือว่าขัดต่อมติมหาเถรฯ"

นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่าการจัดงานสอบชิงทุนของวัดพระธรรมกายไม่ผิดคำสั่งมหาเถรฯ เพราะคำสั่งนั้น ห้ามไปสอบแข่งกับฆราวาส การสอบนี้สอบ ในวัด.