เดลินิวส์ 25/3/2542

2 มหา'ลัยสงฆ์ออกโรง ลุยสางปัญหา'ธรรมกาย'

2 มหาวิทยาลัยสงฆ์ "มหามกุฎ-มหาจุฬาฯ" จับมือประกาศลุยต่อปัญหา "ธรรมกาย" เคลื่อนไหว สางเสี้ยนศาสนาให้ถึงที่สุด กรรมาธิการการศาสนาฯ เอาด้วยลงมติขุดข้อมูล "ธัมมชโย" สอบในประเด็น พระธรรมวินัยที่มหาเถรฯ ละทิ้งทั้งเรื่องอวดคุณวิเศษ ถึงขั้นจับสึก-การกว้านซื้อที่ดิน จากนั้นจะส่งข้อมูล จี้ให้รัฐบาลจัดการ พูดชัดมหาเถรฯ ถูกชี้นำจากกรรมการบางรูป เปิดช่องประชาชน ยื่นฟ้องสอบใหม่ ระบุชัดไม่มั่นใจพระพรหมโมลี สั่งธรรมกายได้ จับตาที่ดินเจ้าอาวาสกว่าพันไร่ เจ้าคณะภาค 1 จะกล้าสั่งให้โอนเป็นของวัด หรือไม่

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ โดยนำมติมหาเถรสมาคม ที่ตัดสิน กรณีวัดพระธรรมกายมาพิจารณา ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง นายอรรถสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ โฆษกกรรมาธิการแถลงหลังการประชุมว่า กรรมาธิการ เคารพ ในการตัดสินของมหาเถรฯจะไม่ละเมิดหรือวิจารณ์ว่าผิดหรือถูก เพราะกรรมาธิการไม่ใช่ศาล เพียงแต่ทำหน้าที่ ศึกษาข้อมูล และเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่สิ่งที่คณะกรรมการติดใจ คือกรณีที่กรรมการมหาเถรฯ บางรูป และนายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการกล่าวว่า ข้อมูลกรรมาธิการ ไม่มีน้ำหนักไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะนายอาคมกล่าวว่า เป็นการฟังความฝ่ายเดียว เท่ากับว่ากรรมาธิการทำงานไม่มีประโยชน์ การพูดเช่นนี้ถือว่า ไม่เคารพ การทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ ข้อมูลทุกอย่างกรรมาธิการสามารถยืนยันได้มีที่มาที่ไป

ในสัปดาห์หน้า กรรมาธิการจะนำปัญหาวัดพระธรรมกายเข้าสู่การประชุมอีกครั้งเพื่อพิจารณา 2 ประเด็นใหญ่คือ 1.มติมหาเถรฯที่ตัดสินออกมา ไม่ได้กล่าว หรือไม่ได้วินิจฉัยข้อมูล ของกรรมาธิการ ข้อใดซึ่งยังเป็น ประเด็นคาใจของสาธารณชน เช่นเรื่องศาสนวัตถุ ที่ดิน การอวดอุตริมนุสธรรม โดยจะนำประเด็น ที่ยังมีข้อสงสัยเหล่านี้ มาศึกษา และแยกแยะ ก่อนที่จะนำเสนอฝ่ายบริหารต่อไป และ 2.จะติดตามการทำงาน ของฝ่ายบริหาร ว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างตามคำแนะนำของกรรมาธิการ

ส่วนเรื่องการฟ้องร้อง พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาการอวดอุตริมนุสธรรมนั้น กรรมา ธิการ มีมติไม่ใช่หน้าที่ของกรรมาธิการ น่าจะเป็นของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายอื่น ที่คิดว่าจะมีผลกระทบ
ต่อสิทธิของตัวเอง ที่จะดำเนินการฟ้องร้องเองมากกว่า

ด้านนายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤาชัย เลขาฯคณะกรรมาธิการ กล่าวว่ามีจดหมาย จากลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เขียนมาโจมตีนายเด่น โต๊ะมีนา ประธานกรรมาธิการ และพรรคความหวังใหม่ รวมถึงหัวหน้าพรรค อย่างเสียหายทั้งที่ไม่เคยมีการก้าวก่ายเรื่องนี้เลย อยากฝากไปบอกศิษย์ของวัดนี้ว่า การที่เข้ามาดำเนินการ เพราะต้องการให้ทุกอย่างกระจ่าง เป็นธรรมต่อวัดพระธรรมกาย และต่อพุทธศาสนาของเรา นายอำนวย สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการศาสนา กล่าวว่ามติมหาเถรฯ เหมือนกับมติ คณะรัฐมนตร ีจึงเป็นห่วงว่าหลังจากนั้นใครจะติดตามดำเนินการถ้าให้กรมการศาสนาเพียงองค์กรเดียวคงไม่พอ รัฐบาลต้องดูแล ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด รวมถึงประเด็นอื่น ที่มหาเถรฯไม่ได้ตัดสิน แต่สาธารณชน ให้ความสนใจ เพื่อคุ้มครองศาสนา และเป็นกรณีตัวอย่าง ที่รัฐบาลต้องดำเนินการ

นายจรวย หนูคง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าความผิดเกี่ยวกับการอวดอุตริมนุสธรรม ใครก็ยื่นฟ้องได้ โดยทำเป็นหนังสือ ถือว่าเป็นโจทก์สาธารณะ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมาธิการ และที่มีข่าวกรรมาธิการ จะยื่นฟ้องเป็นเพียงคำถามเท่านั้น และตนกล่าวว่า จะหารือในเรื่องดังกล่าวก่อน ส่วนเรื่องการถือครองที่ดิน ของพระไชยบูลย์ที่ไม่มีการพิจารณา ในมหาเถรฯ เป็นหน้าที่ของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ที่จะสั่งให้พระไชยบูลย์โอนเป็นของวัด และอยู่ที่จะสั่งหรือไม่ เพราะมติมหาเถรฯ ให้พระพรหมโมลี ไปตรวจดูว่า มีสิ่งใดจะแนะนำ และสั่งสอน ต้อง คอยดูต่อไป หลายฝ่ายยังข้องใจ จะไปแนะนำ ให้แก้ไขอะไรบ้างและจะยอมตามคำแนะนำหรือไม่

นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยว่าการที่จะมีใครฟ้องร้องอธิกรณ์พระไชยบูลย์ก็ทำได้ แต่เมื่อมหาเถรฯ มีมติให้พระพรหมโมลีดูแลเชื่อว่าจะต้องมีการกำกับให้วัดปฏิบัติตามคำสั่ง กฎระเบียบของมหาเถรฯ อย่างเคร่งครัด

ในวันเดียวกัน เวลา 08.00 น. สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.มีรายการเวทีธรรม ตอน วิกฤติศรัทธาศาสนาจะวิบัติŽ ซึ่งเป็นรายการถ่ายทอดสด โดยมี พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดี ฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สาขาศาสนศาสตร์ และนางนิศา เชนะกุล ที่ปรึกษา องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ร่วมเป็นวิทยากร

วิทยากรทั้งหมด มีความเห็นตรงกันว่า วิกฤติศรัทธาในพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากพุทธศาสนิกชน ขาดความรู้ด้านพุทธศาสนา ขาดการปฏิบัติ การเผยแผ่ธรรม ของพระบางรูปเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ใช้ความรู้สึก และความเชื่อส่วนตัวมาสอน ชาวพุทธไม่มีความรู้ คนสอนก็รู้ไม่จริง ก็กลายเป็นว่าเชื่อตามอาจารย์สอน โดยไม่รู้ว่าที่สอนนั้นผิด ไม่เชื่อคำสอนพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระไตรปิฎก ซึ่งปัญหาอยู่ที่ตัวอาจารย์ สอนธรรมะ ไปตามความเชื่อของตัวเอง ที่สัมผัสได้ สอนนิพพานเป็นอัตตาก็เชื่อ แต่พอบอกว่า พระไตรปิฎก ไม่มีสอนเช่นนี้กลับไม่เชื่อ

คำถาม จากทางผู้รับชม ถามว่าทำไมพระที่ทำผิดกลับได้รับโทษเล็กน้อย พระศรีปริยัติโมลีกล่าวว่า พระที่ทำผิด ย่อมได้รับโทษ แม้ลงโทษสถานเบา แต่ในความเป็นจริงพระรูปนั้นได้ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว

พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า พระเถรฯผู้ใหญ่หลายรูป ค่อนข้างอึดอัดใจ ที่ต้องรับภาระในเรื่องน ี้และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่มีทางออก เนื่องจากมีข้อจำกัด ที่จริงแล้วในมหาเถรฯเป็นพระที่ดีก็มีหลายรูป ตั้งแต่เป็นหนุ่ม ก็ทำงาน เพื่อพระศาสนา เปรียบเป็นนักศึกษา ต่อมาเมื่อเข้ารับราชการ ก็ต้องเปลี่ยนไปจากน้ำดีเป็นน้ำเสีย

"อาตมาก็มีความรู้สึก เหมือนกับญาติโยมคนทั่วไป ต้องการเห็นความกระจ่างชัดเจนในเรื่องนี้ หากอาตมาเป็นวัดพระธรรมกาย จะไม่ยอมให้พระเถรฯมาชี้ผิดชี้ถูก จะออกมาพูดสะสางตัวเอง ให้สะอาด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แถลงข้อข้องใจทั้งเรื่อง มูลนิธิที่บริจาคว่าเงินหายไปไหนหมด และเรื่องที่ดิน การที่เจ้าคณะภาค 1 ออกมาให้ตัดสินเช่นนั้น หากผู้ที่รู้ซึ่งในพระศาสนา ก็น่าจะสำนึกตัวเองได้แล้ว "

ปัญหาธรรมกาย มหาจุฬาฯคงมีการถกเรื่องนี้ เมื่อพระนิสิต กลับจากการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน และก็ทำโครงการ บวชเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งจะมีถึง 135 โครงการใน 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยจะมีผู้มาบวช จำนวนหลานหมื่นรูป ยังไม่รวมญาติโยมที่เข้าร่วม และจะมีการชี้แจง ให้ญาติโยม ได้เข้าใจ ถึงเรื่องการทำบุญและ หลักคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนา พร้อมกับมีการแจกหนังสือ กรณีพระธรรมกาย ของ พระธรรมปิฎกด้วย หลังจากนั้น ก็จะมีโครงการสัมมนาพุทธศาสตร์บัณฑิต ที่พุทธมณฑล จะมีการนำเอาเรื่องธรรมกายมาถกกัน

ส่วนพระอริยคุณาธาร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหามงกุฏราชวิทยาลัย กล่าวเรื่องเดียวกันว่า การตัดสินของมหาเถรฯ เป็นการวัดว่า เสียงของประชาชน กับมหาเถรฯ ใครจะเข้มแข็งกว่ากัน และคำตัดสินนี้ อาตมาพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ครบถ้วนขบวนความ เป็น ความรู้สึกเดียว กับญาติโยมคนทั่วไป มีหลายประเด็น มันยังไม่กระจ่าง อย่างกรณีที่คนสงสัยมากคือ ทรัพย์สินเงินทอง, ผู้หญิง, อภินิหาร

ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีข่าวเรื่องปัญหาวัดพระธรรมกาย ในมหามงกุฏฯก็มีการพูดกันถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด แม้ในห้องเรียน ที่สอนพระนิสิตเอง ก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากเช่น การสอนผิด ของวัดพระธรรมกาย จะทำอย่างไร ถ้ายอมรับผิด คัมภีร์ต่าง ๆ เทป, วิดีโอต่าง ๆ ต้องเผาทำลายทิ้งให้หมด ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา ต่อไปในอนาคต และได้มีการชี้แจง ทำความเข้าใจกับพระนิสิต ซึ่งมีความเห็น เป็นแนวทางเดียวกันว่า ความสิ้นสุดทุกข์ที่เรียกว่า นิพพานนั้น คือดับไม่มีสิ่งใดมาเจือเป็นอนัตตา และเตรียมแถลงการณ์ไว้แล้ว แต่เมื่อมหาเถรฯ นำเรื่องไปตัดสิน ก็ต้องรอ เพราะมีเถระผู้ใหญ่ เมื่อออกมาเช่นนี้ต้องปลงเหมือนกัน

"คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะมีการสังคายนาคน ทำเหมือนกับพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ ทางศาสนา ค่อนข้างสับสนมาก พระองค์ได้ทรงลงมาเป็นประธาน สังคายนา ในการสอบพระด้วยตัวเอง สมัยนั้น มีการเตรียมผ้าขาวไว้เป็นมากมาย เรียกมาสอบตัวต่อตัวเลย ถ้าไม่รู้เรื่อง ตอบผิดก็จับสึกกันไปเลย ให้ผ้าขาวไปเลย"

หลังการตัดสิน ของมหาเถรฯ มีญาติโยมโทรฯมาสอบถามและยอมรับไม่ได้กับการตัด สิน รวมถึงถามว่า ทางสถาบันศึกษาสูงสุด ของพระสงฆ์ทั้ง 2 สถาบัน จะดำเนินการอะไร หรือออกมาเคลื่อนไหว อะไรต่อไปบ้าง ซึ่งทั้ง 2 สถาบันหารือกันตลอด รับรองไม่หลงประเด็น แต่มหามงกุฏฯก็ถือเอกลักษณ์คือ ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์ แต่ถ้าจะออกเคลื่อนไหว หรืออะไรก็แล้วแต่ จะมีมติเป็นแนวทางเดียวกันกับมหาจุฬาฯ หากรวมกัน ทั้ง 2 แห่งจะมีพระนิสิตก็ประมาณ 7,000 กว่ารูป .